แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosidase inhibitor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosidase inhibitor) คือ หมวดยาสังเคราะห์ที่ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยจะใช้กลไกป้องกันมิให้ร่างกายย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลาย เป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก (น้ำตาลชนิดสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน) ในธรรมชาติต้นพืชหลายชนิดก็มีสารประเภทแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์อยู่ด้วยเช่น ในเห็ดไมตาเกะ (Maitake mushroom) ซึ่งนักวิจัยค้นพบว่าการบริโภคเห็ดชนิดนี้สามารถลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดลงได้

ทางคลินิก อาจจำแนกแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ออกเป็นรายการย่อยได้ดังนี้

  • Acarbose: เป็นยาเบาหวานที่มีใช้ในแถบยุโรปและจีน บางประเทศใช้ Acarbose เพื่อป้องกันโรคเบาหวานด้วยซ้ำไป มีลักษณะเป็นยารับประทาน ผลข้างเคียงที่โดดเด่นคือ เกิดอาการท้องอืด ท้องเสีย
  • Miglitol: มีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับ Acarbose จะต่างกันตรงที่ Acarbose จะป้องกันการเปลี่ยนคารโบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลชนิดโอลิโกแซคคาไรด์ (Oligosaccharide) ขณะที่ Miglitol จะป้องกันการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตไปเป็นโมโนแซคคาไรด์ (Monosaccharide)
  • Voglibose: จัดเป็นยาตัวล่าสุดในกลุ่มนี้ มีผลข้างเคียงน้อยกว่า Acarbose และ Miglitol

อนึ่ง สมาชิกบางตัวของยากลุ่มนี้ได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติไทย โดยมีวัตถุประ สงค์ให้ใช้กับผู้ป่วยเบาหวานบางรายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังรับประทานอาหาร เช่นยา Acarbose และจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ซึ่งมีเงื่อนไขของการใช้ยาในผู้ป่วยได้แตกต่างกันออกไป การเลือกใช้ยาในกลุ่มแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมนั้นจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แอลฟากลูโคซิเดสอินฮิบิเตอร์-01

ยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2

แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะรบกวนการทำงานของเอนไซม์ในลำไส้เล็ก เช่น แอลฟา-แอลกลูโคซิเดส (Alfa alglucocidase) ไม่ให้เปลี่ยนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก ทำให้ปริมาณน้ำตาลในลำไส้ถูกดูดซึมได้น้อยและช้าลง เกิดผลต่อเนื่องกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณในการรักษา

แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน

แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. Acarbose: ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

ข. Miglitol: ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นที่ 25 มิลลิกรัม รับประทานได้สูงถึง 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหารคำแรก

ค. Voglibose: ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 0.2 มิลลิกรัมวันละ 1 - 3 ครั้งก่อนอาหาร

*อนึ่ง:

  • ขนาดและระยะเวลาใช้ยานี้ขึ้นกับคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : ยังไม่มีการศึกษาข้อมูลแน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการท้องอืด
  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • อาหารไม่ย่อย
  • เบื่ออาหาร
  • ตรวจเลือดจะพบค่าเอนไซม์การทำงานตับเพิ่มสูงขึ้น
  • มีภาวะดีซ่าน
  • ตับอักเสบ
  • ผื่นคันตามผิวหนัง
  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ท้องบวมน้ำ
  • ตาพร่า
  • ร้อนวูบวาบ
  • อ่อนเพลีย
  • ตรวจเลือดพบระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง, ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL, High-density lipoprotein) ลดลง
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน

มีข้อควรระวังการใช้แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลำไส้เรื้อรัง เช่น มีภาวะลำไส้อุดตัน, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เพิ่งได้รับการฉีดยาอินซูลิน
  • ห้ามใช้ยา Miglitol กับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้จนเกิดภาวะ เลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis) หรือผู้ป่วยเบาหวานในภาวะโคม่า
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ตับทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้ใน สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยา แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Acarbose ร่วมกับยา Digoxin อาจมีผลต่อการกระจายตัวรวมถึงระดับยา Digoxin ในกระแสเลือดจนส่งผลกระทบต่อการรักษาของยา Digoxin หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Miglitol ร่วมกับยา Ranitidine และ Propranolol จะทำให้การดูดซึมของ Ranitidine และ Propranolol ลดต่ำลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Voglibose ร่วมกับยากลุ่ม Beta-blockers, ยาSalicylic acid, ยากลุ่ม MAOIs, อนุพันธุ์ของกลุ่มไฟเบรต (Fibrate), และ Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Glucobay (กลูโคเบย์) Bayer HealthCare Pharma
Glyset (กลีเซ็ต) Pharmacia and Upjohn Company
Volibo (โวลิโบ) Sun Pharma

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-glucosidase_inhibitor [2022,July23]
  2. http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503114616.pdf [2022,July23]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Glucobay/?type=full [2022,July23]
  4. https://www.practo.com/medicine-info/volibo-03-mg-tablet-30490 [2022,July23]
  5. https://www.mims.com/Myanmar/drug/info/Volibo/?type=full#Dosage [2022,July23]