ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ออฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ออฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ออฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ออฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ออฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ออฟลอกซาซินอย่างไร?
- ออฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาออฟลอกซาซินอย่างไร?
- ออฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ควิโนโลน (Quinolones)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- โรคเรื้อน (Leprosy)
- ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- หนองใน (Gonorrhea)
- ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) คือ ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายระบบเช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, โรคติดเชื้อของตา, โรคติดเชื้อของหู, ซึ่งยานี้เป็นยารุ่นที่ 2 ของหมวดยา Quinolone
ยาออฟลอกซาซิน ยังจัดอยู่ในหมวดย่อยของยาที่เรียกว่า ฟลูออโรควิโนโลน/ Fluoroquinolones) ถูกวิจัยและพัฒนาโดยมียา Norfloxacin ซึ่งเป็นตันแบบและเป็นยารุ่นที่ 1 ในหมวด Quinolone เช่นเดียวกัน
ยาออฟลอกซาซินถูกจดสิทธิบัตรครั้งแรกในปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อการค้าว่า “Floxin” ด้วยยาออฟลอกซาซินเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง สามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก (Gram+) และแกรมลบ (Gram-) ส่งผลให้มีประโยชน์ทางการแพทย์และถูกนำไปใช้รักษาโรคที่มีการติดเชื้อของแบคทีเรียได้หลากหลายอาทิเช่น
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และ
- โรคติดเชื้อในอวัยวะระบบสืบพันธุ์
*แต่ยาออฟลอกซาซิน ไม่สามารถใช้รักษา โรคจากการติดเชื้อซิฟิลิส อีกทั้งยังพบว่าระยะหลังมีการดื้อยาของเชื้อโกโนเรีย (Gonorrhea/โรคหนองใน) อีกด้วย
เราสามารถพบเห็นยาออฟลอกซาซินในรูปแบบของ ยาเม็ด, ยาน้ำชนิดรับประทาน, ยาฉีด, ตลอดจน ยาหยอดตา, และยาหยอดหู
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า ยาออฟลอกซาซินสามารถดูดซึมเข้าร่างกายหลังรับประทานได้ประมาณ 85 - 95% และจะเข้าจับกับโปรตีนในกระแสเลือดประมาณ 32% ตัวยานี้สามารถรวมตัวกับน้ำดีซึมผ่านไปกับของเหลวในร่างกายผ่านเข้ารกและน้ำนมของมารดาได้ และร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 4 - 5 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะและส่วนน้อยไปกับอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย บรรจุยาออฟลอกซาซิน ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติในรูปแบบของยารับประทานและยาหยอดหู การเลือกใช้ยานี้ให้เหมาะสมกับอาการโรครวมถึงป้องกันการดื้อยาของเชื้อโรคเป็นหน้าที่ของแพทย์ และผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาหรือซื้อยานี้ใช้ด้วยตนเอง
ออฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาออฟลอกซาซินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น รักษา
- หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง
- ปอดบวม
- การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง
- โรคเรื้อน
- ท่อปัสสาวะอักเสบ และ ปากมดลูกอักเสบ ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อโกโนเรีย (Nongonococcal urethritis and cervicitis)
- อุ้งเชิงกรานอักเสบ (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) ชนิดเฉียบพลัน
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ท่อปัสสาวะอักเสบ และ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
- การติดเชื้อโกโนเรีย(หนองใน)ทั่วไป และที่ปากมดลูก (Cervical gonorrhea
ออฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาออกฟลอกซาซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ เอนไซม์ 2 ชนิดในตัวแบคทีเรีย คือ Topoisomerase IV และ DNA gyrase enzyme ทำให้กระบวนการในการสร้างสารพันธุกรรม รวมถึงการสร้างและการแพร่พันธุ์ของตัวแบคทีเรียหยุดลง จึงทำให้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
ออฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาออฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด ขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาหยอดตา ขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาหยอดหู ขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ออฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาออฟลอกซาซินมีขนาดรับประทาน เช่น
- ก. สำหรับโรคเรื้อน (Leprosy): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- ข. สำหรับโกโนเรีย/หนองใน(Uncomplicated gonorrhea): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัมครั้งเดียว
- ค. สำหรับหลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลัน(Acute bacterial exacerbation of chronic bronchitis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัมเช้า - เย็นเป็นเวลา 10 วัน
- ง. สำหรับปอดบวม(Community - acquired pneumonia): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัมเช้า - เย็นเป็นเวลา 10 วัน
- จ. สำหรับการติดเชื้อที่ผิวหนัง (Uncomplicated skin infections): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัมเช้า - เย็นเป็นเวลา 10 วัน
- ฉ. สำหรับรักษาปากมดลูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโกโนเรีย (Non - gonococcal cervicitis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 - 300 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นเป็นเวลา 7 วัน
- ช. สำหรับการติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะ/ ท่อปัสสาวะอักเสบ และปากมดลูกอักเสบ อันมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis และ Neisseria gonorrhoeae : เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 - 300 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นเป็นเวลา 7 วัน
- ซ. สำหรับอุ้งเชิงกรานอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นเป็นเวลา 14 วัน
- ฌ. สำหรับกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่รุนแรง(Uncomplicated cystitis): เช่น
- ผู้ใหญ่: หากเกิดจากเชื้อ E.coli/Escherichia coli หรือเชื้อ Klebsiella pneumoniae, รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น เป็นเวลา 3 วัน, ถ้าเป็นเชื้อชนิดอื่นที่ตอบสนองกับออฟลอกซาซินต้องเพิ่มเวลาการรับประทานเป็น 7 วัน
- ญ. สำหรับท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่รุนแรง(Complicated urinary tract infection): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น เป็นเวลา 10 วัน
- ฎ. สำหรับไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 - 400 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นเป็นเวลา 7 - 14 วัน
อนึ่ง:
- ขนาดยานี้ของผู้ป่วยที่มี โรคไต, โรคตับ จะถูกแพทย์ปรับตามสภาพร่างกายโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- สามารถรับประทาน ยาออฟลอกซาซิน ก่อนหรือพร้อม อาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก/อายุต่ำกว่า 18 ปียังไม่มีการศึกษาถึงผลข้างเคียงของยาอย่างชัดเจน
- ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ยาหยอดตาและยาหยอดหู: ขนาดการใช้ยาขึ้นกับคำสั่งแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออฟลอกซาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาออฟลอกซาซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ออฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาออฟลอกซาซิน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- นอนไม่หลับ
- จิต/ประสาทหลอน
- ช่องคลอดอักเสบ
- เส้นเอ็นอักเสบ (เอ็นบาดเจ็บ)
- เบื่ออาหาร
- มีอาการตัวสั่น
- ผิวหนังไวต่อแสงแดดเกินปกติ (ผื่นผิวหนังอักเสบ)
*อนึ่ง:
- หากมีอาการแพ้ยานี้ เช่น ขึ้นผื่น หายใจลำบาก ใจสั่น เป็นลมชัก ให้หยุดยาทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และควรนำยาที่รับประทานอยู่มาให้แพทย์ดูด้วย
มีข้อควรระวังการใช้ออฟลอกซาซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาออฟลอกซาซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาออฟลอกซาซิน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่ม Quinolones
- ห้ามใช้ยานี้ใน สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำและยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (Uncorrected hypokalaemia)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ ผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthaenia gravis)
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี และ ผู้สูงอายุ
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัดขณะใช้ยานี้
- ดื่มน้ำตามให้เพียงพอหลังรับประทานยานี
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออฟลอกซาซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ออฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาออฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาออฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยา Probenecid จะทำให้ยาออฟลอกซาซินอยู่ในร่างกายได้นานขึ้นและส่งผลต่อการรักษา รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจตามมาในเวลาเดียวกัน การใช้ยาร่วม กันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยาออฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาลดกรดสามารถลดการดูดซึมของยาออฟลอกซาซินได้ หากต้องใช้ยาร่วมกันควรรับประทานให้มีเวลาห่างกันอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง
- การใช้ยาออฟลอกซาซิน ร่วมกับยา Cimetidine สามารถเพิ่มความเข้มข้นของยา ออฟลอกซาซินในกระแสเลือดได้ แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- การใช้ยาออฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาเบาหวาน ควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ
ควรเก็บรักษาออฟลอกซาซินอย่างไร?
ควรเก็บรักษาออฟลอกซาซิน เช่น
- ยาชนิดรับประทาน: เก็บระหว่างอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ยาหยอดตา และ ยาหยอดหู: เก็บระหว่างอุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส
อนึ่ง เก็บยานี้ทุกรูปแบบยา: เช่น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ออฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออฟลอกซาซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Exocin (เอ็กซ์โซซิน) | Allergan |
Exopred (เอ็กซ์โซเพรด) | Allergan (ยาร่วม) |
Hyflox (ไฮฟลอก) | Masa Lab |
Konovid (โคโนวิด) | T.O. Chemicals |
Mifloxin (มิฟลอกซิน) | Community Pharm PCL |
Occidal (ออกซิดอล) | Ranbaxy |
Ocin (โอซิน) | MacroPhar |
Ofacin (ออฟาซิน) | Nakornpatana |
Ofla (โอฟลา) | Khandelwal |
Oflo (ออโฟล) | Unique |
Oflobac (ออโฟลแบค) | Chinta |
Oflocee (ออโฟลซี) | Farmaline |
Oflomet (ออโฟลเมท) | Pond’s Chemical |
O-Flox (โอ-ฟลอกซ์) | Silom Medical |
Oflox RX (โอฟลอกซ์ อาร์ เอ็กซ์) | R.X. |
Ofloxa (โอฟลอกซา) | L. B. S. |
Ofloxin (โอฟลอกซิน) | Siam Bheasach |
Orivid (โอริวิด) | Central Poly Trading |
Qinolon (ควิโนโลน) | Great Eastern |
Seracin (เซราซิน) | Pharmaland |
Tarivid (ทาริวิด) | Daiichi Sankyo |
Tarivid Otic Solution (ทาริวิด โอติก โซลูชั่น) | Daiichi Sankyo |
Travid (ทราวิด) | Suphong Bhaesaj |
Viotisone (วิโอทิโซน) | Unison |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ofloxacin [2022,July9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/ofloxacin?mtype=generic [2022,July9]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ofloxacin [2022,July9]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Tarivid%20Otic%20Solution/?type=brief [2022,July9]
- https://www.drugs.com/mtm/ofloxacin.html [2022,July9]
- https://www.drugs.com/pro/ofloxacin.html [2022,July9]
- https://www.drugs.com/dosage/ofloxacin.html [2022,July9]