โดริเพเนม (Doripenem)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โดริเพเนม (Doripenem) คือ ยาปฏิชีวนะประเภทเบต้า-แลคแตม (Beta lactam) ที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้กว้างขวางมาก และอยู่ในกลุ่มย่อยของยา Carbapenems ประโยชน์ทางคลินิกที่พบเห็นได้บ่อยเช่น รักษาการติดเชื้อของช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) รักษาอาการปอดบวม การติดเชื้อของช่องทางเดินปัสสาวะ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) การติดเชื้อที่ไต รวมถึงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)

ยาโดริเพเนมมีกลไกยับยั้งการเจริญเติบโตของผนังเซลล์ในตัวแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียไม่เจริญเติบโตและตายลงในที่สุด ยานี้สามารถทำลายแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบได้รวมถึงชนิด Pseudomonas aeruginosa ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่สามารถกำ จัดแบคทีเรียบางกลุ่มเช่น Methicillin-resistant staphylococcus aureus

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโดริเพเนมจะมีเฉพาะยาฉีดเท่านั้น โดยสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดก็ได้ ตัวยาในกระแสเลือดสามารถกระจายตัวผ่านไปตามเนื้อเยื่อและของเหลวในส่วนต่างๆของร่างกายได้อย่างดี ยาโดริเพเนมสามารถจับตัวกับพลาสมาโปรตีนได้น้อยกว่า 10% จากปริมาณยาทั้งหมด ร่างกายต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมงโดยประมาณเพื่อกำจัดยานี้จำนวนครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ยานี้จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสตรีตั้งครรภ์หากใช้ในขนาดที่ถูกต้อง

สำหรับข้อจำกัดบางประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถจ่ายยาโดริเพเนมให้กับผู้ป่วยได้ เช่น

  • ผู้ป่วยเคยแพ้ยาในกลุ่ม Carbapenem มาก่อน
  • ขณะนั้นผู้ป่วยมีการใช้ยา Probenecid ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของอาการข้างเคียง(ผลข้าง เคียง) จากยาโดริเพเนมเป็นอย่างมากหากใช้ร่วมกัน
  • นอกจากนี้อาจต้องระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน(Penicillin) อีกด้วย เพราะบางส่วนในโครงสร้างโมเลกุลของยาทั้งสองมีลักษณะที่คล้ายกัน หรือในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชักก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาโดริเพเนม

ทั้งนี้มีข้อสังเกตและข้อมูลบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบในคุณสมบัติของยาโดริเพเนมเพื่อสร้างความเข้าใจทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาได้เป็นอย่างดี เช่น

  • ยานี้ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียไม่ได้รักษาโรคติดเชื้อไวรัส
  • ผู้ป่วยบางรายจะพบอาการท้องเสียได้บ้างหลังจากได้รับยาโดริเพเนม
  • ผู้สูงอายุจะเกิดอาการแพ้ยาโดริเพเนมได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ
  • ขนาดการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินไปอาจทำให้มีการติดเชื้อโรคชนิดอื่นแอบแฝงเข้ามา เช่น โรคเชื้อรา เป็นต้น

อนึ่งสำหรับอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาโดริเพเนม เช่น ปวดหัว ท้องเสียระดับ ไม่รุนแรง และมีอาการคลื่นไส้ หรืออาจไม่พบอาการข้างเคียงใดเลยก็ได้

เราสามารถพบเห็นการใช้ยาโดริเพเนมได้ตามสถานพยาบาลด้วยเป็นลักษณะยาฉีดที่ต้องจ่ายให้ผู้ป่วยตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

โดริเพเนมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โดริเพเนม

ยาโดริเพเนมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • รักษาการติดเชื้อในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
  • รักษาการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม
  • รักษากรวยไตอักเสบ
  • รักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)    

โดริเพเนมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโดริเพเนมคือ ตัวยาสามารถหยุดการกระจายพันธุ์ของแบคทีเรีย โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย จากการก่อกวนนี้ทำให้แบคทีเรียหยุด ชะงักการเจริญเติบโตไม่สามารถแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

โดริเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโดริเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/ขวด

โดริเพเนมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโดริเพเนมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาขึ้นกับแต่ละอาการโรค ดังนั้นขนาดยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาในกรณีดังต่อไปนี้ เช่น

 ก. สำหรับการติดเชื้อในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 500 มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำทุกๆ 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 - 14 วัน

 ข. สำหรับรักษากรวยไตอักเสบและโรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 500 มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน

 *อนึ่ง: เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีขนาดการใช้ยานี้ที่ขัดเจนสำหรับเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร   ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดริเพเนม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดริเพเนมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โดริเพเนมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดริเพเนมสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • ท้องเสีย
  • ปวด-ตึงในบริเวณขาและเท้า
  • ผิวสีซีด
  • หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • เกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • อ่อนเพลีย
  • ทั้งนี้ยังมีอาการข้างเคียงที่เกิดได้ แต่พบไม่บ่อยนัก เช่น
    • ปวดท้อง
    • กระหายน้ำ
    • ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
    • ปัสสาวะน้อยลง
    • มีไข้
    • ความดันโลหิตสูง
    • คันช่องคลอด
    • เจ็บปาก
    • ใบหน้าบวม
    • น้ำหนักตัวเพิ่ม

มีข้อควรระวังการใช้โดริเพเนมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดริเพเนม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่ม Carbapenem
  • การใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการเกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ (Pseudomembranous colitis)
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดริเพเนมด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โดริเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดริเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น  

  • การใช้ยาโดริเพเนม ร่วมกับยาต้านชัก เช่นยา Valproic acid จะทำให้ระดับความเข้มข้น ของยา Valproic acid ในกระแสเลือดลดต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาโดริเพเนม ร่วมกับยา Probenecid จะทำให้ระดับความเข้มข้นของยาโดริเพเนมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโดริเพเนม ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่นยา Ethinyl estradiol อาจทำให้ฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดลดต่ำลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยชาย

ควรเก็บรักษาโดริเพเนมอย่างไร?

ควรเก็บยาโดริเพเนม:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โดริเพเนมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดริเพเนม  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Doribax (ดอริแบค) Takeda
Finibax (ไฟนิแบค) Shionogi & Co., Ltd

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/doripenem.html    [2022,Jan22]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Doripenem  [2022,Jan22]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2730083/  [2022,Jan22]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Doribax/?type=brief   [2022,Jan22]
  5. https://www.drugs.com/mtm/doripenem.html  [2022,Jan22]