ควิโนโลน (Quinolones)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาควิโนโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาควิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาควิโนโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาควิโนโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาควิโนโลนอย่างไร?
- ยาควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาควิโนโลนอย่างไร?
- ยาควิโนโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ (Bacterial prostatitis)
บทนำ
ควิโนโลน (Quinolone) เป็นชื่อกลุ่มยาต้านแบคทีเรียที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) โดยยารุ่นแรกถูกนำไปใช้รักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะของมนุษย์ จากนั้นได้มีการสังเคราะห์ยารุ่นที่ 2, 3, 4, ติดตามกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาการของเชื้อที่มีความต้านทานหรือเชื้อดื้อยา นักวิจัยได้จัดแบ่งหมวดยาควิโนโลนออกเป็น 4+1 รุ่นดังนี้
- รุ่นที่ 1 (First – generation) ได้แก่
Cinoxacin, Nalidixic acid, Oxolinic acid, Piromidic acid, Pipemidic acid, Rosoxacin
- รุ่นที่ 2 (Second – generation) ได้แก่
Ciprofloxacin, Enoxacin , Fleroxacin , Lomefloxacin, Nadifloxacin, Norfloxacin, Ofloxacin, Pefloxacin, Rufloxacin
- รุ่นที่ 3 (Third – generation) ได้แก่
Balofloxacin, Grepafloxacin, Levofloxacin, Pazufloxacin, Temafloxacin, Tosufloxacin
- รุ่นที่ 4 (Fourth – generation) ได้แก่
Clinafloxacin, Gatifloxacin, Gemifloxacin, Moxifloxacin, Prulifloxacin, Sitafloxacin, Trovafloxacin
*และ รุ่นที่กำลังพัฒนา ได้แก่ Delafloxacin, JNJ–Q2, Nemonoxacin
จากการศึกษาทางด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยากลุ่มควิโนโลนพบว่า ส่วนใหญ่ตัวยาสามารถดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหารมากกว่า 95% โดยที่อาหารไม่ได้รบกวนการดูดซึมของยามากเท่าใดนัก ร่างกายต้องใช้เวลา 1.5 - 1.6 ชั่วโมง ในการกำจัดยากลุ่มนี้ออกจากร่างกาย 50% ดังนั้นการบริหารยาต่อเนื่องหรือการให้ยานี้กับคนไข้ต้องกระทำภายใน 12 - 24 ชั่วโมง โดยมากร่างกายจะขับยากลุ่มควิโนโลนออกมาทางปัสสาวะ ยาบางตัวในกลุ่มนี้จะถูกขับออกโดยผ่านไปกับกระบวนการทำงานของตับ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยบรรจุยากลุ่มควิโนโลนอยู่ในหมวดยาอันตราย เช่น Ciprofloxacin, Norfloxacin, Ofloxacin และ Levofloxacin เป็นต้น การใช้ยาที่เหมาะสม ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาควิโนโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาควิโนโลนมีสรรพคุณ ดังนี้
- ยารุ่นที่ 1 สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้ในระดับกลาง การกระจายตัวเข้าสู่ระบบต่างๆของร่างกายมีน้อย
- ยารุ่นที่ 2 ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้กว้างขึ้นและค่อนข้างครอบคลุมได้ดี โดย เฉพาะเชื้อกลุ่ม Areobic gram - negative bacilli แต่ยังมีข้อจำกัดการใช้ในแบคทีเรียแกรมบวก
- ยารุ่นที่ 3 ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบได้กว้างและครอบคลุมไปถึงแบคทีเรียแกรมบวก
- ยารุ่นที่ 4 ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบได้วงกว้าง รวมไปถึงแบคทีเรียกลุ่มแอโรบิกอีกด้วย
* อนึ่ง หากจำแนกเป็นหมวดของโรคที่สามารถรักษาด้วยยากลุ่มควิโนโลน มีดังนี้
- รักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Genitourinary infections)
- บำบัดรักษาการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก (Prostatitis)
- รักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจ (Respiratory disease)
- รักษาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases)
- รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร (Gastroenteritis)
- รักษาการติดเชื้อในบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนตามร่างกาย (Skin and soft tissue infections)
ยาควิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มควิโนโลนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ(DNA) ของตัวแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหมดสภาพในการแบ่งเซลล์และตายในที่สุด
ยาควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ดขนาด 50, 100, 200, 400 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดออกฤทธิ์นาน (Sustained delete) ขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีดขนาด 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีดขนาด 200 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
- ยาฉีดขนาด 250 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร
- ยาฉีดขนาด 500 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
- ยาหยอดหู ยาหยอดตา
ยาควิโนโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากยาในกลุ่มควิโนโลนมีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรคมีความแตกต่างและหลากหลาย และหากผู้ป่วยมีการทำงานของไตและ/หรือตับผิดปกติ ต้องมีการปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีไป การใช้ยานี้จึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาที่จะสามารถบริหารยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาควิโนโลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาควิโนโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาควิโนโลน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาควิโนโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาควิโนโลนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- และปวดท้อง
- ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง: เช่น
- วิงเวียน
- วงนอน
- ปวดศีรษะ
- สับสน
- นอนไม่หลับ
- ซึมเศร้า
- อ่อนเพลีย ชัก
- และมีอาการสั่น
- ผลต่อระบบผิวหนัง: เช่น
- ผื่นคัน
- ผื่นแพ้แสงแดด
มีข้อควรระวังการใช้ยาควิโนโลนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาควิโนโลน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มควิโนโลน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติโรคลมชัก โรคเส้นเอ็นอักเสบ
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาควิโนโลนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยากลุ่มควิโนโลนร่วมกับยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียมและแมกนีเซียมเป็นส่วนผสม จะลดการดูดซึมของยากลุ่มควิโนโลน หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรเว้นระยะเวลาการรับประทานยาให้ห่างกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- การรับประทานยากลุ่มควิโนโลนร่วมกับยาเบาหวาน อาจทำให้เกิดทั้งภาวะน้ำ ตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้ หากต้องใช้ยาร่วมกันควรต้องตรวจดูระดับน้ำตาลในกระแสเลือดควบคู่กันไป
- การรับประทานยากลุ่มควิโนโลนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin จะทำให้ฤทธิ์ของยา Warfarin เพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการตกเลือดติดตามมา แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การรับประทานยากลุ่มควิโนโลนร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่นยา Theophyline หรือยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคลมชัก หากไม่มีความจำเป็น ไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาควิโนโลนอย่างไร?
การเก็บรักษายาควิโนโลน เช่น
- ยาเม็ด: เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ยาหยอดตา , ยาหยอดหู: เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
- ยาฉีด: เก็บที่ระหว่างอุณหภูมิ 2 - 30 องศาเซลเซียส
- ยานี้ทุกรูปแบบ: เช่น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาควิโนโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาควิโนโลนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Avelox (เอวีล็อกซ์) | Bayer HealthCare Pharma |
Ciflex (ซิเฟล็กซ์) | Suphong Bhaesaj |
Ciflo (ซิโฟล) | Masa Lab |
Ciflolan (ซิโฟลแลน) | Olan-Kemed |
Cifloxin (ซิโฟลซิน) | Siam Bheasach |
Cifloxno (ซิฟล็อกซ์โน) | Milano |
Cifolox (ซิโฟล็อกซ์) | L. B. S. |
Cifran (ซิฟราน) | Ranbaxy |
Cinfloxine (ซินโฟลซิน) | Medicine Products |
Cipflocin (ซิพโฟลซิน) | Asian Pharm |
Cipon (ซิพอน) | Unison |
Cipro I.V. (ซิโปร ไอ.วี) | L. B. S. |
Ciprobay (ซิโปรเบ) | Bayer HealthCare Pharma |
Ciprobid (ซิโปรบิด) | Zydus Cadila |
Ciprocep (ซิโปรเซพ) | T.O. Chemicals |
Ciprofex (ซิโปรเฟ็กซ์) | The United Drug (1996) |
Ciprofin (ซิโปรฟิน) | Utopian |
Ciprofloxacin Injection Fresenius Kabi (ไซโปรฟล็อกซาซิน อินเจ๊กชั่น ฟรีซีเนีส กะบี่) | Fresenius Kabi |
Ciprogen (ซิโปรเจน) | General Drugs House |
Ciprohof (ซิโปรฮอฟ) | Pharmahof |
Ciprom-M (ซิพร็อม-เอ็ม) | M & H Manufacturing |
Ciproquin (ซิโพรควิน) | Claris Lifesciences |
Ciproxan (ซิโปรแซน) | Pond’s Chemical |
Ciproxin (ซิโปรซิน) | Osoth Interlab |
Ciproxin-500 (ซิโปรซิน-500) | T. Man Pharma |
Ciproxin-T.M. (ซิโปรซิน-ที่.เอ็ม ) | T. Man Pharma |
Ciproxyl (ซิโปรซิล) | Farmaline |
Cobay (โคแบย์) | Millimed |
Cravit (คราวิต) | Daiichi Sankyo |
Cravit IV (คราวิต ไอวี) | Daiichi Sankyo |
Crossa-200 (ครอสซา-200) | T. Man Pharma |
Crossa-400 =(ครอสซา-400) | T. Man Pharma |
Cyflox (ไซฟล็อกซ์) | Greater Pharma |
Darflox (ดาร์ฟล็อกซ์) | Meiji |
Enoxin (อีโนซิน) | Charoon Bheasaj |
Floxcipro 500 (ฟล็อกซ์ซิโปร 500) | Medicpharma |
Floximed (ฟล็อกซิเมด) | Burapha |
Gonorcin (โกนอร์ซิน) | General Drugs House |
Gracevit (กราซีวิต) | Daiichi Sankyo |
Hyflox (ไฮฟล็อกซ์) | Masa Lab |
Loxof (โลซอฟ) | Ranbaxy |
Manoflox (มาโนฟล็อกซ์) | March Pharma |
Mifloxin (มิฟล็อกซ์ซิน) | Community Pharm PCL |
Lexfor (เล็กซ์ฟอร์) | Thai Nakorn Patana |
Loxof (เล็กซ์ออฟ) | Ranbaxy |
Norfloxacin Community Pharm (นอร์ฟล็อกซาซิน คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Norfloxin (นอร์ฟล็อกซิน) | T.O. Chemicals |
Norxacin (นอร์ซาซิน) | Siam Bheasach |
Ofloxa (โอฟล็อกซา) | L. B. S. |
Ofloxin (โอฟล็อกซิน) | Siam Bheasach |
Peflacine (พีฟลาซิน) | Aventis |
Qinolon (ควิโนโลน) | Great Eastern |
Uroflox (ยูโรฟล็อกซ์) | Eurodrug |
Uroxin (ยูโรซิน) | Unison |
Xyrocin-250 (ไซโรซิน-250) | V S Pharma |
Zinor 400 (ซีนอร์ 400) | Patar Lab |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Quinolone#Generations [2020,Feb15]
2 http://www.drugs.com/drug-class/quinolones.html [2020,Feb15]
3 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/1864287 [2020,Feb15]
4 http://www.aafp.org/afp/2002/0201/p455.html [2020,Feb15]
5 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=quinolones&page=0 [2020,Feb15]
6 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cravit/?type=full#Contraindications [2020,Feb15]
7 http://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/c/Ciloxaneyedrop.pdf [2020,Feb15]
8 http://www.mydr.com.au/medicines/cmis/ciproxin-hc-ear-drops [2020,Feb15]
9 http://www.rxmed.com/b.main/b2.pharmaceutical/b2.1.monographs/CPS-%20Monographs/CPS-%20(General%20Monographs-%20L)/LEVAQUIN.html [2020,Feb15]