ประคบร้อน (Warm compression) ประคบเย็น (Cold compression)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง
  • ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)
  • โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
  • เลือดกำเดา การตกเลือดกำเดา (Epistaxis)
  • ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)
  • วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้ (Tepid sponging)
  • การเช็ดตัวลดไข้ (Tepid sponge)
  • เข่าเสื่อม (Gonarthrosis)
  • โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
  • โรคข้อ (Joint disease)
  • บทนำ: คืออะไร?

    หลายท่านอาจมีประสบการณ์การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆเช่น ถูกน้ำร้อนลวก หกล้ม ทำให้เกิดรอยฟกช้ำขี้นบริเวณร่างกาย ข้อต่อ หรือกล้ามเนื้อที่ใดก็ตาม รวมทั้งแมลงกัดต่อย และมีอาการปวด บวม เกิดขึ้น กรณีเหล่านี้จะเลือกใช้ความร้อนหรือความเย็นมาประคบบริเวณที่มีการบาดเจ็บเกิดขึ้นอย่างไร จึงจะได้ผลดีและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    การใช้ความร้อน/ประคบร้อน (Warm compression หรือ Hot compression) หรือใช้ความเย็น/ประคบเย็น (Cold compression) เป็นวิธีการตามธรรมชาติของน้ำที่มีอุณหภูมิสูง หรือต่ำที่นำมาใช้บำบัดเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพตนเองในรายที่มีปัญหาอาการอักเสบบริเวณข้อ กล้ามเนื้อ บำบัดความปวด บวม การประคบร้อนหรือประคบเย็นโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เข้าไปในร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากในการนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน หากมีความรู้และความเข้าใจในการเลือกใช้การบำบัดด้วยความร้อนหรือความเย็นให้เหมาะสมกับปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้น

    ใช้ประคบร้อนหรือประคบเย็นเมื่อใด?

    ประคบร้อน

    ข้อบ่งชี้ในการเลือกใช้การประคบร้อน หรือ ใช้การประคบเย็นจะใช้ในกรณีการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง โดยใช้ร่วมกับวิธีรักษาอื่นๆและยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการบาดเจ็บและลักษณะของการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นด้วย โดยมีแนวทางการเลือกใช้ความร้อนหรือใช้ความเย็นมาประคบดังนี้

    ก. การประคบด้วยความร้อน/ประคบร้อน: ใช้ในกรณีที่มีอาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดกล้ามเนื้อต่างๆที่เป็นเรื้อรัง การปวดท้องเช่น ปวดประจำเดือน เพราะความร้อนจะช่วยลดอาการปวดข้อและคลายกล้ามเนื้อได้ดี นอกจากนี้หลังบาดเจ็บ 48 ชั่วโมงไปแล้วการใช้ความร้อนประ คบจะช่วยลดการปวดและลดบวมได้ดี

    ข. การประคบด้วยความเย็น/ประคบเย็น: สามารถนำมาใช้ในกรณีต่อไปนี้

    1.ในกรณีที่มีการบาดเจ็บภายใน 24 - 48 ชั่วโมงแรกเช่น หกล้มมีการฟกช้ำ เป็นต้น จะช่วยลดการบวม เลือดออก และอาการปวด

    2. ผู้ที่มีเลือดกำเดาไหลให้ประคบความเย็นบริเวณหน้าผากหรือสันจมูกเพื่อช่วยให้เลือดกำเดาหยุดไหลได้

    3.ในรายที่มีไข้ ตัวร้อน ควรใช้ความเย็นประคบบริเวณหน้าผากเพื่อช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย

    4. ในรายที่มีการอักเสบเฉียบพลันเช่น ปวด บวม แดงร้อน การประคบด้วยความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้

    วิธีประคบร้อนวิธีประคบเย็นทำอย่างไร?

    วิธีประคบร้อนวิธีประคบเย็นจะเช่นเดียวกัน ต่างกันเฉพาะเรื่องของอุณหภูมิคือ ใช้ความร้อนหรือใช้ความเย็นซึ่งวิธีประคบมีดังนี้

    ก.อุปกรณ์: อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบความร้อนความเย็นได้แก่ กระเป๋าน้ำร้อน, กระเป๋าน้ำเย็น, ผ้าหรือถุงสำหรับห่อหุ้มกระเป๋าน้ำร้อนหรือน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง (กรณีประคบเย็น), หรืออาจเลือกใช้ ถุงร้อน - เย็น (Hot cold pack) ที่มีเจลอยู่ภายในถุงสามารถใช้ได้ทั้งความร้อนและความเย็น

    • โดยหากต้องการทำให้ร้อน ใส่ถุงร้อน - เย็นนี้ลงในน้ำเดือดนานประมาณ 5 นาที หรือใส่ในไมโคร เวฟ (Microwave) ประมาณ 1 - 2 นาที
    • หากต้องการใช้ความเย็น นำถุงร้อน - เย็นนี้ไปใส่ช่องแข็ง (Freeze) ของตู้เย็นนานประมาณ 1 ชั่ว โมงก่อนนำมาใช้งาน หรือหากต้องการใช้ความชื้น ควรเตรียมอ่างน้ำที่ใส่น้ำสะอาด ผ้าขนหนูผืนเล็ก 1 - 2 ผืน
    • ถ้าประคบร้อน ใช้น้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส (Celsius)
    • หรือกรณีประคบเย็น นำน้ำแข็งใส่อ่างน้ำที่จะใช้ประคบด้วยความเย็น

    ข.วิธีประคบร้อนและวิธีปะคบเย็น: ควรปฏิบัติดังนี้

    1. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือท่านอนเพื่อสะดวกในการประคบและให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งการประคบร้อนหรือประคบเย็นอาจทำด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกหรือเป็นรายกรณี

    2. วิธีการประคบด้วยความความร้อนหรือด้วยความเย็น “แบบชื้น (Wet compression) ” โดยใช้ผ้าชุบน้ำร้อน/น้ำอุ่น (Wet hot compression หรือ Wet worm compression) หรือน้ำเย็น (Wet cold compression) จากอ่างน้ำที่เตรียมไว้

    แต่ถ้าเป็นการใช้ความร้อนประคบแบบแห้ง ใช้เทน้ำร้อนลงในกระเป๋าน้ำร้อนประมาณ ¾ ถุง เอียงกระเป๋าน้ำร้อนไล่ลมออกไปให้หมด ปิดฝากระเป๋าน้ำร้อนให้สนิทป้องกันน้ำร้อนรั่วซึม

    หากต้องการประคบด้วยความเย็นแบบแห้ง ใช้กระเป๋าน้ำแข็งใส่น้ำแข็งประมาณ ¾ ถุง ปิดฝาให้สนิทป้องกันน้ำรั่วซึม

    ทั้งนี้ ควรสวมถุงผ้า/หรือผ้าสะอาดหุ้มกระเป๋าน้ำร้อนหรือกระเป๋าน้ำแข็งอีกชั้นหนึ่ง ไม่ควรให้ความร้อนหรือความเย็นสัมผัสผิวหนังโดยตรง เพราะอาจก่อการบาดเจ็บต่อผิวหนังและอวัยวะที่ต้องประคบได้

    3. วางผ้าชุบน้ำร้อนหรือน้ำเย็น หรือกระเป๋าน้ำร้อนหรือน้ำแข็ง บริเวณที่บาดเจ็บหรือบริเวณที่ต้องการประคบ ใช้เวลาแต่ละครั้งนานประมาณ 5 - 15 นาทีหรือจนอุณหภูมิของน้ำลด ลง จึงเปลี่ยนน้ำเย็นหรือน้ำร้อนอีกครั้ง ใช้เวลารวมทั้งสิ้นในการประคบร้อนหรือประคบเย็นไม่ควรเกิน 20 นาที

    หากใช้เวลานานเกินไปในการประคบร้อน จะพบว่าบริเวณผิวหนังที่ถูกประคบจะมีอาการแดง อุ่น อาจเกิดตุ่มน้ำ พอง ปวด

    หรือขณะที่ประคบเย็นนานเกินไป ผิวหนังที่ประคบจะเย็น ขาวชืด แสดงถึงว่าผิวหนังบริเวณที่ประคบได้รับความเย็นมากเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังและต่ออวัยวะที่ประ คบ

    ดังนั้น ถ้าใช้ระยะเวลาในการประคบที่ไม่เหมาะสม นานเกินไป หรือให้ความร้อนหรือความ เย็นสัมผัสผิวหนังโดยตรง อาจเกิดการการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกประคบจากการใช้ความร้อนหรือความเย็นที่ไม่เหมาะสมได้

    ผลของประคบร้อนและประคบเย็นเป็นอย่างไร?

    ผลของประคบร้อนและผลของประคบเย็นมีดังนี้

    1. ใช้ความเย็นประคบให้ได้ผลดี: ควรประคบภายใน 24 - 48 ชั่วโมงแรกหลังได้ รับบาดเจ็บ เพราะจะช่วยในการควบคุมการเสียเลือดโดยทำให้หลอดเลือดหดตัว และยังช่วยลดความปวดและลดบวมได้

    2. ใช้ความร้อนประคบให้ได้ผลดี: ควรประคบหลัง 48 ชั่วโมงแรกจากการบาดเจ็บ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ ความร้อนทำให้หลอดเลือดขยายตัวเพิ่มการไหลเวียนเลือด จะสังเกตเห็นว่า บริเวณที่ประคบร้อน ผิวหนังจะมีสีแดงและอุ่น ส่งผลให้ออก ซิเจน เม็ดเลือดขาว และสารต่อต้านเชื้อโรค เคลื่อนเข้ามาที่เนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น ความร้อนทำให้ผนังหลอดเลือดฝอยขยายตัว จึงทำให้สารน้ำ/ของเหลวที่คั่งอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ซึมผ่านเข้าไปในหลอดเลือดฝอยเพิ่มขึ้น จึงช่วยลดอาการบวมได้ ความร้อนยังทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดการหดเกร็ง ระยะเวลาความร้อนที่ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัวมากที่สุดประมาณ 20 นาทีของการได้รับความร้อน ดังนั้น การประคบด้วยความร้อนเป็นช่วงๆไม่เกินช่วงละ 20 นาทีจึงช่วยให้หลอดเลือดฝอยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

    *****ข้อสำคัญ:

    • ควรระมัดระวังในการใช้ความร้อนดัวย เพราะหากร่างกายสัมผัสความร้อนเป็นเวลานานๆ ก็จะเกิดผลเสีย ทำลายเซลล์ได้ ทำให้เกิดรอยแดง กดเจ็บ และตุ่มพอง และทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณนั้นเพิ่มขึ้น เกิดการบวมตามมาได้
    • หากใช้ความเย็นประคบบริเวณที่บาดเจ็บนั้นนานเกินไป อาจทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณที่บาดเจ็บนั้น ทำให้เกิดเนื้อตาย ปวด บวมได้เช่นกัน
    • การใช้ระยะเวลาในการประคบแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 20 นาที (ประมาณ 5 - 15 นาที) วันละ 3 - 4 ครั้งใน 1 - 2 วันแรก ต่อจากนั้นค่อยๆลดจำนวนครั้งลงเหลือ 1 - 2 ครั้งต่อวัน และเลิกใช้เมื่ออาการต่างๆดีขึ้น แต่ถ้าอาการต่างๆเลวลงควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลเสมอ หรือถ้ามีการบาดเจ็บรุนแรงตั้งแต่แรกควรต้องรีบไปโรงพยาบาล ไม่ควรเลือก ใช้การประคบ

    ข้อดีและข้อเสียของประคบร้อนและประคบเย็นเป็นอย่างไร?

    การใช้ความร้อนหรือความเย็นที่มักนิยมใช้ประคบในการลดอาการปวดและบวม มักใช้ “ประคบร้อนหรือประคบเย็นแบบชื้น”

    โดยมีข้อดีการใช้ ‘ความร้อนความเย็นแบบชื้น’ คือ ทำให้ผิว หนังไม่แห้ง เนื้อเยื่อนุ่ม ขจัดซากหรือเซลล์ที่ตายแล้วออกได้ง่าย ความชื้นทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายบริเวณที่บาดเจ็บ ความร้อนชื้นจะสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ลึก และความ ร้อนชื้นไม่ทำให้เหงื่อออกมาก ร่างกายจึงไม่สูญเสียน้ำ

    แต่ก็ยังมีข้อเสียของการใช้ ‘ความร้อนหรือความเย็นแบบชื้น’ คือ ความชื้นจะทำให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ยง่าย อุณหภูมิของความร้อนชื้นจะเย็นลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการระเหยของน้ำ ความร้อนชื้นมีโอกาสเกิดความเสี่ยงจากผิวหนังไหม้ได้ง่ายเพราะความชื้นนำความร้อนได้ดี

    ส่วน’ความร้อนแบบแห้ง’ มักจะใช้ในรายต้องการลดความปวดจากอวัยวะภายในร่างกาย เช่น การปวดประจำเดือน เพราะทำให้ความร้อนผ่านผิวหนังลงไปถึงอวัยวะภายในได้ดี, แต่ข้อ เสียของความร้อนแบบแห้ง ถ้าใช้เวลานานเกินไปอาจทำให้เกิดผิวหนังเป็นตุ่มน้ำพอง

    ข้อเสียของ’ประคบเย็น’ ทั้งชนิดชื้นและชนิดแห้งคือ ถ้าใช้ความเย็นจัดหรือน้ำแข็งสัมผัสผิวหนังโดยตรง หรือประคบระยะเวลานานเกินไป หลอดเลือดจะหดตัวมาก เนื้อเยื่อบริเวณประ คบจะขาดเลือด เกิดเนื้อตาย/แผล ปวด และบวม

    มีข้อควรระวังในการประคบร้อนหรือประคบเย็นอย่างไร?

    มีข้อควรระวังในการประคบร้อนหรือประคบเย็นดังนี้

    1.ไม่’ประคบร้อน’บริเวณที่มีเลือดออกใหม่ เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายทำให้เลือดออกได้อีกหลังจากเลือดหยุดหรือเลือดออกได้มากขึ้น แต่ควรใช้ประคบเย็นในระยะ 24 - 48 ชั่วโมงแรก

    2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานไม่ควร’ประคบด้วยความร้อน’บริเวณแขน ขา เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ เกิดเป็นแผลติดเชื้อเรื้อรังได้

    3. การ’ประคบเย็น’มีโอกาสทำให้เกิดการสั่นของกล้ามเนื้อลาย อาจทำให้เกิดอุณหภูมิร่าง กายสูงขึ้นได้

    4. ไม่ใช้’ความเย็นประคบ’บริเวณมีอาการบวม เพราะความเย็นทำให้การไหลเวียนเลือดมาสู่บริเวณที่บาดเจ็บลดลง น้ำที่คั่งอยู่ระหว่างเซลล์ (กลไกที่ทำให้บวม) ถูกดึงกลับเข้ากระแสเลือดลดลง จึงไม่ช่วยลดบวมและยังอาจทำให้บวมมากขึ้น แต่ความเย็นจะช่วยป้องกันเกิดอา การบวมในระยะแรกของการบาดเจ็บ (ใน 1 - 2 วันแรกของการบาดเจ็บ)

    5. ไม่’ประคบร้อนหรือประคบเย็น’ในบริเวณที่มีแผลเปิด เพราะความเย็นจะลดการไหล เวียนเลือดมาสู่แผล แผลจะหายช้า ส่วนความร้อนจะทำให้เนื้อเยื่อที่เป็นแผลเปิดบาดเจ็บมากขึ้น

    6. ไม่’ประคบเย็น’ในบุคคลที่มีอาการแพ้หรือไวต่อความเย็นมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผื่นแดง ลมพิษ บวม และ/หรืออาจพบความดันโลหิตสูงขึ้นได้

    สรุป

    • การเลือกใช้’ประคบร้อนหรือประคบเย็น’ ขึ้นอยู่กับลักษณะการบาดเจ็บและระยะเวลาของการบาดเจ็บ
    • การ’ประคบเย็น’มักใช้ในระยะแรก 24 - 48 ชั่วโมงของการบาดเจ็บ เพื่อช่วยห้ามเลือด ลดการอักเสบ ลดบวม และลดปวด
    • การ’ประคบร้อน’มักใช้ระยะหลังจากบาดเจ็บ (เริ่มประมาณวันที่ 3 ของการบาดเจ็บ) และใช้ในกรณีมีการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยมักใช้ในรายที่มีอาการปวดเรื้อรัง
    • ประโยชน์ของการ’ประคบร้อนหรือประคบเย็น’คือ คือ ช่วยลดปวด ลดบวม ในบริเวณที่ได้ รับบาดเจ็บที่ไม่มากไม่รุนแรง
    • ควรระมัดระวังในการ’ประคบร้อนหรือประคบเย็น’ เพราะถ้าอุณหภูมิที่ใช้สูงหรือต่ำเกินไป หรือใช้เวลาประคบแต่ละครั้งนานเกินไป จะส่งผลให้เนื้อเยื่อที่ประคบบาดเจ็บมากขึ้น
    • หากการได้รับบาดเจ็บนั้นมีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิต ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีไม่ควรรอด้วยการประคบ
    • หากหลัง’ประคบร้อนหรือประคบเย็น’แล้วอาการเลวลงหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรต้องพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลเสมอ

    บรรณานุกรม

    1. สิริรัตน์ ฉัตรชัยสุชา ปรางค์ทิพย์ อุจะรัตน์ และ ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์(2550). ทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เอ็น พี เพรส.
    2. อภิญญา เพียรพิจารณ์ และคณะ.(2550). คู่มือปฏิบัติการพยาบาล เล่ม 2 . พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: ธนาเพรส.
    3. DeLaune, S.C & Ladner, P.K.(2011). Fundamentals of Nursing :Standards & Practice. 4thEdition.New York: Delmar.
    4. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=85&contentid=p00918 [2021,July5]
    5. Perry,A.g & Potter,P.A. (2015). Mosby’s Pocket Guide to Nursing skills & Procedures. 8th edition.St.Louis: Elsevier Mosby.
    6. Lynn,P.(2011). Taylor’s Handbook of Clinical Nursing Skills. Philadelphia: Wolters Kluwer/Lippincott Williams & Wilkins.