การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คืออะไร?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography ย่อว่า ECG/ อีซีจี หรือ Elektrokardiogram/ภาษาเยอรมัน ย่อว่า EKG/ อีเคจี) เป็นการตรวจสืบค้นเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจในเบื้องต้น โดยเป็นการตรวจที่เพิ่มเติมจากการซักถามประวัติทางการแพทย์ หรือที่เรียกทั่วไปว่า การซักประวัติ และการตรวจร่างกายที่รวมถึงการตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง ทั้งนี้เพื่อช่วยแพทย์ในการประเมินและวินิจฉัยสุขภาพและโรคหัวใจในเบื้องต้น

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจที่มีวิธีการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เครื่องตรวจราคาไม่แพงมาก ให้การตรวจด้วยบุคคลากรที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ได้ (แต่แพทย์เป็นผู้แปลผลตรวจ) และค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก จึงเป็นการตรวจที่ให้บริการได้ทุกโรงพยาบาล

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีประโยชน์อย่างไร?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ประโยชน์จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คือ

  • ช่วยให้แพทย์รู้ว่าหัวใจของผู้ป่วยมีการทำงานอย่างไร
  • มีโรคทางหัวใจหรือไม่ และโรครุนแรงมากหรือน้อย
  • เพื่อช่วยแพทย์ประเมินสุขภาพผู้ป่วย ช่วยการวินิจฉัยเบื้องต้นว่ามีโรคหัวใจหรือไม่
  • ประเมินความแข็งแรงของหัวใจก่อนการผ่าตัดใหญ่ว่า หัวใจสามารถทนรับภาวะที่ร่างกายได้รับยาสลบระหว่างผ่าตัดได้หรือไม่อย่างไร และ
  • ใช้ช่วยติดตามผลเบื้องต้นในการรักษาโรคหัวใจ เช่นจาก การผ่าตัดหัวใจ, การฝังเครื่องควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ(Pacemaker), และจากการใช้ยาต่างๆโดยเฉพาะการใช้ ยาโรคหัวใจ

ข้อบ่งชี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีอะไรบ้าง?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ไม่จำเป็นสำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีในคนอายุต่ำกว่า 40 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว

ทั้งนี้ ทั่วไป ข้อบ่งชี้ทั่วไปการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีดังนี้

  • เป็นการตรวจในเบื้องต้นของผู้มีอาการที่แพทย์สงสัยว่า อาจมีโรคหัวใจ เช่น อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรืออ่อนเพลียผิดปกติ หรือเจ็บหน้าอก หรือหัวใจเต้นผิดปกติ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง (โรคปอดและโรคหัวใจ มักมีการเกี่ยวพันกันเสมอ)
  • ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว
  • ผู้สูงอายุที่ตรวจสุขภาพประจำปี
  • ประเมินสุขภาพผู้ป่วยก่อนผ่าตัดใหญ่ โดยเฉพาะเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • ประเมินผลข้างเคียงจากยาต่างๆ
  • ติดตามผลการรักษาโรคหัวใจ
  • ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวสายตรง (พ่อ แม่ พี่น้องท้องเดียวกัน) มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ช่วยวางแผนการรักษาโรคต่างๆ เพื่อลดผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจ เช่น การปรับปริมาณยา, การเลือกชนิดของยา, ประเภทของการออกกำลังกาย, หรือในการทำกายภาพบำบัด

มีข้อห้าม/อันตรายจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไหม?

ไม่มีข้อห้ามหรืออันตรายในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพราะเป็นการตรวจที่ปลอดภัยที่สุด ตรวจได้ในทุกเพศทุกวัย รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ไม่เจ็บ ไม่มีการกินยาแก้ปวด ไม่ใช้ยาชาหรือยา สลบ ไม่มีการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เป็นการตรวจที่ทำได้ในทุกคนที่อยู่นิ่งๆได้ เพราะการเคลื่อนไหวจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้การแปลผลตรวจผิดพลาด และเป็นการตรวจที่ตรวจได้ซ้ำๆหลายครั้งในวันเดียวกัน

มีข้อจำกัดของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไหม?

ข้อจำกัดของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือ จะตรวจจับหรือวินิจฉัยโรคได้เฉพาะเมื่อเกิดอาการนั้นๆในขณะกำลังตรวจ เช่น ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถ้าตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการของการขาดเลือด การตรวจก็จะให้ผลปกติได้ ดังนั้น บ่อยครั้งที่แพทย์ต้องตรวจคลื่นหัวใจซ้ำหลายครั้งเพิ่มเติมหรือด้วยเทคนิคพิเศษ เช่น การตรวจฯในขณะกระตุ้นให้หัวใจทำงานในระดับต้องการออกซิเจนเพิ่มที่เรียกว่า Exercise stress test (การเดิน/วิ่งสายพาน) เป็นต้น

เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่มีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร หรืองดยา ถ้ามีคิวตรวจ ก็ตรวจได้เลย อย่างไรก็ตาม ก่อนการตรวจมีข้อปฏิบัติดังนี้

  • แจ้งแพทย์/พยาบาล/ผู้ช่วยแพทย์ว่า กินยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเต้น/การทำงานของหัวใจได้
  • ไม่ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มที่เย็นก่อนการตรวจ
  • ไม่ออกแรงมากก่อนการตรวจ

ขั้นตอนและวิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำอย่างไร?

ขั้นตอนและวิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ได้แก่

  • แพทย์ผู้ดูแลป่วย จะให้ใบนัดตรวจ
  • นำใบนัดตรวจไปยังห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจจะเป็นผู้นัดวันเวลาในการตรวจ ซึ่งถ้ามีคิวว่าง ก็อาจได้ตรวจ ณ วันเวลานั้นเลย เพราะดังกล่าวแล้วว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีการงดน้ำ งดอาหาร งดยา

ทั้งนี้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่ห้องผู้ป่วยภายนอก ไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ในโร

วิธีการตรวจ: โดย

  • ผู้รับการตรวจจะเปลี่ยนเป็นสวมเสื้อผ้าของโรงพยาบาล ถอดถุงเท้า รองเท้า เครื่องประดับ ที่อาจรบกวนการตรวจตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  • นอนหงายบนเตียงตรวจ ผ่อนคลาย หายใจตามปกติ หลับตาหรือลืมตาก็ได้
  • เจ้าหน้าที่จะนำแผ่นรับกระแสไฟฟ้าจากการเต้นของหัวใจแปะที่แขน ขา หน้าอก หลายแผ่น บางครั้งอาจต้องโกนขน ถ้าขนมากจนส่งผลให้ แปะแผ่นแปะไม่อยู่
  • ก่อนแปะแผ่นรับกระแสไฟฟ้าฯ จะทาเจลบนผิวหนัง เพื่อช่วยในการถ่ายทอดสัญญาณจากการเต้นของหัวใจผ่านจากผิวหนังสู่แผ่นแปะได้ดีขึ้น แผ่นแปะจะให้ความรู้สึกคล้ายสัมผัสแผ่นโลหะ
  • ต่อจากนั้น แผ่นแปะจะถูกต่อเข้ากับตัวเครื่องตรวจรับสัญญาณ ผู้รับการตรวจเพียงนอนนิ่งๆ ไม่เกร็ง เพราะการเกร็งกล้ามเนื้ออาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจได้
  • ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกการเต้นของหัวใจ บนจอรับรับภาพจะเห็นเป็นภาพกราฟ และพิมพ์ผลออกมาได้ทางกระดาษที่ใช้เฉพาะสำหรับบันทึกการตรวจนี้ และ
  • เมื่อเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลได้ครบถ้วน ก็จะปลดแผ่นแปะฯออก เช็ดเจลที่ทาออก
  • ต่อจากนั้นผู้รับการตรวจลงจากเตียง สวมใส่เสื้อผ้าตามปกติ และ
  • รอพบเจ้าหน้าที่เพื่อนัดการฟังผล เป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจ

ใช้เวลาตรวจนานเท่าไร?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยทั่วไปใช้เวลาตรวจประมาณ 10 - 15 นาที

มีผลข้างเคียงจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างไร?

โดยทั่วไปไม่มีผลข้างเคียงใดๆจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่บางคนอาจแพ้สารที่ใช้ป้ายผิวหนังเพื่อช่วยการยึดติดของแผ่นแปะ/แผ่นรับสัญญาณการเต้นของหัวใจ จึงทำให้เกิดผื่นแดง เจ็บ แสบ คัน ได้บ้าง แต่อาการไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะจะหายได้เองภายใน 2 - 3 วันนับจากการตรวจ

อนึ่ง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถตรวจซ้ำได้บ่อยตามดุลพินิจของแพทย์ ในวันเดียว อาจทำหลายๆครั้งก็ได้ โดยไม่มีผลข้างเคียง เพราะดังกล่าวแล้วว่าเป็นการตรวจที่ปลอดภัยที่สุด

ดูแลตนเองอย่างไรหลังตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ?

หลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่จำเป็นต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษแต่อย่างไร สามารถทำงานใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องดูแลผิวหนังที่แปะแผ่นตรวจเป็นพิเศษ อาบน้ำใช้สบู่ได้ตามปกติ คลุกคลีกับทุกคนที่รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และเด็กอ่อนได้ปกติ

ในกรณีมีผื่นดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ผลข้างเคียงฯ’ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เพราะผื่นจะมีอาการน้อยมากและหายได้เองใน 2 - 3 วัน

แปลผลและทราบผลตรวจเมื่อไร?

แพทย์จะแปลผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากภาพกราฟ โดยดู อัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะในการเต้น, รูปลักษณะของกราฟการเต้น, และความแรงของการเต้น หลังจากนั้นนำมาประกอบกับ ประวัติอาการผู้ป่วย, การตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง, และการตรวจร่างกาย, ก็สามารถให้การวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ว่า เป็นโรคหัวใจหรือไม่ ถ้าเป็น น่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดสาเหตุจากอะไร จำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือต้องพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจหรือไม่

ส่วนการจะทราบผลการตรวจเมื่อไหร่ ขึ้นกับแต่ละระบบการทำงานของแต่ละโรงพยาบาล เช่น บางโรงพยาบาลอาจมอบผลตรวจให้กับผู้ตรวจหลังจากตรวจเสร็จ บางโรงพยาบาลนัดผู้ป่วยฟังผลจากแพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนั้น ผู้รับการตรวจ/ผู้ป่วยจึงควรสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงการรับทราบผลตรวจว่าจะต้องทำอย่างไร

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Electrocardiography [2019,Sept7]
  2. https://medlineplus.gov/ency/article/003868.htm [2019,Sept7]