โทเรมิฟีน (Toremifene)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 17 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาโทเรมิฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ยาโทเรมิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโทเรมิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโทเรมิฟีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโทเรมิฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโทเรมิฟีนอย่างไร?
- ยาโทเรมิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโทเรมิฟีนอย่างไร?
- ยาโทเรมิฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
บทนำ: คือยาอะไร?
โทเรมิฟีน (Toremifene) คือ ยารักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (Metastatic Breast Cancer) ชนิดที่มีตัวรับเอสโตรเจน (Positive Estrogen Receptor) หรือมะเร็งเต้านมที่ต้องอาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจนในการเจริญเติบโตในสตรีวัยหมดประจำเดือน (Postmeno pausal)
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตขึ้นจากรังไข่ มีความสำคัญในการทำหน้าที่ส่งเสริมการแสดงลักษณะเด่นของเพศหญิงอาทิ การมีเต้านม หรือ การมีประจำเดือน
จากการศึกษาพบว่า มะเร็งเต้านมหลายชนิดมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนกล่าว คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถเร่งการเจริญเติบโตของมะเร็งได้ในกรณีมะเร็งเต้านมนั้นมีตัวรับ (Receptor)ฮอร์โมนเอสโตรเจน(Positive Estrogen Receptor, ย่อว่า ER+) ซึ่งยาที่ต้านการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อตัวรับเอสโตรเจนของเซลล์มะเร็งเต้านมจะสามารถจำกัดการเจริญเติบโตของมะเร็งฯได้
ยาโทเรมิฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโทรเรมิฟีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
• รักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (Metastatic Breast Cancer) ในสตรี วัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal) โดยใช้กับมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับ เอสโตรเจน (Positive Estrogen Receptor, ER+) คือมะเร็งชนิดที่ต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยในการเจริญเติบโต
ยาโทเรมิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโทเรมิฟีน เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มยาที่มีความสามารถในการปรับเข้ากับตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างจำเพาะ (SERM, Selective Estrogen Receptor Modulators) ยาโทเรมิฟีนสามารถจับกับตัวรับเอสโตรเจน (Estrogen Receptor ย่อว่า ER) ได้อย่างจำเพาะ โดยแข่งขันการเข้าจับกับตัวรับเอสโตรเจนกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อมีการเข้าจับกับตัวรับแล้ว ยาโทเรมิฟีนมีความ สามารถในการยับยั้งกระบวนการกระตุ้นการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA Synthesis, ดีเอ็นเอคือ สารรหัสพันธุกรรมซึ่งกระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอเป็นหนึ่งในกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวน) และกระบวนการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเต้านมที่ต้องอาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจนในการเจริญเติบโต(Positive estrogen cancer) ได้
ยาโทเรมิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทเรมิฟีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์:
- เป็นยาเม็ด ขนาดความแรง 60 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ยาโทเรมิฟีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาโทเรมิฟีนมีขนาดยาที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายในสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้วคือ 60 มิลลิกรัมต่อวัน หรือรับประทานวันละ 1 เม็ด
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้อง ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโทเรมิฟีน ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา แพ้ส่วนประกอบของยา และ/หรือแพ้สารเคมี ทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
- ยาในกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)
- กลุ่มยากันชัก เช่นยา ยาคาร์บามาซีพีน (Carbamazepine), ยาฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital), ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin)
- กลุ่มยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่นยา ยาไซเมทิดีน (Cimetidine)
- กลุ่มยาคลายกังวล/ยาคลายเครียด เช่น ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam)
- กลุ่มยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดเสตียรอยด์เช่น ยาเด็กซามาธาโซน (Dexamethasone)
- กลุ่มยาขับปัสสาวะ เช่นยา ดิลไทอะเซ็ม (Diltiazem), ยาเวราพามิล (Verapamil)
- กลุ่มยาต้านเศร้า เช่นยา ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine)
- ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ เช่นยา ยาไรฟาบูทิน (Rifabutin), ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- สมุนไพรเซนจอห์นเวิธ (St. John’s wort)
- ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับระดับยาหรือเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้เมื่อใช้ร่วมกับยาโทเรมิฟีน
- ประวัติโรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังกระดูก
- ประวัติโรคเลือดชนิดที่เลือดแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติ
- ประวัติโรคที่ผนังมดลูกหนาผิดปกติ
- ประวัติโรคตับขั้นรุนแรง
- ประวัติการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (EKG)ผิดปกติ
- ประวัติโรคหัวใจต่างๆอาทิ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะหัวใจวาย
- แจ้งให้แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทราบ หากคุณกำลังตั้งครรภ์, วางแผนที่จะตั้งครรภ์, หรือกำลังให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโทเรมิฟีน ให้รับประทานโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลาการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้ข้ามมื้อยานั้นไปและรับประทานยาตามมื้อยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาโทเรมิฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทเรมิฟีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)บางประการ เช่น
- อาการรู้สึกร้อนวูบวาบ
- เหนื่อยง่าย
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- นอนไม่หลับ
- อาจพบปัญหาด้านสายตา เช่น
- ปัญหาในการมองเห็นช่วงกลางคืน
- ตาแห้ง
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- คลื่นไส้อาเจียน
*อนึ่ง:
- *หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าอาการแย่ลงหรือไม่ทุเลา ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบในวันนัด หรือพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงและความกังวลต่ออาการ
- *หากรับประทานยาโทเรมิฟีน ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน เมื่อ
- เกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน, อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า, หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก,
- หรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ, หัวใจเต้นผิดจังหวะ , มีประจำเดือนหรือเลือดไหลออกทางช่องคลอด, ปวดกล้ามเนื้อ, อ่อนเพลียอย่างรุนแรง, ปวดข้อ, ปวดท้อง
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทเรมิฟีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทเรมิฟีน เช่น
- ไม่ใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ไม่ใช้ยานี้ในสตรีที่ยังมีประจำเดือน สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์ในอนาคต หรือสตรีให้นมบุตร
- ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเลือด ซีบีซี /CBC เพื่อวัดระดับ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ขณะใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอตามดุลพินิจของแพทย์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติโรคตับขั้นรุนแรง ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิดคิวทียาว (QT prolongation) ผู้ป่วยที่มีประวัติอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte)/เกลือแร่ในเลือดผิดปกติโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำและยังไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่หัวใจเต้นช้า ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว และผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ยานี้สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนัง สตรีมีครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับยานี้โดยตรง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาโทเรมิฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโทเรมิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทเรมิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆดังต่อไปนี้ เช่น
ก. การใช้ยาโทเรมิฟีน ร่วมกับยาบางชนิด อาจส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดคิวทียาวขึ้น (QT prolongation) ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาโทเรมิฟีนร่วมกับยาดังต่อไปนี้
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาควินิดีน (Quinidine), ยาไฮโดรควินิดีน (Hydroquinidine), ยาไดโซไพราไมด์ (Disopyramide), ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone), ยาโซทาลอล (Sotalol), ยาโดฟีทิไลด์ (Dofetilide), ยาไอบูทิไลด์ (Ibutilide)
- ยารักษาโรคจิตเภทและยาที่เกี่ยวข้องกับจิตประสาท เช่น ยาฟีโนไธอะไซด์ (Phenothiazide), ยาพิโมไซด์ (Pimozide), ยาเซอร์ทินโดล (Sertindole), ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), ยาซัลโทไพรด์ (Sultopride)
- ยาปฏิชีวนะและกลุ่มยาฆ่าเชื้อบางชนิด เช่น ยาโมซิฟลอดซาซิน (Moxifloxacin), ยาอิริโธรมัยซิน (Erythromycin), กลุ่มยารักษาโรคไข้จับสั่นโดยเฉพาะยาฮาโลแฟนทริน (Halofantrine)
- ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ เช่นยา เทอร์เฟราดีน (Terfenadine), ยาแอสเทมิโซล (Astemizole), และยามิโซลาสทีน (Mizolastine)
- ยาอื่นๆ เช่น ยาซิซาไพรด์ (Cisapride/ยารักษาโรคกรดไหลย้อน), ยาบีพริดิล (Bepridil/ ยารักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/Angina), และยาไดฟีแมนิล (Diphemanil/ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร)
ข. การใช้ยาโทเรมิฟีน ร่วมกับ ยาลดการขับแคลเซียมออกจากร่างกายอาจส่งผลให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่ม ไทอะไซด์ (Thiazide Diuretics), การใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะคอยตรวจวัดระดับแคลเซียมในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
ค. ยาบางชนิดอาจเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ที่ใช้เผาผลาญ (เมทอบอลึซึม/Metabolism) ยาโทเรมิฟีนมากขึ้น ทำให้ระดับยาโทเรมิฟีนในกระแสเลือดลดลงอาจส่งผลให้การรักษาล้มเหลว เช่น ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ยาฟีไนทอย (Phenytoin), และยาคาร์บามาซีพีน (Carbamazepine), หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์อาจพิจารณาการให้ยาโทเรมิฟีนในขนาด ยาที่มากขึ้น
ง. หลีกเลี่ยงการใช้ ร่วมกับ ยาต้านเอสโตรเจน และ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เนื่องจากการใช้ยาร่วมกันอาจส่งผลให้ระยะเวลาการแข็งตัวของเลือดช้าลง
ควรเก็บรักษายาโทเรมิฟีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโทเรมิฟีน:
- เก็บยาในภาชนะบรรจุหรือบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมของผู้ผลิต
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องปกติ
- ไม่เก็บยาในที่อับชื้น เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ ห้องครัว
- ไม่เก็บยาบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาโทเรมิฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทเรมิฟีน มีการจำหน่ายโดยใช้ชื่อการค้า และมีผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ฟาเรสทอน (FARESTON) | ORION CORPORATION (ประเทศฟินแลนด์) |
บรรณานุกรม
- International Agency for Research on Cancer (IRAC) Work Group. Monograph: Toremifene, IARC MONOGRAPHS ON THE EVALUATION OF CARCINOGENIC RISKS TO HUMANS, WHO. 1996;66:267-287.
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020497s006lbl.pdf [2021, Nov13]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/toremifene?mtype=generic [2021, Nov13]