แนทิกลิไนด์ (Nateglinide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- แนทิกลิไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- แนทิกลิไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แนทิกลิไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แนทิกลิไนด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แนทิกลิไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แนทิไกลไนด์อย่างไร?
- แนทิกลิไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแนทิกลิไนด์อย่างไร?
- แนทิกลิไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)
- เมกลิทิไนด์ (Meglitinides)
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like Syndrome)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infection)
บทนำ: คือยาอะไร?
แนทิกลิไนด์ (Nateglinide) คือ ยาเบาหวาน ในกลุ่ม Meglitinide ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภท 2, ถูกพัฒนาโดยเครือข่ายของผู้ประกอบการด้านอาหารและเคมีของประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Ajinomoto และวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Starlix” โดยผลิตเป็นยารับประทาน
เมื่อตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 95%, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ยาแนทิกลิไนด์ เป็นสารอนุพันธ์ของกรดอะมิโนซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ยานี้จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1, หรือผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน, รวมถึงผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาแนทิกลิไนด์ จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เช่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ, แต่ผู้ป่วยเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ห้ามใช้ยาแนทิกลิไนด์ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยทางคลินิกมาสนับสนุน, สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคตับและโรคไต ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ด้วยอวัยวะดังกล่าวจะคอยกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย
ธรรมชาติของยาแนทิกลิไนด์ ควรต้องถูกรับประทานก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง หากผู้ป่วยเว้นการรับประทานอาหารมื้อใด ก็สามารถเว้นการรับประทานยามื้อนั้นๆได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนั่นเอง
การใช้ยาแนทิกลิไนด์ร่วมกับยาบางประเภท จะทำให้เกิด
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่นกลุ่มยา Beta-adrenergic blockers, Imidazoles , MAOIs, NSAIDs, Salicylate, และ Somatostatin analogs
- ในทางตรงกันข้าม ยังมียาอีกบางประเภทที่ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาแนทิกลิไนด์ลดน้อยลงไป เช่น ยากลุ่ม Corticosteroids, Rifamycins, กลุ่ม Sympathomimetics, Thiazides , และ Thyroid hormones (เช่น Levothyroxine)
*ดังนั้น แพทย์จึงหลีกเลี่ยงการใช้แนทิกลิไนด์ ร่วมกับกลุ่มยาต่างๆดังกล่าว
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่ผู้ป่วยอาจได้รับจาก ยาแนทิกลิไนด์ เช่น อาการไอ คัดจมูก และเจ็บคอ/คออักเสบ
*กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาแนทิกลิไนด์ เกินขนาด อาจพบเห็นอาการข้างเคียงที่เด่นชัด คือ ร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากเข้าขั้นรุนแรงผู้ป่วยจะมีอาการ โคม่า ชักเกร็ง รวมถึงอาการทางระบบประสาทต่างๆ กรณีเช่นนี้ ถ้าผู้ป่วยอยู่ในสถานพยาบาล แพทย์สามารถใช้น้ำตาลกลูโคสชนิดปราศจากเชื้อฉีดเข้าหลอดเลือดดำให้ผู้ป่วย, หากผู้ป่วยอยู่ในที่พักอาศัยสามารถดื่มน้ำหวาน อมลูกกวาด เพื่อบรรเทาอาการก่อนรีบเดินทางมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
ในทางปฏิบัติ ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยานี้มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติเพียงใด แพทย์จะใช้ผลการทดสอบมาประกอบกับการปรับขนาดรับประทานยาแนทิกลิไนด์ และผู้ป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภค, การออกกำลังกาย, และการพักผ่อน, ทั้งนี้เพราะจะส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยาแนทิกลิไนด์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แนทิกลิไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแนทิกลิไนด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes) สามารถใช้ในลักษณะยาเดี่ยวๆ หรือจะใช้ร่วมกับยาอื่น อย่างเช่น ยา Metformin หรือ Thiazolidinedione
แนทิกลิไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแนทิกลิไนด์คือ ตัวยาจะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินอย่างมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เหมือนปกติหรือใกล้เคียงปกติ
แนทิกลิไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแนทิกลิไนด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 60 และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด
แนทิกลิไนด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแนทิกลิไนด์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 60 – 120 มิลลิกรัม ก่อนมื้ออาหารประมาณ 30 นาที วันละ 3 ครั้ง
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง:
- สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจค่า HbA1c (Glycated hemoglobin A1C, ค่าน้ำตาลสะสมในเลือด) แล้วพบว่ามีความสุ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน แพทย์อาจให้รับประทานยานี้เริ่มต้นที่ครั้งละ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนมื้ออาหาร
- การใช้ยาแนทิกลิไนด์เป็นยาเดี่ยว หรือร่วมกับยาอื่นนั้น จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่เห็นว่าเหมาะสมหรือไม่
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแนทิกลิไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแนทิกลิไนด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแนทิกลิไนด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ กรณีที่รับประทานอาหารไปแล้ว ให้เว้นการรับประทานยามื้อนั้น แล้วข้ามไปรับประทานยาในมื้อถัดไป (รับประทานก่อนอาหาร) โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรรับประทานยาแนทิกลิไนด์ ตรงเวลา
แนทิกลิไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแนทิกลิไนด์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ กรดยูริคในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด อาเจียน
- ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น ค่าระดับเอนไซม์การทำงานตับในเลือดหลายตัวเพิ่มสูงขึ้น ตัวเหลือง ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการวิงเวียน
- ผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ข้ออักเสบ
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น มือ-เท้า บวม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผื่น แดง อักเสบ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
มีข้อควรระวังการใช้แนทิกลิไนด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแนทิกลิไนด์: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1, และผู้ป่วยเบาหวานประเภท Diabetic ketoacidosis
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- *ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ หากมีภาวะน้ำตาลเกินหรือต่ำกว่าปกติ, ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- *หยุดการใช้ยาแนทิกลิไนด์ทันที หากพบอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้น
- เรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในการบำบัดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- รับประทานอาหาร มีการออกกำลังกาย พักผ่อน ตามคำแนะนำของแพทย์, และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดบาดแผลตามร่างกายเพราะแผลจะหายช้าและลุกลามติดเชื้อได้ง่าย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแนทิกลิไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แนทิกลิไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแนทิกลิไนด์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาแนทิกลิไนด์ ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs เช่นยา Ibuprofen, Aspirin, อาจทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาแนทิกลิไนด์ ร่วมกับยา Isoniazid อาจทำให้ประสิทธิภาพของตัวยา แนทิกลิไนด์ ลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาแนทิกลิไนด์ ร่วมกับยา Gatifloxacin อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้, กรณีน้ำตาลในเลือดสูงจะมีอาการ กระหายน้ำและหิวอาหาร ปัสสาวะมาก, สำหรับกรณีน้ำตาลในเลือดต่ำจะพบอาการ ปวดหัว วิงเวียน ง่วงนอน สับสน มือสั่น คลื่นไส้ หิว อ่อนเพลีย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว, เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาแนทิกลิไนด์อย่างไร?
ควรเก็บยาแนทิกลิไนด์: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แนทิกลิไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแนทิกลิไนด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Starlix (สตาร์ลิกซ์) | Novartis |
บรรณานุกรม
- https://www.verywellhealth.com/meglitinides-oral-medication-for-type-2-diabetes-1087285 [2022,Nov12]
- https://www.drugs.com/pro/nateglinide.html [2022,Nov12]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nateglinide [2022,Nov12]
- https://www.drugs.com/dosage/starlix.html [2022,Nov12]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/nateglinide.html [2022,Nov12]