โพรเบเนซิด (Probenecid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โพรเบเนซิด (Probenecid) เป็นยาที่ใช้นำมารักษาโรคเกาต์ และภาวะที่ร่างกายมีปริมาณกรดยูริคเกิน โดยมีกลไกทำให้ร่างกายขับกรดยูริคออกมากับปัสสาวะมากขึ้น ตั้งแต่สมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 โพรเบเนซิดถูกนำมาใช้กับคนไข้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะ เช่น Penicillin ด้วยยานี้จะทำให้ความเข้มข้นของยาปฏิชีวนะมีมากขึ้นและส่งผลดีกับผู้ป่วย ในปัจจุบันยังพบว่าการให้โพรเบเนซิดกับผู้ป่วยที่ได้รับยา Oseltamivir ซึ่งเป็นยาต่อต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ สามารถทำให้ความเข้ม ข้นของ Oseltamivir ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอีกด้วย

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การเป็นไปของยาเมื่อเข้าสู่ร่าง กาย) ของยานี้พบว่า โพรเบเนซิดดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะจับกับพลาสมาโปรตีน 75 - 95% และร่างกายต้องใช้เวลา 2 - 6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านออกมากับน้ำปัสสาวะ

กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บรรจุโพรเบเนซิดลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยอยู่ในหมวดยาอันตราย มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง อีกทั้งผลข้างเคียงมากมาย การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภาย ใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ยาโพรเบเนซิดมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โพรเบเนซิด

ยาโพรเบเนซิดมีสรรพคุณดังนี้ เช่น

  • บำบัดรักษาภาวะกรดยูริคเกินในเลือด หรือใช้รักษาในผู้ป่วยโรคเกาต์(โพรเบเนซิดไม่สามารถบรรเทาอาการปวดจากโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลันได้)
  • สนับสนุนการออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ

ยาโพรเบเนซิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโพรเบเนซิดมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ไต โดยไปจับสาร Organic anion transporter หรือที่เรียกว่า โปรตีนขนส่งสารอินทรีย์ประจุลบ ซึ่งอยู่ที่ผนังเซลล์ของท่อไต ทำให้ลดการดูดกลับของกรดยูริคเข้าสู่กระแสเลือด จึงทำให้โพรเบเนซิดมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ยาโพรเบเนซิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรเบเนซิดจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบชนิดยาเม็ด ขนาดความแรง 500 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาโพรเบเนซิดมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพรเบเนซิดมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. รักษาและบำบัดโรคเกาต์รวมถึงผู้ที่มีกรดยูริคเกิน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น และสามารถปรับขนาดรับประ ทานเป็น 2 กรัม โดยค่อยๆเพิ่มครั้งละ 500 มิลลิกรัม ในทุกๆ 4 สัปดาห์ถ้าจำเป็น
  • เด็ก: ไม่มีรายงานขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก เนื่องจากโรคเกาต์เป็นโรคของผู้ใหญ่

ข. สนับสนุนการรักษาของยาปฏิชีวนะ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 10 - 14 วัน สำหรับผู้ป่วยซิฟิลิสระบบประสาท (Neurosyphilis) โดยให้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ Penicillin G. procaine หรือรับประทาน 1 กรัมครั้งเดียวในผู้ป่วยโรคหนองใน (Gonorrhea) โดยให้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ Ampicillin หรือ Cefuroxime
  • เด็กอายุ 2 - 14 ปี: คำนวณจากน้ำหนักตัว รับประทาน 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโล กรัมโดยให้ครั้งเดียว ร่วมกับ Penicillin ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือรับ ประทานพร้อมยาลดกรดและดื่มน้ำตามอย่างพอเพียง
  • *อนึ่ง ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโพรเบเนซิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรเบเนซิด อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโพรเบเนซิด สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาโพรเบเนซิดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรเบเนซิดสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจมีอาการชัก หากรับประทานยาเกินขนาด
  • ปวดหัว
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปัสสาวะบ่อย
  • เป็นแผลที่เหงือก
  • วิงเวียน
  • ผิวหนังอักเสบ
  • ตับอักเสบ
  • และ/หรือ เกิดโลหิตจางชนิด Aplastic anemia

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรเบเนซิดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรเบเนซิด เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาโพรเบเนซิด
  • ห้ามใช้ยานี้รักษากับผู้ป่วยด้วยโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นนิ่วในไต (Uric acid nephrolithiasis)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคเลือดหรือมีความผิดปกติของเลือด
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไต โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพรเบเนซิดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโพรเบเนซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรเบเนซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้ เช่น

  • การใช้ยาโพรเบเนซิดสามารถลดการกำจัดยาบางกลุ่มออกจากร่างกายได้ จึงควรพิจารณา ด้วยความระมัดระวัง หรืออาจต้องปรับขนาดการรับประทาน ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Methotrexate, Ganciclovir, และ Aciclovir
  • การใช้ยาโพรเบเนซิดร่วมกับยาปฏิชีวนะ เช่น Penicillin หรือยากลุ่ม B-Lactams สามารถ ทำให้ระดับของยาปฏิชีวนะในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการรักษาดีขึ้นเช่นเดียวกัน

ควรเก็บรักษายาโพรเบเนซิดอย่างไร?

ควรเก็บยาโพรเบเนซิด เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บในที่ที่พ้นแสง/แสงแดด
  • หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาโพรเบเนซิดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรเบเนซิด มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Benacid (เบนาซิด) Chew Brothers
Bencid (เบนซิด) Pharmaland
Benecid (เบเนซิด) Chew Brothers
Benemid (เบเนมิด) MSD

บรรณานุกรม

1. https://www.drugs.com/pro/probenecid.html [2020,June20]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Probenecid [2020,June20]
3. http://www.mims.com/USA/drug/info/probenecid/ [2020,June20]
4. http://www.drugs.com/dosage/probenecid.html#Usual_Adult_Dose_for_Adjunct_to_Antibiotic_Therapy [2020,June20]