ชักกระตุก (Clonic seizure)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการชัก/โรคลมชักแบบทั้งตัวอีกชนิดหนึ่งที่พบไม่บ่อยคือ การชักกระตุก (Clonic seizure) การชักแบบนี้พบได้ไม่บ่อย แต่ก็ควรรู้จักไว้ครับว่า ชักกระตุกเป็นอย่างไร บางกรณี การชักแบบกระตุกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือลมบ้าหมูที่พบบ่อยกว่า ลองอ่านบทความนี้ครับเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น

ชักกระตุกคืออะไร? มีอาการอย่างไร?

ชักกระตุก

การชัก/ลมชักแบบกระตุกคือ การชักชนิดทั้งตัวแบบหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการกระตุกของ แขน ขา แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆประมาณ 30 วินาที และเมื่อหยุดชักก็หายเป็นปกติ ไม่มีอาการมึนงงหรือปวดศีรษะ

ชักกระตุกมีสาเหตุจากอะไร?

ชัก/ลมชักกระตุกเป็นโรคพบน้อย จึงยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุ แต่อาจพบเกิดจากรอยโรคในสมองจากสาเหตุต่างๆได้ เช่น เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง

แพทย์วินิจฉัยชักกระตุกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยลมชักกระตุกได้จาก

  • ประวัติอาการผิดปกติที่ผู้ป่วยมี
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
  • การตรวจสมองทางรังสีวินิจฉัย/รังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน และ/หรือเอมอาร์ไอ  เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติในสมอง

ชักกระตุกพบบ่อยหรือไม่?

 อาการ/ลมชักกระตุกนั้นพบได้ไม่บ่อย แต่พบในทุกวัยทั้งในเด็กทารก, เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก), ผู้ใหญ่

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้มีอาการหรือสงสัยมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ในเด็ก ถ้าผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กทารกจะมีการชักกระตุก ควรรีบพาไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะการชักแบบนี้จะวินิจฉัยยากในทารก ถ้าปล่อยไว้ให้ผิดปกตินานโดยไม่ได้รักษา อาจส่งผลต่อการพัฒนาการของทารกได้ จึงควรรีบพบแพทย์ให้เร็ว รวมทั้งในผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

อาการผิดปกติสาเหตุอื่นที่คล้ายลมชักกระตุกมีอะไรบ้าง?

 อาการที่อาจคล้ายลมชักกระตุกคือ อาการกระตุกทั่วๆไปที่มักเกิดจากกล้ามเนื้อกระตุกที่ไม่ได้เป็นการชัก แพทย์แยกได้โดยการกระตุกทั่วไปจะเป็นเฉพาะในท่าทางใดท่าทางหนึ่งเท่า นั้น  แต่ลมชักกระตุกเป็นในทุกท่าทาง

ชักกระตุกอันตรายหรือไม่?

การชัก/ลมชักกระตุกไม่เป็นอันตรายเพราะเกิดอาการช่วงเวลาสั้นๆ ผู้ป่วยไม่เสียการทรงตัว ไม่ล้ม

การรักษาชักกระตุกมีวิธีใดบ้าง?

 การรักษาลมชักกระตุก ได้แก่                                                                                               

  • การทานยากันชัก
  • การผ่าตัดสมอง: ถ้าพบรอยโรคที่ต้องผ่าตัด เช่น เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง, หรือใช้ในกรณีผู้ป่วยไม่ ตอบสนองต่อการทานยากันชักฯ
  • นอกจากนี้คือ การทานอาหารคีโตเจนิค(Ketogenic diet): อาหารสำหรับเด็กโรคลมชัก ที่ช่วยลดสารอาหารจากคาร์โบไฮเดรตที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการชัก ได้แก่ อาหารประเภทไขมันสูง โปรตีนปริมาณที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ

ผู้ป่วยควรระวังการทำกิจกรรมใดบ้าง?

 เนื่องจากอาการจากลมชักกระตุกที่เกิดขึ้นมีอาการขึ้นมาทันที เป็นช่วงสั้นๆ แต่ไม่ล้มจึงไม่เกิดอันตราย สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้เหมือนปกติ

ลมชักกระตุกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ ความรุนแรงโรคในลมชักกระตุกจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นกับอายุเมื่อเกิดโรค, สา เหตุ, ตำแหน่งของรอยโรคในสมอง, การตอบสนองต่อยากันชัก, และการปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำในการใช้ชีวิตประจำวัน,  ซึ่งบางรายโรคอาจหายได้ แต่บางรายอาจต้องกินยากันชักฯตลอดไป

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อเป็นโรคลมชักกระตุกควรดูแลตนเอง ดังนี้เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ อย่างเคร่งครัด
  • กินยากันชักที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการทำงานของสมอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

 ผู้ป่วยลมชักกระตุกควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • มีอาการชักบ่อย รุนแรงกว่าเดิม
  • เปลี่ยนรูปแบบการชัก เช่น มีการชักเกร็ง ร่วมด้วย
  • ประสบอุบัติเหตุจากการชัก
  • สงสัยแพ้ยาจากยากันชัก เช่น ขึ้นผื่น  ปวดหัว   คลื่นไส้อาเจียน  ท้องเสีย หลังทานยากันชัก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันลมชักกระตุกได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุ (ในหัวข้อ สาเหตุ) ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันลมชักกระตุก แต่โรคนี้พบในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ได้ตั้งแต่เป็นทารก ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตบุตรหลาน เมื่อพบอาการคล้ายชักกระตุกหรือสงสัย ควรรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะการรักษาแต่เนิ่นๆจะช่วยลดโอกาสเกิดเสียหายต่อพัฒนาการสมองของเด็ก