นิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 29 มิถุนายน 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมามีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมามีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมารุนแรงไหม?
- รักษาโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาอย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาไหม?
- ป้องกันโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาอย่างไร?
- ดูแลผู้ป่วยมะเร็งนิวโรบลาสโตมาอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
- คาร์ซิโนมา มะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma)
- ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
บทนำ :คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งนิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma) เป็นโรคมะเร็งในเด็กที่พบบ่อย เกิดจากเซลล์ตัวอ่อนของระบบประสาท(Embryonic neural creast cell)ที่เรียกว่า Neuroblast ที่จะเจริญต่อไปเป็นปมประสาท(Ganglion)ของประสาทซิมพาทีติค(Sympathetic nervous system)ที่กระจายอยู่ด้านข้างทั้งซ้ายและขวาตลอดความยาวของกระดูกสันหลัง รวมทั้งเป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อส่วนหนึ่งของต่อมหมวกไต (Adrenal gland) ดังนั้น โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาจึงเกิดได้ทั่วร่างกายตามแนวสองข้างซ้ายขวาของกระดูกสันหลัง และที่ต่อมหมวกไต
อนึ่ง ระบบประสาทซิมพาทีติค คือ ระบบประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย เช่น การบีบตัวของลำไส้ การเต้นของหัวใจ และยังเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาที่ตองสนองต่อตัวกระตุ้นจากภายนอกร่างกาย เช่น ความเครียด ความกลัว ความกังวล การตกใจ เป็นต้น
มะเร็งนิวโรบลาสโตมา เป็นโรคมะเร็งในเด็ก พบเป็นประมาณ 6-10%ของมะเร็งในเด็กทั้งหมด ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งวิมส์ โดยมีการศึกษาพบว่า ประมาณ 40% ของ มะเร็งนิวโรบลาสโตมา พบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี, ประมาณ 35%พบในอายุ 1-2 ปี, ประมาณ 25%พบในอายุมากกว่า 2 ปี, โดยพบในอายุมากกว่า 10 ปีและในผู้ใหญ่ได้น้อยมาก ทั้งนี้โรคพบได้ในเด็กผิวขาวสูงกว่าในเด็กผิวดำ และพบในเด็กชายบ่อยกว่าในเด็กหญิงเล็กน้อย ประมาณ 1.2:1
ในประเทศไทยรายงานในปี พ.ศ. 2546 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบโรคนี้ในเด็กไทยทั้งหมด 6.3 รายต่อประชากรเด็กไทย 1 ล้านคน
โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
สาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา ยังไม่ทราบ แต่การศึกษาเชื่อว่าน่าเกิดจากความผิดปกติจากพันธุกรรมทั้งชนิดถ่ายทอดได้ เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในเด็กที่ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดนี้, และอาจจากพันธุกรรมที่ผิดปกติเฉพาะตัวเด็กเอง เพราะพบมีจีน/ยีน (Gene) ผิดปกติชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘N Myc gene’ ซึ่งเป็นจีนที่ใช้เป็นตัวบอกว่าโรคนี้รุนแรง
ทั้งนี้ได้มีการศึกษาถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆของบิดามารดาในช่วงมีการผสมของไข่กับอสุจิ หรือจากมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น อาชีพ การได้รับสารเคมีต่างๆ ยาต่างๆ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ฮอร์โมน และประเภทอาหารที่มารดาบริโภค แต่ก็ไม่พบว่ามีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แน่นอน ชัดเจน ต่อการเกิดมะเร็งนิวโรบลาสโตมา
โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมามีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของมะเร็งนิวโรบลาสโตมา ได้แก่
- การคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติในตำแหน่งของปมประสาทซิมพาทีติคที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ บทนำฯ’ ก้อนเนื้อนี้จะไม่เจ็บ
- ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำๆ และอาจมีท้องเสียร่วมด้วย
นอกจากนั้น จะเป็นอาการตามตำแหน่งที่เกิดโรค เช่น
- ถ้าโรคเกิดในช่องอก เด็กอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงผิดปกติ และ/หรือ ไอเรื้อรัง
- ถ้าโรคเกิดในต่อมหมวกไต มักคลำได้ก้อนในช่องท้อง
- ถ้าโรคเกิดในเนื้อเยื่อตาจะพบมีตาบวม และหนังตาตก
- มีอาการปวด/เจ็บกระดูกจนเด็กร้องโยเย และไม่ยอมเดิน เมื่อโรคนี้แพร่กระจายเข้าสู่กระดูก เป็นต้น
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
เมื่อเด็กมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะการคลำได้ก้อนเนื้อตามส่วนต่างๆของร่างกาย ต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาได้จาก
- ประวัติอาการ
- การตรวจร่างกาย แล้วคลำพบก้อนเนื้อ
- การตรวจหาสารมะเร็งนี้ในเลือด และในปัสสาวะ (โรคมะเร็งชนิดนี้สร้างสารมะเร็งที่เรียกว่า Catecholamines ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในเลือดและในปัสสาวะ) ซึ่งสารมะเร็งนี้จะแตกตัว (Metabolite) ให้เป็นสารชื่อ Homovanillic acid (HVA) และสาร Vanillylmandelic acid (VMA)ที่สามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะ
- การตรวจภาพอวัยวะที่เกิดโรคด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ แต่การวินิจฉัยที่แน่นอน จะได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
- การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- ตรวจภาพปอดด้วย เอกซเรย์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- และตรวจภาพกระดูกทั้งตัว (Bone scan หรือ เอกซเรย์) เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่อวัยวะเหล่านี้
โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมามีกี่ระยะ?
การจัดระยะโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา มีได้หลายระบบ แต่ระบบที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ระบบ คือ
- The International Neuroblastoma staging system (INSS) ซึ่งเป็นระบบเดิม ปัจจุบันความนิยมใช้ลดลง และ
- The International Neuroblastoma Risk Group Staging System (INRGSS) เป็นระบบที่ปัจจุบันแพทย์นิยมใช้มากกว่า
ก. INSS/ไอเอนเอสเอส (International Neuroblastoma staging system) โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะ1: ก้อนมะเร็งอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย คือ ซ้าย หรือขวา ผ่าตัดออกได้หมด และไม่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ระยะ2: แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะ2A: ผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ไม่หมด แต่โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ
- ระยะ2B: มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองด้านเดียวกับก้อนมะเร็งแล้ว
- ระยะ3: โรคลุกลามทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของร่างกาย
- ระยะ4: โรคแพร่กระจายตามกระแสโลหิต ไปยัง ไขกระดูก กระดูก ตับ และ/หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากอวัยวะต้นกำเนิดมะเร็ง และในระยะ 4นี้จะมีกลุ่มผู้ป่วยที่โรคมีความรุนแรงน้อย ใกล้เคียงผู้ป่วยระยะที่ 2 ซึ่งเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า ระยะ 4S
- ระยะ4S:คือ โรคมะเร็งระยะ 1,2A,2B และผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งมีโรคแพร่กระจายเข้าสู่ ผิวหนัง ตับ และ/หรือ ไขกระดูก (โดยต้องแพร่กระจายน้อยกว่า 10%ของเซลล์ ไขกระดูก) ทั้งนี้ S= Special
ข. กลุ่มแพทย์เฉพาะทางด้านโรคนี้จากนานาชาติ The International Neuroblastoma Risk Group (INRG)ได้ร่วมกันจัดระยะโรคใหม่ตามปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค โดยผู้ป่วยทุกรายต้องได้รับการตรวจช่องท้องด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป หัวข้อ ความรุนแรงของโรค) เรียกว่าเป็นการจัดระยะโรคตามปัจจัยความรุนแรงของโรค หรือ การจัดระยะโรคในระบบ The International Neuroblastoma Risk Group Staging System (INRGSS) โดยแบ่งโรคเป็น 4 ระยะคือ
- ระยะL1: โรคจำกัดเฉพาะที่ และไม่มีปัจจัยที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ L=Localized disease
- ระยะL2: โรคจำกัดเฉพาะที่ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคที่รุนแรง
- ระยะM: โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั้งนี้ M= Metastatic disease
- ระยะMS: คือ ระยะ 4S เช่นเดียวกับในการจัดระยะโรคด้วยระบบ INSS
โรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมารุนแรงไหม?
มะเร็งนิวโรบลาสโตมามีความรุนแรงโรค/การพยากรณ์โรคได้หลากหลาย ตั้งแต่การพยากรณ์โรคที่ดี ไปจนถึงการพยากรณ์โรคเลว ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย
ก. ปัจจัยต่อความรุนแรงของมะเร็งนิวโรบลาสโตมา มีหลายปัจจัย เช่น
- ระยะโรค: ระยะสูงขึ้น โรคยิ่งรุนแรง
- อายุ: อายุต่ำกว่า 18 เดือนโรครุนแรงน้อยกว่า
- การมีจีน N Myc, โรครุนแรงกว่า
- การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Tumor grade): เซลล์ที่แบ่งตัวสูง โรคจะรุนแรงกว่า
- ในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 2ปี ผู้มีจำนวน ดีเอ็นเอ/DNAในเซลล์มะเร็งสูงจะมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่า
ข.ความรุนแรงของโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มมีความรุนแรงโรคต่ำ (Low risk group): ได้แก่ ผู้ป่วยระยะที่1,2, เซลล์มะเร็งเป็นชนิดไม่รุนแรง, และไม่มีจีน N Myc, โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 95%
- กลุ่มมีความรุนแรงโรคปานกลาง (Intermediate risk group): ได้แก่ โรคในระยะที่ 3 หรือ 4 ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 1 ปี โดยอัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ประมาณ 85-90%
- กลุ่มมีความรุนแรงโรคสูง (High risk group): คือ ผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปที่มีโรคแพร่กระจาย หรือ ถ้าโรคยังไม่แพร่กระจาย แต่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดความรุนแรงสูง และเป็นผู้ป่วยซึ่งมีความผิดปกติในพันธุกรรม คือ มีจีน N Myc โดยอัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 40-50%
รักษาโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาอย่างไร?
การรักษาโรคมะเร็งนิวโรคบลาสโตมา ขึ้นกับปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค โดย
ก. โรคกลุ่มความรุนแรงต่ำ: จะใช้การผ่าตัดรักษาเพียงวิธีการเดียว ตามด้วยการตรวจติดตามจากแพทย์เป็นระยะๆเพื่อคอยเฝ้าติดตามโรค
ข.โรคในกลุ่มมีความรุนแรงปานกลาง และกลุ่มความรุนแรงสูง: การรักษา คือ การผ่าตัดร่วมกับยาเคมีบำบัด และอาจร่วมกับรังสีรักษาเป็นกรณีไป( เช่น กรณีผ่าตัดไม่ได้ หรือ ผ่าตัดได้ไม่หมด) เป็นต้น
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งนิวโรบลาสโตมาจะขึ้นกับแต่ละวิธีของการรักษา คือ
- การผ่าตัด: ผลข้างเคียง คือ การสูญเสียอวัยวะ, แผลผ่าตัดเลือดออก, แผลผ่าตัดติดเชื้อ, และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
- ยาเคมีบำบัด: ผลข้างเคียง คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ผมร่วงจากยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา), ภาวะซีด มีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)
- รังสีรักษา: คือ ผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนได้รับรังสี ซึ่งจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับว่าเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะใด เช่น ช่องท้อง หรือ ช่องอก เป็นต้น (แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง รังสีรักษา) ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่เกิดจากรังสีรักษา จะคล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่ แต่โอกาสเกิดผลข้างเคียงจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งนิวโรคบลาสโตมา เป็นปริมาณรังสีค่อนข้างต่ำกว่าที่ใช้รักษาโรคมะเร็งในผู้ใหญ่มาก
- การรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า: การใช้ยานี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาไหม?
ในอดีต เคยมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาในเด็กอ่อนด้วยการตรวจปัสสาวะหาสารมะเร็งของโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา คือ สาร HVA และสาร VMA แต่ต่อมาพบว่า การตรวจคัดกรองไม่ได้เพิ่มอัตรารอดที่ห้าปี หรือลดอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนั้นยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และเป็นปัญหาในการดูแลเด็กอีกด้วย โดยทำให้เด็กได้รับการตรวจรักษาที่ไม่จำเป็น และมากเกินเหตุ ดังนั้น ปัจจุบันจึงยังไม่มีองค์กรใด แนะนำการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งนิวโร บลาสโตมา
ป้องกันโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมาอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา ดังนั้นผู้ปกครอง จึงต้องเป็นผู้ให้ความเอาใจใส่ดูแลเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกเล่าอาการได้ ซึ่งเมื่อพบอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะการคลำพบก้อนเนื้อ ไม่ว่าจะเกิดในตำแหน่งใดของร่างกายก็ตาม ควรต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่า และยังเป็นวิธีรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
ดูแลผู้ป่วยมะเร็งนิวโรบลาสโตมาอย่างไร?
เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังเป็นเด็กเล็ก การดูแลจึงต้องอาศัย บิดามารดา ญาติพี่น้อง ซึ่งต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ที่ให้การรักษาผู้ป่วย
ดังนั้น ผู้ดูแลเด็ก ต้องมีสมุดจดบันทึกอาการเด็ก และข้อสงสัย เพื่อการสอบถามแพทย์ พยาบาล ได้ครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งควรจดบันทึกคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลด้วย เพื่อการดูแลเด็ก
ผู้ดูแลเด็กต้องเพิ่มการสังเกตอาการต่างๆของเด็ก เพราะเด็กจะเล็กเกินกว่าจะบอกเล่าได้ ซึ่งเมื่อพบเด็กมีอาการผิดปกติไปจากเดิม ควรต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ
บรรณานุกรม
- Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
- Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
- Halperin,E. et al. (2005).Pediatric radiation oncology. London: Lippincott Williams&Wilkins.
- Sriplung, H. et al. (2003). Cancer in Thailand. Volume.III, 1995-1997. Thai National Cancer Institute.
- https://www.cancer.org/cancer/neuroblastoma/detection-diagnosis-staging/staging.html [2019,June29]
- https://www.cancer.org/cancer/neuroblastoma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,June29]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Neuroblastoma [2019,June29]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Sympathetic_nervous_system [2019,June29]