ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ยาลดความดันหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอะไร?

ยาลดความดัน หรือ ยาลดความดันเลือดสูง หรือยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)  คือ ยาที่ใช้ลดความดันโลหิตที่สูงเกินปกติโดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตให้เข้าสู่ภาวะปกติมากที่สุด เพื่อชะลอความรุนแรงของโรค และเพื่อลดอัตราการตายเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับ หัวใจ ตา ไต สมอง และกับหลอดเลือดขนาดเล็กๆทั่วร่างกาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคความดันโลหิตสูง)

แบ่งยาลดความดันเป็นประเภทใดบ้าง?

แบ่งยาลดความดันตามกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาได้ดังนี้ เช่น

ก. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เช่น

  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide diuretics):เช่นยา ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide, HCTZ), อินดาพาไมด์ (Indapamide), คลอธาลิโดน (Chlorthalidone)
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มลูปไดยูเรติก (Loop diuretics, ยาที่ออกฤทธิ์ที่หน่วยไต): เช่นยา ฟูโรซีไมด์ (Furosemide), เอทธาครินิคแอซิด (Ethacrynic acid), ทอร์ซีไมด์ (Torsemide)
  • ยาขับปัสสาวะชนิดที่ลดการขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะ(Potassium-sparing diuretics): เช่นยา อะมิโลไรด์ (Amiloride), ไตรแอมเทรีน (Triamterene), สไปโรโนแล็กโทน (Spironolactone), อีพลีรีโนน (Eplerenone)
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มออสโมติก (Osmotic diuretics, ยาที่ลดการดูดซึมกลับของน้ำและโซเดียมจากปัสสาวะกลับเข้าสู่ร่างกาย): เช่นยา แมนนิทอล (Mannitol), ซอร์บิทอล (Sorbitol)

ข. ยาที่ออกฤทธิ์ลดการทำงานของระบบประสาทซิมพาธีติก (Sympathoplegic agents): เช่น

  • ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของเบต้ารีเซ็ปเตอร์ (Beta adrenoceptor blockers , Beta blockers): เช่นยา โพรพราโนลอล (Propranolol), นาโดลอล (Nadolol), พินโดลอล (Pindolol), ทิโมลอล (Timolol), อะทีโนลอล (Atenolol), เมโทโพรลอล (Metoprolol), ไบโซโพรลอล (Bisoprolol), ลาบีทาลอล (labetalol), คาร์วีไดลอล (Carvedilol)
  • ยาออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของอัลฟ่า 1 รีเซ็ปเตอร์ (Alpha1 adrenoceptor blockers, Alpha1 blockers): เช่นยา พราโซซิน (Prazosin), ด็อกซาโซซิน (Doxazosin)
  • ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Centrally acting agents): เช่นยา โคลนิดีน (Clonidine), เมทิลโดปา (Methyldopa), รีเซอร์พีน (Reserpine)

ค. ยาที่ออกฤทธิ์ลดการทำงานของระบบ Renin-angiotensin-aldosterone system (RAAS, ระบบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไตและฮอร์โมน/สารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการคงความดันโลหิตของร่างกาย): เช่น

  • ยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors, ACEI): เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ แองจิโอเทนซินคอนเวอร์ติ้ง (Angiotensin converting) ที่ช่วยควบคุมความดันเลือด เช่น ยาอีนาลาพริล (Enalapril), ไลซิโนพริล (Lisinopril), แคปโตพริล (Captopril), รามิพริล (Ramipril), เพอรินโดพริล (Perindopril)
  • ยาที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นที่ตัวรับ (Receptor) แอนจิโอเทนซิน 2 (Angiotensin II receptor blockers, ARBs): เช่น ยาลอซาร์แทน (Losartan), วาลซาร์แทน (Valsar tan), เออร์บีซาร์แทน (Irbesartan), แคนดิซาร์แทน (Candesartan), เทลมิซาร์แทน (Telmisartan), โอล์มีซาร์แทน (Olmesartan)

ง. ยากลุ่มต่างๆที่ขยายหลอดเลือด: เช่น

  • ยากลุ่มปิดกั้นช่องประจุแคลเซียม (Calcium channel blockers, CCBs): เช่น ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine), ฟิโลดิปีน (Felodipine), แอมโลดิปีน (Amlodipine), มานิดิปีน (Manidipine), เวอราปามิล (Verapamil), ดิลไทอะเซม (Diltiazem)
  • ยากลุ่มไนเตรท (Nitrate): เช่นยา ไอโซซอร์ไบด์โมโนไนเตรต (Isosorbide mononitrate, ISMN), ไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate, ISDN), ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin)
  • ยาขยายหลอดเลือดชนิดอื่นๆ: เช่นยา  ไฮดราลาซีน (Hydralazine), ไมนอกซิดิล (Minoxidil)

ยาลดความดันมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาลดความดันมีรูปแบบจัดจำหน่าย   เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ผงยาปราศจากเชื้อ (Sterile powder)
  • ยาเตรียมปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาเม็ดอมใต้ลิ้น (Sublingual tablet) เช่น ไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal Patch) เช่น ไนโตรกลีเซอรีน

ยาลดความดันมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ยาลดความดันมีข้อบ่งใช้  เช่น

ก. ยาขับปัสสาวะ: นอกจากใช้เป็นยาลดความดันโลหิตยังใช้ขับปัสสาวะเพื่อรักษาภาวะบวมน้ำจากโรคต่างๆ เช่น หัวใจล้มเหลว ตับแข็ง ไตวาย น้ำท่วมปอด/ปอดบวมน้ำ และยังมีข้อบ่งใช้อื่นๆ เช่น

  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์: ใช้รักษาโรคนิ่วในไต โรคกระดูกพรุน  โรคเบาจืด                            ที่สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic diabetes insipidus) และลดปริมาณน้ำในหูชั้นในในผู้ป่วยโรคเมนิแยร์ (Meniere's disease, โรคเวียนศีรษะเรื้อรังที่เกิดจากหูชั้นใน)
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มลูปไดยูเรติก: ใช้รักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperka lemia), แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia), โซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatre mia), และใช้ขับสารพิษที่เกินขนาดในเลือด เช่น โบรไมด์ (Bromide), ฟลูออไรด์ (Fluoride), และไอโอไดด์ (Iodide)
  • ยาขับปัสสาวะชนิดที่ลดการขับโพแทสเซียม: ใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะชนิดอื่นหรือใช้แทนเมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ รักษากลุ่มอาการคอนน์ (Conn’s syndrome, กลุ่มอาการมีความดันโลหิตสูงร่วมกับมีโพแทสเซียมในเลือดต่ำ) หรืออีกชื่อคือ ไฮเปอร์อัลโดสเตอโรนิสซึม (Hyperaldosteronism)
  • ยาแมนนิทอล (Mannitol): ใช้ลดความดันลูกตาในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิด

ข. ยาที่ออกฤทธิ์ลดการทำงานของระบบประสาทซิมพาธีติก: นอกจากใช้เป็นยาลดความดันโลหิตแล้วยังมีข้อบ่งใช้อื่นๆ ดังนี้ เช่น

  • ยาในกลุ่ม Beta blockers: ใช้รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นเร็ว, ภาวะหัวใจล้มเหลว,  กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
  • ยาในกลุ่ม Alpha1 blockers ใช้รักษาโรคต่อมลูกหมากโต

ค. ยาที่ออกฤทธิ์ลดการทำงานของระบบ Renin-angiotensin-aldosterone system (RAAS): ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตและมีข้อบ่งใช้อื่นๆ  เช่น

  • ยากลุ่ม ACE inhibitors ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว และป้องกันภาวะไตวายจากโรคเบาหวาน

ง. ยาขยายหลอดเลือดกลุ่มต่างๆ: นอกจากใช้เป็นยาลดความดันโลหิต ยังมี ข้อบ่งใช้อื่นๆ  เช่น

  • ยาในกลุ่ม Calcium channel blockers ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต (Hypertensive emergency), รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และป้องกัน อาการปวดศีรษะไมเกรน
  • ยากลุ่มไนเตรท ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

มีข้อห้ามใช้ยาลดความดันอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาลดความดัน  เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยานั้นๆหรือแพ้ส่วนประกอบอื่นๆของยา
  • ห้ามใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์และฟูโรซีไมด์ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาซัลฟา (Sulfa drug)
  • ห้ามใช้ยาขับปัสสาวะปริมาณมากในผู้ป่วยโรคตับแข็ง ไตวาย และภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามรับประทานยาขับปัสสาวะหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอนเพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะตอนกลางคืนจึงรบกวนการนอนหลับ
  • ห้ามใช้ยาในกลุ่ม Beta blockers ในผู้ป่วยโรคหืด ภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง และภาวะหลอดเลือดส่วนปลาย (มือเท้า แขน ขา) ตีบ
  • ห้ามใช้ยาในกลุ่ม ACE inhibitors ในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดไตตีบตัน เพราะอาจทำให้ไตวายได้
  • ห้ามบดเคี้ยวหรือหักยาเม็ดรูปแบบที่เป็นยาออกฤทธิ์เนิ่นนาน เพราะทำให้ยาเสียคุณสมบัติในการออกฤทธิ์นานเป็นพิเศษ และอาจทำให้ร่างกายได้รับยาในปริมาณมากเกินไปจนทำให้ความดันโลหิตตกลงอย่างรวดเร็วจนหน้ามืดหรือหมดสติได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาลดความดันอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลดความดัน  เช่น

  • ระวังการใช้ยาขับปัสสาวะชนิดที่ลดการขับโพแทสเซียมร่วมกับการใช้ยาในกลุ่ม ACE inhibitors เพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง
  • ระวังการใช้ยาในกลุ่ม Beta blockers ในผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง เพราะยาทำให้ ระดับไขมันดี (HDL) ลดลง และ
    • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะยานี้ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้นระวังการใช้ยาในกลุ่ม Beta blockers ร่วมกับยาขับปัสสาวะเนื่องจากยาทั้งสองกลุ่มนี้มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจึงอาจเกิดภาวะเบาหวานได้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่ม Alpha1 blockers ในครั้งแรกๆอาจทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็วทำให้หน้ามืดหรือเป็นลมได้
  • ระวังการใช้ยาเวอราปามิล (Verapamil) และยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเพราะยาดังกล่าวมีผลกดการทำงานของหัวใจ

การใช้ยาลดความดันในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาลดความดันในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

  • หญิงตั้งครรภ์ควรหยุดยาลดความดันในกลุ่ม ACE inhibitors, กลุ่ม ARBs/Angiotensin II receptor blocker และยาขับปัสสาวะทันที เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดความผิด ปกติกับทารกในครรภ์ได้
  • ยาลดความดันที่แพทย์มักเลือกใช้เป็นอันดับแรกในหญิงตั้งครรภ์คือ เมทิลโดปา (Methyldopa) ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์มากที่สุด ส่วนยาที่เป็นตัว เลือกต่อมาได้แก่ เมโทโพรลอล (Metoprolol) ไฮดราลาซีน (Hydralazine) และไนเฟดิปีน (Nifedipine)
  • ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะความดันโลหิตสูงหลังจากตั้งครรภ์/ครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclamsia) สามารถใช้ยาไฮดราลาซีน, ไนเฟดิปีน และยา Beta blockers  เช่น ยาลาเบทาลอล (Labetalol) ในการรักษาได้

การใช้ยาลดความดันในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาลดความดันในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ควรติดตามระดับความดันโลหิตของผู้สูงอายุในท่านั่งหรือท่านอนเปรียบเทียบกับท่ายืน เพราะผู้ป่วยมักมีภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ อาจทำให้หน้ามืดเกิดการล้มกระ ดูกหักได้
  • ควรเลือกใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) เป็นกลุ่มแรกในผู้ป่วยสูงอายุเนื่อง จากยามีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆในร่างกาย
  • การเลือกใช้ยาลดความดันโลหิตในผู้สูงอายุควรพิจารณาถึงโรคร่วม/โรคประจำตัวอื่นๆในผู้ป่วยสูงอายุแต่ละรายเช่น ไม่ควรใช้ยาเมทิลโดปา (Methyldopa) ในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะอาจทำให้อาการของโรคซึมเศร้าแย่ลง เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงคือทำให้เกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ฝันร้าย

การใช้ยาลดความดันในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาลดความดันในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ยาลดความดันที่แพทย์นิยมใช้ในเด็กโดยเป็นยาที่สามารถลดความดันได้ดีและปลอดภัยตั้งแต่ในทารกแรกเกิดได้แก่ ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) และยาในกลุ่ม Calcium channel blockers เช่น แอมโลดิปีน (Amlodipine) ไนเฟดิปีน (Nifedipine) นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยาในกลุ่ม Beta blockers ซึ่งมีการใช้มานานในผู้ป่วยเด็กได้เช่นกัน
  • ไม่ควรใช้ยาเมทิลโดปา (Methyldopa) เป็นยาตัวเลือกแรกในเด็กเนื่องจากผลข้างเคียงคือทำให้เกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ฝันร้าย
  • ผู้ปกครองควรดูแลเด็กโดยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วยกับการใช้ยาลดความดันเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความดันเช่น ลดน้ำหนัก ลดการบริโภคอาหารรสเค็ม รับประ ทานผักและผลไม้ ลดการดูทีวี เล่นเกม  และควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก 30 นาทีอย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาลดความดันมีอะไรบ้าง?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดความดัน เช่น

  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide): ทำให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ได้แก่ ภาวะโพเทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) โซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatramia) น้ำ ตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) กรดยูริคในเลือดสูง (Hyperuricemia) และการเสื่อมสมรรถ ภาพทางเพศในผู้ชาย/นกเขาไม่ขัน (Impotence)
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มลูปไดยูเรติก: ยาในกลุ่มนี้มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาคล้ายกับยาปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ และยามีความเป็นพิษต่อหูชั้นในจึงมีผลต่อการได้ยินได้ (Ototoxici ty)
  • ยาขับปัสสาวะชนิดที่ลดการขับโพแทสเซียม: ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia) และภาวะเต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia) เช่น จากการใช้ยาสไปโรโนแล็กโทน (Spironolactone)
  • ยาในกลุ่ม Beta blockers: อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradycardia) ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจากภาวะร่างกายไวต่อน้ำตาลกลูโคส (Glucose intolerance) ส่งผลในระบบประสาทส่วนกลางเช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้าย และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ(ชาย)
  • ยาในกลุ่ม Alpha1 blockers: ทำให้เกิดภาวะความดันเลือดต่ำจากการเปลี่ยนท่าทาง (Postural hypotension) ปวดศีรษะและอ่อนเพลีย
  • ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง: อาจทำให้หดหู่/ซึมเศร้า ฝันร้าย ง่วงซึม ปากแห้ง
  • ยาในกลุ่ม ACE inhibitors : มีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยคือ ไอแห้งๆ/ไอไม่มีเสมหะ อาการอื่นๆเช่น อาการบวมใต้ชั้นผิวหนัง/แองจิโออีดีมา (Angioedema) โพแทสเซียมในเลือดสูง ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มใช้ยาครั้งแรกๆ (First dose hypotension)
  • ยาในกลุ่ม ARBs (Angiotensin II receptor blockers): มีอาการไม่พึงประสงค์คล้ายกับ ยาในกลุ่ม ACE inhibitors แต่ทำให้เกิดอาการไอแห้งๆและอาการบวมใต้ชั้นผิวหนัง (Angio edema) น้อยกว่าอย่างเด่นชัด
  • ยาในกลุ่ม Calcium channel blockers: เช่นยา
    • ไนเฟดิปีน (Nifedipine) ฟิโลดิปีน (Felodipine) แอมโลดิปีน (Amlodipine): อาจทำให้เกิดอาการเท้าบวม (Peripheral edema) ปวดหัว และใบหน้าแดงได้ 
    • ส่วนเวอราปามิล (Verapamil) และดิลไทอะเซม (Diltiazem): ทำให้ท้องผูกได้

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลดความดัน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th Ohio : Lexi-comp, 2011.
  2. Schaefer C., Peters P., and Miller R. K. Drugs During Pregnancy and Lactation. 2nd California: Elsevier, 2007.
  3. สุรีย์ เจียรณ์มงคล. ยาที่ใช้ในการควบคุมความดันโลหิต. เอกสารประกอบการสอนวิชาเภสัชวิทยา 2 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย. 24 หน้า, 2009.
  4. กมลเนตร จิระประภูศักดิ์. ยาลดความดันโลหิตสูงในเด็ก. พุทธชินราชเวชสาร 31 (มกราคม-เมษายน 2557) : 76-82.
  5. บุษบา จินดาวิจักษณ์. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง...ใช้อย่างไร. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/31//ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง-ใช้ย่างไร/ [2023,March25]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Antihypertensive_drug [2023,March25]