หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หัวใจ (Heart) เป็นอวัยวะที่ทำงานไม่มีวันหยุด นอกจากนี้ หัวใจยังสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้มีการบีบตัวโดยระบบประสาทของหัวใจจะอยู่ในตำแหน่งขอบบนของหัวใจห้องบนขวา กระจายเป็นแนวไปกลางหัวใจ ลงสู่หัวใจห้องล่างทั้งสองข้างซ้ายขวา (หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ) ทำให้เกิดการบีบตัวจากบนไปล่างอย่างสม่ำเสมอ หากการนำไฟฟ้าในหัวใจ เกิดอุปสรรค การบีบตัวก็จะผิดปรกติ เรียกโรค/ภาวะผิดปรกตินี้ว่า “โรค/ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ โรค/ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)” ซึ่งหัวใจ อาจเต้นเร็วเกินไป หรือช้าเกินไปก็ได้ ความรุนแรงขึ้นกับชนิดของการเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเลือดเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการของการขาดเลือดที่ความรุนแรงต่างๆกันไป

อาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอย่างไร?

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด ความรุนแรงต่างๆกันไป บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย บางคนอาจ ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม อัมพฤกษ์ หรืออัมพาต และ/หรือ หัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) และเสียชีวิต

หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเต้นช้าเกินไป เช่น ในผู้ใหญ่ หัวใจเต้นในขณะพัก/ไม่ออกแรง น้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที ( ยกเว้นในนักกีฬาที่ฝึกซ้อมสม่ำเสมอสุขภาพแข็งแรง หัวใจอาจเต้นช้าได้มาก ๆ เช่น 50 ครั้ง / นาที ก็ยังถือว่าปกติ) โดยในคนปกติหัวใจช่วงไม่ออกแรง ควรเต้นประมาณ 60-75 ครั้ง/นาที ซึ่งถ้าหัวใจเต้นช้ามาก จะทำให้เลือดที่บีบจากหัวใจไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้วิงเวียนหรือ หน้ามืดเป็นลมได้

ส่วนหัวใจเต้นเร็ว หรือเกิน 80 ครั้ง / นาที ในผู้ใหญ่ขณะพัก/ไม่ออกแรงถือว่าเร็วกว่าปกติ นอกจากเต้นเร็วหรือช้าเกินไปแล้ว หัวใจอาจเต้นไม่สม่ำเสมอซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เลือดที่บีบออกจากหัวใจไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสมอง และตัวหัวใจเอง ทำให้ขาดเลือดจนส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาดังกล่าวในข้างต้นได้

หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด?

หัวใจคนปกติจะมีเซลล์พิเศษ ในการสร้างกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้หัวใจทำงานสม่ำเสมอ มีการบีบตัวจากห้องบนไปยังห้องล่างโดยเซลล์ที่สร้างกระแสไฟฟ้าในตัวเอง จากขอบบนหัวใจห้องบน ส่งกระแสผ่านไปยังห้องล่าง ตามแนวระบบประสาทในหัวใจ ความผิดปกติของระบบสร้างกระแสไฟฟ้าหรือการนำไฟฟ้าในหัวใจอาจจะเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดหัวใจ) การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ (เช่น จากเชื้อไวรัสบางชนิด ) หัวใจโดนกระตุ้นด้วยกาเฟอีนจากกาแฟ หรือยากระตุ้นประสาท แอมเฟตตามีน (Amphetamine) โรคใหลตาย ( Brugada syndrome ) ซึ่งก่อให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งไม่สามารถหาสาเหตุของโรคได้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ?

คนที่เสี่ยงจะเป็นโรคนี้ ได้แก่ คนแก่/ผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากโอกาสเกิดจะเพิ่มขึ้น คนที่มีโรคหัวใจ อยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น เป็นโรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคไขมันในเลือดสูง และมีความเครียดสูง

ผลเสียของการไม่ได้รับการรักษาคืออะไร?

หากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการ หากได้รับการตรวจและรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้อาการต่าง ๆ ดังกล่าวหายไป คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น หากเป็นการเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ก็จะสามารถรักษาชีวิตไว้ได้

การเต้นผิดจังหวะบางชนิดทำให้เลือดไหวเวียนช้าในห้องหัวใจ ทำให้เกิดก้อนเลือดจับตัวในห้องหัวใจ หากมีการหลุดของก้อนเลือดดังกล่าวไปที่สมองจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตขึ้นมาได้ (โรคหลอดเลือดสมอง) การรักษาด้วยยา จะป้องกันผลแทรกซ้อนดังกล่าวนี้ได้

สำหรับหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง อาจส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นทันที และเสียชีวิตได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะถึงโรงพยาบาล

ต้องมีการตรวจอะไรบ้างเพื่อการวินิจฉัยและเพื่อการรักษา?

การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เริ่มต้นจากการตรวจชีพจร วัดความเร็วความสม่ำเสมอของการเต้น ความแรงของชีพจร การตรวจฟังหัวใจว่า มีเสียงเต้นผิดปกติหรือไม่ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมักมาร่วมกับการเต้นผิดจังหวะเร็วที่เกิดจากหัวใจห้องบน เป็นต้น

นอกจากนั้น คือ

  • การเอกซเรย์ทรวงอก/ปอด (Chest x-ray) ดูขนาดหัวใจและห้องหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะบอกความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถแยกแยะชนิดของการเต้นผิดจังหวะของหัวใจขณะนั้นได้
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. เป็นการศึกษาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชม. โดยติดเครื่องตรวจไว้กับผู้ป่วยครบ 1 วัน จึงค่อยนำข้อมูลมาแยกแยะชนิดของคลื่นหัวใจโดยเครื่องวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง/อัลตราซาวด์ /เอคโคหัวใจ(Echocardiogram) เพื่อศึกษาการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและของลิ้นหัวใจ
  • บางรายต้องทำการศึกษาการนำไฟฟ้าในหัวใจโดยละเอียดโดยการใส่สายสวนหัวใจ หลายเส้นเข้าไปในหัวใจ เพื่อทำแผนที่การนำไฟฟ้า เรียกว่า EP หรือ Electrophysiologic study และ
  • ในรายที่สงสัยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) แพทย์จะส่งตรวจภาพหลอดเลือดด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram)

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นกรรมพันธุ์หรือไม่?

ส่วนน้อยของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคใหลตาย หรือ Brugada syndrome ซึ่งพบบ่อยที่ประเทศไทยและลาว กลุ่มเหล่านี้จะตรวจพบความผิดปกติของคลื่นหัวใจ ประมาณ 20% ของกลุ่มผู้ป่วยนี้จะมีการเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่างจนอาจส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต ทันทีทันใด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการ หน้ามืด/เป็นลม หากวินิจฉัยได้ก่อน แพทย์จะรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เข้าไปในตัวผู้ป่วย

สำหรับการเต้นผิดจังหวะส่วนใหญ่ ไม่ทราบสาเหตุ บางส่วนเกิดจากปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุต่างๆ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะรักษาหายหรือไม่?

การเต้นผิดจังหวะหัวใจมีหลายชนิด บางชนิดสามารถรักษาให้หายได้ เช่น กรณีมีจุดกำเนิดไฟฟ้าในหัวใจส่วนเกินที่กระตุ้นหัวใจทำให้เต้นผิดจังหวะ อาจทำการรักษาโดยการใช้สายสวน เพื่อให้พลังงานคลื่นวิทยุความถี่สูงทำลายจุดผิดปกติดังกล่าว ซึ่งโรคจะหายได้ เป็นต้น

การเต้นผิดจังหวะบางชนิด เช่น การเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องบน อาจควบคุมการเต้นของหัวใจห้องล่างด้วยยา ร่วมกับการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเท่านั้นก็เพียงพอ แต่การเต้นผิดจังหวะก็ยังคงมีอยู่ แต่ไม่เร็วมาก

ในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หากมีการเต้นผิดจังหวะเรื้อรังร่วมด้วย ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ จะทำการผ่าตัดแก้ไขการเต้นผิดจังหวะดังกล่าวด้วย

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร?

การป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจจะทำให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ ดังนี้

  • ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงสารกระตุ้นหัวใจต่างๆ เช่น สารกาเฟอีน ( ชา กาแฟ เครื่องดื่มมีกาเฟอีน) ยาแอมเฟตามีน และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • บริหารจัดการความเครียดให้เหมาะสม ทำสมาธิ เป็นต้น

ระหว่างรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ

  • กินยาให้ตรงเวลา
  • อย่าลืมกินยา
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหัวใจ เช่น ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย กินหรือดื่มสารกระตุ้น ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ
  • ปฏิบัติธรรม เจริญสติ และทำสมาธิ

ระหว่างรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรพบแพทย์ก่อนนัด หากมีอาการ หน้ามืดเป็นลม ใจสั่น วิงเวียน ชัก อัมพฤกษ์ อัมพาต และ/หรือ มีเลือดออกในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด เหงือกเลือดออก

และหากอาการดังกล่าวรุนแรง ควรต้องไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

อนึ่ง อาการข้างต้น บ่งถึง ยาควบคุมการเต้นหัวใจไม่ได้ผล หรือหากฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแล้ว เครื่องอาจกำลังไฟอ่อน และคนไข้ที่ได้ยาละลายลิ่มเลือดเกิดผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการได้ยา มากหรือน้อยเกินไป จึงส่งผลถึง ภาวะเลือดออก หรือภาวะอุดตันของหลอดเลือด ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้

มีวิธีรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างไร?

มีการรักษาชนิดต่างๆ ตามแต่ประเภทของการเต้นผิดจังหวะ ดังนี้

  • รักษาด้วยการให้ยา มีการให้ยาควบคุมการเต้นหัวใจ ยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น
  • การนวดจุดประสาทที่คอ กรณีที่เป็นการเต้นเร็วผิดจังหวะจากหัวใจห้องบน แพทย์อาจนวดจุดประสาทที่ลำคอ เพื่อกระตุ้นระบบประสาท พาราสิมพาธิติค (Parasympathetic nervous system) ที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ เพื่อทำให้หัวใจเต้นช้าลงได้
  • การช็อกไฟฟ้าหัวใจ การเต้นผิดจังหวะชนิดที่เกิดจากหัวใจห้องล่าง ทำให้เลือดออกจากหัวใจน้อย อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การช่วยชีวิตที่ได้ผลดี คือ การใช้เครื่อง ช็อกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillator) ยิ่งรักษาได้เร็วยิ่งได้ผลดี หากแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการบ่อยๆ จำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac resynchronization therapy ย่อว่า CRT) ชนิดถาวร ฝังเข้าไปในตัว โดยใส่สายนำกระแสเข้าไปทางหลอดเลือดดำใต้ไหปลาร้า ไปยังหัวใจห้องล่างขวา และมีตัวเก็บกระแสและส่งสัญญาณไฟฟ้า ฝังในบริเวณหน้าอก

    ผู้ป่วยที่ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดใหญ่ทุกชนิด แม้กระทั่งเครื่องเอกซเรย์ ของสนามบิน เพราะจะทำให้ เครื่องกระตุ้นหัวใจนี้ ทำงานแปรปรวนได้

  • การจี้หัวใจด้วยไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นๆ หากแพทย์ตรวจการนำไฟฟ้าในหัวใจด้วยเครื่อง EP (Electrophysilogic study) พบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่สามารถรักษาได้ด้วยการจี้ไฟฟ้า แพทย์จะใส่สายสวนเข้าไป เพื่อทำลายความผิดปกติดังกล่าว โดยใช้พลังงานหลายชนิด ที่นิยมได้แก่ พลังงานคลื่นวิทยุความถี่สูง เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Wikipedia, The free encyclopedia. [2018,June30]
  2. Fredrick J Jaeger. CME Cleveland clinic 2011.
  3. Bredikis, Audrius J Cryoablation of cardiac arrhythmias / Audrius J. Bredikis, David J. Wilber. Philadelphia, PA : Saunders, c2011.
  4. Bredikis, Audrius J Cryoablation of cardiac arrhythmias / Audrius J. Bredikis, David J. Wilber. Philadelphia, PA : Saunders, c2011.