กระดูกน่วม โรคกระดูกอ่อน (Osteomalacia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคกระดูกน่วม หรือโรคกระดูกอ่อน หรือโรคกระดูกนิ่ม (Osteomalacia) คือ โรคกระดูก ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการบกพร่องในกระบวนการสร้างความแข็งแรงของเนื้อกระดูก/มวลกระดูก โดยเซลล์กระดูกไม่สามารถนำแคลเซียมมาเสริมสร้างให้ความแข็งแรงกับมวลกระดูกได้อย่างเพียงพอ จึงส่งผลให้มวลกระดูกขาดแคลเซียม (แต่ปริมาณตัวมวลกระดูกยังปกติ) มวลกระดูกจึงมีภาวะอ่อนตัวไม่แข็งแรงอย่างกระดูกปกติทั่วไป ซึ่งสาเหตุเกิดจากร่างกายขาดวิตามิน-ดี (ภาวะขาดวิตามินดี) วิตามินที่ช่วยกระบวนการนำแคลเซียมมาเสริมสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูก ซึ่งโรคกระดูกน่วมนี้เกิดได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่

โรคกระดูกน่วม/ กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน ต่างจากโรคกระดูกพรุนที่โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเกิดกับกระดูกที่เจริญเติบโตสมบูรณแล้ว(กระดูกผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ) แต่ต่อมาเกิดความผิดปกติขึ้นจากสาเหตุต่างๆที่ทำให้กระดูกมีปริมาณมวลกระดูกลดน้อยลงกว่าปกติ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง โรคกระดูกพรุน)จนเกิดเป็น “โรคกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุน” ขึ้น

โรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกโก่งผิดรูปโดยเฉพาะกระดูกขา และจะเกิดกระดูกหักได้ง่าย ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นโรคกระดูกพรุนได้

โรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน ปัจจุบันพบน้อย ไม่มีรายงานสถิติเกิดที่ชัดเจน แต่มีรายงานจากการตรวจศพผู้ใหญ่ชาวยุโรปพบโรคนี้ได้ประมาณ 25% พบทุกเพศและทุกวัยแต่มักพบในเด็กและในผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าเกิดโรคนี้ในเด็กเรียกว่า “โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets)”

โรคกระดูกน่วมมีสาเหตุจากอะไร?

กระดูกน่วม

กระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน เกิดจากการที่มวลกระดูกขาดแคลเซียมที่ช่วยให้มวลกระดูกแข็งแกร่ง โดยสา เหตุส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากร่างกายมี ‘ภาวะขาดวิตามินดี’ ที่เป็นวิตามินช่วยการดูดซึมแคลเซียมจากระบบทางเดินอาหาร,และยังช่วยในกระบวนการที่ทำให้เซลล์สร้างมวลกระดูกนำแคลเซียมมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล

ทั้งนี้ภาวะขาดวิตามินดีเกิดได้จาก

  • กินวิตามินดีไม่เพียงพอ
  • ผิวหนังได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ (เซลล์ผิวหนังสร้างวิตามินดีได้จากการทำปฏิกิริยากับแสงแดด
  • และ/หรือมีโรคระบบทางเดินอาหารที่ทำให้ลดการดูดซึมแคลเซียม เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคโครห์น หรือมีท้องเสียเรื้อรัง

*อนึ่งอาหารที่มีวิตามินดีและแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต เนยแข็ง อาหารเช้าซีเรียล(Cereal)ที่เพิ่มวิตามินดี น้ำผลไม้ต่างๆที่เสริมวิตามินดี น้ำมันตับปลา ไข่แดง ปลาซาร์ดีน

นอกจากนี้การขาดวิตามินดียังอาจเกิดจากร่างกายไม่สามารถนำวิตามินดีมาใช้ได้ตาม ปกติ (Abnormal vitamin D metabolism) เช่น

  • ในผู้ป่วย โรคไต โรคตับ
  • เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากันชักยาต้านชักบางชนิด เช่นยา Phenytoin, การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกน่วมมีอะไรบ้าง?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน ได้แก่

  • อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเพราะเป็นวัยที่มักขาดแร่ธาตุอาหาร/สารอาหารต่างๆที่รวมถึงวิตามินดี จากการขาดคนดูแล มีโรคประจำตัว และมีปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • ผิวหนังได้รับแสงแดดไม่พอเพียง ที่มักเป็นสาเหตุหนึ่งของคนชาติตะวันตก มีผู้แนะนำให้ร่างกายได้รับแสงแดดอ่อนๆประมาณวันละ 15 นาทีเพื่อให้ผิวหนังสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน คนกลุ่มนี้มักขาดวิตามินดีเพราะวิตามินดีถูกสะสมอยู่ในเซลล์ไขมัน ร่างกายไม่สามารถนำออกมาใช้ได้
  • ชอบนั่งๆนอนๆไม่ชอบเคลื่อนไหวไม่ออกกำลังกาย โดยจากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายมีระดับวิตามินดีในเลือดสูงมากกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย
  • ภาวะทุพโภชนา

โรคกระดูกน่วมมีอาการอย่างไร?

โรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่เมื่อมีอาการ อาการที่พบได้ เช่น

  • ปวดในกระดูกชิ้นที่เกิดกระดูกน่วมที่พบบ่อยคือ ที่กระดูกขาและ/หรือกระดูกสะโพก
  • มีรูปร่างของกระดูกผิดปกติ เช่น ขาโก่ง
  • มีท่าเดินที่ผิดปกติเพราะกระดูกรับน้ำหนักตัวได้ไม่ดี เช่น เดินเหมือนท่าเป็ดเดิน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงกว่าคนทั่วไป
  • มีอาการที่เกิดจากกระดูกหัก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กระดูก หัก)

แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกน่วมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน ได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน (เช่น ไม่ออกกำลังกาย)
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพกระดูกด้วยเอกซเรย์
  • การตรวจอื่นเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและเพื่อแยกโรคกระดูกน่วมจากโรคอื่นๆ (เช่น โรคกระดูกพรุ, โรคระบบต่อมไร้ท่อ) เช่น
    • ตรวจเลือดดูค่าแคลเซียม, ฟอสฟอรัส, การทำงานของไต, ของตับ, ค่าฮอร์โมนต่างๆที่เกี่ยวกับการสร้างกระดูก (เช่น ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์), ปริมาณวิตามินดีในเลือด
    • และในบางกรณีอาจต้องตัดชิ้นเนื้อจากกระดูกชิ้นที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคกระดูกน่วมได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน คือ การให้รับประทานวิตามินดีเสริมอาหารและอาจร่วมกับการเสริมอาหารด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา รวมกับการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร

ผลข้างเคียงจากโรคกระดูกน่วมมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงสำคัญของโรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน คือ การเสียรูปร่างของกระดูก (เช่น กระดูกขาโก่ง)ซึ่งส่งผลถึงความสวยงาม และที่สำคัญคือเป็นสาเหตุกระดูกหักได้ง่าย

โรคกระดูกน่วมรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน คือ เป็นโรคที่รักษาได้และไม่เป็นเหตุให้ถึงตาย แต่มีผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคือ กระดูกหักง่าย นอกจากนั้นในบางคนอาจรู้สึกเสียภาพลักษณ์ได้จากมีกระดูกที่ผิดรูปที่ส่งผลถึงรูปลักษณ์และท่าทาง

อนึ่งภายหลังเมื่อรักษาโรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน หายแล้วแต่กลับมาขาดวิตามินดีอีก ก็สามารถเกิดโรคกระดูกน่วมได้ใหม่อีก

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน คือ

  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวันโดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินดี และแคลเซียมสูงเช่น นม โยเกิร์ต เนยแข็ง อาหารเช้าซีเรียล (Cereal) และน้ำผลไม้ต่างๆที่เสริมวิตามินดี ไข่แดง ปลาซาร์ดีน (Sardine)
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • รักษาควบคุมโรคประจำตัวต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระดูกน่วม
  • ตากแดดให้ร่างกายได้รับแสงแดดอ่อนๆทุกวัน เช่น แสงแดดในตอนเช้าและในตอนเย็น โดยไม่ต้องทาครีมกันแดดประมาณวันละ 15 นาที ซึ่งการได้รับแสงแดดระดับนี้ยังไม่มีรายงานเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง
  • ระวังการเกิดอุบัติเหตุเพราะกระดูกจะหักง่าย เช่น จากการล้ม
  • ไม่ซื้อยาต่างๆกินเอง (ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน) โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง
    • เกิดอุบัติเหตุที่สงสัยอาจมีผลต่อกระดูก
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก ท้องผูกมาก
    • และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคกระดูกน่วมได้อย่างไร?

สามารถป้องกันโรคกระดูกน่วม/กระดูกนิ่ม/กระดูกอ่อน ได้เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’ เช่น

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวันโดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินดีและแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต เนยแข็ง อาหารเช้าซีเรียล (Cereal) และน้ำผลไม้ต่างๆรวมถึงนมถั่วเหลืองที่เสริมวิตามินดี ไข่แดง ปลาซาร์ดีน (Sardine) เห็ด น้ำมันปลา
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ป้องกันรักษาควบคุมโรคประจำตัวต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระดูกน่วม เช่น โรคไต โรคตับ
  • ตากแดดให้ร่างกายได้รับแสงแดดอ่อนๆทุกวัน เช่น ในช่วงเช้าๆ(ก่อน 9โมงเช้า) หรือในตอนเย็นๆ(หลังบ่าย3โมง)โดยไม่ต้องทาครีมกันแดดประมาณวันละ 15 นาที ซึ่งการได้รับแสงแดดระดับนี้ยังไม่มีรายงาน เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง
  • ไม่ใช้ยาต่างๆพร่ำเพรื่อ ใช้ยาแต่ที่จำเป็น และเมื่อจะซื้อยาใช้เอง (ที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน) ควรปรึกษาเภสัชกรผู้ขายยาก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Bordelon,P. et al. (2009). Am Fam Physician. 80, 841-846
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Osteomalacia [2020,July11]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK551616/[2020,July11]
  4. http://journals.rcni.com/nursing-older-people/pathogenesis-diagnosis-and-management-of-osteomalacia-nop.26.6.32.e593[2020,July11]
  5. https://www.webmd.com/food-recipes/guide/calcium-vitamin-d-foods[2020,July11]