ชักตัวอ่อน (Atonic seizure)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

“หมอครับ ช่วยดูลูกชายผมหน่อยครับ เขาขี่มอเตอร์ไซด์มาดีๆก็ล้มลงไปโดยไม่ได้เบรคหรือหลบรถคันไหนเลย แปลกมากครับ” ผมได้รับการปรึกษาให้ช่วยดูผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ล้มทั้งๆที่ไม่ได้ขี่เร็ว ไม่ได้หลบอะไร ไม่ได้เมาเหล้า แต่ขี่รถมาเฉยๆก็ล้มลง

ผมถามข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าผู้ป่วยเคยมีอุบัติเหตุแบบนี้มา 2 ครั้งแล้ว ดังนั้นผมจึงสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นการชัก/ลมชักแบบ “ชักตัวอ่อน (Atonic seizure หรือ Astatic seizure หรือ Drop seizure หรือ Drop attack)” จึงส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพิ่มเติมก็พบว่าเข้าได้กับอาการชักตัวอ่อน

ผมพบผู้ป่วยหลายต่อหลายรายที่มาพบแพทย์ด้วยอุบัติเหตุโดยที่หาสาเหตุไม่พบว่าทำ ไมเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุคือ การชักตัวอ่อน ต้องติดตามการชักตัวอ่อน ครับว่าเป็นอย่างไร

ชักตัวอ่อนคืออะไร? มีอาการอย่างไร?

ชักตัวอ่อน

การชักตัวอ่อน/ลมชักตัวอ่อนคือ การชัก/ลมชักชนิดทั้งตัวรูปแบบหนึ่ง มีลักษณะสำคัญ คือ การสูญเสียการตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle tone) หรือคือกำลังของกล้ามเนื้ออย่างทันที และขาดสติทุกครั้งที่เกิดชัก ระยะเวลาในการชักแต่ละครั้งนานไม่เกิน 15 วินาที ถ้านั่งอยู่ศีรษะ ก็กระแทกพื้นโต๊ะ ถ้ายืนก็ล้มลงกับพื้นทันที โดยอาจมีอาการสะดุ้งอย่างแรงก่อนแล้วจึงล้มลงทันที

ชักตัวอ่อนพบบ่อยหรือไม่?

อาการชักแบบตัวอ่อนนี้พบได้ไม่บ่อยประมาณ 1 - 3% ของการชักทั้งหมดในเด็ก พบเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการชักแบบ Lennox Gastaut syndrome (การชักที่เกิดจากมีความผิดปกติในสมองตั้งแต่เกิด)

สาเหตุของการชักตัวอ่อนคืออะไร?

สาเหตุพบบ่อยของการชักตัวอ่อนคือ กลุ่มอาการชักแบบ Lennox Gastaut syndrome คือ มักเป็นจากความผิดปกติทางสมองของเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ตั้งแต่เกิด แต่บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

แพทย์วินิจฉัยชักตัวอ่อนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยชักตัวอ่อนได้ โดยแพทย์ใช้ข้อมูลทางอาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับการตรวจร่างกาย, ประวัติทางการคลอด, ประวัติเจ็บป่วยในอดีตโดยเฉพาะหลังคลอด และ/หรือช่วงเป็นเด็กเล็ก, การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง, และการตรวจสมองทางรังสีวินิจฉัย (เช่น ซีทีสแกน/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ), เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติในสมอง

อาการผิดปกติอะไรที่มีลักษณะคล้ายการชักตัวอ่อน?

อาการผิดปกติสาเหตุอื่นที่คล้ายลมชักตัวอ่อนคือ การล้มลงจากสาเหตุอื่นๆ เช่น หมดสติจากหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง, การยืนหลับ, ภาวะปวกเปียก (Cataplexy, กล้ามเนื้ออ่อนแรงเมื่อถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์รุนแรง จากการขาดสมดุลของสารในสมองบางชนิดขณะเกิดอารมณ์นั้น เช่น หัวเราะรุนแรง โดยจัดอยู่ในอาการกลุ่มหนึ่งของโรคลมหลับ), หรือ โรคลมหลับ(Narcolepsy)

ชักตัวอ่อนอันตรายหรือไม่?

การชักตัวอ่อนเป็นการชักที่อันตราย เพราะเกิดการล้มลงทันทีไม่รู้สึกตัว ศีรษะจึงกระ แทกพื้นและก่อเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นการชักตัวอ่อน (มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ) ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลอย่างเร็ว เพื่อให้การวินิจฉัยอย่างเร็ว เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดชักซ้ำและอุบัติเหตุที่อาจพบได้

การรักษาชักตัวอ่อนมีวิธีใดบ้าง?

การรักษาการชักตัวอ่อนได้แก่

  • การทานยากันชัก: ระยะเวลาในการกินยาต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรง ของอาการ และการตอบสนองต่อยา บางคนอาจต้องกินยาตลอดชีวิต
  • การผ่าตัดสมอง: ถ้าพบรอยโรคในสมองที่ต้องผ่าตัดเช่น เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง หรือกรณีผู้ป่วยไม่ ตอบสนองต่อการทานยากันชัก อาจต้องพิจารณาผ่าตัดตัวเชื่อมสมอง 2 ข้าง (Callosotomy)
  • นอกจากนั้น เช่น
    • การทานอาหารคีโตจีนิก (Ketogenic diet): อาหารสำหรับเด็กโรคลมชักที่ช่วยลดสารอา หารจากคาร์โบไฮเดรตที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้แก่ อาหารประเภทไขมันสูง โปรตีนปริมาณที่พอเพียงต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ
    • การกระตุ้นไฟฟ้าต่อเส้นประสาทสมองที่ชื่อ เส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve stimulation: เส้นประสาทที่อาจส่งกระแสประสาทกระตุ้นให้เกิดการชักได้) การกระตุ้นฯจะโดยศัลยแพทย์ระบบประสาท โดยใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าจากเครื่องกระตุ้น ณ จุดเริ่มต้นของเส้น ประสาทนี้ที่ฐานสมอง

ผู้ป่วยควรระวังการทำกิจกรรมใดบ้าง?

เนื่องจากอาการชักตัวอ่อนที่เกิดขึ้นจะเกิดทันที ล้มลงกับพื้น จึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเช่น การขับรถ อยู่ใกล้แหล่งน้ำ อาบน้ำในอ่าง ในคลอง แม่น้ำ ว่ายน้ำ อยู่ในที่สูง ทำงานกับเครื่องจักรกล กับของมีคม ทำกับ ข้าวกับเตาไฟ เตาแก้ส

ชักตัวอ่อนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของลมชักตัวอ่อนแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นกับหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น สาเหตุ ตำแหน่งของสมองที่เกิดรอยโรค ความรุนแรงของอาการ การตอบสนองต่อการรักษา และรวมถึงการปฏิบัติตนของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยบางคนที่ตอบสนองดีต่อยากันชัก จึงอาจหยุดยาได้หลังการรักษาประมาณ 3 ปีเช่นเดียวกับโรคลมชักทั้งตัว/ชักแบบลมบ้าหมู หรือบางรายอาจต้องทานยากันชักตลอดไป

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อเป็นโรคลมชักตัวอ่อน ควรดูแลตนเองดังนี้ เช่น

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • กินยากันชักที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารตามแพทย์พยาบาลโภชนากรแนะนำ
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการทำงานของสมอง
  • เลือกประเภทงานและการดำรงชีวิตที่ไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุรุนแรงเช่น ไม่ขับขี่ยวดยาน
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยลมชักตัวอ่อนควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • มีอาการชักบ่อย รุนแรงกว่าเดิม
  • เปลี่ยนรูปแบบการชักเช่น มีการชักกระตุกร่วมด้วย
  • ประสบอุบัติเหตุจากการชัก
  • สงสัยแพ้ยากันชักเช่น ขึ้นผื่น ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย หลังทานยากันชัก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันชักตัวอ่อนอย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุ (ในหัวข้อ สาเหตุ) ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันลมชักตัวอ่อน ดังนั้น ผู้ปกครองควรสังเกตบุตรหลาน เมื่อพบอาการคล้ายชักตัวอ่อนหรือสงสัย ควรรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะการรักษาแต่เนิ่นๆจะช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น

สรุป

จะเห็นได้ว่า การชัก/ลมชักตัวอ่อนนั้นมีความรุนแรงไม่ต่างกับการชักแบบลมบ้าหมู แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ผมหวังว่าบทความนี้จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการชัก/ลมชักแบบตัวอ่อน