รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

เบาหวานคือโรคอะไร?

เบาหวาน (Diabetes mellitus ย่อว่า ดีเอม/DM, อีกชื่อคือ Diabetes) คือ โรค/ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา  เบาหวานลงไต หรือเบาหวานลงปลายประสาท หรือในบางครั้งผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการโรคหลอดเลือดหัวใจ (โรคหัวใจ) หรือโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) เป็นต้น

ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนเกินความสามารถของไตในการดูดกลับ น้ำตาลส่วนที่สูงเกิน 180 มก./ดล. (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)นั้นจะล้นออกมาทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน จึงเรียกว่า “เบาหวาน” โรคนี้เป็นที่รู้จักกันมานานกว่า 3,000 ปี โดยมีการสังเกตเห็นว่า ปัสสาวะของผู้ป่วยโรคนี้จะมีมดขึ้นเนื่องจากมีรสหวานนั่นเอง

น้ำตาลในร่างกายมาจากไหน?

รู้ทันโรคเบาหวาน-01

คนทั่วไปมักเข้าใจว่าน้ำตาลในร่างกายมาจากอาหารอย่างเดียว แต่ที่จริงมาจาก 2 แหล่ง ดังนี้

  1. จากอาหารคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) ที่เรารับประทานเข้าไป
  2. จากการสร้างของตับภายในร่างกายเราเอง ในช่วงที่เราไม่ได้รับประทานอาหาร เช่น ตอนกลางคืนที่เราหลับอยู่

ระดับน้ำตาลในเลือดคนปกติเป็นเท่าไร?

ถ้าอดอาหาร 8 - 12 ชั่วโมงจะอยู่ระหว่าง 60 แต่น้อยกว่า 100 มก./ดล. แต่ถ้าตรวจหลังอาหาร 2 ชั่วโมงจะน้อยกว่า 140 มก./ดล. (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: ค่าน้ำตาลในเลือด (มก./ดล.)

  น้ำตาลในเลือดเมื่องดอาหาร น้ำตาลในเลือดหลังอาหาร
คนปกติ 60 - น้อยกว่า 100 น้อยกว่า 140
ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน 100 - น้อยกว่า 126 140 - น้อยกว่า 200
เบาหวาน 126 ขึ้นไป 200 ขึ้นไป

 

เบาหวานเกิดได้อย่างไร?

ร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องใช้น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในการทำให้เกิดพลังงาน ถ้าขาดน้ำตาลเราจะอยู่ไม่ได้ จะหมดสติและตาย แต่น้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไม่สามารถซึมเข้าไปในเซลล์ได้โดยตรง จำเป็นต้องมีตัวพาน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจ ซึ่งตัวที่พาน้ำตาลเข้าเซลล์นี้เป็นฮอร์โมนที่สร้างจาก’ตับอ่อน’ ชื่อ “ อินซูลิน (Insulin)”        

ในคนปกติ เมื่อเรารับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรต จะมีการกระตุ้นลำไส้เล็กให้สร้างฮอร์โมนอินครีติน (Incretin) ออกมา ฮอร์โมนอินครีตินจะไปกระตุ้นตับอ่อนให้สร้างฮอร์โมนอินซูลินให้ออกมาพากลูโคสเข้าเซลล์ ขณะเดียวกันจะกดการสร้างฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) จากตับอ่อนซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการสร้างน้ำตาลจากตับให้ทำงานน้อยลง      

เมื่อไม่ได้รับประทานอาหาร เช่น ขณะนอนหลับ ตับจะสร้างน้ำตาลปริมาณเล็กน้อยออกมา ส่วนตับอ่อนก็จะสร้างฮอร์โมนอินซูลินปริมาณที่เหมาะสมมาพาน้ำตาลเข้าเซลล์ทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติตลอดเวลา

แต่ในคนที่เป็นเบาหวาน แม้น้ำตาลในเลือดจะสูง แต่เซลล์ก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้เนื่องจาก

  • จำนวนฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ:
    • ในเบาหวานชนิดที่ 1: เนื่องจากตับอ่อนถูกทำลาย หรือ ประสิทธิภาพตับอ่อนเสื่อม
    • ในเบาหวานชนิดที่ 2: จากภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินในเลือดไม่สามารถพาน้ำตาลเข้าเซลล์ได้อย่างสมดุล จึงเป็นเหตุให้น้ำตาลคั่งในกระแสเลือด
  • เกิดความผิดปกติในการทำงานของตับ: ตับไม่ยอมหยุดสร้างน้ำตาล แม้น้ำตาลในเลือดจะสูงอยู่แล้ว เป็นการซ้ำเติมน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นไปอีก

เบาหวานมีกี่ชนิด?

เบาหวานมีหลายชนิดแต่ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดซึ่งจะกล่าวถึงในที่นี้ คือ

  • ก. เบาหวานชนิดที่ 1: พบประมาณ 5%  มักพบในเด็ก เกิดจากการที่ตับอ่อนถูกทำลายอย่างมาก (90% เกิดจากภาวะ/โรคภูมิต้านตนเองที่เกิดกับตับอ่อน) จนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอที่จะนำน้ำตาลเข้าเซลล์ ทำให้เซลล์ขาดน้ำตาลทั้งๆที่มีน้ำตาลคั่งในกระแสเลือด, ร่างกายจึงต้องมีการสลายไขมันและกล้ามเนื้อให้เป็นน้ำตาล, ขณะเดียวกันก็เกิดสารคีโตน (Ketone) ซึ่งเป็นเหมือนสารพิษออกมาด้วย, ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบเหนื่อย ต้องรักษาโดยการฉีดยาอินซูลิน ใช้ยากินยารักษาไม่ได้
  • ข. เบาหวานชนิดที่ 2: พบประมาณ 95% ของเบาหวานทั้ง2ชนิด  มักพบในผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ไนปัจจุบันพบได้ในเด็กที่อ้วน, เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจาก 'ภาวะดื้ออินซูลิน' คือ ปริมาณฮอร์โมนอินซูลินไม่ขาด/มีเพียงพอแต่ประสิทธิภาพไม่ดี ทำให้ต้องใช้อินซูลินปริมาณมากในการพาน้ำตาลเข้าเซลล์  ดังนั้นตับอ่อนจึงต้องทำงานหนักในการผลิตอินซูลินให้เพียงพอที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดปกติ, ภาวะดื้ออินซูลินนี้อาจเกิดก่อนที่จะตรวจพบเบาหวาน 10 - 20 ปี  และในปัจจุบันก็พบว่า ภาวะดื้ออินซูลินเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดแดง เช่น โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ  และโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ทั้งๆที่ยังไม่พบเบาหวาน

ต่อมา เมื่อตับอ่อนล้าสร้างอินซูลินได้น้อยลง ถ้าตรวจน้ำตาลในเลือดหลังกินอาหารจะพบว่าสูงกว่าปกติ ขณะที่น้ำตาลฯเมื่องดอาหารยังปกติ,  ทำให้ในการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป จึงตรวจไม่พบเบาหวาน, จนกระทั่งตับอ่อนเสื่อมไปประมาณครึ่งหนึ่งจึงจะสามารถตรวจพบน้ำตาลสูงเมื่ออดอาหาร,  ดังนั้นการวินิจฉัยเบาหวานอาจช้าไป 5 – 10 ปี ส่งผลให้พบว่าเมื่อวินิจฉัยว่าเป็น เบาหวาน, ผู้ป่วยประมาณ 50% มีโรคแทรกซ้อนของเบาหวานแล้ว เช่น เบาหวานขึ้นตา  เบาหวานลงไต หรือ ชาปลายเท้า

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน?

แพทย์วินิจฉัยเบาหวานได้จาก

  1. มีอาการของเบาหวานถ้าน้ำตาลสูงมากจนเกินกว่า 180มก./ดล. ซึ่งเกินความสามารถของไตที่จะดูดซึมน้ำตาลกลับหมด  น้ำตาลจะถูกขับมาทางปัสสาวะโดยจะดึงน้ำตามมาด้วย ผลคือ ผู้ป่วยจะมีอาการของเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย  หิวน้ำ หิวของหวาน กินจุแต่ผอมลง อ่อนเพลีย
  2. ถ้าน้ำตาลสูงไม่มากซึ่งพบประมาณ 50% ของผู้ป่วย จะไม่มีอาการ ดังนั้นต้องรู้จากการตรวจเลือด ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางครั้งกว่าจะตรวจพบเบาหวานอาจมีโรคแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว

มีวิธีใดที่ช่วยวินิจฉัยเบาหวานได้รวดเร็ว?

เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานไม่มีอาการ ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานจึงควรตรวจคัดกรองเบาหวานทุกปี การคัดกรองเพื่อวินิจฉัยเบาหวานมี 4 วิธีโดยให้ตรวจซ้ำถ้าผลผิดปกติดังนี้

  1. งดอาหาร 8 - 12 ชั่วโมง แล้วตรวจน้ำตาลในเลือด, ถ้าสูง 126 มก./ดล.ขึ้นไปถือว่าเป็นเบาหวาน
  2. ตรวจเลือดโดยไม่ได้งดอาหารแล้วพบน้ำตาลสูง 200 มก./ดล.ขึ้นไป ถ้ามีอาการเบาหวานอยู่แล้วไม่ต้องตรวจซ้ำ ถ้าตรวจพบโดยไม่มีอาการน่าจะเป็นการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น แต่ไม่ถือเป็นมาตรฐาน เนื่องจากขึ้นกับชนิดและปริมาณอาหารที่รับประทานก่อนตรวจ
  3. งดอาหาร 8 - 12 ชั่วโมง แล้วให้ดื่มกลูโคส 75 กรัม ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังดื่มกลูโคส 2 ชั่วโมงพบน้ำตาล 200 มก./ดล.ขึ้นไป ส่วนมากใช้ในงานวิจัยเนื่องจากมีหลายขั้นตอน แต่น่าจะเป็นการวินิจฉัยที่เร็วที่สุด และได้มาตรฐานที่สุด
  4. ตรวจค่าเบาหวานสะสม (ฮีโมโกลบินเอวันซี/Hemoglobin A1C) ได้ 6.5% ขึ้นไป วิธีนี้น่าจะวินิจฉัยเบาหวานได้เร็วเช่นกัน และสะดวกไม่ต้องอดอาหารแต่ค่าใช้จ่ายสูง

ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานคืออะไร?

ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน หมายถึง ผู้ที่มีระดับน้ำตาลผิดปกติแต่ไม่ถึงระดับที่เรียกว่าเป็นเบาหวาน เช่น เมื่องดอาหาร 8 - 12 ชั่วโมงตรวจพบน้ำตาลในเลือด 100 - 125 มก./ดล., หรือตรวจน้ำตาลขณะที่ไม่ได้งดอาหารได้ 140 - 199 มก./ดล., ผู้มีระดับน้ำตาลเช่นนี้ แม้ยังไม่เป็นเบาหวานแต่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงกว่าคนทั่วไป ถ้าไม่ควบคุมเรื่องอาหาร   การออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก  นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดแดงไปบ้างแล้ว  ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมาด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ  หรือโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ก่อนเป็นเบาหวานเสียอีก

ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ควรได้รับการคัดกรองโดยวิธีพิเศษ เช่น ตรวจค่าเบาหวานสะสม หรือ ตรวจน้ำตาลหลังอาหาร ซึ่งจะทำให้สามารถวินิจฉัยได้แต่เนิ่นๆ

ใครที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน?

ความชุกของโรคเบาหวานทั่วโลกพบมากขึ้นเรื่อยๆจนเปรียบเหมือนโรคระบาด สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานยังไม่แน่นอน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน เช่น

  • กรรมพันธุ์: ผู้มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้สูงกว่าคนทั่วไป
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: คนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนผอม โดยเฉพาะอ้วนลงพุง เนื่องจากโรคอ้วนทำให้ฮอร์โมนอินซูลินมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง, ประมาณ 60 - 80% ของโรคเบาหวานในผู้ใหญ่เกิดในคนอ้วน, ผู้ชายไทยที่เส้นรอบพุง 90 ซม.ขึ้นไป หรือผู้หญิงไทยที่เส้นรอบพุง 80 ซม. ขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดรวมทั้งโรคเบาหวานด้วย
  • เชื้อชาติ: เชื้อชาติที่เสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน เช่น ชาวอาเซีย และชนพื้นเมืองในอเมริกา
  • มีโรคความดันโลหิตสูง
  • ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (โรคไขมันในเลือดสูง): ผู้ป่วยเบาหวานมักมีไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูง และไขมัน เอช-ดี-แอล (HDL) ต่ำนำมาก่อน
  • การตั้งครรภ์: ผู้หญิงตั้งครรภ์หลายครั้ง รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยมีน้ำตาลสูงขณะตั้งครรภ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน
  • ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ร่วมกับการขาดการออกกำลังกาย
  • อายุ: พบว่ายิ่งอายุมากขึ้น จะมีโอกาสพบโรคเบาหวานมากขึ้น
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด:  เช่น ยาจำพวกสเตอรอยด์ถ้าใช้ไปนานๆมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้

เบาหวานป้องกันได้หรือไม่?

มีงานวิจัยในหลายประเทศที่พบว่า เบาหวานป้องกันได้ แม้ว่าจะเป็นเบาหวานแฝงหรือกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ

  • การควบคุมอาหาร
  • การออกกำลังกาย
  • ลดน้ำหนักในผู้ที่น้ำหนักตัวเกิน เพียงลดน้ำหนักลงประมาณ 7 - 10% ของน้ำหนักปัจจุบันก็เพียงพอ

นอกจากนี้ ที่ได้ผลรองลงไป คือ การใช้ยาบางชนิดซึ่งควรปรึกษาแพทย์เสมอ ไม่ควรซื้อยาใช้เอง เช่น ยาลดการดูดซึมอาหารคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารไขมัน, และยาที่ลดภาวะดื้ออินซูลิน

อย่างไรก็ตาม ถ้าปล่อยปละละเลยไม่ดูแลตนเองดังกล่าว โอกาสเป็นเบาหวานก็จะสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และตามปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

น้ำตาลในเลือดสูงแล้วเกิดอะไรขึ้น?

น้ำตาลในเลือดที่สูงแม้เพียงเล็กน้อยก็จะเป็นพิษต่อหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงอักเสบ เกิดการพอกตัวของไขมันชนิดเลว และเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงทั่วร่างกายตีบตันในที่สุด ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทั้งหลอดเลือดแดงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ  เช่น ตาบอด ไตวาย ถูกตัดขา หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ตีบ (โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง)

จุดมุ่งหมายในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานเพื่ออะไร?

จุดมุ่งหมายในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อ

  • มิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป จนเกิดอันตรายถึงชีวิต
  • ป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆจากโรคเบาหวานดังได้กล่าวแล้ว
  • ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับผู้ที่มิได้เป็นเบาหวาน
  • เพื่อให้มีอายุยืนยาวเท่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน

อนึ่ง: การจะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ผู้ป่วยต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ไขมันในเลือด, และความดันโลหิตให้ได้ตามแพทย์แนะนำ/ตารางที่ 2,  และต้องตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 - 20 ปี หรือตามแพทย์แนะนำ, เพื่อค้นหาโรคแทรกซ้อนของหลอดเลือดที่เกิดจากเบาหวานและรักษาก่อนที่จะเป็นมาก

ทำอย่างไรจึงจะป้องกันโรคแทรกซ้อนของเบาหวานได้?

การจะอยู่อย่างเป็นสุขกับโรคเบาหวานไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรารู้จักและรู้ทันโรคเบาหวาน การดำรงชีวิตเราจะเหมือนคนปกติ โดยเราจะต้องควบคุมปัจจัยต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ของสมาคมเบาหวานอเมริกาและยุโรปดังนี้ (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2:  เป้าหมายการควบคุมโรคเบาหวาน

การตรวจต่างๆ เป้าหมาย
 1. การควบคุมน้ำตาล
  • ระดับน้ำตาลเมื่ออดอาหาร 8-12 ชั่วโมง
  • ระดับน้ำตาลที่สูงสุดหลังอาหาร
  • ฮีโมโกลบิน เอ-วัน-ซี (เบาหวานสะสม)
  • 70-130 มก./ดล.
  • น้อยกว่า 180 มก./ดล.
  • น้อยกว่า 7%
 2. ความดันโลหิต
  • น้อยกว่า 130/80 มม.ปรอท
 3. ระดับไขมันในเลือด (โรคไขมันในเลือด)
  • โคเลสเตอรอลรวม
  • ไตรกลีเซอไรด์
  • แอล-ดี-แอล (LDL,ไขมันชนิดไม่ดี)
  • เอช-ดี-แอล (HDL,ไขมันดี)
  • น้อยกว่า 200 มก./ดล.
  • น้อยกว่า 150 มก./ดล.
  • น้อยกว่า 100 มก./ดล. (ถ้าเป็น=โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง) ควรน้อยกว่า 70)
  • ผู้ชายมากกว่า 40 มก./ดล และผู้หญิงมากกว่า 50 มก./ดล.

 

จะเห็นว่า ระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตคุมได้ไม่ยากนักด้วยยา, ระดับน้ำตาลก็เช่นกันคุมได้ไม่ยากเช่นกัน ‘หากรู้จักและรู้ทันโรคเบาหวาน’ เราจะสามารถควบคุมมันได้ เราจะสามารถกินอะไรและทำอะไรได้เหมือนคนไม่เป็นเบาหวาน

บรรณานุกรม

  1. Diabetes Care, volume 34, supplement 1,January 2011.
  2. International expert committee report on the role of the A1c assay in the diagnosis of diabetes. Diabetes Care, volume 32, number 7, July 2009.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Diabetes  [2022, Aug20]
  4. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/diabetes  [2022, Aug20]