โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อะไรคือสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน?
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนติดต่อได้อย่างไร?
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนอย่างไร?
- รักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนอย่างไร?
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนยนอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- วัคซีน (Vaccine)
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
บทนำ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือ โรคติดเชื้อระบบหายใจส่วนบน(Upper respiratory tract infection ย่อว่า URI หรือ URTI) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินหายใจส่วนบน/ตอนบน(Upper respiratory tract)ติดเชื้อโรคอย่างเฉียบพลัน/ฉับพลัน ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่ จะเป็นการติดเชื้อไวรัส รองลงไปคือ การติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนการติดเชื้อราพบได้น้อยโดยมักเกิดในกรณีร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน) ซึ่ง อวัยวะที่รวมอยุ่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ โพรงจมูก/เยื่อจมูก/เนื้อเยื่อบุโพรงจมูก ไซนัส ลำคอ ต่อมทอนซิล/ทอนซิล คอหอย และกล่องเสียง โดยโรคที่พบได้บ่อยของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน คือ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ คออักเสบ/เจ็บคอ/คอหอยอักเสบ ทอนซิลอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เป็นโรคพบบ่อยมาก แต่ไม่มีสถิติการเกิดที่แน่นอน เพราะมักแยกศึกษาเป็นโรคๆไป เช่น ในผู้ใหญ่พบเป็นโรคหวัดได้บ่อยถึง 2-4 ครั้งต่อปี เป็นต้น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน พบเกิดในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบในเด็กเล็กสูงที่สุด ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคกลุ่มนี้ได้ใกล้เคียงกัน
อะไรคือสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน?
ดังกล่าวแล้วใน”บทนำ”ว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน มีสาเหตุเกิดจาก การติดเชื้อไวรัสสูงสุด รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนการติดเชื้อราพบได้น้อยที่มักเกิดในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง/ต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไววี ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนติดต่อได้อย่างไร?
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ติดต่อ/แพร่ระบาด/ สัมผัสเชื้อ ได้หลายทาง ได้แก่
- จากการ ไอ จาม โดยเชื้อจะปนมาในละอองน้ำลาย แล้วเราสูดหายใจละอองเหล่านี้ที่มีเชื้อติดอยู่เข้าสู่ทางเดินหายใจ
- จาก น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย สัมผัสมือผู้ป่วย และจากมือไปสัมผัสตา และ/หรือช่องจมูก ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ทางเดินหายใจผ่านทางเยื่อเมือกของตาและ/หรือของจมูก
- จากน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยติดมือผู้ป่วย และไปอยู่ตามสิ่งต่างๆที่ผู้ป่วยสัมผัส เช่น ของเล่น โทรศัพท์ ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได แล้วจึงติดต่อไปยังผู้ที่สัมผัสสิ่งเหล่านี้
- จากการใช้ของใช้ที่สัมผัสสารคัดหลัง(น้ำมูก น้ำลาย)ผู้ป่วย ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว
- จากการใช้ของใช้ในการบริโภคร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่
- มีไข้ อาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำก็ได้ ขึ้นกับชนิดของเชื้อ(เช่น ติดเชื้อไวรัส ไข้สูงกว่าติดเชื้อแบคทีเรีย) และความรุนแรงของโรค(เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้สูงกว่าโรคหวัด) โดยช่วงมีไข้ จะมีอาการปวดเนื้อตัว/ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
- ไอ มักไอไม่มาก อาจไอมีเสมหะหรือไม่มีเสมหะก็ได้ ถ้ามีเสมหะ จะมีเสมหะไม่มาก และเสมหะจะมีสีขาว ใส ไม่ค่อยข้น/เหนียว
- มีน้ำมูก อาจมีน้ำมูกมากหรือน้อย ขึ้นกับชนิดของเชื้อ เช่น โรคหวัด จะมีน้ำมูกมากกว่า ไข้หวัดใหญ่ โดยน้ำมูกมักมีสีขาว แต่เมื่อเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียน้ำมูกจะเป็นสีอื่น เช่น เทา เหลือง เขียว น้ำตาล เช่น จากไซนัสอักเสบ
- เจ็บคอ คอหอยอักเสบ
- อาจมีเสียงแหบ
- อาจมีต่อมน้ำเหลืองลำคอ โต คลำได้ โดยทั่วไปมักมีขนาดเล็ก แต่อาจโตได้ถึง 1-2 เซนติเมตร และมักเจ็บ โดยอาจคลำพบได้ด้านใดด้านหนึ่งของลำคอ(ซ้าย หรือขวา) หรืออาจคลำพบได้ทั้ง 2 ข้างลำคอ อาจคลำพบเพียงต่อมเดียวหรือหลายต่อมก็ได้
- อาจมีเลือดกำเดา
- อาจมีอาการเจ็บหูข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ด้าน จากการอักเสบในลำคอแล้วลามเข้าสู่หูส่วนกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน
- อาการทั่วไป: เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่
- เด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันในที่แออัด เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก
- ผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่ออยู่อาศัยรวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ในบ้านพักคนชรา
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง
- โรคอ้วน
- ผู้มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- สตรีตั้งครรภ์
- ผู้ติดบุหรี่
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/HIV ผู้กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการ” อาจดูแลตนเองทั่วไปได้ที่บ้านเมื่ออาการไม่รุนแรง แต่ถ้าอาการรุนแรงตั้งแต่แรก หรืออาการแย่ลงหลังดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้จาก ประวัติอาการ ประวัติสัมผัสโรค โรคประจำตัวต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจดูในช่องคอ การตรวจต่อมทอนซิล การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ บางครั้งอาจมีการตรวจเชิ้อและ/หรือ ตรวจเพาะเชื้อจากเสมหะ หรือจากสารคัดหลั่งในคอหอย และกรณีแพทย์สงสัยโรคของไซนัส แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์ภาพไซนัส หรือเอกซเรย์ภาพปอดเป็นกรณีๆไป บางครั้งอาจมีการตรวจเลือดซีบีซี(CBC)เพื่อช่วยแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย หรือมีการตรวจเลือดเพื่อหาสารภูมิต้านทานและ/หรือหาสารก่อภูมิต้านทาน และ/หรือหาตัวเชื้อโรค เพื่อการช่วยวินิจฉัยว่าโรคเกิดจากติดเชื้อชนิดใด ซึ่งการจะตรวจอะไรบ้าง จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์และอาการผู้ป่วยเป็นกรณีไป
รักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนอย่างไร?
หลักการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาสาเหตุ: โดยทั่วไป เช่น
- การใช้ยาปฏิชีวนะกรณีการติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรีย โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละชนิดสายพันธ์ของเชื้อแบคทีเรีย และรวมถึงความรุนแรงของอาการ
- การรักษาประคับประคองตามอาการกรณีติดเชื้อไวรัส เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะค่อยๆกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายเอง ทั้งนี้เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้แต่เชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ อย่างไรก็ตามมีไวรัสบางสายพันธ์ที่มียาต้านไวรัส เช่น ยา Oseltamivir ที่ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่2009 และ ไข้หวัดนก
- การใช้ยาต้านเชื้อรา กรณีโรคเกิดจากติดเชื้อรา เช่น ยา Amphotericin B, ยา Itraconazole
ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือ การรักษาตามอาการผู้ป่วยโดยวิธีการรักษาเช่นเดียวกันไม่ว่ามีสาเหตุจากติดเชื้ออะไร เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด การให้ออกซิเจนกรณีหายใจลำบาก การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณีร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ และ/หรือ การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีผู้ป่วยกินอาหารได้น้อย เป็นต้น
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมีผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมีผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนกรณีของการติดเชื้อครั้งแรกเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ในไซนัสอักเสบ หรือกรณีทีโรครุนแรง มักมีการติดเชื้อในปอด/ปอดอักเสบ/ปอดบวมร่วมด้วย เช่น ในไข้หวัดใหญ่ชนิดที่รุนแรง
นอกจากนั้น ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก อาจมีเลือดกำเดา หรือมีหูชั้นกลางอักเสบเพราะในช่องคอมี ท่อยูสเตเชียน ที่เป็นท่อเชื่อมระหว่างช่องคอกับหูชั้นกลาง โรคจึงลุกลามติดต่อถึงกันได้
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนโดยทั่วไปมีการพยารณ์โรคที่ดี รักษาได้หาย แต่ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ป่วยดื้อยาที่ใช้รักษาหรือไม่(การพยากรณ์โรคจะไม่ดี ถ้าเกิดเชื้อดื้อยาที่รักษา), สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย(ถ้ามีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว มีโรคปอดเรื้อรัง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ การพยากรณ์โรคไม่ดี), ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจึงเป็นผู้ให้การพยารณ์โรคได้ดีที่สุด เพราะการพยากรณ์โรคจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เมื่ออยู่บ้าน คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ กรณีได้พบแพทย์แล้ว
- กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- พักผ่อนให้เต็มที่ หยุดงาน หยุดโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และเพื่อได้พักผ่อนเต็มที่
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- สั่งน้ำมูกในทิชชู แล้วทิ้งในถังขยะ
- ไอ จาม ต้องปิดปาก ปิด จมูก
- ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงป้องกัน ภาวะขาดน้ำ โดยอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์สั่งให้จำกัดน้ำดื่ม
- แยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว
- แยกภาชนะในการบริโภค เช่น แก้วน้ำ ช้อน ซ่อม จาน ชาม
- ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาดเสมอ
- หลีกเลี่ยงการไปในแหล่งชุมชน
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด(กรณีเคยพบแพทย์แล้ว) แต่ถ้ายังไม่เคยพบแพทย์ ถ้าอาการเลวลงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตนเองตามอาการ ใน 2-3 วัน ควรต้องไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวในหัวข้อ ใครมีปัจจัยเสี่ยง
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรือเลวลง เช่น ไอมากขึ้น ไอเป็นเลือด หรือเสมหะเปลี่ยนจากสีขาว เป็นสือื่น เช่น เขียว เหลือง น้ำตาล ซึ่งแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่ต้องการรักษาจากแพทย์ด้วยยาปฏิชีวนะ หรือเสียงแหบต่อเนื่องทั้งๆที่อาการอื่นหายแล้ว หรือต่อมน้ำเหลืองที่คอโตขึ้น
- กลับมามีอาการที่เคยรักษาหายแล้ว เช่น กลับมาไอมากอีก ไอเป็นเลือด หรือเสียงแหบ
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างไร?
การป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
- เครื่องใช้ในการรับประทานต้องสะอาด เช่น แก้วน้ำ ช้อน ซ่อม จาน ชาม
- หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่แออัด เมื่อมีการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่