โทลเทโรดีน (Tolterodine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โทลเทโรดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โทลเทโรดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทลเทโรดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- โทลเทโรดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทลเทโรดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทลเทโรดีนอย่างไร?
- โทลเทโรดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทลเทโรดีนอย่างไร?
- โทลเทโรดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กระเพาะอาหารบีบตัวช้า: อัมพาตกระเพาะ (Gastroparesis)
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- กระเพาะปัสสาวะไวเกิน (Overactive bladder)
- การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี (Urinary incontinence in women)
- ปัสสาวะไม่ออก (Urinary retention)
- โรคลมแดด โรคจากความร้อน (Heatstroke/Heat illness)
บทนำ: คือยาอะไร?
โทลเทโรดีน (Tolterodine) คือ ยารักษาอาการกระเพาะปัสสาวะไวเกิน ที่รวมถึงอาการปัสสาวะบ่อย และอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่, จัดเป็นยาในกลุ่ม แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic), ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า 'มัสคารินิก รีเซพเตอร์ (Muscarinic receptor)’ ของกระเพาะปัสสาวะ, และมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน
หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาโทลเทโรดีนจะเข้าสู่กระแสเลือด, ส่วนมากในกระแสเลือดตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน, ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงในการขับยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
มีข้อจำกัดในผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาโทลเทโรดีนได้ หรือต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น
- ผู้มีภาวะระบบเดินปัสสาวะตีบตัน, ผู้มีภาวะท้องอืดจากการคั่งค้างของอาหารในกระเพาะอาหารมาก, ผู้ป่วยโรคต้อหินที่ยังไม่ได้รับการรักษา, ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, ด้วยการใช้ยานี้อาจทำให้อาการป่วยดังกล่าวรุนแรงได้มากขึ้น, รวมถึงผู้ที่ แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
- ผู้ที่ต้องขับขี่ยวดยานพาหนะทั้งวัน, ผู้ที่ต้องทำงานควบคุมเครื่องจักร, ต่างต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย, เนื่องจากยาโทลเทโรดีนสามารถก่อให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงนอน
- สตรีตั้งครรภ์สามารถได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้ ด้วยยานี้อาจทำให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวลดลง และอาจเกิดภาวะเลือดออกในช่องท้องทารกได้(ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการใช้ยากับสัตว์ทดลอง)
- สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จากผลในห้องทดลองพบว่า ยานี้สามารถซึมผ่านน้ำนม และเข้าสู่ตัวอ่อนได้, ถึงแม้จะไม่มีข้อสรุปการใช้ยานี้กับมนุษย์ก็จริง แต่สตรีกลุ่มนี้ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรดังกล่าว
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)เป็นกลุ่มที่ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยานี้, จึงถือเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็ก
ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาโทลเทโรดีน อาจพบอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างที่ทำให้ต้องหยุดการใช้ยานี้ เช่น เกิดภาวะประสาทหลอน, แต่อาการข้างเคียงบางอย่างก็ไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับความทรมาน และยังสามารถใช้ยาต่อไปได้ เช่น ปากคอแห้ง ท้องผูก ท้องอืด เป็นต้น, *ซึ่งหากพบเห็นผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพียงสถานเดียวทันที/ฉุกเฉิน
ยาโทลเทโรดีน จัดเป็นกลุ่มยาอันตราย การใช้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น, ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลและตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป
โทลเทโรดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโทลเทโรดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี
- บำบัดอาการปัสสาวะบ่อย
โทลเทโรดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ทั้งจากตัวยาโทลเทโรดีน และจากสารเมตาโบไลท์ (Metabolite, สารที่ผ่านกระบวนการทางเคมี) ของยาโทลเทโรดีน ซึ่งได้จากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดจากตับ, และมีชื่อเรียกว่า ‘5-hydroxymethyltolterodine’ จะออกฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ลดแรงดันภายในกระเพาะปัสสาวะ และก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
โทลเทโรดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ตัวยาสำคัญของยาโทลเทโรดีน จะอยู่ในรูปสารประกอบที่เรียกว่าโทลเทโรดีน ทาร์เทรต (Tolterodine tartrate) และมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาแคปซูลชนิดออกฤทธิ์นาน ขนาด 2 และ 4 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด
โทลเทโรดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโทลเทโรดีนมีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 2 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง, หรือรับประทานยาชนิดแคปซูลที่ออกฤทธิ์นานขนาด 4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง, สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ
*อนึ่ง
- แพทย์อาจใช้ขนาดรับประทานลดลงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย
- ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต, แพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานลง เช่น ยาเม็ดให้รับประทานครั้งละ 1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง, หรือยาแคปซูลให้เหลือ 2 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโทลเทโรดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทลเทโรดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโทลเทโรดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ต้องรับประทานยานี้ตรงเวลาทุกครั้ง
โทลเทโรดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทลเทโรดีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ กรดไหลย้อน
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น มีอาการตาพร่า เยื่อบุตาอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น หลงลืม รู้สึกสับสน ปวดหัว วิงเวียน อ่อนแรง ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ ประสาทหลอน ชัก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะไม่ออก/ ปัสสาวะขัด ระบบเดินปัสสาวะอักเสบ
- ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น ส่งผลให้ตับทำงานผิดเป็นปกติ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ทำให้ผิวหนังมีสีแดง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไอ เยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อจิตใจ: เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า
มีข้อควรระวังการใช้โทลเทโรดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทลเทโรดีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ที่มีระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน (เช่น นิ่วในไต), ผู้ที่มีภาวะต้อหิน, ผู้ที่มีการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้น้อยผิดปกติ (กระเพาะอาหารบีบตัวช้า)
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
- หากพบอาการ วิงเวียน ง่วงนอนหลังรับประทานยานี้ ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร
- *หากมีอาการข้างเคียงจากยานี้ที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ประสาทหลอน ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- *หากพบอาการจากรับประทานยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน โดยสังเกตได้จากอาการ อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด รูม่านตาขยาย ปากคอแห้ง มีอาการตื่นตระหนก/ตื่นเต้น หัวใจเต้นเร็ว เกิดประสาทหลอน และ/หรือเกิดอาการชัก
- รับประทานยานี้ตรงเวลา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทลเทโรดีน) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โทลเทโรดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทลเทโรดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- ห้ามรับประทานยาโทลเทโรดีน ร่วมกับยาโพแทสเซียม (Potassium) ชนิดรับประทาน เช่น Potassium chloride ด้วยจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารจนอาจเกิด แผลในกระเพาะอาหาร และ/หรือ เลือดออกในทางเดินอาหารติดตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโทลเทโรดีน ร่วมกับยา Zonisamide การใช้ยาร่วมกันจะทำให้ร่างกายลดการหลั่งเหงื่อ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น จนอาจเกิดโรคลมแดด
- การใช้ยาโทลเทโรดีน ร่วมกับยา Brompheniramine, Diphenhydramine, อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากคอแห้ง ใบหน้าแดง ลดการหลั่งเหงื่อ ทนสภาพอากาศร้อนได้ไม่ดีเท่าเดิม เป็นตะคริวที่หน้าท้อง หัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกสับสน, หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโทลเทโรดีน ร่วมกับยา Clarithromycin อาจทำให้ระดับยาโทลเทโรดีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโทลเทโรดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาโทลเทโรดีน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โทลเทโรดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทลเทโรดีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Detrusitol SR (ดีทรูซิทอล เอสอาร์) | Pfizer |
Detrol (เดทรอล) | pfizer |
Terocys-4 (เทโรซิส-4) | Pharmathen |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tolterodine [2022,Nov5]
- https://www.drugs.com/mtm/tolterodine.html [2022,Nov5]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Terocys-4/?type=BRIEF [2022,Nov5]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/tolterodine?mtype=generic [2022,Nov5]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Detrusitol%20SR/?type=full#Indications [2022,Nov5]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB01036 [2022,Nov5]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/tolterodine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Nov5]