เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร?

เนื้องอกสมอง (Brain tumor) คือ เนื้องอกที่เกิดในสมอง ทั่วไปแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ เนื้องอกทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign brain tumor) ซึ่งพบประมาณ 2/3ของเนื้องอกสมองทั้งหมด  ส่วนอีกกลุ่มพบได้ประมาณ 1/3ของเนื้องอกสมอง คือ มะเร็งสมอง (Brain cancer หรือ Malignant brain tumor)

ก. เนื้องอกสมองชนิดไม่ใช่มะเร็ง: เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย มีหลายชนิดย่อย  อย่างไรก็ตาม เราสามารถแบ่งเนื้องอกสมองฯได้อย่างง่ายๆเป็น 2 ชนิด คือ

  • เนื้องอกของตัวเนื้อสมองเอง
  • เนื้องอกของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆเนื้อสมอง เช่น เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma) และเนื้องอกเส้นประสาทต่างๆ/นิวโรมา(Neuroma)

เนื้องอกสมอง เยื่อหุ้มสมอง และเส้นประสาท เป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง เซลล์เนื้องอกมีการเจริญเติบโตช้า ไม่สามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด  ได้ แต่เมื่อก้อนเนื้องอกมีขนาดโตมากขึ้น อาจกดเบียดทับตัวเนื้อสมองข้างเคียงได้ อย่างไรก็ตามเนื้องอกสมองเหล่านี้จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงมากกว่าเนื้องอกของอวัยวะอื่นๆ เพราะสมองเป็นอวัยวะสำคัญ มีหน้าที่ในการควบคุมอวัยวะต่างๆของร่างกาย เนื้องอกเหล่านี้จึงส่งผลต่อการดำรงชีวิตของเราได้สูงกว่า

ข. ส่วนมะเร็งสมองนั้น ก็สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดเหมือน กัน คือ

  • มะเร็งของตัวเนื้อสมองเอง อีกชื่อ คือ มะเร็งสมองปฐมภูมิ (Primary malignant brain tumor) และ
  • โรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ หรือ โรคมะเร็งสมอง ทุติยภูมิ (Secondary malignant brain tumor หรือ Brain metastasis) เช่น แพร่กระจายมาจาก  มะเร็งปอด  มะเร็งเต้านม และ มะเร็งต่อมไทรอยด์

ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘เนื้องอกสมอง และ มะเร็งสมองชนิดปฐมภูมิ’ ที่ในภาษาแพทย์เรียกรวมกันว่า "Brain tumor" ไปด้วยกัน โดยต่อไปขอเรียกโรคนี้ว่า "เนื้องอก/มะเร็งสมอง" ทั้งนี้เพราะโดยธรรมชาติของโรคทั้งสองชนิดเกี่ยวพันกัน, มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง, อาการ, วิธีวินิจฉัย, และวิธีรักษา เช่นเดียวกัน, ส่วนโรคมะเร็งสมองทุติยภูมิที่ไม่ได้กล่าวถึงนั้น ก็คือโรคมะเร็งของแต่ละเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ซึ่งจัดเป็นโรคมะเร็งนั้นๆในระยะที่ 4 (ระยะมีการแพร่ กระจายของโรคไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย) ดังนั้นจึงแตกต่างกันออกไปขึ้นกับว่าเป็นโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด ซึ่งแนะนำอ่านได้ใน บทความเรื่องโรคมะเร็งของแต่ละเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆจากเว็บ haamor.com   เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

เนื้องอก/มะเร็งสมองมักพบในใคร? พบบ่อยไหม?

เนื้องอก/มะเร็งสมองสามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งวัยผู้สูงอายุ แต่มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของโรค เช่น เนื้องอกบางชนิดมักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น  Medulloblastoma แต่เนื้องอกบางชนิดมักพบในผู้ใหญ่ เช่น Glioblastoma multiforme หรือเรียกย่อว่า จีบีเอ็ม (GBM)   

ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานพบมะเร็งสมองในผู้ใหญ่แต่ละปีประมาณ 7-19 รายต่อประชากร1แสนคน, พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 1.5 เท่า, ส่วนในเด็กแต่ละปีพบประมาณ 3.6 รายต่อประชากรเด็ก1แสนคน

อนึ่ง: ในผู้ใหญ่ โรคมะเร็งที่พบที่สมอง มักเป็นโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆที่แพร่กระจายมาที่สมอง (ระยะ 4/โรคมะเร็งสมองทุติยภูมิ)มากกว่ามะเร็งสมองชนิดเกิดจากเซลล์เนื้อสมองเอง (มะเร็งสมองปฐมภูมิ) ประมาณ 2 เท่า

อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของเนื้องอก/มะเร็งสมอง?

ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเนื้องอก/มะเร็งสมอง แต่มีการศึกษาพบว่า มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับรังสีต่างๆ, การฉายรังสี (รังสีรักษา)ที่สมองในวัยเด็ก, สารพิษจากโรงงานผลิตยาง, หรือสารพิษจากโรงงานกลั่นน้ำมัน
  • อายุ: ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งสมอง (มะเร็งสมองปฐมภูมิ) และเป็นโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาสมอง (มะเร็งสมองทุติยภูมิ) มากกว่าคนอายุน้อย
  • พันธุกรรม: โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางโรคที่ทำให้เกิดเนื้องอกในหลายๆเนื้อเยื่อ/อวัยวะรวมทั้งในสมอง เช่น โรค Von Hippel-Lindau Syndrome แต่อย่างไรก็ตามเนื้องอก/มะเร็งสมองชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นพบได้น้อยมากๆ และเป็นเพียงโอกาสของการเป็นเนื้องอก/มะเร็งของสมองสูงกว่าคนทั่วๆไปเท่านั้น ไม่ใช่ญาติพี่น้องต้องเป็นโรคทุกคน
  • ปัจจัยอื่นๆ: คือ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ ก็ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะเพิ่มโอกาสให้มีโรคมะเร็งแพร่กระจายมาที่สมอง (มะเร็งสมองทุติยภูมิ) เพิ่มขึ้นได้ด้วย

เนื้องอก/มะเร็งสมองมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้ในผู้ป่วยเนื้องอก/มะเร็งสมอง ทั่วไปจะมีกลุ่มอาการที่สำคัญ 3 ลักษณะอาการหลัก คือ

  • อาการปวดหัว: เป็นอาการที่พบบ่อย และมักพบอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยลักษณะของการปวดหัวนั้น มักมีอาการปวดในตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือช่วงหลับตอนกลางคืน จนอาจทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นมาได้, และอาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆหากไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากรอยโรคมีขนาดขยายใหญ่ขึ้นๆ, บางรายอาจมีการมองเห็นผิดปกติ หรือสูญเสียการมองเห็นแบบฉับพลันร่วมกับอาการ ปวดหัวได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค
  • การเปลี่ยนแปลงทางความคิด และพฤติกรรม: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่เกิดโรค เช่น
    • ถ้ามีโรคในส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ แขน ขา ก็อาจทำให้มีอาการชา หรือมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา
    • ถ้ามีรอยโรคในส่วนที่ควบคุมการพูดคุย ก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียความสามารถในการรับรู้ การพูดคุย หรือการอ่านเขียน
    • ถ้ามีรอยโรคที่เกี่ยวกับการทรงตัว ก็อาจทำให้มีการเดินเซได้ หรือ
    • ถ้ามีโรคในส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ก็จะมีอารมณ์ แปรปรวน ผิดปกติได้
  • อาการชัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
    • อาการชักทั้งตัว: อาจพบมีการหมดสติหลังการชัก และ/หรืออาจมีปัสสาวะ อุจจาระโดยไม่รู้ตัวได้ด้วย
    • อาการชักเฉพาะที่: คือ กล้ามเนื้อมัดหนึ่งมัดใดมีการสั่น/กระตุกผิดปกติโดยไม่สามารถควบคุมได้ เช่น นิ้วต่างๆนิ้วใดนิ้วหนึ่ง หรือหลายนิ้ว หรือ เท้าสั่นกระตุก ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งของโรค ซึ่งอาการชักเฉพาะที่นั้น อาจนำไปสู่การชักทั้งตัวได้เมื่อรอยโรค/ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหมดสติเฉียบพลัน และอาจร่วมกับมีอาการอื่นๆคล้ายกับอาการของโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น แขน ขา อ่อนแรง หน้าชา พูดไม่ชัด ปัสสาวะ อุจจาระเองไม่ได้

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอก/มะเร็งสมองได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง ได้จาก

  • ประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน และ/หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอ(MRI) เพื่อดูรอยโรคและการลุกลามของโรคไปยังบริเวณอื่นๆในสมอง  
    • ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องได้รับการตรวจภาพไขสันหลัง และ/หรือ การตรวจน้ำไขสันหลัง(การเจาะน้ำไขสันหลัง)ร่วมด้วย หากโรคที่ผู้ป่วยเป็นนั้น มีโอกาสแพร่กระจายมาที่ไขสันหลัง และ/หรือ น้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง (ซีเอสเอฟ/CSF) ได้สูง
  • การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อสมองเพื่อการตรวจทางพยาธิ เพื่อให้ทราบการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนและทราบถึงชนิดของเนื้องอก/มะเร็ง
    • ในผู้ป่วยบางราย หากรอยโรคอยู่ในบริเวณที่อันตรายถึงชีวิตถ้าตัดชิ้นเนื้อ เช่น บริเวณก้านสมอง และลักษณะที่พบในเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ บ่งชี้เป็นเนื้องอก/มะเร็งสมอง แพทย์ผู้รักษาอาจพิจารณาให้การรักษาโดยไม่ตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาก่อน
  • ตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา เช่น
    • (CBC) ดูการทำงานของไขกระดูก
    • ตรวจน้ำตาล ดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่
    • ดูการทำงานของไต
    • ดูการทำงานของตับ
    • ดูระดับเกลือแร่
    • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอก ในปอด และดูการแพร่กระจายของโรค มะเร็งสู่ปอด (พบได้น้อยมากในโรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง)
    • การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินสุขภาพทั่วไป

เนื้องอก/มะเร็งสมองมีกี่ระยะ?

ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเนื้องอก/มะเร็งสมองนั้น มักไม่แบ่งโรคออกเป็นระยะๆเหมือนในโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ แต่จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มของผู้ป่วย คือ

  • กลุ่มเนื้องอก/มะเร็งสมอง ที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้
  • กลุ่มเนื้องอก/มะเร็งสมอง ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้
  • กลุ่มเนื้องอก/มะเร็งสมองที่รักษาไปแล้วมีโรคย้อนกลับมาใหม่

รักษาเนื้องอก/มะเร็งสมองอย่างไร?

ในการดูแลรักษาเนื้องอก/มะเร็งสมองนั้น มีการรักษาหลักๆร่วมกันอยู่ 3 วิธี คือ การผ่าตัด, รังสีรักษา, และยาเคมีบำบัด (ส่วนยารักษาตรงเป้า ปัจจุบันมีการนำมาใช้แต่ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากประสิทธิผลของยายังไม่ชัดเจน รวมถึงราคายายังสูงมาก)

การผ่าตัด: เป็นการรักษาหลักของโรคนี้ โดยส่วนใหญ่ หากรอยโรคอยู่ในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดออกได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อความพิการและชีวิตผู้ป่วย แพทย์ที่ทำการรักษามักพิจารณาผ่าตัดก้อนเนื้อออกให้หมด หรือผ่าตัดออกให้มากที่สุด เพื่อลดขนาดของเนื้องอก/มะเร็ง ลดการใช้ยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยบางราย (ใช้รักษาภาวะสมองบวม), หรือในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ แพทย์ที่ทำการรักษาอาจจำเป็นต้องผ่าตัด หรือเจาะ/ดูดชิ้นเนื้อออกมาบางส่วนเพื่อการตรวจทางพยาธิ หรือเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องสำหรับวางแผนการรักษาต่อไป

รังสีรักษา: มักใช้เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัดกรณีเป็นมะเร็งสมองชนิดรุนแรง เช่น ชนิด จีบีเอม, หรือในกรณีเนื้องอก/มะเร็งสมองที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้หมด, หรือใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

ยาเคมีบำบัด: ซึ่งการให้ยาเคมีบำบัดนั้นจะใช้ในผู้ป่วยเนื้องอก/มะเร็งสมองเฉพาะชนิดที่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดซึ่งมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น  

อนึ่ง:

  • การดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นชนิดของเนื้องอก/มะเร็งสมอง, สภาพร่างกายของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา
  • ส่วนการรักษาโดยใช้ยารักษาตรงเป้า: ปัจจุบันมีการนำมาใช้บ้างแล้ว แต่ผลการรักษายังไม่แน่ชัด รวมถึงราคายายังแพงมากอยู่
  • นอกจากการรักษาหลักทั้ง 3 วิธีแล้ว, ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมตามอาการด้วย เช่น
    • ให้ยาควบคุมอาการชัก: แพทย์มักให้ยาป้องกันการชักกับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ซึ่งในระหว่างที่ผู้ป่วยใช้ยากันชักอยู่นั้น ควรกินยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรขาดยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชักขึ้นมาอีก
    • กายภาพบำบัด: หากเนื้องอก/มะเร็งสมองมีรอยโรคอยู่ในบริเวณที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจส่งผลให้ผู้ป่วยใช้งานของอวัยวะต่างๆได้น้อยลง หรือผิดปกติไป ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะต่างๆที่ผิดปกติไป โดยเฉพาะอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แขน ขา
    • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดการเกี่ยวกับกระบวนการคิด และการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ:  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับผู้ป่วย อาจส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ดังนั้น ครอบครัว เพื่อน และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น นายจ้าง อาจต้องได้รับคำแนะนำจาก แพทย์ พยาบาล เพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เช่น การทำกิจกรรมบำบัด และโปรแกรมการฟื้นฟูอาชีพ

การรักษาเนื้องอก/มะเร็งสมองมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน)จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด: เช่น อาการปวดแผล การมีเลือดออก การติดเชื้อ และการบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากการให้รังสีรักษา: คือ การดูแลผิวหนัง/หนังศีรษะในบริเวณฉายรังสีรักษา (การดูแลผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา) และ การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณสมอง

ผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด: เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กดการทำงานของไขกระดูกทำให้เกิด โรคซีด,  ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ(ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด-รังสีรักษา)

เนื้องอก/มะเร็งสมองเป็นโรครุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง และปัจจัยจากตัวโรค

ก. ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง: ทั่วไป ได้แก่

  • อายุ: ผู้ป่วยอายุน้อย มักทนการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วยสูงอายุ จึงมีผลการรักษาที่ดีกว่า
  • สุขภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่ว: ถ้าผู้ป่วยมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ จะสามารถทนการรักษาได้ดีกว่า จึงมีผลการรักษาดีกว่าด้วย
  • โรคร่วมต่างๆของผู้ป่ว: เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการรักษา และเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษา สูงกว่าคนปกติ
  • ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน: ผู้ป่วยที่สามารถช่วย เหลือตนเองได้ดี มักจะแสดงถึงรอยโรคในสมองที่น้อยหรืออยู่ในบริเวณที่ไม่อันตราย ดังนั้นจึงมีผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย

ข. ปัจจัยจากตัวโรค: ทั่วไป ได้แก่

  • ชนิดของเนื้องอก/มะเร็งสมอง: เนื้องอกชนิดมีความรุนแรงน้อย จะให้ผลการ รักษาที่ดีกว่าชนิดมีความรุนแรงมาก, รวมถึง โรคเนื้องอกสมองให้ผลการรักษาดีกว่าโรคมะเร็งสมอง
  • ตำแหน่งรอยโรคที่สมอง: คือ รอยโรคที่เกิดขึ้นในบริเวณที่สำคัญและส่งผลอันตรายต่อร่างกายก็จะมีผลการรักษาที่ไม่ดี เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมาก รวมไปถึงการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการฉายรังสีรักษา ก็อาจจะมีข้อจำกัดมากกว่ารอยโรคที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่สำคัญ เช่น รอยโรคในตำแหน่งก้านสมอง เป็นต้น
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด: เนื้องอก/มะเร็งสมองที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ มักมีผลการรักษาที่ดีกว่าเนื้องอก/มะเร็งสมองที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอก/มะเร็งสมองไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบเนื้องอก/มะเร็งในสมองตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันเนื้องอก/มะเร็งสมองได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเนื้องอก/มะเร็งสมอง แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น
    • หลีกเลี่ยงการได้สารพิษจากโรงงานผลิตยาง โรงงานกลั่นน้ำมัน
    • รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ เพื่อลดโอกาสการเป็นโรคมะเร็งแพร่กระจายมาที่สมอง (ป้องกันโอกาสเกิดโรคมะเร็งสมองทุติยภูมิ) เช่น  สูบบุหรี่ และ/หรือ ดื่มแอลกอฮอล์

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com 2 เรื่อง ได้แก่

  • การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/779664-overview#showall [2023,Feb11]