โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya หรือ Chikungunya fever) เป็นโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส (Chikungunya virus หรือ ย่อว่า CHIK V) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูล Togaviridae ชิคุนกุนยาไวรัส เป็นไวรัสชนิดมีแมลงเป็นพาหะโรค (Arbovirus) โดยรังโรค คือ ลิง หนู นก และอาจเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์อะไรอีกบ้าง แต่ในช่วงมีการระบาดของโรค รังโรค คือ คน

แมลงที่เป็นพาหะโรคชิคุนกุนยา คือ ยุงลาย ชนิดเดียวกับที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก หรือ โรคเดงกี (Hemorrhagic fever หรือ Dengue fever หรือ เมื่อมีอาการรุนแรง เรียกว่า Dengue hemorrhagic fever) หรือโรคไข้ซิกา โดยยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ ยุงลายบ้าน Aedes aegypti และ ยุงลายสวน Aedes albopictus skuse เนื่องจาก เป็นโรคเกิดจากยุงลายชนิดเดียวกันเป็นพาหะ จึงพบโรคทั้ง 2 โรคได้พร้อมๆกัน ซึ่งอาการของโรคทั้ง 2 ยังคล้ายคลึงกันอีกด้วย แต่โรคไข้เลือดออกจะรุนแรงกว่า ดังนั้นบ่อยครั้ง จึงไม่มีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แต่วินิจฉัยว่าเป็นเพียงโรคเดียว คือโรคไข้เลือดออก ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความชุกที่แท้จริงของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จึงยังไม่แน่ชัด

คำว่า ชิคุนกุนยา มาจากภาษาถิ่นอาฟริกา ที่หมายความถึง อาการบิดเบี้ยวของข้อ ทั้งนี้เพราะโรคนี้ มีอาการสำคัญ คือ ข้อบวม และข้ออักเสบ จนเกิดการผิดรูป โดยโรคมีรายงานครั้งแรกในช่วง ค.ศ. 1952-1953 (พ.ศ. 2495-2496) จากประเทศทานซาเนีย

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคพบได้ในทุกทวีป ทั้ง อาฟริกา เอเชีย ยุโรป และ อเมริกา ในเอเชียพบได้บ่อยใน อินเดีย และในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย

ในประเทศไทย พบโรคไข้ปวดข้อยุงลายครั้งแรกในกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ซึ่งปัจจุบัน พบโรคได้ในทุกภาค และมีการระบาดหลายครั้งในประเทศไทย รวมทั้งในช่วง ค.ศ. 2008-2009 (พ.ศ. 2551-2552) ซึ่งพบมีการระบาดในภาคใต้ของเรา

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบได้ในทุกอายุ รวมทั้งทารกในครรภ์เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสนี้ (พบได้น้อย) ไปจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

โรคไข้ปวดข้อยุงลายเกิดได้อย่างไร? ติดต่ออย่างไร?

โรคชิคุนกุนยา

โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดต่อ และก่อการระบาดได้เสมอ เป็นโรคมีวงจรติดต่อที่เรียกว่า “คน-ยุง-คน” โดยยุงลายกัด และดูดเลือดคนที่เป็นโรค ในช่วงที่มีเชื้ออยู่ในเลือด คือ ช่วงมีไข้ เมื่อไวรัสเข้าสู่ยุง ไวรัสจะเจริญแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงกัดคน ไวรัสจากยุงจะเข้าสู่กระแสเลือดคน ก่อการติดโรค วนเวียนเป็นวงจรของการติดต่อ และของการระบาด

แต่ในช่วงที่ยังไม่มีการระบาด คาดว่ายุงอาจได้เชื้อจากคน หรือ จากสัตว์ที่เป็นพาหะโรค ต่อจากนั้น จึงเริ่มวงจรระบาดเมื่อยุงที่มีเชื้อกัดคน จนเกิดเป็นวงจร “คน-ยุง-คน”

ยุงลายทั้งสองสายพันธุ์ มักเป็นยุงที่พบได้ทั่วไปทั้งในเมือง และในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามสวน เป็นยุงหากินกลางวัน มีลายขาวดำตามลำตัวและตามขา ชอบวางไข่ในน้ำสะอาด (โดยเฉพาะน้ำฝน) ที่ขังอยู่ในภาชนะต่างๆ เช่น กระถางต้นไม้ อ่างน้ำ โอ่งเก็บน้ำ โดยไข่จะเป็นตัวยุงภายใน 7-10 วัน ยุงพวกนี้ชอบอาศัยในบ้าน ใกล้ๆบ้าน ในโรงเรียน ในสถานที่ที่มีแสงแดดน้อย หรือ มีร่มเงา และมีอากาศเย็น

โรคไข้ปวดข้อยุงลายมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นอาการเฉียบพลัน เกิดภายหลังได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (ถูกยุงลายมีเชื้อกัด) ประมาณ 1-12 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ส่วนใหญ่ประมาณ 2-5 วัน โดยมีอาการหลัก คือ

  • มีไข้ ไข้สูงทันที (อุณหภูมิมักสูงถึง 40 องศาเซลเซียส) แต่บางคนอาจมีไข้ต่ำได้
  • ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อมาก ทยอยปวดทีละข้อ ซึ่งปวดได้หลายข้อ มักเป็นกับข้อเล็กๆ เกิดทั้งข้อด้านซ้ายและด้านขวา
  • มีผื่นแดงคล้ายไข้เลือดออกขึ้นในบริเวณลำตัว แต่บางครั้งอาจพบที่แขน ขา ได้ด้วย
  • ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแดง ตากลัวแสง (เห้นแสงสว่างแล้วน้ำตาไหล) แต่ไม่มาก และอ่อนเพลีย

โดยทั่วไป จะมีไข้อยู่ประมาณ 2 วัน แล้วไข้ลงทันที แต่อาการอื่นๆจะคงอยู่ต่ออีกประ มาณ 5-7 วัน โดยเฉพาะอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือน หรือ บางคนเป็นปี หรือ หลายๆปี

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้ จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย แต่ผลที่แน่ชัด คือ การตรวจไวรัสจากเลือด หรือ ตรวจสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี,Antibody) โรคนี้จากเลือด หรือ ตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR) ซึ่งการตรวจแต่ละชนิดอาจได้ผลภายใน 1-2 วัน ถึง 1-2 สัปดาห์ ส่วนจะเลือกการตรวจวิธีใด ขึ้นกับขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการแต่ละโรงพยาบาล และดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลายอย่างไร?

ในปัจจุบัน ยังไม่มียาฆ่าไวรัสชนิดนี้ ดังนั้นแนวทางการรักษา จึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ คือ ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนเต็มที่ และมีรายงานการใช้ยาบางชนิดที่รักษาโรคมาลาเรีย (โรคไข้จับสั่น) อาจช่วยรักษาอาการอักเสบของข้อจากโรคนี้ได้

อนึ่ง แพทย์ไม่แนะนำยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs,Non-steroidal anti-inflam matory drugs) เช่น แอสไพรินหรือ ไอบูโปรเฟน (Ibruprofen) เพราะเพิ่มโอกาสเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ โดยแนะนำยาแก้ปวดพาราเซตามอลแทน (Paracetamol)

โรคไข้ปวดข้อยุงลายรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไป โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรครุนแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกมาก ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้ แต่การปวดข้อ และข้ออักเสบส่งผลถึงคุณภาพชีวิต เช่น เป็นอุปสรรคในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการจากไข้ปวดข้อยุงลายขึ้นกับอายุ โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงกว่าวัยอื่นๆ และระยะเวลาในการเจ็บป่วยจากข้ออักเสบ ก็ขึ้นกับอายุเช่นกัน โดยพบว่า ในเด็กและวัยหนุ่มสาว อาการต่างๆมักหายภายใน 5-15 วัน วัยกลางคน อาการมักหายภายใน 1-2.5 เดือน แต่ในผู้สูงอายุ จะมีอาการอยู่นานกว่านี้ เป็นหลายเดือน หรือ เป็นปีๆ

นอกจากนั้น อาจพบผู้ป่วยบางราย (โอกาสเกิดได้น้อย) เกิดโรคสมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ หรือ เส้นประสาทอักเสบได้

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีไข้สูง ร่วมกับมีผื่นแดงที่ผิวหนัง ควรรีบพบแพทย์เสมอภายใน 1-3 วัน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก นอกจากนั้น คือ หลีกเลี่ยงใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์ ดังกล่าวแล้ว

ป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลายอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา) ดังนั้น วิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การป้องกันยุงกัด และการกำจัดยุง

  • การป้องกันยุงกัด เช่น ในถิ่นระบาด ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว การทายากันยุง ใช้ยาไล่ยุง ใช้มุ้งกับเด็กๆที่นอนในบ้านถึงแม้เป็นช่วงกลางวัน
  • การกำจัดยุง ต้องร่วมมือกันทั้งในครอบครัวและในแหล่งชุมชน และต้องปฏิบัติสม่ำ เสมอตลอดไป โดยเพิ่มความเข้มในช่วงหน้าฝน และหลังฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงยุงวางไข่ ด้วยวิธี การตามคำแนะนำของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และของกระ ทรวงสาธารณสุข เช่น กำจัด หรือ คว่ำภาชนะทุกชนิดที่ก่อให้เกิดน้ำขัง ทั้งในบ้าน นอกบ้าน และในชุมชน การเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้/กระถาง ทุก 7 วันเพื่อกำจัดลูกน้ำ ไม่รดน้ำต้นไม้มากจนก่อให้เกิดน้ำขัง จัดสวน หรือ ปลูกต้นไม้ให้โปร่ง แสงแดดส่องถึง และการกักเก็บน้ำบริโภคต้องปิดฝามิดชิด ป้องกันยุงวางไข่ เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. http://www.pidst.net/A234.html[2017,July1]
  2. http://www.vachiraphuket.go.th/www/public-health/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=31[2017,July1]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Chikungunya[2017,July1]
  4. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs327/en/[2017,July1]
  5. Pialoux, G. et al. (2007). Chikungunya, an epidemic arbovirosis. Lancet Infect Dis. 7, 319-327.
  6. Thaikruea, L. et al. (2011). Epidemic of new Chikungunya viral genotype and clinical manifestations in Thailands, 2008-2009. Chiang Mai Med J. 50, 1-11.
  7. Thavara, U. et al. (2009). Outbreak of Chikungunya fever in Thailand and virus detection in field population of vector mosquitoes, Aedes Aegypti (l.) and Aedes Albopictus Skuse (Diptera: Culicidae). Southeast Asian J Trop Med Public Health.40, 951-960.
Updated 2017,July1