อะลิสคิเรน (Aliskiren)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อะลิสคิเรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อะลิสคิเรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะลิสคิเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะลิสคิเรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะลิสคิเรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะลิสคิเรนอย่างไร?
- อะลิสคิเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะลิสคิเรนอย่างไร?
- อะลิสคิเรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- เรนิน อินฮิบิเตอร์ (Renin inhibitor)
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Angiotensin II receptor antagonist)
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- อะลิสคิเรน (Aliskiren)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ: คือยาอะไร?
อะลิสคิเรน (Aliskiren) คือ ยาบำบัดรักษาโรคความดันโลหิตสูง ที่อยู่ในกลุ่มยา เรนินอินฮิบิเตอร์(Renin inhibitor) สามารถใช้เป็นทั้งยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นในการบำบัดอาการของโรคก็ได้ กลไกหลักๆของยานี้จะทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดการขยายตัวส่งผลให้เลือดไหล เวียนได้สะดวกขึ้น และหัวใจใช้แรงบีบตัวในการสูบฉีดเลือดน้อยลง ความดันโลหิตจึงลดลงได้
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งมีการดูดซึมจากระบบทาง เดินอาหาร และกระจายตัวในร่างกายได้ต่ำเพียงประมาณ 2.5% เท่านั้น ตับจะคอยทำลายหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงเป็นอย่าง ต่ำเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อห้ามใช้ยานี้บางประการที่แพทย์มักจะนำมาประกอบการพิจารณาก่อนการสั่งจ่ายยา อะลิสคิเรน เช่น
- ผู้ป่วยเคยแพ้ยาอะลิสคิเรน หรือเคยมีอาการมือ-หน้า-ปาก-ขอบตา-คอ-ลิ้นบวมหลังการใช้ยาอะลิสคิเรนไหม
- เป็นสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่
- เป็นผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือโรคไตหรือไม่
- ผู้ป่วยมีการใช้ยาบางตัวอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่นยา Losartan, Lisinopril , Cyclosporine หรือ Itraconazole
กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้แล้ว แพทย์จะชี้แจงข้อมูลบางประการให้ผู้ป่วยรับทราบเพื่อความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมขณะใช้ยานี้ เช่น
- อาจพบอาการ วิงเวียน ง่วงนอน หรือเป็นลมติดตามมา ดังนั้นระหว่างใช้ยานี้ควรหลีก เลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆหรือทำงานกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- กรณีที่มีอาการ ท้องเสีย อาเจียน หรือเกิดอาการเหงื่อออกเป็นปริมาณมาก ผู้ป่วยควรต้องชดเชยด้วยการดื่มน้ำเพื่อป้องกันร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ รวมถึงอาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำติดตามมา
- ระหว่างที่เริ่มต้นใช้ยานี้อาการความดันโลหิตสูงจะค่อยๆพัฒนาดีขึ้นอาจใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงๆร่วมกับยาอะลิสคิเรนด้วยจะทำให้การดูดซึมของยานี้เข้าสู่ร่างกายลดลงไปได้มาก
- หากอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยานี้ ผู้ป่วยควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา ควรหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตของตนเองขณะที่ใช้ยาชนิดนี้
- สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ยานี้อาจพบอาการท้องเสียได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ
อนึ่ง: สำหรับประเทศไทย ยาอะลิสคิเรนถูกจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้ต้อง เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามผู้ป่วย/ผู้บริโภคซื้อหายามารับประทานด้วยตน เองโดยเด็ดขาด
อะลิสคิเรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอะลิสคิเรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง/ยาลดความดัน
อะลิสคิเรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะลิสคิเรน คือ ตัวยาจะเข้าจับกับเอนไซม์ที่มีชื่อว่า เรนิน (Renin, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของสาร Angiotensinogen) ซึ่งพบในกระแสเลือด เอนไซม์เรนินมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนสาร Angiotensinogen (สารเกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต)ไปเป็นสาร Angiotensin I (สารตั้งต้นของ Angiotensin II) มีผลต่อเนื่องให้ร่างกายเกิดการขาดสาร Angiotensin II ติดตามมาส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวจึงทำให้ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติ
อะลิสคิเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะลิสคิเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 150 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
อะลิสคิเรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะลิสคิเรนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง หากอาการความดันโลหิตสูงยังลดลงได้ไม่ดีพอแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 300 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง:
- ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ หรือโรคไต
- ขนาดรับประทานที่ 300 มิลลิกรัม/วันอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
- ขนาดรับประทานที่มากกว่า 300 มิลลิกรัม/วันไม่ทำให้การตอบสนองของความดันโลหิตลดลงไปมากกว่านี้
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะลิสคิเรน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะลิสคิเรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะลิสคิเรน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อะลิสคิเรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะลิสคิเรนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดตามร่างกาย
- หนาวสั่น
- ไอ, จาม
- ท้องเสีย
- อึดอัด/หายใจลำบาก
- ปวดหัว
- เสียงแหบ
- คัดจมูก
- เจ็บคอ/ คออักเสบ
- อ่อนเพลีย
- ปวดข้อ
มีข้อควรระวังการใช้อะลิสคิเรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะลิสคิเรน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาอะลิสคิเรนรวมกับยากลุ่ม ACE inhibitors, หรือกลุ่มยา Angiotensin II receptor antagonists, ในผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- หากพบอาการบวมตามร่างกายหลังใช้ยานี้ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- หมั่นตรวจสอบความดันโลหิตของตนเองขณะที่ใช้ยานี้
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะลิสคิเรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองด้วยเช่นกัน
อะลิสคิเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะลิสคิเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาอะลิสคิเรน ร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitor และ AngiotensinII receptor antagonists และในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับไตรวมถึงเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำติดตามมา
- การใช้ยาอะลิสคิเรน ร่วมกับยา HCTZ สามารถเพิ่มอาการวิงเวียนให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอะลิสคิเรน ร่วมกับยา Ibuprofen อาจทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาอะลิสคิเรน ลดน้อยลง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตผู้ป่วยอีกด้วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาอะลิสคิเรน ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตของยาอะลิสคิเรนลดลง หากใช้ยาร่วมกันเกิน 1 สัปดาห์อาจเป็นเหตุให้มีภาวะคั่งของน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกายจนทำให้เกิดอาการบวมน้ำและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาอะลิสคิเรนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะลิสคิเรน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะลิสคิเรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะลิสคิเรน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Rasilez (ราไซเลซ) | Novartis |
Tekturna (เทคเทอร์นา) | Novartis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Renin_inhibitor [2022,July30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Renin%E2%80%93angiotensin_system#/media/File:Renin-angiotensin-aldosterone_system.png [2022,July30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aliskiren [2022,July30]
- https://www.drugs.com/mtm/aliskiren.html [2022,July30]
- https://www.drugs.com/monograph/aliskiren.html [2022,July30]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/aliskiren%20fumarate?mtype=generic [2022,July30]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Rasilez/?type=brief [2022,July30]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/aliskiren-index.html?filter=2#W [2022,July30]