เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อวยพร ปะนะมณฑา
- 1 ธันวาคม 2562
- Tweet
สารบัญ
- เบาหวานคืออะไร
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?
- เบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- อาการของเบาหวานมีอะไรบ้าง?
- จะสังเกตได้อย่างไรว่าบุตรหลานเป็นเบาหวาน?
- เมื่อไหร่ควรนำเด็กมาพบแพทย์?
- การวินิจฉัยเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่แน่นอนควรทำอย่างไร?
- การรักษาเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่ถูกต้องควรทำอย่างไร?
- ยาที่ใช้รักษาเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีอะไรบ้าง?
- เมื่อเป็นเบาหวานแล้วมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง? ป้องกันได้อย่างไร?
- เด็กที่ปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อนแล้วไม่ต้องฉีดฮอร์โมนอินซูลินใช่หรือไม่?
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นรุนแรงหรือไม่?
- ดูแลเด็กและวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานอย่างไร?
- การป้องกันเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นทำอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันเบาหวาน
- กายวิภาคสรีรวิทยาต่อมไร้ท่อ
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- เด็ก หรือ นิยามคำว่าเด็ก (Child)
เบาหวานคืออะไร
เบาหวาน หรือ โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus หรือเรียกตัวย่อว่า ดีเอม, DM) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ การที่ร่าง กายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ความเข้มข้นของเลือดสูงตามไปด้วย จนเกินความสามารถของไตที่จะเก็บน้ำตาลไว้ได้ ทำให้มีปัสสาวะแต่ละครั้งมีปริมาณน้ำปัสสาวะมาก และมีน้ำตาลมาก (คนปกติจะไม่มีน้ำตาลในปัสสาวะ) คนไทยจึงเรียกชื่อโรคว่า เบาหวาน
เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?
เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Childhood and adolescent diabetes millitus) มี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
1. เบาหวานชนิดที่ 1 หรือ Juvenile diabetes mellitus หรือ Insulin-dependent diabetes พบในวัยเด็กทุกอายุ แต่พบบ่อยในวัยรุ่น
2. เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดเดียวกันกับเบาหวานในผู้ใหญ่ พบในเด็กอ้วน ส่วนใหญ่เป็นเด็กโต ทำให้เกิดการดื้อต่อยาอินซูลิน (ฮอร์โมน ซึ่งสร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) จึงเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากโรค ได้เร็วและบ่อยกว่าชนิดที่ 1
เบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร?
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการขาดอินซูลิน ซึ่งสาเหตุเกิดจากอะไรยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมผิดปกติ และ/หรือ เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต้านทานในร่างกายผิดปกติ โดยอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การขาดอินซูลินอาจตามหลังการติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และอื่นๆ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้าน ทานของร่างกายต่อเซลล์ตับอ่อน
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากมีการดื้อต่ออินซูลิน จึงส่งผลให้มีอิน ซูลินแต่ไม่เพียงพอ ซึ่งสาเหตุยังไม่ชัดเจนเช่นกัน แต่ปัจจัยเสี่ยง คือ อายุที่มากขึ้น โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และขาดการออกกำลังกาย และอาจมีพันธุกรรมที่ผิดปกตินำมาก่อนได้
อาการของเบาหวานมีอะไรบ้าง?
อาการของโรคเบาหวาน ที่พบได้บ่อยในเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่ ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะมาก และบ่อย กินจุ แต่ผอมลง น้ำหนักลด อ่อน เพลีย เด็กเล็กบางคนที่เคยหยุดปัสสาวะรดที่นอนแล้ว อาจกลับมาเป็นใหม่ได้ เด็กหญิงวัยรุ่นบางคนจะมีอาการคันช่องคลอดที่เกิดจากเชื้อราได้ บางคนที่ได้รับการรักษาช้า จะมีอาการของภาวะแทรกซ้อนจากการที่เลือดเป็นกรด เช่น มีคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ซึมลง ร่วมกับมีอาการหอบ หายใจลึกเร็ว ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที จะช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้
ส่วนเด็กอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มักไม่มีอาการของโรคเบา หวานชัดเจน แต่มักพบภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว (เมื่อโตขึ้น หรือเป็นผู้ ใหญ่) ของหลอดเลือด ทั้งหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น ดวงตา และไต และหลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น ของหัวใจ
จะสังเกตได้อย่างไรว่าบุตรหลานเป็นเบาหวาน?
จะสังเกตได้ว่า บุตรหลานอาจเป็นเบาหวาน จากอาการดังกล่าว โดยเด็กปกติทั่วๆไป จะมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ แต่เด็กที่น้ำหนักไม่ขึ้น หรือลด ลง ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เด็กอ้วนทุกคนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน (ตรวจน้ำตาลในเลือด และ/หรือ ตรวจปัสสาวะ เป็นระยะๆ ตามคำแนะนำของแพทย์) โดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
เมื่อไหร่ควรนำเด็กมาพบแพทย์?
ผู้ปกครองที่สงสัยว่าบุตรหลานจะเป็นเบาหวาน ถ้าพบอาการดัง กล่าวข้างต้น รวมถึงเด็กอ้วนที่มีอายุมากกว่า 10 ปีทุกคน ควรได้รับการตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลกลูโคสขณะอดอาหาร ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัย
การวินิจฉัยเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่แน่นอนควรทำอย่างไร?
การวินิจฉัยโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่แน่นอน คือ ควรเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลกลูโคสขณะอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า ถ้ามากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (มก./ดล.) ร่วมกับมีอาการ ถือว่าเป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลถ้าไม่ได้อดอาหาร แต่มาก กว่า 200 มก./ดล. ก็วินิจฉัยโรคเบาหวานได้ การตรวจปัสสาวะก็อาจจะช่วยคัดกรองได้ แต่ยังไม่ใช่การวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องตรวจเลือดยืนยันการวินิจฉัยเสมอ ทั้งนี้เพราะเด็กที่รับประทานน้ำตาลจำนวนมาก จนเกินความ สามารถของไตที่จะเก็บน้ำตาลไว้ อาจจะตรวจพบมีน้ำตาลในปัสสาวะชั่ว คราวหลังกินอาหารนั้นๆได้โดยยังไม่ได้เป็นเบาหวาน
การตรวจคัดกรองในเด็กอ้วน โดยการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดขณะอดอาหารก็ใช้เกณฑ์เดียวกัน ในกรณีที่ระดับน้ำตาลกลูโคสอยู่ระหว่าง 100-125 มก./ดล. อาจจะต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลที่ 60 และ 120 นาที หลังให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส (Oral glucose tolerance test หรือ เรียกย่อว่า OGTT)
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจอื่นๆ เช่น วัดระดับ ซีเพพไทด์ (C-peptide) ช่วยบอกความสามารถของตับอ่อนในการสร้างอินซูลิน ระดับฮีโมโกลบินเอวันซี ( Hemoglobin A1c หรือเรียกย่อว่า HbA1c) ช่วยบอกค่าน้ำตาลในเลือดระยะยาวย้อนหลัง 3 เดือน การตรวจยีน (บางคนเรียกว่า จีน หรือ Gene) ที่เรียกว่า เอชแอลเอ (HLA) บางชนิด และ/หรือตรวจสารภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเซลล์ตับอ่อน ซึ่งพบได้ในเบาหวานชนิดที่ 1
ซึ่งการจะเลือกตรวจด้วยวิธีใด ขึ้นอยู่กับอาการของเด็ก และดุลพินิจของแพทย์
การรักษาเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่ถูกต้องควรทำอย่างไร?
หลักการดูแลรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แพทย์ที่ดูแลจะให้คำแนะ นำกับผู้ปกครอง และ/หรือ ตัวผู้ป่วยเอง เมื่ออยู่ในวัยที่รับรู้ได้ ดังนี้
1. แนะนำให้รู้จักโรคเบาหาน
2. การฉีดยาอินซูลิน
3. วิธีตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและการแปลผล ด้วยตนเอง
4. วิธีคำนวณและจัดอาหารให้เหมาะสมกับขนาดของอินซูลินและกิจวัตรประจำวันรวมถึงการออกกำลังกาย
5. การปฏิบัติตนขณะเจ็บป่วย
6. การป้องกันภาวะแทรกซ้อน
ยาที่ใช้รักษาเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีอะไรบ้าง?
เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการขาดอินซูลิน จึงต้องรักษาด้วยการฉีดยาอินซูลินใต้ผิวหนัง อาจจะฉีดวันละ 2-4 ครั้ง ขึ้นกับชนิดของยาอินซูลินที่ใช้ ซึ่งมีการออกฤทธิ์ต่างกันทั้งออกฤทธิ์สั้น ออกฤทธิ์ปานกลาง และออกฤทธิ์ยาว ควบคู่ไปกับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถปรับขนาดของยาอินซูลินได้อย่างเหมาะสม
เด็กอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในระยะแรก ถ้ามีอาการรุนแรง ควรควบคุมระดับน้ำตาลโดยการฉีดยาอินซูลิน เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลได้แล้ว อาจใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาลรับประทานควบคู่ไปกับการควบคุมปริมาณและชนิดของอาหาร และการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2
เมื่อเป็นเบาหวานแล้วมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง? ป้องกันได้อย่างไร?
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น แบ่งเป็น
1. ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้น หรือระยะเฉียบพลัน ได้แก่
- ภาวะเลือดเป็นกรดดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการของเบา หวาน ซึ่งเกิดจากเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา หรือเคยรักษาแล้วแต่ขาดยา หรือมีการเจ็บป่วย การติดเชื้อ เป็นตัว กระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และมีภาวะเลือดเป็นกรด
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จากปริมาณอาหาร และยาอินซูลินที่ได้รับไม่เหมาะสม
2. ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ซึ่งเกิดกับหลอดเลือดต่างๆ ดังนี้
- หลอดเลือดขนาดเล็กที่ ตา ไต และปลายประสาท ทำให้ตาบอด และไตวาย อาการที่เกิดขึ้นกับปลายประสาท ได้ แก่ อาการชา ปวดแสบปวดร้อนบริเวณเท้า แผลเรื้อรัง เท้าขาดเลือดไปเลี้ยงซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางคนต้องถูกตัดขา เป็นต้น
- หลอดเลือดขนาดใหญ่ และหัวใจ หลอดเลือดแข็งตัว ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง ทำให้เสีย ชีวิตแบบเฉียบพลันได้
อนึ่ง การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่สำคัญที่สุด คือ การควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสม่ำเสมอ โดยทั่ว ไปขณะอดอาหารให้อยู่ระหว่าง 80-130 มก./ดล. ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ควรพบแพทย์สม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือตามแพทย์นัด เพื่อประเมินการควบคุมเบาหวาน การเจริญเติบโตของเด็ก วัดความดันโลหิต วัดระดับไขมันในเลือด วัดการทำงานของไต ตรวจตา และค้นหาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น แผลที่เท้า
เด็กเบาหวานที่ปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อนแล้วไม่ต้องฉีดฮอร์โมนอินซูลินใช่หรือไม่?
ในปัจจุบัน การฉีดอินซูลินเพื่อรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 และที่ 2 ที่ควบคุมด้วยยารับประทานแล้วไม่ได้ผล ยังเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ในต่าง ประเทศมีการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน (Islet cell transplantation) ซึ่งผลของการรักษาวิธีนี้ ยังไม่ประสบผลสำเร็จในผู้ป่วยทุกคน ปัญหาที่พบคือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากๆ และเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทาน ซึ่งในระยะยาว อาจเกิดโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆตามมาได้ เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เบาหวานในเด็กและวัยรุ่นรุนแรงหรือไม่?
ความรุนแรงของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในระยะเริ่มต้นที่มีภาวะเลือดเป็นกรด ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้
ความรุนแรงอีกระยะหนึ่งคือ ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดในหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นผลตามมาจากการควบคุมเบาหวาน หรือระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีความดันโลหิตสูง ตาบอด ไตวาย หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตตามมาได้
ดูแลเด็กและวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานอย่างไร?
การดูแลเด็ก และวัยรุ่นที่เป็นเบาหวาน คือ ทั้งผู้ปกครอง และผู้ป่วย ต้องเข้าใจเรื่องโรค และภาวะแทรกซ้อนจากโรค และต้องปฏิบัติตนตามแพทย์ และพยาบาลแนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัด ต้องไม่ขาดยา ต้องพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อเด็กมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อเด็กมีอาการต่างๆเลวลง หรือ เมื่อผู้ปกครองกังวลในอาการของเด็ก
การป้องกันเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นทำอย่างไร?
การป้องกันเบาหวานในเด็ก และวัยรุ่นโดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 จะโดยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งทำได้โดยการรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมทุกมื้ออาหาร ไม่รับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล และไขมันมากเกินไป ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำ หวาน และน้ำอัดลม ที่สำคัญคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีก เลี่ยงพฤติกรรมนั่งๆนอนๆ (Sedentary lifestyle) เช่น เล่นคอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ต่างๆ
การป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลชัดเจน แต่เด็กที่มีบิดา มารดา หรือพี่น้องเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ควรได้รับการตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเซลล์ของตับอ่อน และควรให้รับประทานนมแม่แทนนมผสม เพื่อลด หรือชะลอการเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเซลล์ของตับอ่อน
บรรณานุกรม
- อวยพร ปะนะมณฑา. How to deal with childhood diabetes and its prevention. ใน: สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล, เปรมฤดี ภูมิถาวร, วิชิต สุพรศิลป์ชัย, สุภาพ อรุณภาคมงคล, บรรณาธิการ. Pediatric endocrinology: practical issues for pediatricians. บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์: กรุงเทพฯ; 2554. หน้า 300-14.
- สุภาวดี ลิขิตมาศกุล. Intensified insulin therapy in childhood type 1 diabetes. ใน: สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล, เปรมฤดี ภูมิถาวร, วิชิต สุพรศิลป์ชัย, สุภาพ อรุณภาคมงคล, บรรณาธิการ. Pediatric endocrinology: practical issues for pediatricians. บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์: กรุงเทพฯ; 2554. หน้า 289-99.
- จีรันดา สันติประภพ. Diabetes mellitus. ใน: อวยพร ปะนะมณฑา, สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล, จีรันดา สันติประภพ, บรรณาธิการ. Challenging issues in adolescent endocrinology. เรือนแก้วการพิมพ์: กรุงเทพฯ; 2547. หน้า 71-84.
- Robertson R. Islet transplantation as a treatment for diabetes-a work in progress. N Engl J Med 2004;350:694-70.
- Dunger DB, Todd JA. Prevention of type 1 diabetes; what next? Lancet 2008;372:1710-1.