สโคโปลามีน (Scopolamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 มิถุนายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- สโคโปลามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- สโคโปลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- สโคโปลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- สโคโปลามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- สโคโปลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สโคโปลามีนอย่างไร?
- สโคโปลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสโคโปลามีนอย่างไร?
- สโคโปลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- เมารถ เมาเรือ (Motion sickness)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
- ปากคอแห้ง (Dry mouth and Dry throat)
บทนำ: คือยาอะไร?
สโคโปลามีน (Scopolamine) หรือ ไฮออสซีน (Hyoscine) คือยาใช้รักษาโรคที่ก่อปัญหากับกล้ามเนื้อบางโรค เช่น ปวดท้องแบบปวดบีบ ฯลฯ, ยานี้จัดเป็นสารจำพวก Tropane alkaloid (สารมีในกลุ่มพืชสมุนไพรที่เรียกว่า Solanaceae), อยู่ในกลุ่มยาแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)
อนึ่ง: โรคที่ก่อปัญหากับระบบกล้ามเนื้อของมนุษย์อาทิ เช่น
- โรคพาร์กินสัน
- รักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้
- ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนปในระหว่างการเดินทาง(เมารถ-เมาเรือ)หรือในระหว่างการ ดำน้ำลึก
ทั้งนี้ ยานี้จะออกฤทธิ์ลดการกระตุ้นของกระแสประสาทที่ไปยังกล้ามเนื้อรวมถึงการกดศูนย์กระตุ้นการอาเจียนในสมองอีกด้วย
มีข้อห้ามใช้ยานี้อยู่บางประการที่แพทย์ต้องสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อนำมาประกอบกันก่อนที่จะสั่งจ่ายยานี้เช่น
- เคยแพ้ยาชนิดนี้หรือไม่
- มีโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง มีภาวะตกเลือดอย่างรุนแรง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือการเคลื่อนตัวของกระเพาะ-ลำไส้มีความผิดปกติ กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ มีภาวะต่อมลูกหมากโต ตับ-ไตทำงานได้น้อยลง รวมถึงมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือไม่
- มีการใช้ยาอื่นๆอยู่ก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ เช่น ยาในกลุ่ม Anticholinergic, Antihistamine, หรือยาต้านเศร้ากลุ่ม TCAs, ด้วยยาเหล่านี้สามารถเพิ่มอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาสโคโปลามีนได้อย่างมากมาย
- มีการใช้ยาประเภท Phenothiazines เช่นยา Chlorpromazine อยู่ก่อนหรือไม่ ด้วยยานี้จะลดประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาสโคโปลามีนได้
จะเห็นได้ว่ายานี้มีประโยชน์ทางคลินิกโดยใช้รักษาได้หลายอาการโรค แต่ก็มีเงื่อนไขของการใช้ยาอย่างมากมายเช่นเดียวกัน ในบทความนี้จะขอนำเสนอประโยชน์และสรรพคุณโดยเน้นในเรื่องป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียนในระหว่างการเดินทาง/อาการเมารถเมาเรือของยา สโคโปลามีนเท่านั้น
*หมายเหตุ: Scopolamine และ Hyoscine เป็นยาตัวเดียวกัน แถบอเมริกาจะใช้ชื่อ Scopolamine ในขณะที่แถบอังกฤษจะเรียกยานี้ว่า Hyoscine ขนาดการใช้ยาที่เหมาะกับแต่ละอาการโรคและรูปแบบของผลิตภัณฑ์จะมีความแตกต่างกันออกไปทั้งชนิดยารับประทาน ยาฉีด ยาอมใต้ลิ้น ยาเหน็บทวาร และยาพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
สโคโปลามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาสโคโปลามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บรรเทาและป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน
- ป้องกันอาการเมารถเมาเรือ (Motion sickness)
- รักษาอาการปวดท้องแบบปวดบีบ/ปวดเกร็งในระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินปัสสาวะ
- รักษาอาการโรคพาร์กินสัน
สโคโปลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาสโคโปลามีนคือ ตัวยาจะเข้าไปแข่งขันและยับยั้งการทำงานของตัวรับ/หน่วยรับความรู้สึกมัสคารินิก(Muscarinic receptors) และออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในร่างกายเกิดการคลายตัว พร้อมกับลดการเคลื่อนตัว/บีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
สโคโปลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาสโคโปลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- พลาสเตอร์ปิดหลังใบหู ขนาด 1.5 มิลลิกรัม
- ยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำ ขนาด 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 0.4 และ 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
สโคโปลามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาสโคโปลามีนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาขึ้นกับแต่ละอาการหรือแต่ละโรค จึงต้องอยู่ในคำสั่งใช้ยานี้จากแพทย์เท่านั้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาเฉพาะกรณีบรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียน และป้องกันหรือรักษาอาการเมารถเมาเรือ เช่น
ก.สำหรับบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน:
- ผู้ใหญ่: เช่น ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.3 -65 มิลลิกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- เด็กอายุ 1 - 12 ปี: เช่น ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 006 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง โดยขนาดสูงสุดไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/การฉีด 1 ครั้ง และต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: เช่น ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการใช้ยาในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข.สำหรับอาการเมารถเมาเรือ:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น ใช้ชนิดพลาสเตอร์ปิดผิวหนังขนาด 1.5 มิลลิ กรัมปิดผิวหนังข้างศีรษะตรงบริเวณหลังใบหูประมาณ 4 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และให้เปลี่ยนใหม่ทุก 3 วันตามความจำเป็น
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการใช้ยาในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสโคโปลามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาสโคโปลามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาสโคโปลามีนสามารถรับประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
สโคโปลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาสโคโปลามีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ตาพร่า
- เจ็บหน้าอก
- ปัสสาวะขัด
- รูม่านตาขยาย
- วิงเวียน
- เป็นลม
- ปวดตา
- ใบหน้าแดง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- คลื่นไส้อาเจียน
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- หัวใจเต้นช้า
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เหงื่อแตก
- เหนื่อยง่าย
*อนึ่ง: กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการวิตกกังวล สูญเสียการมองเห็นตาบอดกลางคืน เห็นภาพซ้อน ไม่มีสมาธิ ปัสสาวะน้อย ปากคอแห้ง ผิวแห้ง ปวดหัว หงุดหงิด กระสับกระส่าย มีภาวะชัก ง่วงนอน เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง กรณีพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้สโคโปลามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาสโคโปลามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนและผลข้างเคียงอื่นๆติดตามมา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ของยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติ โรคลมชัก โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาสโคโปลามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
สโคโปลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาสโคโปลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาสโคโปลามีน ร่วมกับยา Propoxyphene จะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้มากกับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาสโคโปลามีน ร่วมกับยา Potassium chloride ชนิดรับประทานอาจก่อให้เกิดอา การระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นจนอาจเกิดเป็นแผลและมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาสโคโปลามีน ร่วมกับยาลดความอ้วน เช่นยา Phentermine อาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายขึ้นสูงผิดปกติจนถึงขนาดต้องส่งโรงพยาบาล อาการดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายโดย เฉพาะกับผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในเขตร้อน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาสโคโปลามีน ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากยาทั้ง 2 ตัวมากยิ่งขึ้นเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ปากคอแห้ง ท้องผูก เป็นตะคริวที่ท้อง เพื่อมิให้เกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาสโคโปลามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาสโคโปลามีน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
สโคโปลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาสโคโปลามีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amcopan (แอมโคแพน) | MacroPhar |
Antispa (แอนตี้สปา) | T P Drug |
Bacotan FC (บาโคแทน เอฟซี) | T.O. Chemicals |
Buscono (บัสโคโน) | Milano |
Buscopan (บัสโคแพน) | Boehringer Ingelheim |
Butyl (บูติล) | Masa Lab |
Cencopan (เซ็นโคแพน) | Pharmasant Lab |
Hybutyl (ไฮบูติล) | Pharmaland |
Hyoscin BM (ไฮออสซิน บีเอ็ม) | Patar Lab |
Hyoscine-N-butylbromide GPO (ไฮออสซิน-เอ็น-บูติลโบรมายด์ จีพีโอ) | GPO |
Hyosman (ไฮออสแมน) | T. Man Pharma |
Hyosmed (ไฮออสเมด) | Medifive |
Hyospan (ไฮออสแพน) | Polipharm |
Hyostan (ไฮออสแทน) | Pharmaland |
Hyozin (ไฮโอซิน) | Union Drug |
Hy-Spa 10 (ไฮ-สปา 10) | Medicine Products |
Kanin (คานิน) | L. B. S. |
Myspa (มายสปา) | Greater Pharma |
Scopas (สโคพาส) Asian Pharm | Asian Pharm |
Spascopan (สพาสโคแพน) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Spasgone-H (สพาสกอน-เอ็น) | Chew Brothers |
Spasmo (สพาสโม) | Pharmahof |
TRANSDERM-V (ทรานส์เดิร์ม-วี) | Novartis |
U-Oscine (ยู-ออสซีน) | Umeda |
Uospan (ยูออสแพน) | Utopian |
Vacopan (วาโคแพน) | Atlantic Lab |
Vescopolamine Injection (เวสโคโพลามายด์ อินเจ็คชั่น) | Vesco Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/monograph/scopolamine.html [2022,June25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Scopolamine [2022,June25]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/hyoscine?mtype=generic [2022,June25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=hyoscine&page=0 [2022,June25]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Vescopolamine%20Injection/?type=brief [2022,June25]
- https://www.drugs.com/pro/isopto-hyoscine-ophthalmic-solution.html [2022,June25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/scopolamine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,June25]