วูบ อาการวูบ โรควูบ (Blackout)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ/คำนำ

หลายคนคงเคยมี วูบ อาการวูบ หรือโรควูบ (Blackout) ซึ่งคือ อาการคล้ายหมดสติไปชั่วขณะหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วก็หายกลับเป็นปกติ อาการดังกล่าวมีสาเหตุจากอะไร เป็นโรค หัวใจหรือไม่ ทำไมแพทย์บอกท่านว่า ท่านเป็นลม บ้างบอกเป็นอาการชัก สุดท้ายแล้วเป็นอะไรกันแน่

อนึ่ง: ความหมายของ "วูบ" จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ อาการที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น ร้อนวูบ เย็นวูบ โดยปริยายหมายถึงลักษณะที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ใจหายวูบ

อาการวูบคืออะไร?

 

อาการวูบ คือ อาการคล้ายหมดสติไปชั่วขณะหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วก็หายกลับเป็นปกติ ซึ่งอาการดังกล่าว มีความหลากหลายในความผิดปกติ หรือความรุนแรงของอาการ บางรายอาจมีอาการวูบเพียงระยะเวลาสั้น บางรายหมดสติร่วมด้วย บางรายหมดสติล้มลง หรือบางรายอาจมีเพียงแค่อาการรู้สึกวูบวาบๆเท่านั้น โดยไม่มีอาการหมดสติ

อาการวูบมีกลไกเกิดอย่างไร?

กลไกการเกิดอาการวูบ มีหลายกลไกขึ้นกับสาเหตุของการวูบ เช่น

  • เกิดจากเป็นลม เพราะมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ
  • เกิดจากการวิงเวียน เพราะมีปัญหาในระบบการทรงตัวที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทการทรงตัวในช่องหูชั้นใน หรือจากสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการทรงตัว
  • จากอาการชักชนิดหนึ่ง เพราะมีความผิดปกติชั่วคราวของกระแสไฟฟ้าในสมอง
  • จากใจสั่น หรือความรู้สึกหวิวๆ เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะจึงส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองลด ลงชั่วคราว
  • จากอาการของอัมพฤกษ์ เป็นเพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว

ดังนั้น กลไกหลักของการเกิดอาการวูบ คือ การที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว ร่วม กับความผิดปกติของระบบการทรงตัว และ/หรือมีการทำงานผิดปกติของสมองเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ

อาการวูบมีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง?

อาการวูบเป็นเพียงอาการผิดปกติอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่โรค สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิด คือ

  • เป็นลม (Syncope)
  • วิงเวียนศีรษะ (Dizziness)
  • ชัก (Seizure)
  • อัมพฤกษ์ (Transient ischemic attack: TIA/สมองขาดเลือดชั่วคราว)
  • ใจสั่น (Palpitation)
  • เครียด/กังวล (Anxiety)

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่า อาการวูบเกิดจากอะไร?

แพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุอาการวูบได้จาก ประวัติอาการของผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ และร่วมกับการตรวจร่างกาย ซึ่งข้อมูลที่ได้เหล่านี้ จะช่วยบอกได้ว่า อาการวูบนั้น เกิดจากอะไร หรือเป็นอาการของโรคอะไร รายละเอียดดังตาราง

เป็นลม วิงเวียนศีรษะ ชัก อัมพฤกษ์ ใจสั่น เครียด/กังวล
วูบหมดสติ ใช่ ไม่ใช่ ใช่ พบน้อย ไม่ใช่
ชักเกร็ง กล้ามเนื้อแขน-ขากระตุก พบได้ไม่บ่อย ไม่มี ใช่ ไม่มี ไม่มี
ปัสสาวะราด พบได้ไม่บ่อย ไม่พบ พบ น้อย ไม่พบ ไม่พบ
หน้าซีด พบบ่อย พบไม่บ่อย ใบหน้าเขียวคล้ำ พบไม่บ่อย ไม่พบ
ปัจจัยกระตุ้น ร้อน หิว , ยืนนานๆ เปลี่ยนท่าทางรวดเร็ว อดนอน เครียด/กังวล เครียด/ กังวล
โรคประจำตัว ภาวะซีด วิงเวียนศีรษะ โรคสมอง โรคหัวใจ เครียด/ กังวล
ตาเหลือก (ลูกตาดำเคลื่อนขึ้นไป ด้านบนของตา) ตาหลับ ไม่พบ พบบ่อย ไม่พบ ไม่พบ
กัดลิ้น ไม่พบ ไม่พบ พบ ไม่พบ พบ
ท่าทางที่ทำให้เกิดอาการ ท่ายืน เปลี่ยนท่าทาง ทุกท่าทาง ทุกท่าทาง ทุกท่าทาง
ระยะเวลาที่เกิดการวูบ 1-2 นาที ชั่วโมง 1-2 นาที ระยะสั้น นานเป็น วัน
ผลจากการตรวจร่างกาย หน้าซีด,เหงื่อแตก ตากระตุก, การได้ยินลดลง ปกติหรือแขนขาอ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ ปกติหรือเหงื่อออกมากผิดปกติ/เหงื่อแตก
เกิดอุบัติเหตุจากการวูบ พบไม่บ่อย ไม่ค่อยพบ พบน้อย ไม่พบ ไม่พบ

 

นอกจากนั้น แพทย์จะใช้ข้อมูลดังกล่าวในตาราง และเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสเป็นจากสาเหตุใดมากที่สุด ก็จะส่งตรวจเพิ่มเติม/ตรวจสืบค้น เช่น คิดถึงอาการชัก ก็จะส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ใจสั่นก็ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการวูบ?

ทั่วไป ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการวูบ คือ

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • มีโรคเบาหวาน
  • มีโรคความดันโลหิตสูง
  • มีปัญหาด้านการได้ยิน
  • เคยเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ และ/หรือที่หู

อาการวูบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของอาการวูบ โดยอาการวูบจะหายเป็นปกติหรือไม่ ขึ้นกับโรคที่เป็นสา เหตุ และสามารถแก้ไขสาเหตุนั้นได้หรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วมีโอกาสรักษาหายได้สูง

อาการวูบก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

อาการวูบ อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะกลัวจะเกิดอาการวูบ อาจทำให้ล้มลง เกิดอุบัติเหตุจากการล้มหรือเสียการทรงตัวได้ ถ้าอาการวูบนั้น เกิดจากการเต้นของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็อาจส่งผลต่อการเกิดอาการรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งต้องตรวจว่าเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบไหน ต้องให้การรักษาอย่างไร เช่น ทานยาควบคุม หรือต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นต้น

ถ้าอาการวูบนั้น เป็นอาการของอัมพฤกษ์หรือ TIA (สมองขาดเลือดชั่วคราว) ก็จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นอัมพาต ต้องให้การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอัมพาต (อ่านเพิ่มเติมในบท ความเรื่อง อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง)

ถ้ามีอาการวูบ เมื่อใดควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการวูบ ควรพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังนี้

  • วูบร่วมกับหมดสติ ล้มลง
  • วูบร่วมกับมีอาการชักเกร็ง
  • วูบเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องกันนานไม่หาย
  • วูบและคลำชีพจรตนเองพบว่าไม่สม่ำเสมอ
  • วูบร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก หรือปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  • วูบไม่บ่อย แต่กังวลใจมาก
  • วูบในผู้สูงอายุ หรือมีโรคหัวใจและหลอดเลือด

เมื่อฟื้นตัวจากอาการวูบ ควรดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อมีอาการวูบ และเพิ่งหายจากอาการวูบนั้น:

  • ควรนั่งหรือนอนพักเพื่อให้อาการทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ และป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการล้มลง
  • สังเกตอาการให้มั่นใจว่าหายเป็นปกติแล้ว จึงค่อยๆลุกขึ้นโดยมีที่ยึดเกาะ และค่อยๆเริ่มทำกิจกรรมต่อได้
  • แต่ถ้ายังรู้สึกไม่ปกติก็ควร นอนพัก หรือไปโรงพยาบาล

เห็นคนวูบ เราควรทำอย่างไร?

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นต่อผู้ที่มีอาการวูบนั้น: สิ่งแรกคือ ต้องประเมินว่าผู้ป่วยหมดสติหรือไม่ ชีพจรเป็นอย่างไรกรณีหมดสติ, แต่ถ้าไม่หมดสติก็เพียงแค่ประคองผู้ป่วยนั่งหรือนอนลงก็เพียงพอ, ต่อจากนั้นถ้าอาการหายดีก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ, *แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็รีบนำส่งโรงพยาบาล

ในภาพรวมเมื่อมีอาการวูบแล้วครั้งหนึ่ง ควรดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อมีอาการวูบหนึ่งครั้งแล้วนั้น ควรต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นหรือเหตุต่างๆที่อาจทำให้มีอาการเป็นซ้ำอีกครั้ง, และหมั่นสังเกตตนเองว่ามีอาการเป็นซ้ำอีกหรือไม่, ถ้ามีอาการเป็นซ้ำๆ ก็น่าจะมีสาเหตุที่ต้องแก้ไข ควรหาสาเหตุให้ทราบแน่ชัดโดยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล จะได้รักษาและหาทางป้องกันการเป็นซ้ำ

ป้องกันไม่ให้เกิดวูบซ้ำได้อย่างไร?

การป้องกันไม่ให้เกิดวูบซ้ำ ขึ้นกับสาเหตุของอาการวูบนั้นๆ, อย่างไรก็ตามปัจจัยกระตุ้นที่พบบ่อยไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใดๆก็ตาม คือ การอดนอน เครียด พักผ่อนไม่พอ การเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ดังนั้น *จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

กรณีที่อาการวูบนั้นต้องรับการรักษาต่อเนื่อง การพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดควรทำเมื่ออาการวูบเกิดบ่อยขึ้น และ/หรือรุนแรงขึ้น, หรือมีอาการผิดไปจากเดิมที่เคยได้พบแพทย์, และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

ถ้าไม่เคยวูบ ป้องกันอาการวูบอย่างไร?

เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดการวูบได้ เช่น

  • การรักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิตให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)  
  • มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • พักผ่อนให้พอ, ไม่อดนอน
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าทางอย่างฉับไว และ/หรือการทำงานแบบรีบเร่ง, และ
  • ทานยาแต่เท่าที่จำเป็น และ
  • กรณีมีโรคประจำตัว ก็ต้องทานยาให้ถูกต้องตามแพทย์สั่ง ไม่ขาดยา ไม่ปรับขนาดยา หรือ หยุดยาเอง

สรุป

วูบ เป็นอาการสำคัญที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ จึงควรต้องรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพสม่ำเสมอ เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี หรือพบแพทย์ตามนัด เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthdirect.gov.au/blackouts  [2023, March18]