แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กลุ่มยาแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs) อาจเรียกเป็นชื่ออื่นอีกเช่น Anticholinergic agent หรือ Muscarinic blockers หรือ Atropine like drugs หรือ Muscarinic antagonists หรือ Muscarinic receptor blocker, Anticholenergics ก็ได้ จัดเป็นกลุ่มยาที่ทำตัวเหมือนสารสื่อประสาทที่อยู่ในร่างกายของคนเรา จะออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปจับกับส่วนของเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมองและตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะเหล่านั้นเปลี่ยนไป นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามสืบค้นทดลองจนทราบกลไกของสารสื่อประสาทและนำมาประยุกต์ในการรักษาโรคของผู้ป่วย โดยจัดเป็นยาในกลุ่มยาแผนปัจจุบัน

ทางการแพทย์ได้นำยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมาใช้บำบัดรักษาอาการโรคหลายประเภทอาทิ โรคพาร์กินสัน โรคทางเดินอาหารเช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ คลื่นไส้อาเจียน ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยกลไกสารออกฤทธิ์ที่ครอบคลุมหลายอวัยวะ จึงเกิดคุณประโยชน์ทางคลินิกอื่นๆ อีกเช่น นำไปใช้รักษาพยาธิสภาพของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เช่น ท่อปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ รักษาอาการโรคระบบทางเดินหายใจเช่น โรคหืด รักษาภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Sinus bradycardia) บรรเทาอาการนอนไม่หลับ รวมถึงช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน และอาการเมารถเมาเรือ เป็นต้น

รูปแบบการบริหารยา/การใช้ยาแอนตี้มัสคารินิกกับผู้ป่วย มีทั้งเป็นยารับประทาน ยาฉีด ยาเหน็บทวาร ยาทาเฉพาะที่ ตัวอย่างของยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิกที่พบเห็นมีการใช้ได้บ่อยและกว้างขวางดังนี้คือ Atropine, Hydroxyzine, Benztropine, Biperiden, Chlorpheniramine, Dimen hydrinate, Doxylamine, Diphenhydramine, Glycopyrrolate, Ipratropium, Orphenadrine, Oxitropium, Oxybutynin, Tolterodine, Tiotropium, Trihexyphenidyl, Scopolamine, Solife nacin, และ Tropicamide

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอนตี้มัสคารินิก

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาและบรรเทาอาการได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงเช่น Atropine
  • รักษาอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติเช่น Atropine
  • ช่วยสงบประสาทก่อนหรือหลังผ่าตัดเช่น Hydroxyzine
  • รักษาอาการโรคพาร์กินสันเช่น Benztropine, Biperiden
  • รักษาอาการลำไส้แปรปรวนเช่น Dicyclomine
  • ช่วยให้นอนหลับเช่น Doxylamine
  • ใช้เตรียมตัวผู้ป่วยก่อนวางยาสลบเช่น Glycopyrrolate
  • รักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเช่น Ipratropium
  • รักษาอาการปัสสาวะรดที่นอนเช่น Oxybutynin
  • บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัดเช่น Scopolamine
  • ใช้ขยายรูม่านตาเช่น Atropine

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกคือ ตัวยาจะกดการทำงานที่ประสาทส่วนกลางหรือสมอง พร้อมกับปิดกั้นสารสื่อประสาทไม่ให้ไปสู่ปมประสาท รวมถึงการเข้าจับกับส่วนในเซลล์ประสาทของตัวยาแต่ละตัว จึงแสดงฤทธิ์ของการรักษาออกมาในที่สุด

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเดี่ยวชนิดเม็ด
  • ยาเม็ดโดยผสมร่วมกับกลุ่มยาอื่นๆ
  • ยาน้ำเชื่อม
  • ยาพ่นชนิดสารละลาย
  • ยาฉีด

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีหลากหลายตำรับยาและใช้รักษาโรคได้หลากหลายโรคของหลากหลายอวัยวะ จึงมีขนาดการใช้ยาแตกต่างกันไปตามแต่ตัวยา อาการ และอวัยวะ แต่ในภาพรวมคือต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานเอง เพราะยาในกลุ่มนี้อาจก่อผลข้างเคียงจนเกิดอันตรายได้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอนตี้มัสคารินิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัช กรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาแอนตี้มัสคารินิกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแอนตี้มัสคารินิกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น สูญเสียการทรงตัว ปากคอแห้ง ฟันผุ ตัวร้อนหรืออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น (มีไข้) ผื่นคัน ท้องผูก ม่านตาขยาย แพ้แสงแดด การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะขัด สับสน เหงื่อออกน้อย แรงดันในลูกตาเพิ่ม การหายใจติดขัด ชีพจรเต้นผิดจังหวะ หลงลืม มีภาวะประสาทหลอน

ผลข้างเคียงที่อันตรายและสามารถเกิดขึ้นได้เช่น มีอาการลมชัก ตลอดจนมีภาวะโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงดังกล่าว การช่วยเหลือและบำบัดอาการดังกล่าว คือการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกได้แก่ ยา Physostigmine เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน (Narrow angle glaucoma), ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร, ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะขัด หรือมีท่อในระบบทางเดินปัสสาวะตีบ (เช่น ท่อปัสสาวะตีบ), ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ผู้ที่มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยภาวะต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ และผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือในเด็ก จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ใช้ยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การใช้ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกร่วมกับยากลุ่มอื่นๆเช่น TCAs, MAOIs, และ Antihistamine สามารถทำให้ผลข้างเคียงของแอนตี้มัสคารินิกมีมากขึ้นกว่าเดิม จนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกร่วมกับยาอมใต้ลิ้นเช่น Nitroglycerin อาจทำให้การดูดซึมของยาอมใต้ลิ้นด้อยประสิทธิภาพลง ด้วยแอนตี้มัสคารินิกจะทำให้ปากแห้งจึงไปปิดกั้นการดูดซึมของยาอมใต้ลิ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย คล้ายอาการสงบประสาท จึงไม่ควรใช้ยาร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ควรเก็บรักษายากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกอย่างไร?

สามารถเก็บยาแอนตี้มัสคารินิกที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอนตี้มัสคารินิกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
A.N.H. Mat (เอ.เอ็น.เฮท. แมท)A N H Products
Alumag (อะลูแม็ก)T.C. Pharma-Chem
Alupep (อะลูเปป)Sriprasit Pharma
Atropine Sulfate A.N.H. (อะโทรปีน ซัลเฟต เอ.เอ็น.เฮท.)A N H Products
Atropine Sulfate GPO (อะโทรปีน ซัลเฟต จีพีโอ)GPO
Atropine Sulphate ANB (อะโทรปีน ซัลเฟต เอเอ็นบี)ANB
Atropine Sulphate Atlantic (อะโทรปีน ซัลเฟต แอตแลนติก)Atlantic Lab
Hadarax (ฮาดาแร็กซ์)Greater Pharma
Histan (ฮีสทาน)Siam Bheasach
Hizin (ฮิซิน)Ranbaxy
Hydroxyzine GPO (ไฮดร็อกซีซีน จีพีโอ)GPO
Taraxin (ทาราซิน)T. O. Chemicals
Cogentin (โคเจนติน)MSD
Berclomine (เบอร์โคลมีน)Polipharm
Kremil (เครมิล)Great Eastern
Mainnox (เมนน็อกซ์)Charoen Bhaesaj Lab
Hoggar N (ฮ็อกการ์ เอ็น)Stada
Sominar (โซมินาร์)Charoen Bhaesaj Lab
Glyco-P (กลายโค-พี)Klab
Combivent UDV (คอมบิเวนท์ ยูดีวี)Boehringer Ingelheim
Inhalex Forte (อินแฮเล็กซ์ ฟอร์ท)Silom Medical
Iperol/Iperol Forte (ไอเพอรอล/ไอเพอรอล ฟอร์ท) L. B. S.
Iprateral (อิพราเทอรอล)Pharma Innova
Punol (พูนอล)Biolab
Diutropan (ไดยูโทรแพน)NuPharma & HealthCare
Lyrinel (ไลริเนล)Janssen-Cilag
Cencopan (เซ็นโคแพน)Pharmasant Lab
Hybutyl (ไฮบูติล)Pharmaland
Hyoscin BM (ไฮออสซิน บีเอ็ม)Patar Lab
Hyoscine-N-butylbromide GPO (ไฮออสซิน-เอ็น-บูติลโบรมายด์ จีพีโอ)GPO
Hyosman (ไฮออสแมน)T. Man Pharma
Hyosmed (ไฮออสเมด)Medifive
Hyospan (ไฮออสแพน)Polipharm
Hyostan (ไฮออสแทน)Pharmaland

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Muscarinic_antagonist[2017,Aug5]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Anticholinergic[2017,Aug5]
  3. http://quizlet.com/7091463/antimuscarinic-drugs-muscarinic-agonists-atropine-and-atropine-like-agents-lecture-6-flash-cards/[2017,Aug5]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Scopolamine#Medical_use[2017,Aug5]
  5. http://www.mims.com/USA/drug/info/Oxybutynin%20Chloride%20Tablet/?type=full[2017,Aug5]
  6. http://www.mims.com/USA/drug/info/ipratropium%20bromide/[2017,Aug5]
  7. http://www.mims.com/USA/drug/info/Benztropine%20Mesylate/Benztropine%20Mesylate%20Tablet?type=full[2017,Aug5]
  8. http://www.mims.com/USA/drug/info/hydroxyzine/?type=full&mtype=generic[2017,Aug5]
  9. https://www.mims.com/usa/drug/info/atropine/[2017,Aug5]
  10. http://www.out-of-hospital.com/e_medic/topic%20resources/pharmacology/muscarinic%20blockers.pdf[2017,Aug5]
  11. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Glyco-P/?type=brief[2017,Aug5]
Updated 2017,August 5