เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ หรือ ยาต้านเอนไซม์ เอซีอี (ACE inhibitor: Angiotensin-converting -enzyme inhibitor) โดย ACE คือ เอนไซม์ที่สร้างจากไตและปอด มีหน้าที่ในกระบวนการที่ทำให้หลอดเลือดหด/ตีบตัว) เป็นกลุ่มยาที่นำมารักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจล้มเหลว โดยฤทธิ์ของการขยายหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตลดลง สำหรับการรักษาโรคหัวใจ มักจะใช้ยาอีกกลุ่มที่เรียกว่า เบตา-บล็อกเกอร์ (Beta blocker) หรือแคลเซียม ชาแนล บล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) มาร่วมในการรักษา

เอซีอี อินฮิบิเตอร์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามโครงสร้างทางเคมีของโมเลกุลยา คือ

1. Sulfhydryl - containing agents ประกอบด้วยตัวยา Captopril และ Zofenopril

2. Dicarboxylate - containing agents ประกอบด้วยตัวยา Enalapril, Ramipril, Quinapril, Perindopril, Lisinopril, Benazepril, Imidapril, Trandolapril, Cilazapril

3. Phosphonate - containg agents มียาเพียงตัวเดียว คือ Fosinopril

จากการศึกษาเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์พบว่า ตัวยาถูกดูดซึมได้ระดับปานกลางจากระบบทางเดินอาหาร และสามารถจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ย 1.7 - 11 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ และบางส่วนผ่านไปกับอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุ Captopril และ Enalapril อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในหมวดยาอันตราย

การใช้ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์มักต้องใช้ต่อเนื่อง อาจมีการปรับเปลี่ยนขนาดการรับประ ทานหรือเปลี่ยนตัวยาเพื่อความเหมาะสมกับอาการผู้ป่วย ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่สามารถปรับขนาดรับประทาน ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยาเอง

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เอซีอี

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาความดันโลหิตสูง สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของคนไข้
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย
  • รักษาโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการ เปลี่ยนสาร Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II (Angiotensin เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับที่ ทำให้หลอดเลือดหด/ตีบตัว) มีผลทำให้หลอดเลือดแดงลดความต้านทานโดยมีการขยายตัวและ เพิ่มการไหลเวียนเลือดได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณเลือดที่ถูกบีบออกจากหัวใจทำให้ ความดันโลหิตในหลอดเลือดลดตามไปเช่นกัน สำหรับที่อวัยวะไต ตัวยานี้ยังเพิ่มการขับออกของเกลือโซเดียมไปกับปัสสาวะอีกด้วย จากกลไกที่กล่าวมาทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 2.5, 5, 10, 20, 25 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรค มีความแตกต่างกันออกไป ยังมีข้อห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์และกับผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดง ของไตตีบแข็ง จึงต้องมีการปรับขนาดการรับทานเป็นกรณีๆไป การใช้ยาจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาที่จะสามารถบริหารยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาในกลุ่มยา เออีซี อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก / หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาในกลุ่มยาเออีซีอินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาในกลุ่มยา เอซีอี อินฮิบิเตอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาการไอ ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่เด่นในยากลุ่มนี้
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • วิงเวียน
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงผิดปกติ (อาการเช่น คลื่นไส้ หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง)
  • ง่วงนอน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การรับรสชาติผิดปกติ
  • มีอาการผื่นคัน
  • อาจพบ เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • มีอาการบวมตามเนื้อตัว เห็นได้ชัดที่เท้า/ข้อเท้า

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ชนิด Renal artery stenosis
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีการสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจไม่ดี
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ เช่น ยา Potassium iodide
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ร่วมกับยาหรืออาหารเสริมที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก อาจส่งผลให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การรับประทานยากลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ร่วมกับยารักษาผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่นยา Lithium อาจส่งผลให้ระดับของ Lithium ในร่างกายสูงขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาLithiumสูงขึ้นติดตามมา ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Aspirin หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)อื่นๆ เช่น Ibuprofen, Indomethacin, และ Naproxen สามารถลดประสิทธิภาพการรักษาของยากลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาเอซีอี อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาในกลุ่มยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

กลุ่มยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Capril (คาพริล) Boryung Pharma
Epsitron (แอพซิทรอน) Remedica
Gemzil (เจมซิล) Pharmasant Lab
Tensiomin (เทนซิโอมิน) Egis
Anapril (อะนาพริล) Berlin Pharm
Enace (เอเนซ) Unique
Enam (เอนาม) Dr Reddy’s Lab
Enaril (เอนาริล) Biolab
Envas (เอนวาส) Cadila
Lecatec (เลกาเทก) Meiji
Invoril (อินโวริล) Ranbaxy
Korandil (โคแรนดิล) Remedica
Lapril (ลาพริล) Pharmasant Lab
Myopril (มายโอพริล) Unique
Nalopril (นาโลพริล) Siam Bheasach
Acetate (เอซีเทต) Pond’s Chemical
Corpril (คอร์พริล) Ranbaxy
Gempril (เจมพริล) M. J. Biopharm
Mediram (มิดิแรม) Mediorals
Ramicard (รามิคาร์ด) J.B. Chemicals
Tritace (ไตรเทส) sanofi-aventis
Accupril (แอคคูพริล) Pfizer
Quinsil (ควินซิล) Silom Medical
Coversyl Arginine (โคเวอร์ซิล อาร์จินิน) Servier
Covrix (โควริกซ์) Sinensix Pharma
Lisdene (ลิสดีน) Sandoz
Lisir (ลิเซอร์) Kopran
Lispril (ลิสพริล) Siam Bheasach
Zestril (เซสทริล) AstraZeneca
Tanatril (ทานาทริล) Mitsubishi Tanabe Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/ACE_inhibitor [2020,Oct3]
  2. https://www.ahajournals.org/doi/full/10.1161/01.cir.97.14.1411 [2020,Oct3]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ace%20inhibitor&page=0 [2020,Oct3]
  4. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=enalapril [2020,Oct3]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=captopril [2020,Oct3]
  6. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=quinapril [2020,Oct3]
  7. https://www.medicinenet.com/captopril/article.htm [2020,Oct3]
  8. https://www.medicinenet.com/ace_inhibitors/article.htm [2020,Oct3]
  9. https://www.medicinenet.com/enalapril/article.htm [2020,Oct3]