เทโมโซโลไมด์ (Temozolomide)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 10 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาเทโมโซโลไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาเทโมโซโลไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเทโมโซโลไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเทโมโซโลไมด์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเทโมโซโลไมด์อย่างไร?
- ยาเทโมโซโลไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเทโมโซโลไมด์อย่างไร?
- ยาเทโมโซโลไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- นิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma)
- มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue sarcoma) / มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue sarcoma)
- ไกลโอมา เนื้องอกไกลโอมา (Glioma)
- โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งไฝ
- จีบีเอม มะเร็งสมองจีบีเอม (GBM: Glioblastoma Multiforme)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- เนื้องอกเน็ท มะเร็งเน็ท (NET or Neuroendocrine tumor)
- แอคิเลทติ้ง เอเจนท์ (Alkylating Agents)
บทนำ: คือยาอะไร?
สมองเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายในการควบคุมความคิด การเคลื่อนไหว รวมไปถึงการจดจำ เรียนรู้ และสั่งการการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายทั้งอวัยวะภายในร่างกายและอวัยวะภายนอก นอกจากเซลล์ประสาทแล้ว สมองยังมีเซลล์อื่นๆร่วมอยู่ด้วย เซลล์หนึ่งที่มีความสำคัญคือ เซลล์แอสโทรไซต์ (Astrocyte) ทำหน้าที่สำคัญในการคัดกรองสารที่อยู่ในหลอดเลือดเข้าสู่สมองและป้อนให้กับเซลล์ประสาท หากถ้าเซลล์นี้เกิดความผิดปกติก็อาจทำให้เกิดเป็นเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมองได้ทั้งชนิดที่รุนแรงที่เรียกว่า แอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา (Anaplastic Astrocytoma) และชนิดที่รุนแรงที่สุดคือ ชนิด กลัยโอบลาสโทมามัลทิฟอร์เม (Glioblastoma Multiforme หรือ Glioblastoma หรือย่อว่า GBM/จีบีเอม) ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคเนื้องอกสมองเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด
ยาเทโมโซโลไมด์ (Temozolomide) ซึ่งในต่างประเทศมีชื่อการค้า เช่นTemodar, Temodal, Temcad จัดเป็นยาต้านมะเร็งในกลุ่ม แอคิเลทติ้ง-เอเจนท์ (Alkylating Agent) คือยาฆ่าเซลล์มะเร็งที่ทำให้ดีเอ็นเอ/DNA ของเซลล์มะเร็งซึ่งเป็นสารรหัสพันธุกรรมเกิดความไม่คงตัวและแตกออก นำไปสู่การตายของเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง
ปัจจุบันยาเทโมโซโลไมด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายไทย ใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์ด้านโรคมะเร็งเท่านั้น
ยาเทโมโซโลไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเทโมโซโลไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
ก. รักษาเนื้องอก/ มะเร็งสมองชนิดกลัยโอบลาสโทมามัลทิฟอร์เม/จีบีเอม (Glioblastoma Multiforme/ GBM)
ข. รักษาเนื้องอก/ มะเร็งสมองชนิดแอนนาพลาสติกแอสโตรไซต์โตมา (Anaplastic Astrocytoma/ ไกลโอมาชนิดรุนแรง)
นอกจากนี้ยังมีการใช้สำหรับรักษาโรคอื่นๆนอกเหนือจากข้อบ่งใช้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน (Unlabeled Use) เช่น
ก. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องกับทีเซลล์ (Cutaneous T-cell lymphomas; ทีเซลล์เป็นหนึ่งในเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย)
ข. มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/มะเร็งไฝ (Melanoma) ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง
ค. มะเร็งของเส้นประสาทชนิดมักพบในเด็ก นิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma; อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเด็ก)
ง. เนื้องอกของต่อมไร้ท่อ (Neuroendocrine Tumors) หรือ มะเร็ง/ เนื้องอกเน็ท (NETs)
จ. มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue Sarcoma)
ยาเทโมโซโลไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเทโมโซโลไมด์คือ ตัวยาจะเป็นโปรดรัก (Pro-drug) กล่าวคือ ตัวยาอยู่ในรูปไม่ออกฤทธิ์ ต่อเมื่อเข้าสู่ร่างกายจึงจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปออกฤทธิ์ โดยยาจะเติมหมู่อัลคิล (Alkylating Agent; หมู่ทางยาเคมีบำบัดชนิดหนึ่ง) เข้าสู่ดีเอ็นเอ/DNA ของเซลล์เนื้องอก (ดีเอ็นเอคือสารรหัสพันธุกรรม) ทำให้ดีเอ็นเอเกิดความไม่คงตัวและแตกออกนำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็ง
ยาเทโมโซโลไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเทโมโซโลไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
ก. เภสัชภัณฑ์ยาแคปซูลรับประทาน ขนาดความแรง 5, 20, 100, 140, 180 และ 250 มิลลิกรัม
ข. เภสัชภัณฑ์ยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุ
ยาเทโมโซโลไมด์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาเทโมโซโลไมด์มีขนาดรับประทาน/ใช้ยาขึ้นอยู่กับข้อบ่งใช้, ชนิดของโรคมะเร็ง, อาการแสดงของโรค, ความรุนแรงของโรค, และขนาดพื้นที่ผิวของร่างกาย, ซึ่งเป็นวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษาต่อผู้ป่วยเฉพาะรายไป
ขนาดยานี้โดยทั่วไปทั้งเภสัชภัณฑ์ชนิดแคปซูลรับประทานและชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำคือ 75 - 200 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวหนึ่งตารางเมตรต่อวัน (mg/m2/day)
ทั้งนี้รับประทานยานี้ขณะท้องว่างก่อนนอนร่วมกับน้ำดื่มหนึ่งแก้ว โดยกลืนยาทั้งแคปซูล ห้ามบด เคี้ยว หรือหักเม็ดยาเป็นอันขาด
ก. วิธีการบริหารยา/ใช้ยาชนิดรับประทาน: อาจบริหารเป็นวงจร ตัวอย่างเช่น รับประ ทานยาต่อเนื่อง 5 วันและหยุดเว้นยา 23 วัน เป็นหนึ่งรอบวงจรของยา (28 วัน) และผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยามากกว่า 1 แคปซูลต่อครั้งจากแคปซูลที่มีความแรงแตกต่างกันเพื่อให้ได้รับขนาดยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ยาแคปซูลแต่ละความแรงของยาอาจมีสีที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจวิธีการรับประทานยาให้ถูกต้องจากเภสัชกรเมื่อรับยา หากสงสัยถึงวิธีการรับประทานยาให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรทันที
หากแคปซูลเกิดการแตกหักหรือมีตัวยาไหลออกมาจากแคปซูล ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสยาเหล่านี้โดยตรง หากเกิดการสัมผัสโดยตรงกับร่างกายให้ล้างออกทันทีด้วยน้ำเปล่า/สะ อาด
ข. วิธีบริหารเภสัชภัณฑ์ชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ: เภสัชภัณฑ์ชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำผู้ป่วยจะต้องได้รับยาในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยระยะการให้ยาแต่ละครั้งนานประมาณ 90 นาทีต่อครั้ง การรับยาอาจบริหารเป็นลักษณะวงจรและขนาดการให้ยาเช่น เดียวกับชนิดแคปซูลรับประทาน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยควรเข้ารับยาตามนัดหมายจากแพทย์อย่างเคร่งครัด
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาเทโมโซโลไมด์ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และสมุนไพรต่างๆ เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ ยาเทโมโซโลไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?)
- ประวัติโรคเรื้อรังต่างๆโดยเฉพาะโรคตับและโรคไต
- แจ้งให้แพทย์ทราบหาก กำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รวมไปถึงผู้ป่วยชายที่วางแผนที่จะมีบุตรด้วย
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเทโมโซโลไมด์ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลผู้ทำการรักษาดู แลทราบเพื่อขอคำแนะนำ แต่ห้ามรับประทานยาในมื้อถัดไปเป็น 2 เท่าเพื่อทดแทนมื้อยาที่ขาดไป
อนึ่งหากลืมเข้ารับการบริหารยาตามนัดหมายสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดหยดเข้าหลอดเลือดดำ ให้รีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาล/โรงพยาบาลทราบโดยทันทีเพื่อเข้ารับยาโดยเร็วที่สุด
ยาเทโมโซโลไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเทโมโซโลไมด์อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)บางประการ เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องผูกหรือท้องเสีย
- การรับรสอาหารเปลี่ยนไปหรือสูญเสียการรับรสชาติ
- เกิดแผลในเยื่อบุภายในช่องปากและลำคอ
- ปวดหัว
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- มึนงง
- ผมร่วง
- นอนไม่หลับ
- การมองเห็นภาพเปลี่ยนไป
- เกิดปัญหาด้านการจดจำ
*ทั้งนี้ หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
*ยาเทโมโซโลไมด์อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง เช่น เกิดอาการเลือดไหล/เลือดออกง่าย สังเกตได้จากการเกิดรอยฟกช้ำหรือจ้ำเลือดตามผิวหนัง, ถ่ายอุจจาระที่เหนียวและมีสีดำเข้มหรือมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด, อาเจียนแบบมีเลือดปนหรือสีเหมือนกาแฟ/อาเจียนเป็นเลือด, ผู้ป่วยอาจมีอาการเหมือนเป็นโรคหวัดบ่อยๆ เช่น มีไข้ เจ็บคอ/คออักเสบ แน่นหน้าอก หรือมีอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก, เป็นลมชัก, ปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีอาการเหมือนโรคดีซ่าน, หรือมีปัสสาวะน้อยลง, ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉินเมื่อมีอาการรุนแรงดังกล่าว
รวมไปถึงการรับประทานยานี้แล้วเกิดการแพ้ยาที่อาการแสดง เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว, อาการบวมบริเวณเปลือกตา/หนังตาและ/หรือริมฝีปาก, หายใจไม่สะดวกติดขัด, ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉินเช่นกัน
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเทโมโซโลไมด์ชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ฯอีกประการคือ ที่ตำแหน่งบริเวณการให้ยา เช่น มีรอยจ้ำห้อเลือดหรือปวด อาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเองในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอา การรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทโมโซโลไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทโมโซโลไมด์ เช่น
- ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับและโรคไต
- ไม่ใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตร
- สำหรับสตรีที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์หรือกำลังมีครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนการใช้ยานี้เนื่องจากยานี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้
- ยานี้สามารถถูกขับออกมาได้ร่วมกับน้ำอสุจิ(อสุจิ-น้ำกาม)ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนหากเกิดการปฏิสนธิ ผู้ป่วยชายควรวางแผนครอบครัวร่วมกับฝ่ายหญิงระหว่างการใช้ยานี้ ปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิดรวมยาเทโมโซโลไมด์ ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเทโมโซโลไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเทโมโซโลไมด์อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ เช่น
ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่มร่วมกับยาเทโมโซโลไมด์: เช่น วัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine, วัคซีนที่ยังมีเชื้อโรคอยู่แต่เป็นเชื้อที่อ่อนแรงที่ไม่สามารถก่อโรคได้ในคนปกติ), ยาโคลซาพีน (Clozapine) และยาอื่นที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) ยาพิโมโครไลมัส (Pimecrolimus) เนื่องจากผู้ป่วยที่ใช้ยาเทโมโซโลไมด์โดยทั่วไปจะมีระดับภูมิคุ้มกันฯต่ำกว่าปกติ การใช้ยาร่วมกับวัคซีนเชื้อเป็น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคจากวัคซีน ยาโคลซาพีนเองก็มีผลข้างเคียงอาจลดจำนวนเม็ดเลือดขาว หรือยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆก็จะกดระดับภูมิคุ้มกันฯลง อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเกิดการติดเชื้อโรคเพิ่มขึ้น
ข. ยาบางกลุ่มมีผลต่อระดับยาเทโมโซโลไมด์ในกระแสเลือด: ยาบางชนิดอาจทำให้ระดับยาเทโมโซโลไมด์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น เช่น ยารักษาโรคกระดูกพรุน ที่ชื่อยาดีโนซูแมบ/Denozumab; ยารักษาอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เช่น ยาพิโมโครไลมัส/Pimocrolimus ยาทาโครไลมัส/Tacrolimus; ยาลดอาการอักเสบและรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี (Chronic Obstructive Pulmonary Disease; COPD) เช่น ยาโรฟูมิลาส/Rofumilast; ยารักษาโรคมะเร็งเต้านม เช่น ยาทราสทูซูแมบ/Trastuzumab; ยาที่เป็นอนุพันธ์ของกรดวัลโพรอิก/ Valproic Acid เช่น ยาโซเดียมวาลโพรเอด/Sodium Valproate ซึ่งเป็นยากันชัก/ยาต้านชัก เป็นต้น ซึ่งต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยาเทโมโซโลไมด์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษายาเทโมโซโลไมด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเทโมโซโลไมด์ เช่น
ก.ชนิดแคปซูล:
- เก็บยานี้ในที่แห้ง อุณหภูมิห้อง (ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส/Celsius)
- หลีกเลี่ยงการเก็บยาใกล้กับสถานที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ หรือ ห้องครัว
- เก็บยานี้ในภาชนะบรรจุที่ผู้ผลิตจัดไว้ให้ ขวดยาได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องยาจากความชื้นในสิ่งแวดล้อม ปิดฝาภาชนะให้สนิทตลอดเวลา
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ข.ชนิดยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ:
- เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
- ภายหลังการผสมใช้แล้ว ยามีความคงตัว ณ อุณหภูมิห้องเป็นเวลาประมาณ 14 ชั่วโมง การให้ยาโดยทั่วจึงควรกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว
- ปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงวิธีการเก็บรักษายาเพิ่มเติม
ยาเทโมโซโลไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเทโมโซโลไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ทีโมดัล (Temodal) | บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด |
โซโลเทม (Zolotem) | บริษัท อัลลายแอนซ์ ฟาร์มา จำกัด |
บรรณานุกรม
- ศรีณย์ นันทอารี. เนื้องอกสมองสำหรับประชาชนตอนที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
- American Pharmacists Association. Temozolomide. Drug Information Handbook with Trade names index. 23;2014:2025-2028”
- https://www.nice.org.uk/guidance/ta23/resources/guidance-on-the-use-of-temozolomide-for-the-treatment-of-recurrent-malignant-glioma-brain-cancer-pdf-2294454507973 [2022,April16]
- https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/cancer-drugs/drugs/temozolomide [2022,April16]
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/7027 [2022,April16]
- https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/t/temodar_capsules/temodar_ppi.pdf [2022,April16]
- http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503183704.pdf [2022,April16]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=5000146&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,April16]