โฟซิโนพริล (Fosinopril)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 โฟซิโนพริล (Fosinopril) คือ ยากลุ่ม เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (Angiotensin-converting-enzyme inhibitor, ACE inhibitor)  ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง  และรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวบางประเภท โดยตัวยาจะเพิ่มความสามารถในการสูบฉีดเลือดของหัวใจทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างทั่วถึง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน

หลังจากตัวยานี้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 87% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดปริมาณยาครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ยาอีกส่วนหนึ่งจะถูกทำลายโดยผ่านกระบวนการของตับ จึงถือเป็นข้อดีของยาโพซิโนพริลที่อยู่เหนือยาลดความดันโลหิตของกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ตัวอื่น โดยสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่มีภาวะของโรคไตร่วมด้วย

อาจใช้ยานี้ในลักษณะยาเดี่ยวๆเพื่อบำบัดอาการความดันโลหิตสูงหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นก็ได้ แต่สำหรับภาวะหัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว ยาโฟซิโนพริลมักจะถูกใช้ร่วมกับยาอื่นในการบำบัดอาการป่วยนั้น

ก่อนการเลือกใช้ยานี้ มีข้อมูลบางประการที่แพทย์ต้องนำมาใช้ประกอบก่อนการตัดสินใจในการใช้ยาเช่น

  • เคยแพ้ยานี้หรือไม่
  • เคยมีประวัติบวมน้ำหลังใช้ยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์หรือไม่
  • หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่
  • มีโรคประจำตัวอื่นใดอีกบ้างเช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ
  • เคยมีภาวะหัวใจวายมาก่อนหรือไม่
  • ระหว่างการใช้ยานี้แพทย์ต้องคอยหมั่นตรวจสอบความดันโลหิต ตรวจเลือดดูการทำงานของหัวใจ ของตับ -ไต ว่ายังปกติดีหรือไม่
  • ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

โฟซิโนพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โฟซิโนพริล

ยาโฟซิโนพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

โฟซิโนพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโฟซิโนพริลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิตของร่างกายคือ Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II มีผลทำให้หลอดเลือดแดงลดความต้านทาน โดยมีการขยายตัวและเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณเลือดที่ถูกบีบออกจากหัวใจทำให้ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงลดตามไปเช่นกัน สำหรับที่หน่วยไตยานี้ยังเพิ่มการขับออกของเกลือโซเดียมไปกับปัสสาวะอีกด้วย จากกลไกที่กล่าวมาทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โฟซิโนพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโฟซิโนพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่นยา Fosinopril Sodium 10 มิลลิกรัม + Hydrochlorothiazide5 มิลลิกรัม/เม็ด

โฟซิโนพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโฟซิโนพริลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง ขนาดยาที่ใช้คงการรักษาอยู่ที่ 10 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ที่อาจมีการปรับเพิ่มขนาดยาได้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น รับประทานยาขนาด 0.1 -6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกิน 50 กิโลกรัมแพทย์อาจให้รับประทานยา 5 - 10 มิลลิกรัมวันละ1 ครั้ง  

ข.สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว:

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงของความดันโลหิตต่ำ แพทย์มักให้รับประทานยาขนาดเริ่มต้นที่ 5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
  • เด็ก: ในการรักษากรณีนี้ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่แน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กกรณีนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโฟซิโนพริล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโฟซิโนพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโฟซิโนพริลให้ตรงเวลาเสมอ แต่หากลืมรับประทานยานี้ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โฟซิโนพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาโฟซิโนพริลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น  

  • มีอาการไอซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่เด่นของยากลุ่มนี้
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • เจ็บหน้าอก
  • มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง
  • ง่วงนอน
  • อ่อนแรง
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • อาจเกิดภาวะผนังลำไส้เล็กบวม
  • สมรรถนะทางเพศถดถอย

*อนึ่ง: อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง มีภาวะไตวาย, เกิดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายเปลี่ยนแปลง หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว การรักษาเบื้องต้นแพทย์อาจให้การรักษา เช่น ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และอาจมีการใช้ยา Naloxone ร่วมกับยาถ่านกัมมันต์ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

มีข้อควรระวังการใช้โฟซิโนพริลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโฟซิโนพริล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือ แพ้ยาในกลุ่ม ACE inhibitor
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยขณะที่มีภาวะช็อกอันมีสาเหตุมาจากหัวใจทำงานผิดปกติ (Cardio genic shock)
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหลอดเลือด โรคลิ้นหัวใจ และผู้ป่วยโรคไต
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตตามคำแนะนำของแพทย์ว่าเป็นปกติอย่างสม่ำเสมอหรือไม่
  • แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเลือดดูระดับเกลือแร่ในเลือด(Electrolyte) ในกระแสเลือดเพื่อการควบคุมให้เป็นปกติอยู่เสมอ
  • แพทย์จะแนะนำการตรวจเลือดดูความปกติของเม็ดเลือดและการทำงานของไตว่ายังเป็นปกติดีอยู่หรือไม่
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโฟซิโนพริลด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โฟซิโนพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโฟซิโนพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโฟซิโนพริล ร่วมกับยา Hydrochlorothiazide อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา หากต้องการใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาโฟซิโนพริล ร่วมกับยา Spironolactone สามารถทำให้ระดับของเกลือโพแทสเซียม ในเลือดสูงจนเป็นผลเสียกับไต กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาโฟซิโนพริล ร่วมกับยาลดความดัน(Olmesartan, Losartan) จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตต่ำ ก่อให้เกิดความเสียหายกับไต และทำให้มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงจนส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, จนถึงหัวใจหยุดเต้น เพื่อมิให้เกิดภาวะดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโฟซิโนพริล ร่วมกับยา Alprazolam อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา รวมถึงมีอาการ วิงเวียน  ปวดหัว  เป็นลม อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ เพื่อป้องกันการเกิดอาการเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโฟซิโนพริลอย่างไร?

ควรเก็บยาโฟซิโนพริล:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โฟซิโนพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโฟซิโนพริล  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Monoplus (โมโนพลัส) Bristol-myers Squibb
FOSINACE (โฟซิเนส) Cipla
FOVAS (โฟเวส) Cadila

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Fosinopril   [2022,Feb5]
  2. https://www.drugs.com/mtm/fosinopril.html   [2022,Feb5]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/fosinopril/patientmedicine/fosinopril-oral  [2022,Feb5]
  4. https://www.mims.com/India/drug/info/fosinopril/?type=full&mtype=generic#Dosage   [2022,Feb5]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/fosinopril.html   [2022,Feb5]
  6. https://www.mims.com/India/Drug/search/?q=fosinopril   [2022,Feb5]