ข้ออักเสบ (Arthritis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ข้ออักเสบ(Arthritis) คือ โรคข้อที่เกิดจากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆของข้อ เช่น เยื่อบุภายในข้อ(Synovial membrane),  เอ็นกระดูกและเอ็นกล้ามเนื้อที่ประกอบเป็นข้อ,  ถุงลดการเสียดสี(Bursa)ที่อยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆรอบๆข้อ,ซึ่งการอักเสบที่เกิดขึ้นนี้ โดยทั่วไปจะทำให้เกิดอาการปวดข้อที่มักเกิดร่วมกับข้อติดขัดไม่สามารถเคลื่อนไหวและใช้งานได้ตามปกติ  ซึ่งข้ออักเสบมักเป็นโรคเรื้อรัง แต่อาจมีการอักเสบ/มีอาการเป็นๆหายได้

ข้ออักเสบ  พบบ่อยทั่วโลกแต่ไม่มีรายงานสถิติเกิดที่แน่นอนในภาพรวมจากทุกสาเหตุ(ในสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลศึกษาในช่วงค.ศ.2013-2015 พบว่าแพทย์วินิจฉัยโรคนี้ประมาณ 22.7%ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์) มักเกิดในผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แต่ก็พบในเด็กได้บ้าง   ข้ออักเสบพบทุกเชื้อชาติ และมักพบในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย 

 

อะไรคือสาเหตุของข้ออักเสบ?

ข้ออักเสบ

สาเหตุของข้ออักเสบมีหลากหลาย ที่พบเสมอ เช่น

ก. ข้อเสื่อมตามอายุ: เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด ดังนั้นโรคข้ออักเสบจึงพบสูงสุดในผู้สูงอายุ

ข. ข้ออักเสบจากการทำงานซ้ำๆต่อเนื่อง: เช่นจาก  เล่นกีฬาโดยเฉพาะที่เป็นอาชีพ(เช่น ข้อศอกอักเสบจากเทนนิส/Tennis elbow)  งานเย็บปักถักร้อย  งานคอมพิวเตอร์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com  บทความเรื่อง การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ)

ค. ข้อเสื่อมจากข้อรับน้ำหนักมากต่อเนื่อง: เช่น ข้อเข่าอักเสบจากโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

ง. อุบัติเหตุต่อข้อ: ข้อได้รับบาดเจ็บโดยตรง เช่น  อุบัติเหตุจากใช้ยานพาหนะ  การเล่นกีฬา  หรือ ในการทำงาน

จ. ข้ออักเสบติดเชื้อ: เกิดจากข้อติดเชื้อโรคโดยตรง ที่พบบ่อย คือ จากเชื้อแบคทีเรีย (แนะนำอ่านเพิ่มเติม ในเว็บcom บทความเรื่อง ข้ออักเสบติดเชื้อ)

ฉ. โรคภูมิต้านตนเอง(โรคออโตอิมมูน): เป็นโรคที่มีการอักเสบที่ไม่มีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทุกชนิดในร่างกายซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อข้อ ดังนั้น จึงพบข้ออักเสบ เป็นภาวะ/โรคที่เกิดร่วมในโรคภูมิต้านตนเองเสมอ เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี   โรคข้อรูมาตอยด์   โรคชิคุนกุนยา(โรคไข้ปวดข้อยุงลาย)

ช. โรคจากความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานจากอาหาร: เช่น โรคเกาต์   โรคเกาต์เทียม

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดข้ออักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดข้ออักเสบ ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ: เนื่องจากเซลล์เนื้อเยื่อข้อจะเสื่อมต่อเนื่องตามอายุเช่นเดียวกับการเสื่อมของเนื้อเยื่อทุกชนิดของร่างกายเมื่ออายุสูงขึ้น
  • เพศหญิง : ซึ่งอาจจากวัยหมดประจำเดือน เนื้อเยื่อต่างๆรวมถึงเนื้อเยื่อข้อจึงมีประสิทธิภาพการทำงานเสื่อมได้เร็วและรุนแรงกว่าในเพศชาย เพราะฮอร์โมนเพศจะช่วยในประสิทธิภาพการทำงานของทุกเนื้อเยื่อทุกชนิดของร่างกายรวมถึงของข้อ
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: เพราะข้อต่างๆโดยเฉพาะข้อที่รับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า จะเสื่อมได้เร็วและรุนแรงกว่าคนน้ำหนักตัวปกติจากแรงกดทับและการแบกรับน้ำหนักสูงตลอดเวลา
  • ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุที่ข้อ: จะเกิดข้ออักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไปจากเนื้อเยื่อข้อเสื่อมจากการอักเสบ
  • ผู้มีอาชีพการงานที่ต้องใช้ข้อซ้ำๆ: เช่น  งานคอมพิวเตอร์  นักกีฬาอาชีพ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com  บทความเรื่อง การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ)

ข้ออักเสบมีอาการอย่างไร?

ข้ออักเสบอาจเกิดกับข้อใดก็ได้ และอาจเกิดเพียงข้อเดียว หรือ หลายข้อ หรือทุกข้อในร่างกายพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ซึ่งอาการโดยทั่วไปของข้ออักเสบ ได้แก่ อาการที่เกิดกับข้อ, และอาการทั่วไป

ก. อาการที่เกิดกับข้อ: อาการจากข้ออักเสบโดยตรงที่พบบ่อย คือ

  • ปวดข้อ บางครั้งอาจกดเจ็บที่ข้อร่วมด้วย
  • ข้อทำงานผิดปกติ เช่น ข้อยึดติด ข้อเคลื่อนไหวได้จำกัด ข้อผิดรูป
  • ข้อบวมจากเนื้อเยื่อข้ออักเสบ ซึ่งมักมีอาการเจ็บร่วมด้วย
  • อาจมีน้ำ/สารน้ำ/ของเหลวในข้อ(Joint effusion)โดยเป็นสารน้ำที่สร้างจากเซลล์ที่อักเสบส่งผลให้ข้อบวม อาจร่วมกับอาการปวดข้อหรือไม่ก็ได้ ซึ่งอาการบวมด้วยสาเหตุนี้มักเกิดกับ’ข้อเข่า’
  • มีอาการของการอักเสบที่ข้อ เช่น    บวม  แดง  ร้อน  เจ็บ

ข. อาการทั่วไป: มักเป็นอาการของสาเหตุที่ทำให้เกิดข้ออักเสบ เช่น  อาการของโรคภูมิต้านตนเอง, อาการจากร่างกายมีการติดเชื้อ เช่น ข้ออักเสบจากโรคหนองใน เป็นต้น

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อ

  • มีอาการเจ็บ/ปวดข้อ หรือ ข้อติดขัด และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง หรือ ปวดข้อ ข้อติดขัด เป็นๆหายๆ ต่อเนื่อง
  • มีอาการข้ออักเสบเกิดกับข้อที่เคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน
  • มีอาการต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’
  • เมื่อกังวลในอาการเจ็บ/ปวดข้อนั้นๆ

 

แพทย์วินิจฉัยข้ออักเสบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยข้ออักเสบและหาสาเหตุข้ออักเสบได้จาก 

  • ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต  อาชีพ/การงาน  การกีฬา   อุบัติเหตุที่ข้อ
  • การตรวจร่างกายทั่วไป ร่วมกับ การตรวจข้อที่มีอาการรวมถึงข้อต่างๆที่ปกติ 
  • อาจมีการตรวจภาพข้อด้วยเอกซเรย์ และ
  • อาจมีการสืบค้นเพิ่มเติมด้วยวิธีเฉพาะที่ซับซ้อนเพื่อหาสาเหตุทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น 
    • ตรวจเลือด เช่น เพื่อดูสารภูมิต้านทาน หรือ ดูสารก่อภูมิต้านทาน ในกรณีสงสัยสาเหตุมาจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง หรือ จากการติดเชื้อ  เป็นต้น  
    • เจาะ/ดูดของเหลว/น้ำจากข้อเพื่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่รวมถึงการเพาะเชื้อ 
    • ตรวจภาพข้อด้วยเทคนิคเฉพาะ  เช่น เอมอาร์ไอ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) หรือ อัลตราซาวด์  และ
    • บางครั้ง อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อของข้อเพื่อการตาวจทางพยาธิวิทยา

รักษาข้ออักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาข้ออักเสบ ได้แก่  รักษาสาเหตุ, และ รักษาตัวข้อที่อักเสบ    

ก. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ เช่น   รักษาโรคภูมิต้านตนเองเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคกลุ่มนี้,    พักใช้ข้ออักเสบที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆกรณีเป็นสาเหตุข้ออักเสบ เช่น หยุดเล่นกีฬานั้นๆ เป็นต้น

ข. รักษาตัวข้อที่อักเสบ:  เช่น 

  • ใช้ยาต่างๆเพื่อลดการอักเสบ และลดอาการปวด  เช่น ยาในกลุ่มยาแก้อักเสบ(ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ)  เช่น ยาเอ็นเสด,   ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์
  • ใช้ยาแก้ปวด กรณีมีอาการปวดข้อ
  • พักใช้งานข้อนั้นๆ
  • ทำกายภาพบำบัดข้อนั้นๆ อาจร่วมกับการประคบร้อนประคบเย็น(ประคบร้อนประคบเย็น)
  • บางครั้งอาจต้องผ่าตัดข้อนั้นๆ เช่น  ผ่าตัดใส่ข้อเทียม,   ดูดน้ำ/ของเหลวออกจากข้อกรณีข้อบวมมากจากมีของเหลวคั่งในข้อกรณีการรักษาทางยาและทางกายภาพบำบัดไม่ได้ผล

ข้ออักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากข้ออักเสบ คือ คุณภาพชีวิตที่เสียไปจากปัญหาใช้ข้อนั้นๆไม่ได้ตามปกติ ซึ่งอาจมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันจนถึงมีผลกระทบต่ออาชีพและการงานที่อาจส่งผลถึงภาวะเศรษฐกิจของผู้ป่วยด้วย

ข้ออักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคข้ออักเสบมีการพยากรณ์โรค คือ เป็นโรคที่รักษาได้ ไม่ทำให้ถึงตาย แต่จากการที่เป็นโรคเรื้อรังจึงส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยรวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ  

นอกจากนั้น การพยากรณ์โรคของข้ออักเสบ ยังขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุด้วย ซึ่งถ้ารักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุได้ไม่ดี  ข้ออักเสบมักเป็นๆหายๆ และอาจรุนแรงตามอาการของโรคที่เป็นสาเหตุด้วย เช่น ในกรณีข้ออักเสบเกิดจากโรคภูมิต้านตนเอง เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีข้ออักเสบ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • พักใช้ข้อที่อักเสบตามแพทย์แนะนำ
  • อาบน้ำด้วยน้ำอุ่นเสมอเพื่อกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด
  • ออกกำลังกายใช้ข้อที่อักเสบเพียงเบาๆ สม่ำเสมอ ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ ที่เรียกว่า Joint stretching exercise  เพื่อการยืดข้อ เพื่อป้องกันข้อติด 
  • ประคบข้อที่อักเสบด้วยการประคบร้อนและ/หรือประคบเย็น ควรปรึกษา แพทย์ พยาบาล หรือ นักกายภาพบำบัดที่ดูแลรักษาผู้ป่วยก่อน เพราะอาจต้องขึ้นกับสาเหตุของการอักเสบ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com เรื่อง “ประคบร้อนประคบเย็น”)
  • พยายามลดน้ำหนักตัว,  ควบคุมน้ำหนักตัว, เพื่อลดการแบกรับน้ำหนักของข้อ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

          ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • ปวดข้อมากขึ้น
  • มีการเพิ่มจำนวนข้อที่ปวดมากขึ้นจากเดิม
  • ข้ออักเสบมากขึ้น เช่น บวม แดง ร้อน  มากขึ้น
  • ข้อยึดมากขึ้น หรือ เคลื่อนไหวข้อได้น้อยลง
  • มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียน  ปวดท้อง   ท้องเสีย  อุจจาระมีเลือดปน   เลือดออกง่าย(เช่น มีจ้ำห้อเลือดตามผิวหนัง)
  • กังวลในอาการ

ป้องกันข้ออักเสบอย่างไร?

         การป้องกันข้ออักเสบให้ได้เต็มร้อย เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เพราะสาเหตุหลักของข้ออักเสบ คือ ข้อเสื่อมจากสูงอายุ แต่พอที่จะลดโอกาสเกิด และลดความรุนแรงของอาการข้ออักเสบลงได้ จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • รู้จักวิธีใช้ข้อต่างๆให้ถูกต้อง ตามหลักการแพทย์  ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และ/หรือ นักกายภาพบำบัด เมื่อต้องทำงาน หรือเล่นกีฬา ที่ต้องมีการใช้ข้อซ้ำๆ
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อข้อ เช่น  เมาไม่ขับ ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกำหนด เป็นต้น
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) และใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดโอกาสเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจเป็นสาเหตุเกิดข้ออักเสบติดเชื้อได้ เช่น   โรคหนองใน  เป็นต้น
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายและป้องกันยุงลายกัด เพื่อป้องกันโรคชิคุนกุนยา

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.arthritis.org/health-wellness/about-arthritis/understanding-arthritis/what-is-arthritis [2022,April30]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Arthritis [2022,April30]
  3. https://www.nhs.uk/conditions/arthritis/ [2022,April30]
  4. https://www.niams.nih.gov/health-topics/arthritis [2022,April30]