ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดจากมีสารน้ำ/ของเหลวจากในหลอดเลือดของปอด ไหลซึมออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อปอด ก่อให้เกิดมีน้ำคั่งในเนื้อ เยื่อปอด โดยเฉพาะในถุงลม จึงส่งผลให้ถุงลมไม่สามารถบรรจุอากาศที่หายใจเข้าไปได้(เพราะมีน้ำมาแทนที่) ปอด/ถุงลมจึงไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนในอากาศ กับคาร์บอนได ออกไซด์ในหลอดเลือดปอดได้ เซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย รวมทั้งเซลล์ของปอด หัวใจ และหลอดเลือดต่างๆ จึงขาดอากาศ/ขาดออกซิเจน ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ และตัวเขียวคล้ำ ซึ่งถ้าให้การรักษาไม่ทัน จะส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุดได้

ปอดบวมน้ำ เป็นภาวะที่พบบ่อย มักเกิดตามหลังภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะปอดติดเชื้อรุนแรง (โรคปอดบวม) โดยพบได้ในทั้ง 2 เพศ และในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ สาเหตุจากโรคหัวใจ

ปอดบวมน้ำเกิดได้อย่างไร?

ปอดบวมน้ำ

กลไกการเกิดปอดบวมน้ำ เกิดได้ 2 วิธีหลัก คือ

  • จากมีภาวะหัวใจล้มเหลว เรียกว่า Cardiogenic pulmonary edema
  • และจากภาวะผนังหลอดเลือดฝอยของถุงลมเกิดความผิดปกติ ยอมให้สารน้ำหรือของเหลวในหลอดเลือดซึมผ่านออกจากหลอดเลือด (Increased permeability) เข้าสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงซึ่งคือเนื้อเยื่อปอด โดยเฉพาะเข้าไปในถุงลม เรียกว่า Noncardiogenic pulmonary edema)

ก. ปอดบวมน้ำจากภาวะหัวใจล้มเหลว: ภาวะหัวใจล้มเหลว จะส่งผลให้หัวใจโดยเฉพาะห้องล่างซ้ายไม่สามารถบีบตัว ส่งเลือดออกจากหัวใจเข้าท่อเลือดแดงใหญ่ เพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ (อ่านเพิ่มเติมในบทความ หัวใจ:กายวิภาคหัวใจ) ส่งผลให้เกิดเลือดคั่งในหัวใจ เลือดจากปอดจึงไม่สามารถกลับคืนเข้าสู่หัวใจได้ จึงเกิดเลือดคั่งในปอด และมีความดันในหลอดเลือดปอดสูงขึ้น การที่มีความดันในหลอดเลือดปอดสูงขึ้น จะเพิ่มแรงดันให้สารน้ำหรือของเหลวในหลอดเลือดปอดไหลซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อปอด โดยเฉพาะในถุงลม จึงส่งผลให้ถุงลมแลกเปลี่ยนอากาศไม่ได้ ร่างกายจึงเกิดภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) ซึ่งจะส่งผลให้ร่าง กายสร้างสารที่กระตุ้นให้หลอดเลือดต่างๆรวมทั้งหลอดเลือดปอดหดตัว ความดันในหลอดเลือดต่างๆจึงสูงยิ่งขึ้น รวมทั้งในหลอดเลือดปอด น้ำในหลอดเลือดปอดจึงไหลซึมออกมามากขึ้น เกิดภาวะน้ำท่วมปอด วนเวียนเป็นวงจรไม่รู้จบ

ข. ปอดบวมน้ำจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดฝอยของถุงลม: โดยผนังหลอดเลือดฝอยที่ในภาวะปกติจะไม่ยอมให้มีของเหลวผ่านออกจากผนังหลอดเลือด เกิดมีความผิด ปกติขึ้น จนส่งผลให้ของเหลวในหลอดเลือดฝอย (ส่วนใหญ่จะเป็นโปรตีน) ไหลซึมเข้าไปอยู่ในถุงลม ส่งผลให้อากาศไม่สามารถเข้าไปในถุงลมได้ ถุงลมจึงไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ จึงเกิดภาวะขาดออกซิเจนของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย

ปอดบวมน้ำมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ปอดบวมน้ำมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

ก. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของปอดบวมน้ำจากภาวะหัวใจล้มเหลว ที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (ภาวะหัวใจเสียจังหวะ)
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • ภาวะไตวาย
  • ภาวะซีด
  • กินอาหารเค็มจัดต่อเนื่อง
  • ภาวะหลอดเลือดปอดอุดกั้นจากก้อนลิ่มเลือดขนาดเล็ก/ สิ่งหลุดอุกหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)

ข. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงปอดบวมน้ำจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดฝอยของถุงลม ที่พบได้บ่อย คือ

  • ปอดสำลักควันต่างๆ โดยเฉพาะควันพิษ เช่น แอมโมเนีย และคลอรีน
  • การสำลักอาหารเข้าปอด
  • อุบัติเหตุโดยตรงที่ปอด เช่น ปอดถูกกระแทกอย่างแรง
  • คนจมน้ำ
  • ปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบ ปอดบวม รุนแรง
  • ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
  • การแพ้สาร/สิ่งต่างๆอย่างรุนแรง เช่น การแพ้ยา (เช่น แอสไพริน) แพ้เลือดจากการให้เลือด
  • ผลข้างเคียงภายหลังการผ่าตัดหัวใจ
  • โรคจากการขึ้นที่สูง
  • การใช้สาร/ยาเสพติดต่างๆ เช่น เฮโรอีน

ปอดบวมน้ำมีอาการอย่างไร?

อาการจากปอดบวมน้ำจากทั้ง 2 กลไก และทุกสาเหตุจะมีอาการเหมือนกัน โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ

  • อาการหายใจลำบาก/เหนื่อยหอบ โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแรง/ใช้แรง
  • นอนราบจะหายใจลำบากมากขึ้น ต้องนั่ง หรือนอนเอนตัว
  • บวม เท้า มือ และ/หรือ ท้อง (ท้องมาน)
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • สับสน กระสับกระส่าย
  • มือเท้าเย็น
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ตับโต อาจมีม้ามโต คลำได้ (ภาวะปกติจะคลำไม่ได้)
  • หลอดเลือดดำที่คอโป่งพอง มองเห็นได้ชัดเจน
  • ตรวจฟังเสียงปอดหายใจ จะผิดปกติ (Rales)
  • มีการทำงานของไตผิดปกติร่วมด้วย
  • อาจมีไข้สูงเมื่อมีการติดเชื้อร่วมด้วย

แพทย์วินิจฉัยภาวะปอดบวมน้ำได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะปอดบวมน้ำ และหาสาเหตุได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการกินยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพปอดด้วยเอกซ เรย์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • การตรวจเลือด ดูค่าเกลือแร่ /Electrolyte ดูการทำงานของไต
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผิดปกติของผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ/ เอคโคหัวใจ
    • การเพาะเชื้อจากโลหิตกรณีผู้ป่วยมีไข้สูง เพื่อวินิจฉัยภาวะพิษเหตุติดเชื้อ เป็นต้น

รักษาปอดบวมน้ำได้อย่างไร?

การรักษาปอดบวมน้ำ คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ เช่น

  • การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • หรือการให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อเกิดจากภาวะปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบ
  • การให้ยาขยายหลอดลม
  • การสูดดมออกซิเจนด้วยการควบคุมแรงดันของออกซิเจน
  • และการให้ยากระตุ้นการเต้นของหัวใจ (อิโนโทรปิกเอเจนต์/อิโนโทรป/Inotropic agents) เป็นต้น

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยกินไม่ได้
  • หรือการให้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะเมื่อมีอาการบวมตามร่างกาย เป็นต้น

ปอดบวมน้ำรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ปอดบวมน้ำ เป็นภาวะรุนแรง ถ้ารักษาแก้ไขไม่ได้ทันท่วงที ผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้จากภาวะหายใจล้มเหลว

โดยผลข้างเคียงจากภาวะปอดบวมน้ำที่อาจพบได้ คือ

  • การเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (เป็นได้ทั้งสา เหตุ และผลข้างเคียง)
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • และ/หรือภาวะหายใจ

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการของภาวะปอดบวมน้ำดังได้กล่าวในหัวข้อ’การฯ’ ควรรีบไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ ภาวะปอดบวมน้ำ มักเป็นการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ต่อเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น แพทย์รักษาควบคุมปอดบวมน้ำได้แล้ว แพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน

ในส่วน การดูแลตนเองเมื่อแพทย์ให้กลับบ้านแล้ว คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้อง เคร่งครัด
  • กินยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • งดบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • งดอาหารเค็ม
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ไอมากขึ้น
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น หายใจลำบากมากขึ้น เสมหะเป็นเลือด ต่อเนื่อง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นช้า
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันปอดบวมน้ำอย่างไร?

ป้องกันปอดบวมน้ำได้โดยการป้องกันสาเหตุต่างๆที่ป้องกันได้ ที่สำคัญ คือ

  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง (สาเหตุโรคหลอดเลือดหัวใจ) โรคปอด และโรคไต
  • งดบุหรี่/เลิกบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคปอด
  • กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันโรคอ้วน ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกายสุขภาพจิต เพื่อลดโอกาสปอดติดเชื้อ และลดโอกาสเกิดความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ
  • เตรียมตัวให้พร้อมเมื่อต้องเดินทางขึ้นที่สูง เพื่อป้องกันการเกิดโรคจากขึ้นที่สูง

บรรณานุกรม

  1. Basomworth, J. (2008). Rural treatment of acute cardiogenic pulmonary edema. Can J Rural Med. 13,121-128.
  2. Perina,D. (2003). Noncardiogenic pulmonary edema. Emerg Med Clin N Am.21, 385-393.
  3. Ware,L., and Matthay,M. (2005). Acute pulmonary edema. N Eng J Med.353,2788-2796.
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Pulmonary_edema [2019,May4]