ท่อนำไข่อักเสบ (Salpingitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ท่อนำไข่อักเสบคืออะไร?

ท่อนำไข่อักเสบ (Salpingitis) คือ โรค/ภาวะมีการอักเสบบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย, การอักเสบของท่อนำไข่มักไม่ได้อักเสบเฉพาะที่ท่อเดี่ยวๆ แต่มักจะมีการอักเสบที่มดลูก/เยื่อบุมดลูกร่วมด้วยที่รวมเรียกว่าการอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)

ทั้งนี้ ท่อนำไข่ (Follopian tube): เป็นอวัยวะที่ยื่นต่อออกจากตัวมดลูก คล้ายแขนยื่นออกไป 2 ข้างซ้ายและขวา โดยปลายด้านหนึ่งของท่อจะมีลักษณะคล้ายนิ้วมือไปคลุมด้านบนของรังไข่

ท่อนำไข่อักเสบมีอาการอย่างไร?

ท่อนำไข่อักเสบ

อาการจากท่อนำไข่อักเสบที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปวดท้องน้อยที่ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้ง 2 ด้าน
  • มีตกขาวผิดปกติ
  • มีเลือดออกผิดปกติ/เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด/เลือดออกทางช่องคลอด
  • มีก้อนถุงน้ำที่ปีกมดลูก (Hydrosalpinx) พบในกรณีที่มีการอักเสบเรื้อรังที่ทำให้ปลายท่อนำไข่อุดตัน จึงมีการคั่งของของเหลวในท่อ ทำให้เกิดเป็นก้อนขึ้นมา

ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดท่อนำไข่อักเสบ?

สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดท่อนำไข่อักเสบ คือ

  • สตรีที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีคู่นอนที่มีการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์
  • สตรีที่มีคู่นอนหลายคน
  • ไม่ใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • สวนล้างช่องคลอด
  • มีประวัติเคยมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • สตรีที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง  เช่น โรคเบาหวาน, โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี,  โรคติดเชื้อเรื้อรังต่างๆ เช่น เอชไอวี

แพทย์วินิจฉัยท่อนำไข่อักเสบอย่างไร?

ทั่วไปแพทย์วินิจฉัยท่อนำไข่อักเสบได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: ที่สำคัญคือ มีอาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง บางครั้งอาจมีไข้หรือตกขาวผิดปกติ และประวัติที่มีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’

ข. การตรวจร่างกาย: หากอาการไม่มากจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ ถ้าอาการรุนแรงสามารถตรวจพบว่ามีไข้ได้ นอกจากนั้นจะมีการกดเจ็บตำแหน่งที่มีอาการปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างหรือรวมทั้งบริเวณเหนือหัวหน่าวด้วย

ค. การตรวจภายใน: เช่น พบตกขาวที่ผิดปกติ และเมื่อแพทย์โยกปากมดลูกจะมีอาการเจ็บบริเวณปีกมดลูก หากมีภาวะแทรกซ้อนเป็นก้อนฝี/หนองจะคลำพบก้อนที่ปีกมดลูก

ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น

  • เมื่อตรวจเลือด (การตรวจซีบีซี) อาจมีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวมากขึ้น,
  • การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องหรือช่องท้องน้อย มักไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในกรณีที่ท่อนำไข่มีการอักเสบแบบเฉียบพลัน ยกเว้นหากมีภาวะแทรกซ้อนมีก้อนฝี/หนองจะพบก้อนฝีหนองที่ปีกมดลูก หรือหากเคยมีการอักเสบเรื้อรังมาก่อน ปลายท่อนำไข่ตีบตัน จะทำให้มีของเหลวคั่งอยู่ในท่อนำไข่ได้ จึงทำให้เห็นภาพท่อนำไข่ขยาย/ถุงน้ำ (Hydrosalpinx) เห็นได้ชัดเจน

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวมาแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ หรือสงสัยว่าจะเป็นท่อนำไข่อักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อรับคำแนะนำและรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง เพราะอาจไม่ครอบคลุมชนิดเชื้อโรค หรือรับประทานยาไม่ครบระยะเวลา ทำให้รักษาได้ไม่หายขาด หรืออาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้

รักษาท่อนำไข่อักเสบอย่างไร?

การรักษาท่อนำไข่อักเสบจะเหมือนกับการรักษาภาวะอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease), หรือการอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบ (Adnexitis) กล่าวคือ

  • ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง: แพทย์จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยให้ยาปฎิชีวะนะ Ceftriaxone 250 มก.(มิลลิกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียวร่วมกับให้รับประทานยา Doxycycline 100 มก. หลังอาหารเช้าและเย็นนานประมาณ 2 สัปดาห์
  • ในกรณีอาการรุนแรง: เช่น ที่มีไข้, มีก้อนหนองที่ท่อนำไข่, มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก, มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง, แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฎิชีวะนะเหมือนการรักษาผู้ป่วยในที่มีภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกรานแบบเฉียบพลัน
  • การรักษาร่วมอย่างอื่น: เช่น  การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด, ยาลดไข้, ให้ประคบหน้าท้องด้วยน้ำอุ่น

ดูแลตนเองเมื่อมีท่อนำไข่อักเสบอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อมีท่อนำไข่อักเสบ ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • รับประทานยาให้ครบตามแพทย์แนะนำ ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น การรักษาสุขอนามัยพื่นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • งดมีเพศสัมพันธ์ช่วงที่กำลังรักษาจนกว่าอาการจะปกติและแพทย์อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว
  • พิจารณาใช้ถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ทั่วไปควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดท้องน้อยมากขึ้น ตกขาวมากขึ้น
  • อาการที่รักษาหายแล้วกลับมามีอาการอีก เช่น กลับมามีไข้ กลับมาตกขาว
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • เมื่อกังวลในอาการ

ภาวะแทรกซ้อนของท่อนำไข่อักเสบมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากท่อนำไข่อักเสบที่พบได้  เช่น

  • เกิดรังไข่อักเสบและ/หรือมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบร่วมด้วย
  • เกิดก้อนฝี/หนองที่ปีกมดลูก (Tubo-ovarian abscess)
  • ทำให้ปลายท่อนำไข่อุดตัน เกิดการคั่งของของเหลว ทำให้ท่อนำไข่โตขึ้น (Hydrosalpinx)
  • ท่อนำไข่อุดตัน ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
  • ทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรังจากการมีพังพืดในอุ้งเชิงกราน
  • มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูกสูงขึ้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากท่อนำไข่อักเสบที่พบบ่อย คือ

  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่องเช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯเช่น ในผู้ป่วยโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
  • ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีผู้สูงอายุ หรือกลุ่มสตรีที่มีโรคเบาหวาน
  • นอกจากนั้น การซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองหรือรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบตามแพทย์สั่งก็ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

ท่อนำไข่อักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ทั่วไป ท่อนำไข่อักเสบมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาหายได้, แต่การพยากรณ์โรคขึ้นกับหลายปัจจัยที่สำคัญคือ การรักษาที่ทันท่วงที, การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาล, การรับประทานยาปฏิชีวนะครบตามแพทย์แนะนำ, ซึ่งจะทำให้การรักษาโรคมีโอกาสหายมากขึ้น การพยากรณ์โรคดีขึ้น โอกาสมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง

นอกจากนั้น ปัจจัยต่อการพยากรณ์โรคยังรวมถึงการเป็นผู้ป่วยในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ท่อนำไข่อักเสบสามารถเป็นซ้ำได้หรือไม่?

ท่อนำไข่อักเสบสามารถกลับเป็นซ้ำได้ หากยังไม่หลีกเลี่ยง/แก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค

ตั้งครรภ์ได้เมื่อไหร่หลังการรักษาแล้ว?

การอักเสบของท่อนำไข่ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, คู่นอนจึงควรได้รับการตรวจรักษาด้วยเพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำ, ช่วงที่กำลังรับประทานยารักษา ควรต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ไปสักระยะก่อน และ/หรือ ต้องใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วย  

หลังรักษาโรคหายแล้ว: ไม่มีข้อห้ามในการตั้งครรภ์ แต่เพื่อให้สุขภาพกลับมาแข็งแรง ฝ่ายชายควรจะใช้ถุงยางอนามัยไปอีก 2 - 3 เดือน, และควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์เสมอ

ป้องกันท่อนำไข่อักเสบอย่างไร?

ทั่วไป ป้องกันท่อนำไข่อักเสบได้โดย

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • งดมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ
  • ไม่สวนล้างช่องคลอด
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • งดดื่มสุรา เพราะจะทำให้ขาดสติ เกิดการเสี่ยงต่อเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยจึงเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

บรรณานุกรม

  1. Soper DE. Genitourinary infection and sexually transmitted disease. In: Berek JS ,editor. Berek & Novak’s Gynecology. 15th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer 2012:557-73.
  2. https://emedicine.medscape.com/article/253402-overview#showall [2023,April 22]
  3. https://www.emedicinehealth.com/cervicitis/article_em.htm   [2023,April 22]