ชักเกร็ง (Tonic seizure)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 17 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ
- ชักเกร็งคืออะไร? มีอาการอย่างไร?
- ชักเกร็งพบบ่อยหรือไม่?
- สาเหตุของชักเกร็งคืออะไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยชักเกร็งได้อย่างไร?
- อาการผิดปกติอื่นที่ล้มคล้ายลมชักเกร็งมีอะไรบ้าง?
- ชักเกร็งอันตรายหรือไม่?
- รักษาชักเกร็งอย่างไร?
- ผู้ป่วยควรระวังทำกิจกรรมใดบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ชักเกร็งมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันชักเกร็งได้อย่างไร?
- สรุป
- ลมชัก (Epilepsy)
- ชักสะดุ้ง (Myoclonic seizure)
- ชักเกร็งกระตุก (Generalised tonic-clonic seizures)
- ชักเฉพาะที่แบบมีสติ (Simple partial seizure)
- ลมชักชนิดเหม่อ
- ชักกระตุก (Clonic seizure)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจอีอีจี (Electroencephalography; EEG)
- ชักตัวอ่อน
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
บทนำ
การชัก/โรคลมชัก มีหลายรูปแบบดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนๆ ซึ่งรูปแบบการ ชักอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อยคือ “ชักเกร็ง (Tonic seizure)” ที่ผู้ป่วยจะมีอาการตัวแข็งเกร็ง หมดสติ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การชักเกร็งแบบนี้รักษาได้หรือไม่ หายหรือไม่ ใครมีโอกาส เป็นได้บ่อย ต้องติดตามบทความนี้ครับ
ชักเกร็งคืออะไร? มีอาการอย่างไร?
ชักเกร็ง/ลมชักแบบชักเกร็งคือ การชักแบบทั้งตัวชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการตัวแข็งเกร็ง ทันที กัดฟัน กัดกราม ขาดสติ ล้มลงกับพื้นทันที ระยะที่ชักนานไม่เกิน 20 วินาที
ชักเกร็งพบบ่อยหรือไม่?
อาการชักเกร็ง/ลมชักชนิดชักเกร็งนั้นพบได้ไม่บ่อย พบในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)มากกว่าผู้ใหญ่ พบในผู้ ป่วยที่มีการชักแบบกลุ่มอาการชัก Lennox Gastaut syndrome (โรคความผิดปกติทางสมองของเด็กตั้งแต่เกิด) โดยมักพบร่วมกับรูปแบบการชักชนิดอื่นๆเช่น ชักกระตุก
สาเหตุของชักเกร็งคืออะไร?
สาเหตุที่พบบ่อยของชักเกร็ง/ลมชักแบบชักเกร็งคือ กลุ่มอาการชักแบบ Lennox Gastaut syndrome คือโรคที่เป็นความผิดปกติทางสมองของเด็กตั้งแต่เกิด และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis: MS)
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยจะมีการชักเกร็ง/ลมชักแบบชักเกร็ง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หลังจากมีอาการ เพราะการชักแบบนี้จะมีอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลให้เร็ว เพื่อการตรวจวินิจฉัยได้รับการรักษา เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรง
แพทย์วินิจฉัยชักเกร็งได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยลมชักแบบชักเกร็งได้โดย
- ใช้ข้อมูลทางอาการของผู้ป่วยที่เกิดขึ้น
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
- การตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติในสมอง เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
- ตรวจทางรังสีวินิจฉัยสมอง เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
อาการผิดปกติอื่นที่ล้มคล้ายลมชักเกร็งมีอะไรบ้าง?
อาการผิดปกติสาเหตุอื่นๆที่ล้มลงทันทีคล้ายโรคลมชักเกร็งคือ การล้มลงจากสาเหตุอื่นๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง การยืนหลับ โรคลมชักตัวอ่อน
ชักเกร็งอันตรายหรือไม่?
การชักเกร็ง/โรคลมชักเกร็งเป็นการชักที่อันตราย เพราะเกิดการล้มลงทันที ศีรษะกระ แทกพื้นเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ง่าย
รักษาชักเกร็งอย่างไร?
การรักษาลมชักเกร็งได้แก่
- การทานยากันชัก
- การผ่าตัดสมองถ้าพบรอยโรคที่สมองที่ต้องผ่าตัด เช่น เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง
- หรือกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการทานยากันชักฯอาจต้องพิจารณาผ่าตัดตัวเชื่อมสมอง 2 ข้าง (Callosotomy)
- นอกจากนั้น เช่น
- การทานอาหารคีโตเจนิค(Ketogenic diet): อาหารสำหรับเด็กโรคลมชัก ที่ช่วยลดสารอาหารจากคาร์โบไฮเดรตที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้แก่ อาหารประเภทไขมันสูง โปรตีนปริมาณที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ)
- การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve stimulation): เส้นประสาทที่อาจส่งกระแสประสาทกระตุ้นให้เกิดการชักได้ การกระตุ้นฯจะโดยศัลยแพทย์ระบบประสาท ซึ่งใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าจากเครื่องกระตุ้น ณ จุดเริ่มต้นของเส้นประสาทนี้ที่ฐานสมอง
ผู้ป่วยควรระวังทำกิจกรรมใดบ้าง?
เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นในลมชักเกร็ง มีอาการขึ้นมาทันที ล้มลงกับพื้น จึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเช่น การขับรถ อยู่ใกล้แหล่ง น้ำ อาบน้ำในอ่าง ในคลอง แม่น้ำ ว่ายน้ำ อยู่ในที่สูง ทำงานกับเครื่องจักรกล ของมีคม ทำกับ ข้าวกับเตาไฟ เตาแก้ส
ดูแลตนเองอย่างไร?
เมื่อเป็นโรคลมชักเกร็ง ควรดูแลตนเอง ดังนี้เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด
- กินยากันชัก(ยาต้านชัก)ที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- กินอาหารตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการทำงานของสมอง
- ไม่ทำงานหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงดังกล่าวแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
ผู้ป่วยควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยลมชักเกร็งควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการชักบ่อย รุนแรงกว่าเดิม
- เปลี่ยนรูปแบบการชักเช่น มีการชักกระตุกร่วมด้วย
- ประสบอุบัติเหตุจากการชัก
- สงสัยแพ้ยากันชักเช่น ขึ้นผื่น ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย หลังทานยากันชัก
- เมื่อกังวลในอาการ
ชักเกร็งมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในลมชักเกร็งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นกับอายุเมื่อเกิดโรค สา เหตุ ตำแหน่งของรอยโรคในสมอง การตอบสนองต่อยากันชัก และการปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่หยุดยากันชักฯได้ แต่บางรายอาจต้องกินยากันชักฯตลอดไป
ป้องกันชักเกร็งได้อย่างไร?
เมื่อดูจากสาเหตุดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ ปัจจุบันยังป้องกันลมชักแบบชักเกร็งไม่ได้
สรุป
จะเห็นได้ว่าการชักเกร็ง/ลมชักแบบชักเกร็งนั้นมีความรุนแรงไม่ต่างกับการชักแบบ ลมบ้าหมู แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ผมหวังว่าบทความนี้จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการชักเกร็ง