ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 18 เมษายน 2564
- Tweet
- ปากมดลูกอักเสบคืออะไร? พบบบ่อยไหม?
- สาเหตุของปากมดลูกอักเสบคืออะไร?
- อาการของปากมดลูกอักเสบมีอะไรบ้าง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- ใครเสี่ยงต่อปากมดลูกอักเสบ?
- แพทย์วินิจฉัยปากมดลูกอักเสบอย่างไร?
- รักษาปากมดลูกอักเสบอย่างไร?
- ปากมดลูกอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ปากมดลูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันปากมดลูกอักเสบได้อย่างไร?
- หากมีปากมดลูกอักเสบเมื่อไหร่จึงตั้งครรภ์ได้?
- บรรณานุกรม
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STD: Sexually transmitted disease)
- การติดเชื้อทริโคโมแนส พยาธิในช่องคลอด(Trichomoniasis)
- เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)
- โรคหนองใน(Gonorrhea)
- โรคหนองในเทียม (Chlamydia infection)
- มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน(Pelvic inflammatory disease)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ตกขาว (Leucorrhea)
- การตรวจภายใน (Per vaginal examination)
ปากมดลูกอักเสบคืออะไร? พบบบ่อยไหม?
ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis) คือ ภาวะ/โรคที่มีการอักเสบบริเวณปากมดลูก มีอาการบวม แดง ทำให้มีตกขาวผิดปกติ หรือมีเลือดออกง่ายเมื่อสัมผัส สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
ปากมดลูกอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์ มีการประมาณการว่า สตรีมากถึง 60% ที่มีเพศสัมพันธ์มีโอกาสเป็นปากมดลูกอักเสบ
การอักเสบของปากมดลูกแบ่งเป็น
ก. ปากมดลูกอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute cervicitis): คือมีการอักเสบที่ปากมดลูกที่เพิ่งเกิดขึ้น มีอาการชัดเจน เช่น ตกขาวมากผิดปกติ สีตกขาวเปลี่ยนไปจากปกติ (เช่น เขียว เหลือง) หากให้การรักษาทันท่วงที อาการต่างๆก็ดีขึ้นอย่างชัดเจนรวดเร็ว
ข. ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง (Chronic cervicitis): หมายถึง การที่อักเสบของปากมดลูกที่เป็นๆหายๆเป็นมานาน ไม่สามารถบอกเวลาที่เกิดได้ชัดเจน อาการต่างๆมักไม่ชัดเจนเหมือนกลุ่มที่อักเสบแบบเฉียบพลัน แต่สามารถพบตกขาวมากผิดปกติได้ หรือตรวจพบว่ามีการอักเสบเฉียบพลันซ้ำซ้อนอยู่เรื่อยๆ จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี
อนึ่ง เมื่อกล่าวถึงปากมดลูกอักเสบ มักครอบคลุมทั้งการอักเสบเฉียบพลันและการอักเสบเรื้อรัง
สาเหตุของปากมดลูกอักเสบคืออะไร?
สาเหตุของปากมดลูกอักเสบแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
ก. ปากมดลูกอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ: ซึ่งส่วนมากเป็นการติดเชื้อทางเพศ สัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) กลุ่มนี้เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ปากมดลูกอักเสบ เชื้อที่พบก่อโรคบ่อยได้แก่
- Chlamydia infection: โรคหนองในเทียม
- Gonococcal infection: โรคหนองใน
- Herpes simplex inflection: เริมที่อวัยวะเพศ
- Trichomonas infection: การติดเชื้อทริโคโมแนส/ พยาธิในช่องคลอด
ข. ปากมดลูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ: เป็นสาเหตุส่วนน้อยของการอักเสบของปากมดลูก เช่น
- อักเสบจากการระคายเคืองจากการใส่ห่วงอนามัย
- การถูกฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- มะเร็งปากมดลูก
อนึ่ง สำหรับสาเหตุของ ‘ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง’ ก็เหมือนกับสาเหตุที่ทำให้เกิดปากมดลูกอักเสบแบบเฉียบพลัน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์แล้วไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ทำให้มีความผิดปกติ/การอักเสบของปากมดลูกมาเรื่อยๆเรื้อรังหรือเป็นๆหายๆ ส่วนสาเหตุอื่นที่ทำให้ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังคือ
- การสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ และ
- การระคายเคืองจากการใส่ห่วงอนามัย
อาการของปากมดลูกอักเสบมีอะไรบ้าง?
ส่วนใหญ่ปากมดลูกอักเสบมักไม่มีอาการ มักตรวจพบโดยบังเอิญเช่น จากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
แต่เมื่อมีอาการ อาการของปากมดลูกอักเสบที่พบได้บ่อยได้แก่
- มีตกขาว มีสีที่ผิดไปจากปกติเช่น เป็นสีเหลือง สีเขียวอ่อน สีเทา
- บ่อยครั้งมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย
- มีตกขาวปนเลือด
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
สตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง)ทุกปีแม้จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆก็ตาม ซึ่งจากการตรวจภายใน หากแพทย์พบมีความผิดปกติ แพทย์ก็จะแจ้งแก่ผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
สำหรับสตรีที่มีอาการตกขาวผิดปกติ ตกขาวเป็นหนอง มีสีของตกขาวเปลี่ยนไป มีกลิ่นของตกขาวผิดปกติ มีอาการคันช่องคลอดผิดปกติ มีตกขาวปนเลือด มีเลือดออกหลังมีเพศสัม พันธ์ เหล่านี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจภายในหาสาเหตุที่แท้จริง
ใครเสี่ยงต่อภาวะปากมดลูกอักเสบ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปากมดลูกอักเสบได้แก่
- สตรีที่มีเพศสัมพันธ์
- สตรีที่มีคู่นอนหลายคน
- สตรีที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ส่วนสตรีผู้ที่เสี่ยงต่อปากมดลูกอักเสบเรื้อรังได้แก่
- สตรีที่ใส่ห่วงอนามัย เพราะสายของห่วงอนามัยจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่ปากมดลูกได้
- สตรีที่สวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ
- สตรีที่สามีใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆในขณะมีเพศสัมพันธ์ สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดแผลที่บริเวณปากมดลูกได้
- สตรีที่ได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือฝังแร่ในช่องคลอด
แพทย์วินิจฉัยภาวะปากมดลูกอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะปากมดลูกอักเสบได้จาก
ก. ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ: ผู้ป่วยมีประวัติตกขาวที่ผิดปกติ อาจเป็นสีเขียว สีเหลือง มีกลิ่นเหม็น ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง)มาก อาจมีอาการไข้ ปวดท้องน้อย ร่วมด้วย
ทั้งนี้ประวัติฯที่ช่วยส่งเสริมให้คิดถึงภาวะนี้มากขึ้นคือ
- ประวัติการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหน้าที่จะมีอาการผิดปกติไม่นาน
- มีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน
- มีคู่นอนหลายคน
- คู่นอนมีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน
- มีหนองไหลทางท่อปัสสาวะ
ข.การตรวจร่างกาย: ได้แก่ การตรวจร่างกายทั่วไป ซึ่งกรณีมีภาวะนี้ที่รุนแรงจะมี ไข้ ปวดท้อง /ปวดท้องน้อย, แต่ในกรณีไม่รุนแรงมักไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง
ค. การตรวจภายใน: พบตกขาวมากผิดปกติ สีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น ปากมดลูกบวมแดง อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆที่ปากมดลูก บางครั้งมีอาการเจ็บที่มดลูกและอาจที่ปีกมดลูกร่วมด้วย
ง. การตรวจทางห้องปฎิบัติการ: ในกรณีที่มีตกขาวผิดปกติ แพทย์จะนำตกขาวไปตรวจเชื้อ เพื่อหาเชื้อก่อโรค โดยทั่วไปจะมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก(วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง) ไปด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากการอักเสบของปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจไม่ได้มีเฉพาะการอักเสบที่ปากมดลูกเท่านั้น อาจมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างอื่นร่วมด้วย แพทย์จึงอาจแนะนำให้มีการตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีมีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของปากมดลูกอักเสบ
รักษาปากมดลูกอักเสบอย่างไร?
แนวทางการรักษาปากมดลูกอักเสบได้แก่
ก. การรักษาปากมดลูกอักเสบติดเชื้อ: จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แต่ส่วนมากอาการไม่รุนแรง
- ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง: แนวทางการรักษาคือ
- แพทย์จะให้รับประทานยาแก้อักเสบ/ยาฆ่าเชื้อ ตามสาเหตุของเชื้อก่อโรค
- ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แพทย์จะให้การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นๆกับสามีด้วย เพื่อการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นๆให้หายขาด
- ในกรณีที่อาการรุนแรง: คือมีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่ทำให้มีการอักเสบเข้าไปในอุ้งเชิงกราน (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) แพทย์ต้องให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากที่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ
อนึ่ง เนื่องจากการอักเสบของปากมดลูกชนิดเรื้อรัง สาเหตุส่วนใหญ่ก็เกิดจาการติดเชื้อ แพทย์มักต้องให้ยาปฏิชีวนะไปรับประทานสักระยะจนครบตามกำหนดเวลาที่ควรจะเป็น หากรักษาไปหลายรอบแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น
- แพทย์จะมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นให้แน่ชัดว่า ไม่ใช่เป็นมะเร็งปากมดลูก หลังจากนั้นอาจมีวิธีการรักษาต่อไปคือ การจี้เย็น (Cryotherapy) ที่ปากมดลูกเพื่อทำลายเซลล์ที่อักเสบผิดปกติที่ปากมดลูก หรือทำการรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ยิงทำลายเซลล์อักเสบผิดปกติที่ปากมดลูก เป็นต้น
- หากการอักเสบเรื้อรังเกิดจากการใส่ห่วงอนามัย แพทย์มักให้ยาแก้อักเสบ/ยาปฏิชีวนะไปรับประทานก่อน หากอาการไม่ดีขึ้น จึงพิจารณาเอาห่วงอนามัยออก ยกเว้นหากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Actinomycosis (มักวินิจฉัยได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก) ต้องเอาห่วงอนามัยออกเลย และไม่จำเป็นต้องให้ยาปฎิชีวนะ
ปากมดลูกอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ปากมดลูกอักเสบก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้เช่น
- เชื้อโรคจากปากมดลูกลุกลามเข้าในโพรงมดลูก ปีกมดลูก หรือในช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน ทำให้เกิด
- การอักเสบในโพรงมดลูก (เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)
- ในปีกมดลูก (ปีกมดลูกอักเสบ)
- ในช่องเชิงกราน (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน)
- ปวดท้องน้อยเรื้อรังจากการที่มีอักเสบและเกิดพังผืดในช่องเชิงกราน
- มีบุตรยาก
- มีโอกาสเกิดท้องนอกมดลูกมากกว่าคนที่ไม่มีการอักเสบที่ปากมดลูก โดยเฉพาะเมื่อลามเป็นการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีปากมดลูกอักเสบได้แก่
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งจนครบ ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะลืบพันธุ์ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- งดดื่มสุรา
- งดการมีเพศสัมพันธ์ขณะมีตกขาวผิดปกติ หรือต้องสวมถุงยางอนามัยชายหากต้องมีเพศสัมพันธ์
- หากมีอาการ ไข้ หนาวสั่น ปวดท้องน้อย ตกขาวมากขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลก่อนวันนัด
ปากมดลูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ปากมดลูกอักเสบมีการพยากรณ์โรคดังนี้
ก. ปากมดลูกอักเสบเฉียบพลัน: มีพยากรณ์โรคที่ดี โรคหายได้หากได้รับการรักษาถูกต้องรวดเร็ว และรับประทานยาครบตามคำแนะนำของแพทย์
ข. ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง: มีการพยากรณ์โรคไม่ดีเท่าปากมดลูกอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากอาการไม่ชัดเจน ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมาพบแพทย์ และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้แต่พบได้น้อยมาก
อนึ่ง ปากมดลูกอักเสบที่ภายหลังรักษาได้หายแล้ว สามารถกลับมีการอักเสบซ้ำได้เสมอ ถ้ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวแล้วในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ”
ป้องกันปากมดลูกอักเสบได้อย่างไร?
ป้องกันปากมดลูกอักเสบได้โดย
- มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนคนเดียว
- สวมถุงยางอนามัยชายขณะมีเพศสัมพันธ์
- ไม่สวนล้างช่องคลอด
หากมีปากมดลูกอักเสบเมื่อไหร่จึงตั้งครรภ์ได้?
หากกำลังมีการอักเสบของปากมดลูกอยู่ ควรได้รับการรักษาให้หายดีเสียก่อน ควรใช้ถุง ยางอนามัยชายร่วมด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรืองดการมีเพศสัมพันธ์สักระยะ
เมื่อได้รับการรักษาปากมดลูกอักเสบจนหายเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถหยุดคุมกำเนิด และตั้งครรภ์ได้ แต่ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเพื่อวางแผนการตั้งครรภ์เสมอ
บรรณานุกรม
- https://emedicine.medscape.com/article/253402-overview [2021,April17]
- https://www.emedicinehealth.com/cervicitis/article_em.htm [2021,April17]