ปีกมดลูกอักเสบ การอักเสบของปีกมดลูก (Adnexitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

การอักเสบของปีกมดลูกคืออะไร? พบบ่อยไหม?

ปีกมดลูกอักเสบ หรือ การอักเสบของปีกมดลูก หรือ ปีกมดลูกติดเชื้อ หรือ การติดเชื้อของปีกมดลูก (Adnexitis) คือ ภาวะ/โรคที่มีการอักเสบติดเชื้อที่บริเวณท่อนำไข่(ท่อนำไข่อักเสบ/Salpingitis) และที่รังไข่ (รังไข่อักเสบ/Oophoritis)ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ข้างตัวมดลูก จึงเรียกรวมๆว่า ‘ปีกมดลูกอักเสบ หรือ การอักเสบของปีกมดลูก’ แต่หากมีการอักเสบที่มดลูกร่วมด้วยจะเรียกว่ามี ‘ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)’ ทั้งนี้ปีกมดลูก หมายถึง ทั้งท่อนำไข่และรังไข่รวมกัน

การอักเสบของปีกมดลูกพบได้บ่อยขึ้นในสตรีอายุน้อยๆตามพฤติกรรมทางเพศของวัย, อุบัติการณ์พบภาวะนี้สูงถึงประมาณ 25% ของสตรีวัยเจริญพันธุ์

สาเหตุการอักเสบของปีกมดลูกคืออะไร?

ปีกมดลูกอักเสบ-01

สาเหตุส่วนใหญ่ของปีกมดลูกอักเสบ/การอักเสบของปีกมดลูกเกิดจากการติดเชื้อจากมีเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ทำให้เชื้อโรคที่เป็นเชื้อแบคทีเรียผ่านจากช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูกและเข้าไปที่ท่อนำไข่และที่รังไข่ แล้วทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณนั้นๆ ซึ่งบางครั้งหากเชื้อรุนแรงก็จะทำให้เกิดการอักเสบที่มดลูกร่วมด้วย

นอกจากนี้ สาเหตุการอักเสบของปีกมดลูกสามารถเกิดได้จากการอักเสบที่ช่องคลอดก่อน แล้วเชื้อโรคลามจากช่องคลอดขึ้นไปที่ปากมลูก แล้วเข้าไปที่มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ หรืออาจจากการอักเสบมาจากอวัยวะข้างเคียงท่อนำไข่และรังไข่ เช่น ไส้ติ่งอักเสบแล้วลามมาที่ปีกมดลูกจนสามารถทำให้เกิดการอักเสบที่ปีกมดลูกได้เช่นกัน

การอักเสบของปีกมดลูกมีอาการอย่างไร?

การอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบมีอาการ ดังนี้ เช่น

  • ปวดบริเวณท้องน้อย อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือเป็นทั้ง 2 ข้าง อาการปวดนี้เป็นอาการเด่นที่สุดและพบได้ในผู้ป่วยเกือบทุกคน
  • สามารถมีไข้ได้ หากมีการลุกลามของเชื้อโรคมากหรือเกิดเป็นก้อนหนองขึ้นที่ท่อนำไข่ หรือที่รังไข่
  • อ่อนเพลียหรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ตกขาวผิดปกติ ปริมาณมากขึ้น สีเปลี่ยนไป (เช่น เขียวหรือเหลือง) มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติหรือมีประจำเดือนผิดปกติ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดการอักเสบของปีกมดลูก?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดการอักเสบของปีกมดลูก/เกิดมดลูกอักเสบ ได้แก่

  • สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ใช่ถุงยางอนามัยชายหรือถุงยาอนามัยสตรีป้องกัน
  • มีคู่นอนที่มีการอักเสบติดเชื้อหรือมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องเช่น ติดเชื้อเอชไอวี
  • มีการสวนล้างช่องคลอดเอง ไม่ใช่ตามการแนะนำของแพทย์

แพทย์วินิจฉัยการอักเสบของปีกมดลูกอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยการอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบได้โดย

ก. ประวัติอาการ/ประวัติทางการแพทย์: มีประวัติมีเพศสัมพันธ์ก่อนมีอาการปวดท้องน้อย, มีตกขาว, มีประวัติปวดท้องน้อยเป็นๆหายๆมานาน

ข. การตรวจร่างกาย: หากอาการรุนแรงสามารถมีไข้ได้, ตรวจคลำหน้าท้องจะพบว่า กดเจ็บบริเวณท้องน้อย อาจเจ็บข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้

ค. การตรวจภายใน: พบตกขาวมากกว่าปกติ สีและกลิ่นผิดปกติ กดเจ็บที่ปีกมดลูกข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ อาจกดเจ็บบริเวณมดลูกร่วมด้วย

ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อ กรณีรุนแรงจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาว แต่ส่วนมากมักไม่มีการเปลี่ยนแปลง, ตรวจ อัลตราซาวด์ท้องน้อยอาจพบก้อนฝีหนองที่ปีกมดลูก ในกรณีที่มีการอักเสบเรื้อรังการตรวจอัลตราซาวด์อาจพบว่ามีอาการบวมบริเวณท่อนำไข่ (Hydrosalpinx)

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการปวดท้องน้อย อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ หรือมีอาการตามที่กล่าวมาแล้วข้าง ต้นใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรไปปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาล

การอักเสบของปีกมดลูกรักษาอย่างไร?

การรักษาการอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบจะเหมือนกับการรักษาภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก เช่น ให้ยาปฎิชีวะนะ เช่นยา Ceftriaxone 250 มก.(มิลลิกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับให้รับประทานยา Doxycycline 100 มก. เช้าและเย็นนาน 2 สัปดาห์

ในกรณีที่อาการรุนแรง เช่น มีไข้ มีก้อนหนองที่ปีกมดลูก มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำเหมือนการรักษาผู้ป่วยในที่มีภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกรานแบบเฉียบพลัน

การรักษาร่วมอย่างอื่น เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ให้ประคบหน้าท้องด้วยน้ำอุ่นช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง และให้พักผ่อน เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีการอักเสบของปีกมดลูก?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อมีการอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • ต้องงดการดื่มสุราเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบ/ยาปฏิชีวนะรับประทานเอง เพราะอาจทำให้รักษาไม่ถูกต้อง เชื้อเกิดการดื้อยาได้
  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแพทย์จะอนุญาต
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดท้องน้อยมากขึ้น/รุนแรง และ/หรือตกขาวมากขึ้น
  • กลับมามีอาการที่ได้รักษาหายไปแล้วเช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่น มีไข้ หรือคลำก้อนได้ในท้อง หรือมีอาการผิดปกติทางปัสสาวะเช่น ปัสสาวะบ่อยร่วมกับปวดแสบเมื่อปัสสาวะ
  • เมื่อกังวลในอาการ

ภาวะแทรกซ้อนของการอักเสบของปีกมดลูกมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของการอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบ เช่น

  • เมื่อโรครุนแรงขึ้นที่อาจเกิดจากติดเชื้อชนิดรุนแรง หรือจากพบแพทย์ล่าช้า หรือในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือในผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯ (เช่น ในโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี) หรือในสตรีตั้งครรภ์ ในผู้สูงอายุ ในกลุ่มสตรีที่มีโรคเบาหวาน สามารถทำให้เกิดเป็นก้อนฝี/หนองที่ปีกมดลูกได้ง่าย ซึ่งหากก้อนหนองแตกจะเป็นอันตรายมาก โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างมากทันที การรักษาต้องทำการผ่าตัดด่วน หากรักษาไม่ทันอาจถึงตายได้
  • มีพังผืดในท้องเนื่องจากการอักเสบทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
  • ทำให้มีภาวะมีบุตรยากจากการที่ท่อนำไข่ตีบตันจากการอักเสบหรือจากมีพังผืดไปรัด
  • มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูกสูงกว่าสตรีทั่วไป จากการทีท่อนำไข่ตีบตันจากการอักเสบหรือจากมีพังผืดไปรัด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบที่พบบ่อย คือ

  • ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ เอชไอวี
  • ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ในผู้ป่วยโรคลูปัส-เอสแอลอี
  • ในสตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มสตรีที่มีโรคเบาหวาน
  • นอกจากนั้นการซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองหรือรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบตามแพทย์สั่งก็ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

การอักเสบของปีกมดลูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป การอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาหายได้ แต่การพยากรณ์โรคขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ การรักษาที่ทันท่วงที, การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาล, การรับประทานยาปฏิชีวนะครบตามแพทย์แนะนำ, ซึ่งจะทำให้การรักษาโรคมีโอกาสหายมากขึ้น การพยากรณ์โรคดีขึ้น โอกาสมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง

นอกจากนั้น ปัจจัยต่อการพยากรณ์โรคยังรวมถึง เป็นผู้ป่วยที่ไม่ใช่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน

การอักเสบของปีกมดลูกสามารถเป็นซ้ำได้หรือไม่?

การอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบสามารถเกิดเป็นซ้ำได้เสมอ หากมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) อีก

ตั้งครรภ์ได้เมื่อไหร่หลังการรักษาแล้ว?

เนื่องจากการอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศ สัมพันธ์ คู่นอนจึงควรได้รับการตรวจรักษาด้วยเพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำ

ทั้งนี้ช่วงที่กำลัง รับประทานยารักษา ควรต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ไปสักระยะก่อนหรือต้องใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วย (ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาในเรื่องของเพศสัมพันธ์เสมอ)

แต่หลังรักษาโรคหายแล้ว ไม่มีข้อห้ามในการตั้งครรภ์ แต่เพื่อให้สุขภาพผู้ป่วยกลับมาแข็งแรง ฝ่ายชายควรใช้ถุงยางอนามัยชายคุมกำเนิดไปอย่างน้อยอีก 2 - 3 เดือน

ป้องกันการอักเสบของปีกมดลูกอย่างไร?

ป้องกันการอักเสบของปีกมดลูก/ปีกมดลูกอักเสบได้โดย

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • งดมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ
  • ไม่มีการสวนล้างช่องคลอด
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพคือการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • งดดื่มสุราเพราะสุรานอกจากจะทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมแล้วยังทำให้ขาดสติ จึงมีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้สูง

บรรณานุกรม

  1. Soper DE. Genitourinary infection and sexually transmitted disease. In: Berek JS ,editor. Berek & Novak’s Gynecology. 15th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer 2012:557-73.
  2. https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/adnexitis [2022,July23]
  3. https://radiopaedia.org/articles/adnexa-female-pelvis [2022,July23]