แคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 แคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride) คือ ยา/สารประกอบประเภทเกลือชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นของแข็งสามารถละลายน้ำได้ดี โดยจะเกิดการแตกตัวของสารประกอบได้แคลเซียมไอออน(Calcium ion) ในทางคลินิกได้นำคุณสมบัตินี้มาเตรียมเป็นสูตรตำรับยาแผนปัจจุบันเป็นประเภทยาฉีดปราศจากเชื้อที่มีขนาดความเข้มข้น 10% เพื่อนำมาใช้รักษา

  • ภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia)
  • บำบัดอาการชักลักษณะชักเกร็งอันมีเหตุจากการขาดฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์
  • บำบัดอาการพิษจากการได้รับเกลือแร่/ แร่ธาตุ ชนิดแมกนีเซียมสูงเกิน เช่น จากการเสริมอาหาร
  • ช่วยกระตุ้นหัวใจให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติหลังทำการผ่าตัดหัวใจ

 ทั้งนี้ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์เมื่อถูกฉีดเข้ากระแสเลือดในระดับที่เหมาะสมจะทำหน้าที่รักษาสมดุลเกลือแคลเซียมของร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อและกระแสประสาททำงานได้อย่างปกติ

ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์สามารถผ่านเข้ารกและซึมเข้าในน้ำนมของมารดาได้ ร่างกายสามารถขับเกลือแคลเซียมคลอไรด์ผ่านออกไปกับปัสสาวะและอุจจาระ บางส่วนอาจขับออกมากับ เหงื่อทางผิวหนัง ผม และเล็บ

การฉีดยา/สารละลายของแคลเซียมคลอไรด์ต้องฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ตัวยาอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดดังกล่าวขยายตัวจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแสบร้อนในขณะที่ฉีดยา นอกจากนี้ยัง อาจทำให้ความดันโลหิตลดลงและไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต

การใช้ยาแคลเซียมคลอไรด์ในรูปแบบสารละลาย จะมีแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้นและต้องใช้หัตถการทางการแพทย์ที่ถูกต้องเหมาะสมมาประกอบเมื่อต้องใช้ยากับผู้ป่วย

แคลเซียมคลอไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แคลเซียมคลอไรด์

ยา/ยาสารละลายแคลเซียมคลอไรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น   

  • ใช้บำบัดรักษาภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ
  • กระตุ้นการทำงานของหัวใจ
  • รักษาอาการพิษจากแมกนีเซียม

แคลเซียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้

  • กรณีที่ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ: เกลือแคลเซียมคลอไรด์จะเข้าไปสร้างสมดุลของประจุเกลือนี้ในกระแสเลือด อีกทั้งใช้เป็นแหล่งแคลเซียมสำรองให้กับหัวใจและเส้น ใยประสาทโดยจะทำให้หัวใจหดตัวอย่างเหมาะสม และการส่งกระแสประสาทจากใยประสาทสามารถทำได้ต่อเนื่อง จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
  • กลไกเพิ่มแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ: โดยแคลเซียมไอออนจะเข้าไปในผนังเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจและผ่านเข้าสู่ไซโตพลาสซึม (Cytoplasm, ส่วนประกอบของเซลล์ที่มีลักษณะเป็นน้ำที่มีน้ำ เกลือแร่ และสารต่างๆที่ใช้ในการดำรงชีวิตเช่น สารอาหารต่างๆเป็นส่วนประ กอบ) ส่วนที่มีชื่อเฉพาะว่า ซาร์โคพลาสซึม (Sarcoplasm) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการนำแคลเซียมไปใช้เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำการหดตัวและทำงานได้อย่างปกติและต่อเนื่อง
  • การต้านพิษของแมกนีเซียม: โดยแคลเซียมจะไปขับแมกนีเซียมออกจากกระแสเลือดด้วยกระบวนการทางชีวเคมีทำให้เกลือแมกนีเซียมในเลือดลดต่ำลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ

แคลเซียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

 ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ความเข้มข้น 100 มิลลิ กรัม/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร

แคลเซียมคลอไรด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

  • ก่อนการให้ยานี้กับผู้ป่วย แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและคำนวณสัดส่วนของปริมาณยาที่ต้องให้กับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
  • การฉีดสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ขนาดความเข้มข้น 10% จะต้องฉีดทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆหรือในอัตราความเร็วไม่เกิน 1 มิลลิลิตร/นาที
  • กรณีที่ต้องการกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ให้ฉีดยาเข้าที่โพรงหัวใจห้องล่าง (Ventricular cavity) และห้ามฉีดเข้ากล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง
  • จะเป็นการดีหากทำให้ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์มีอุณหภูมิก่อนฉีดเท่ากับอุณหภูมิ ของร่างกาย

ก. ขนาดที่ฉีดเข้าโพรงหัวใจห้องล่างเพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจ:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยานี้ขนาด 200 - 800 มิลลิกรัม
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ฉีดยานี้ขนาด 0.2 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ข. ขนาดที่ฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำเพื่อบำบัดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 500 – 1,000 มิลลิกรัมในช่วง 1 - 3 วัน ทั้งนี้ขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้รักษาขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยและต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ฉีดยาขนาด 0.2 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดการใช้ยาสูงสุดอยู่ในช่วง 1 - 10 มิลลิลิตร/วัน

ค. เพื่อรักษาอาการพิษจากแมกนีเซียม:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 500 มิลลิกรัมโดยทันที และสังเกตอาการตอบสนองของผู้ป่วยก่อนจะพิจารณาใช้ยาแคลเซียมคลอไรด์อีกครั้งตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยาเพื่อรักษาอาการพิษจากแมกนีเซียมของเด็ก ต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษาโดยพิจารณาการรักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล  และ  เภสัชกร เช่น   

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

แคลเซียมคลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • กรณีที่ฉีดยาให้ผู้ป่วยเร็วเกินไป: จะทำให้รู้สึกซ่าตามเนื้อตัว แขนขา และชาขณะกำลังได้รับยาฉีด รู้สึกแสบร้อนในบริเวณที่ฉีดยา ซึ่งการใช้เข็มขนาดที่เล็กๆอาจช่วยแก้ไขในเรื่องนี้ได้
  • นอกจากนั้นเกลือแคลเซียมอาจทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง และอาจ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงขยายตัวจนเกิดความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  หัวใจเต้นผิดจังหวะ บางกรณีอาจเกิดภาวะช็อกติดตามมา

มีข้อควรระวังการใช้แคลเซียมคลอไรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมคลอไรด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • ห้ามฉีดยานี้เข้าหัวใจในขณะมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Ventricular fibrillation)
  • ห้ามฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อด้วยจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างมาก
  • ควรทำให้สารละลายแคลเซียมคลอไรด์มีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิของร่างกายก่อนฉีดให้ผู้ ป่วย
  • การฉีดยานี้ควรกระทำอย่างช้าๆเพื่อลดอาการระคายเคือง อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้ความเข้มข้นของเกลือแคลเซียมในหัวใจสูงมากเกินไปจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายขึ้นได้
  • การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แคลเซียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น  เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์ ร่วมกับยา Digoxin ด้วยจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นหน้าอก ตาพร่า คลื่นไส้ และมีอาการชัก กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์ ร่วมกับยา Ceftriaxone ด้วยจะก่อให้เกิดการตกตะ กอนของตัวยาในกระแสเลือด ในปอด ในไต และจะอันตรายมากหากกรณีนี้เกิดในทารกแรกเกิด
  • การใช้ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์ ร่วมกับยา Hydrochlorothiazide จะทำให้ระดับแคล เซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน อ่อนเพลีย ปวดหัว และคลื่นไส้อาเจียนติดตามมา กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้สารละลายแคลเซียมคลอไรด์ร่วมกับยากลุ่ม Tetracycline อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของ Tetracycline ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรเว้นระยะเวลาให้ห่างกัน 2 - 3 ชั่วโมงขึ้นไป

ควรเก็บรักษาแคลเซียมคลอไรด์อย่างไร?

 ควรเก็บยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เกิดตะกอนหรือมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แคลเซียมคลอไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยา/สารละลายแคลเซียมคลอไรด์  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Calcium Chloride Injection USP 10% (แคลเซียมคลอไรด์ อินเจ็คชั่น ยูเอสพี 10%) IMS

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_chloride#Medicine   [2022,Feb26]
  2. http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/034ntffda_Use_of_Vit&Min_in_Food_Supplement.pdf   [2022,Feb26]
  3. https://www.drugs.com/pro/calcium-chloride.html   [2022,Feb26]
  4. https://www.mims.com/indonesia/drug/info/calcium%20chloride?mtype=generic   [2022,Feb26]
  5. https://www.drugs.com/sfx/calcium-chloride-side-effects.html  [2022,Feb26]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/calcium-chloride-with-cardoxin-474-0-883-3379.html   [2022,Feb26]
  7. https://www.rxlist.com/calcium-chloride-drug.htm  [2022,Feb26]
  8. https://reference.medscape.com/drug/cacl-or-cacl-2-calcium-chloride-344432   [2022,Feb26]
  9. https://www.nps.org.au/medicine-finder/calcium-chloride-injection-ucb-pharma  [2022,Feb26]