แคลซิไทรออล (Calcitriol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

แคลซิไทรออล (Calcitriol) คือ วิตามินดีรูปแบบที่สามารถออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้ทันทีเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย โดยวิตามินดีจัดเป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติเป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกาย มีหน้าที่หลักในการควบคุมสมดุลของแคลเซียม 

 วิตามินดี ทำงานร่วมกับฮอร์โมนอื่นๆที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญของกระดูก โดยทำให้กระบวนการสร้างกระดูกเป็นไปอย่างปกติ รวมทั้งกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกในโครงกระดูกก่อให้เกิดผลในการรักษาโรคกระดูกพรุนของผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง(โรคไต/ โรคไตเรื้อรัง) 

และยังพบว่า ในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคกระดูกอ่อนในเด็ก(Rickets)ที่ต้องพึ่งพาวิตามินดี จะมีระดับแคลซิไทรออลในเลือดที่ลดลงหรือหมดไป เนื่องจากการผลิตแคลซิไทรออลที่ไตไม่เพียงพอ ดังนั้นการให้ยาแคลซิไทรออลจึงเป็นการรักษาแบบทดแทนในผู้ป่วยโรคกระดูกน่วมกระดูกอ่อน และโรคกระดูกอ่อนในเด็กที่ต้องพึ่งพาวิตามินดีและมีภาวะฟอสฟอรัส/ฟอสเฟท (Phosphate)ในเลือดต่ำ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อระบบต่างๆของร่างกายอีกหลายประการ เช่น ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

ยาแคลซิไทรออลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แคลซิไทรออล

ยาแคลซิไทรออลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น  

  • รักษาโรคกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน
  • รักษาภาวะบกพร่องในการสร้างกระดูกอันเนื่องมาจากภาวะไตวายโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บcom บทความเรื่อง การล้างไต)
  • รักษาภาวะฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์สูงทุติยภูมิ (Secondary Hyperparathyroidism)
  • รักษาโรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) ที่เกิดจากการขาดวิตามินดี และโรคกระดูกอ่อน อันเนื่องจากภาวะฟอสเฟต/ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ (Hypophosphatemia)
  • รักษาภาวะขาดฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์แบบเทียม (Pseudoparathyroidism)

 

ยาแคลซิไทรออลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแคลซิไทรออล อยู่ในรูปสารที่มีฤทธิ์ (Active metabolite) ของวิตามินดี มีกลไกกระตุ้นการขนส่งแคลเซียมในลำไส้เล็กและในไตเพื่อนำมาใช้ในร่างกายและในกระดูก และยังทำงานร่วมกับฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone  เรียกว่าย่อ PTH)   โดยตัวยานี้มีผลไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน PTH เพราะในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การสร้างแคลซิโทรออลตามธรรมชาติจะลดลง เนื่องจากระดับฟอสเฟต /ฟอสฟอรัสที่สูงในโรคไตเรื้อรังจะยับยั้งการสังเคราะห์แคลซิไทรออล ทำให้เกิดการทำงานของกระดูกผิดปกติ จึงส่งผลทำให้ระดับฮอร์โมน PTH เพิ่มขึ้นเพื่อผลิตแคลซิไทรออลมากขึ้น  แต่ในช่วงที่ PTH สูงขึ้นนั้นจะส่งผลทำให้เกิดการสลายของมวลกระดูกขึ้น ซึ่งอาจมีผลทำให้กระดูกผุเรียกภาวะดังกล่าวว่า Secondary hyperparathyroidism ดังนั้นเมื่อยาแคลซิไทรออลเข้าสู่ร่างกายจะช่วยทำให้ลดการหลั่ง PTH ทำให้หยุดภาวะการสลายมวลกระดูกที่เกิดจากฮอร์โมน PTH ได้

ยาแคลซิไทรออลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์/รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาแคลซิไทรออล:

  • ยาฉีดสำหรับบริหาร/ให้ยาทางหลอดเลือดดำ (Intravenous injection ย่อว่า IV) ความแรง 1 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ขนาดบรรจุ 1 มิลลิลิตร
  • นอกจากนี้ยังมีรูปแบบรับประทานชนิดแคปซูล (Capsule), และชนิดแคปซูลชนิดนิ่ม (Soft-gelatin capsule) 0.25 ไมโคลกรัมต่อแคปซูล

ยาแคลซิไทรออลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ขนาดยาที่เหมาะสมต่อวันของยาแคลซิไทรออลจะถูกกำหนดอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยแต่ละรายจากแพทย์ โดยดูจากระดับแคลเซียมในเลือด

การรักษาด้วยยาแคลซิไทรออลจะเริ่มให้ยาจากระดับยาที่ต่ำที่สุดก่อนและจะค่อยๆเพิ่มขนาดยา โดยแพทย์จะดูจากการติดตามระดับแคลเซียมในเลือดอย่างใกล้ชิด เมื่อได้ขนาดยาที่เหมาะสมแล้ว จะมีการตรวจวัดระดับแคลเซียมในเลือดเป็นระยะๆ และเมื่อระดับแคลเซียมในเลือดสูงเกินกว่าระดับปกติ (ระดับปกติคือ 9 - 11 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) แพทย์อาจปรับลดขนาดยาหรือหยุดยานี้จนกว่าระดับแคลเซียมในเลือดจะกลับสู่ระดับปกติ และเริ่มยาแคลซิไทรออลอีกครั้งในขนาดที่ต่ำกว่าเดิมเมื่อระดับแคลเซียมในเลือดกลับมาต่ำกว่าปกติ

  1. ขนาดยาสำหรับการรักษาภาวะต่างๆดังต่อไปนี้ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): เช่น ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ(Hypocalcemia) จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ต่ำ หรือภาวะฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์สูงทุติยภูมิ (Secondary Hyperparathyroidism): ขนาดยาที่ใช้ แพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเด็กแต่ละราย ผู้ป่วยฯควรรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและตรงตามเวลา ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดยาหรือวิธีการรับประทานยาเอง
  2. ขนาดยาสำหรับการรักษาภาวะบกพร่องในการสร้างกระดูกอันเนื่องมาจากภาวะไตวาย (ในผู้ป่วยที่ฟอกเลือด/การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม) เช่น
  • ในผู้ใหญ่: เริ่มต้นที่ยาแคลซิไทรออลชนิดรับประทาน 0.25 ไมโครกรัม วันเว้นวันก็เพียงพอ และหากการตอบสนองในผลทางชีวเคมี (ผลจากตรวจเลือด) และอาการแสดงทางคลินิกยังไม่เพียงพอภายใน 2 - 4 สัปดาห์ แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาอีก 0.25 ไมโครกรัม/วันทุกๆระยะ 2 - 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองในขนาดยา 0.5 - 1 ไมโครกรัมต่อวัน หรือใช้แคลซิไทรออลชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 1 - 2 ไมโครกรัมวันเว้นวัน (หรือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์) หากการตอบสนองในผลทางชีวเคมีและอาการแสดงทางคลินิกยังไม่เพียงพอภาย ใน 2 - 4 สัปดาห์ แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาอีก 0.5 - 1 ไมโครกรัม/วันทุกๆระยะ 2 - 4 สัปดาห์
  1. ขนาดยาสำหรับการรักษาการขาดฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ และกระดูกน่วมกระดูกอ่อน เช่น

ในผู้ใหญ่: เริ่มต้นที่ยาแคลซิไทรออลชนิดรับประทาน 0.25 ไมโครกรัมวันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า หากการตอบสนองทางชีวเคมีและอาการแสดงทางคลินิกยังไม่เพียงพอ แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาในระยะเวลา 2 - 4 สัปดาห์หลังการเริ่มใช้ยานี้

  1. ขนาดยาสำหรับโรคกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน: เช่น ใช้ยาแคลซิไทรออลชนิดรับประ ทาน 0.25 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง ในระยะแรกของการใช้ยานี้แพทย์อาจตรวจเลือดดูระดับแคล เซียมและสารครีอะตินิน (Creatinine, ค่าการทำงานของไต) เป็นระยะๆเมื่อใช้ยาไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์, 3 เดือน และ 6 เดือน และอาจตรวจทุก 6 เดือนตลอดช่วงการใช้ยานี้เพื่อติดตามผลการ รักษาระดับแคลเซียมให้ปกติ

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

 เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาแคลซิไทรออล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลซิไทรออลอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • ประวัติการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินบาง ชนิดส่งผลต่อยานี้ เช่น ลดประสิทธิภาพการรักษา
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เนื่องจากยาแคลซิไทรออลมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ทั้งยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำและยาชนิดรับประ ทาน ณ ที่นี้จะกล่าวเฉพาะการลืมรับประทานยาชนิดรับประทานเท่านั้น

  • กรณีลืมรับประทานยาแคลซิไทรออลซึ่งเป็นยาที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวัน หาก ผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประ ทานยาวันละ 1 ครั้งเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 12.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไปเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 21.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 8.00 น. วันถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
  • กรณีลืมรับประทานยาแคลซิไทรออลซึ่งเป็นยาที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้งต่อวัน หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 2 ครั้งเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 12.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไปเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 20.00 น. ในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

ยาแคลซิไทรออลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง) ที่พบได้บ่อยจากยาแคลซิไทรออล คือ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) โดยขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่ได้รับยา ซึ่งอาจมีอาการต่างๆเช่น

  • อาการไม่พึงประสงค์ฯที่เกิดแบบเฉียบพลันหรือแบบเป็นครั้งคราว: เช่น เบื่ออาหาร ปวดหัว  อาเจียน ท้องผูก
  • อาการไม่พึงประสงค์ฯที่เกิดแบบเรื้อรัง: เช่น การรับรู้ต่างๆลดลง ปวดหัว มีไข้ กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย อาการของภาวะขาดน้ำ
  • อาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆจากยาแคลซิไทรออล: เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) มีผื่น แดง คัน หรือผื่นลักษณะคล้ายลมพิษ ซึ่งถ้ามีอาการในกลุ่มนี้ต้องรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาล

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลซิไทรออลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลซิไทรออล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยทุกรายที่มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) โดยต้องเป็นระดับ แคลเซียมที่ปรับตามระดับแอลบูมินในเลือด เช่น กรณีมีอัลบูมินต่ำและมีค่าแคลเซียมสูงกว่า 12 มิลลิ กรัมต่อเดซิลิตร
  • ระมัดระวังการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยแคลเซียมสูงหรือมีการเสริมอาหารด้วย แคลเซียม เนื่องจากอาจเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือดให้สูงเกินค่าปกติจนอาจก่อผลข้างเคียงในขณะที่กำลังใช้ยาแคลซิไทรออลอยู่
  • หากผู้ป่วยมีภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเรื้อรัง (Chronic Hypercalcemia) และใช้ยานี้ มีรายงานการเกิดภาวะวิตามินดีเกินขนาด (Vitamin D overdosage) ซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการเกิดหินปูนเกาะหลอดเลือดหรือเกาะอวัยวะภายในหรือภาวะแคลเซียมเกาะเนื้อไต (Nephrocalcinosis) ส่งผลให้อวัยวะต่างๆเหล่านั้นทำงานผิดปกติได้
  • การใช้ยานี้ในช่วงกำลังตั้งครรภ์/ให้นมบุตร ไม่มีการทดลองสนับสนุนที่เพียงพอเกี่ยวกับผลของการได้รับแคลซิไทรออลต่อการตั้งครรภ์และต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ ดังนั้นแพทย์จะใช้ยาแคลซิไทรออลเฉพาะกรณีที่จะมีผลดีเหนือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับตัวอ่อนเท่านั้น

       อนึ่ง คาดว่าแคลซิไทรออลที่ได้รับจากภายนอก (เช่น การใช้ยานี้) สามารถขับออกทางน้ำ นมได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของบุตรไม่ควรให้นมบุตรในระหว่างที่มารดากำลังได้รับยาแคลซิไทรออลอยู่ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำหรือขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

  • ระมัดระวังการมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงขณะใช้ยานี้ เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะสูญเสียน้ำ/ ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ในผู้ป่วยที่มีไตทำงานปกติหรือในผู้ป่วยที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคลซิไทรออล) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน 

ยาแคลซิไทรออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคลซิไทรออลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
1. การใช้วิตามินดีหรืออนุพันธุ์อื่นๆของวิตามินดีร่วมกับยาแคลซิไทรออลจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน
2. การใช้ยาแคลซิไทรออลร่วมกับยาขับปัสสาวะและ/หรือยาลดความดันโลหิตกลุ่ม                         ไทอะไซด์ (Thiazide diuretics) เช่นยา ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) จะส่งผลให้ระ ดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้นได้ ดังนั้นแพทย์อาจจำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อติดตามระดับแคลเซียมในเลือดเป็นระยะๆหากจำเป็นต้องใช้ยาทั้งสองร่วมกัน
3. ควรระมัดระวังการใช้ยาแคลซิไทรออลในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มไดจิทาลิส (Digitalis, ยาโรคหัวใจ) เช่นยา  ไดจอกซิน (Digoxin คือ ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ) เนื่องจากระดับแคลเซียมในเลือดที่สูงขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ดังนั้นแพทย์จะติดตามระดับแคลเซียมในเลือดเป็นระยะๆหากจำเป็นต้องใช้ยาทั้งสองร่วมกัน
4. การใช้ยาแคลซิไทรออลร่วมกับยาลดกรดชนิดน้ำสำหรับรับประทาน (Antacid) ที่มีส่วน ประกอบของแมกนีเซียม (เช่นยา Magnesium hydroxide) อาจส่งผลทำให้ระดับแมกนีเซียมในเลือดสูงจนเกิดอันตราย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดชนิดน้ำในช่วงที่กำลังใช้ยาแคลซิโทรออล อยู่
5. เมื่อใช้ยาแคลซิไทรออลร่วมกับยาโคเลสไทรามีน (Cholestyramine: ยาลดไขมัน) จะทำให้ลดการดูดซึมของวิตามินที่ละลายได้ในไขมันทางลำไส้ (ได้แก่ วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี,  วิตามินเค) ดังนั้นอาจเกิดการรบกวนการดูดซึมยาแคลซิไทรออลทางลำไส้ได้ แนะนำให้บริหารยา/ใช้ยาแคลซิไทรออลก่อนบริหารยาโคเลสไทรามีนอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง หรือหากบริหารยาโคเลสไทรามีนก่อนยาแคลซิไทรออลให้รออีกประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะบริหารยาแคลซิไทรออล

ควรเก็บรักษายาแคลซิไทรออลอย่างไร?

แนะนำเก็บยาแคลซิไทรออลทั้งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ ยาฉีด และยาเม็ดแคปซูล:

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิ ห้อง
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือ ห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาแคลซิไทรออลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคลซิไทรออล  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cacare 1 mcg/mL 1 mL injection Nang Kuang Pharma จำกัด
Calcit SG 0.25 mcg Soft gelatin capsule Zydus Cadila

 

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 21th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2013-14.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. Product Information:Calcit SG, Calcitriol, Zydus Cadila, Thailand.
  4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica;2013
  5. สินี ดิษฐบรรจง. ภาวะแคลเซียมสูงในเลือด (Hypercalcemia  https://www.rama.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/Hypercalcemia.pdf  [2021,Nov6]