ไฟเบรต (Fibrate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไฟเบรตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไฟเบรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไฟเบรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไฟเบรตอย่างไร?
- ไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไฟเบรตอย่างไร?
- ไฟเบรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี (Gallstone)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาไฟเบรต (Fibrate) หรือ อนุพันธุ์ของกรดไฟบริค (Fibric acid derivatives) คือ กลุ่มยาที่มีโครงสร้างทางเคมีประเภทกรดแอมพิฟาติก คาร์บอกไซลิค (Amphipatic carboxylic acids, สารเคมีที่สัมพันธ์กับกรดไขมัน) ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาโรคไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี เช่น เฮชดีแอล-คอเลสเตอรอล (HDL-cholesterol) แต่ยากลุ่มไฟเบรตไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนักในการลดไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี/ไขมันประเภทแอลดีแอล (LDL-cholesterol)
จากข้อมูลทางคลินิกพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากๆจะนำไปสู่ภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) และเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ยากลุ่มไฟเบรตมีบทบาทถูกนำมาใช้ป้องกันภาวะตับอ่อนอักเสบจากสาเหตุนี้
ตัวอย่างยากลุ่มไฟเบรตที่มีใช้ในปัจจุบันอาทิ เช่นยา Bezafibrate, Ciprofibrate, Clofibrate, Fenofibrate, และ Gemfibrozil
รูปแบบของยากลุ่มไฟเบรตมักเป็นยาชนิดรับประทานเสียเป็นส่วนมาก และผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมากของยากลุ่มนี้คือ ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อบาดเจ็บอักเสบอย่างรุนแรง(Rhabdomyolysis), รวมไปถึงภาวะไตวาย
ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาบางตัวในกลุ่มไฟเบรตลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นยา Fenofibrate และ Gemfibrozil ทั้งนี้ความเหมาะสมของการใช้ยาตัวใดในการรักษา จะต้องขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรจะไปเสาะหาหรือซื้อยามารับประทานเอง
ไฟเบรตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยากลุ่มไฟเบรตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูงโดยจะออกฤทธิ์ลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ได้ดี
ไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลุ่มไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์ เช่น
- กระตุ้นกระบวนการของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับไขมันที่เรียกว่า Lipoprotein lipolysis ส่งผลให้ไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ลดลง
- กระตุ้นกระบวนการดูดจับกรดไขมันเข้าสู่ตับร่วมกับลดการผลิตไตรกลีเซอไรด์ของตับ
- เพิ่มการจับตัวของไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL) กับตัวรับ(Receptors) ในร่างกายจึงทำให้เกิดการเผาผลาญไขมันได้เร็วขึ้น
- ลดกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีระหว่างไขมันคอเลสเตอรอลชนิดวีแอลดีแอล (VLDL) และชนิดเฮชดีแอล (HDL) จนเป็นผลให้ลดไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดได้
- ทำให้ร่างกายสร้างไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีคือ เอชดีแอล (HDL) เพิ่มมากขึ้น และกระ ตุ้นปฏิกิริยาย้อนกลับของการลำเลียง/การทำงานของไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol transport)
ทั้งนี้ จากกลไกทั้งหมดดังกล่าวจึงทำให้ยากลุ่มไฟเบรตมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลุ่มไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ด ขนาด 450, 600 และ 900 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Gemfibrozil
- ยาเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Clofibrate
- ยาเม็ด ขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Benzafibrate
- ยาเม็ด ขนาด 145 และ 160 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Fenofibrate
- ยาเม็ด ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Ciprofibrate
- ยาแคปซูล ขนาด 300 มิลลิกรัม/แคปซูล เช่นยาGemfibrozil
- ยาแคปซูล ขนาด 100, 135, 200 และ 300 มิลลิกรัม/แคปซูล เช่นยา Fenofibrate
ไฟเบรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยากลุ่มไฟเบรตมีหลายตัวยาซึ่งจะมีขนาดรับประทานแตกต่างกันไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะชนิดที่ใช้บ่อยสำหรับโรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidaemias) เช่น
ก. Fenofibrate: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 67 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง หรือรับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะช่วยเพิ่มการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
ข. Gemfibrozil: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.2 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น โดยขนาดรับประ ทานเพื่อคงระดับการรักษา 0.9 - 1.5 กรัม/วัน
- เด็ก: ห้ามใช้ Gemfibrozil กับเด็ก
- อนึ่ง: ควรรับประทานยาในช่วงท้องว่างหรือก่อนอาหาร ½ ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ค. Clofibrat: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 2 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้งทุก 6 ชั่วโมง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
ง. Bezafibrate: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง อาจเพิ่มขนาดรับประทานทีละน้อยภายใน 5 - 7 วันแรก โดยขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
จ. Ciprofibrate: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- อนึ่ง: อาจรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มไฟเบรต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยา แล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฟเบรตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากลุ่มไฟเบรต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม หากลืมรับประทานยาบ่อยๆหลายครั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาได้
ไฟเบรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มไฟเบรตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- อ่อนแรง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผิวแพ้แสงแดดง่าย (ผิวหนังอักเสบ และ/หรือขึ้นผื่นเมื่อผิวถูกแสงแดดโดยตรง/ผื่นแพ้แสงแดด)
- ช่องคลอดอักเสบ
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ไซนัสอักเสบ
- เยื่อจมูกอักเสบ
- ไอ
- ปัสสาวะบ่อย
- ตับอักเสบ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้
- ผื่นคัน
- ลมพิษ
- ดีซ่าน
- กดไขกระดูก (ตรวจพบจากการตรวจเลือด ซีบีซี/CBC, โดยพบมีเม็ดเลือดต่ำ)
- เกิดภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- เป็นพิษกับไต /ไตอักเสบ
- เส้นประสาทอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ไฟเบรตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มไฟเบรต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มไฟเบรต
- ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดี
- ห้ามใช้ยานี้บางตัวกับเด็ก เช่น Gemfibrozil ดังนั้นการจะเลือกใช้ยาตัวใดกับผู้ป่วยเด็กจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- หากพบผลข้างเคียงเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- หากใช้ยานี้ไปแล้ว 2 เดือนผลการรักษาไม่ดีขึ้น ควรหยุดยาแล้วกลับไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินแนวทางการรักษาใหม่
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน), ผู้ป่วยเบาหวาน ,ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไฟเบรตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากลุ่มไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Fenofibrate ร่วมกับยา Cyclosporin อาจทำให้ความเข้มข้นของยา Cyclosporin ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้เป็นพิษกับไต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
- การใช้ยา Gemfibrozil หรือยา Clofibrate หรือยา Ciprofibrate ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Bezafibrate ร่วมกับยา Colestyramine จะทำให้ยับยั้งการดูดซึมของยา Bezafibrate จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไฟเบรตอย่างไร?
ควรเก็บยากลุ่มไฟเบรต เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ไฟเบรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไฟเบรต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Atromid-S (อะโตรมิด-เอส) | Wyeth |
Febrate (ฟีเบรท) | Umeda |
Fenomed-200 (ฟีโนเมด-200) | Mediorals |
Fenox (ฟีนอค) | Abbott |
Fibril (ไฟบริล) | Berlin Pharm |
Lexemin (เลซีมิน) | Unison |
Lipanthyl (ไลแพนทิล) | Abbott |
Lipothin 200 (ไลโปทิน) | T. O. Chemicals |
Stanlip (สแตนลิป) | Ranbaxy |
Supralip NT 145 (ซุปราลิบ เอ็นที 145) | Abbott |
Trilipix (ไตรไลปิค) | Abbott |
Vytorin (ไวโทริน) | MSD |
Bisil (บิซิล) | Sriprasit Pharma |
Delipid (เดลิปิด) | T.Man Pharma |
Dropid (ดรอปิด) | Medicine Products |
Fibropid 300 (ไฟโบรปิด 300) | V S Pharma |
G.F.B.-600 (จี.เอฟ.บี.-600) | Umeda |
Gembropac (เจมโบรแพค) | Inpac Pharma |
Gemfibril (เจมไฟบริล) | Siam Bheasach |
Gemox (เจม็อกซ์) | R.X. |
Gozid (โกซิด) | General Drugs House |
Hidil (ไฮดิล) | Berlin Pharm |
Lespid (เลสปิด) | Charoon Bhesaj |
Lipicap (ลิปิแคป) | Vesco Pharma |
Lipison (ลิปิซัน) | Unison |
Lipolo (ลิโปโล) | MacroPhar |
Locholes (โลโคลส์) | T.O. Chemicals |
Lodil (โลดิล) | Pharmahof |
Lopicare (โลปิแคร์) | Siam Medicare |
Lopid/Lopid OD (โลปิด/โลปิด โอดี) | Pfizer |
Lopol (โลปอล) | Suphong Bhaesaj |
Modalim (โมดาลิม) | Sanofi-aventis |
Manobrozil (มาโนโบรซิล) | March Pharma |
Milpid (มิลปิด) | Millimed |
Norpid (นอร์ปิด) | Greater Pharma |
Poli-Fibrozil (โพลี-ไฟโบรซิล) | Polipharm |
Polyxit (โพลีซิท) | Pharmasant Lab |
Ronox (โรน็อกซ์) | Charoen Bhaesaj Lab |
Tolip (โทลิบ) | Utopian |
U-Pid (ยู-ปิด) | Patar Lab |
Benzalip (เบนซาลิบ) | Actavis |
Bezamil (เบซามิล) | Milano |
Evicta (อีวิคตา) | Charoon Bhesaj |
Polyzalip (โพลี่ซาลิบ) | Central Poly Trading |
Raset (ราเซ็ท) | Unison |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fibrate [2021,Aug21]
- https://www.medicinenet.com/fibrates/article.htm#what [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=fenofibrate [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Gemfibrozil [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Bezafibrate%20 [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/fenofibrate%20gpo [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/gemfibrozil-teva [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/clofibrate?mtype=generic [2021,Aug21]
- https://www.healthnavigator.org.nz/medicines/b/bezafibrate/[2021,Aug21]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/ciprofibrate?mtype=generic[2021,Aug21]
- https://www.drugs.com/imprints/atromid-s-500-2503.html [2021,Aug21]