ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- บีพีเอชมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดบีพีเอช?
- บีพีเอชมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยบีพีเอชได้อย่างไร?
- รักษาบีพีเอชอย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการแย่ลง?
- บีพีเอชมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- บีพีเอชมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันบีพีเอชอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesical calculi)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ปัสสาวะไม่ออก (Urinary retention)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hypertrophy ย่อว่า บีพีเอช/BPH) คือ โรค ในเพศชาย มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป ที่เซลล์ต่อมลูกหมากเจริญทวีจำนวนมากขึ้น จนเหมือนก้อนเนื้อ แต่ ‘ไม่ใช่มะเร็ง’, ซึ่งต่อมฯที่โตขึ้นจะกดเบียดทับท่อปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่คล่อง, ลำปัสสาวะไม่พุ่ง, ปวดปัสสาวะบ่อย, ปัสสาวะครั้งละน้อยๆ/กะปริบกะปรอย, บ่อยครั้งปัสสาวะไม่ออกจากต่อมลูกหมากโตจนกดอุดตันท่อปัสสาวะ
ต่อมลูกหมากโต/บีพีเอช เป็นโรคพบบ่อยของผู้ชายวัยตั้งแต่ 45-50 ปีขึ้นไป, พบประมาณ 30-40% ของผู้ชายวัย 50-60 ปี, และเมื่ออายุ 85 ปีจะพบได้สูงถึงประมาณ 90%, พบในผู้ชายทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ มีรายงานจากทั่วโลกที่ศึกษาในปี ค.ศ.2019 (ตีพิมพ์ 2021) พบโรคนี้ 280.4 รายต่อประชากรชาย1แสนคน
อนึ่ง:
- ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะเฉพาะเพศชายที่อยู่ส่วนล่างอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย ล้อมส่วนโคนของท่อปัสสาวะช่วงต่อจากตัวกระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่สร้างน้ำอสุจิ, โดยขนาดปกติประมาณ 4x3x2 เซนติเมตร, น้ำหนักหนักประมาณ 20 กรัม
- ชื่ออื่นของต่อมลูกหมากโต คือ Benign prostatic hyperplasia ย่อว่า BPH/บีพีเอช เช่นกัน, หรือ Prostate enlargement
บีพีเอชมีสาเหตุจากอะไร?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดต่อมลูกหมากโต/โรคบีพีเอช แต่แพทย์เชื่อว่า เมื่อเพศชายสูงอายุขึ้นจะมีผลต่อการสร้างกลุ่มฮอร์โมนเพศชายจากอัณฑะที่ชื่อ ‘แอนโดรเจน(Androgen)’ จึงทำให้ร่างกายขาดสมดุลของฮอร์โมนเพศชายชนิดต่างๆโดยเฉพาะระหว่างฮอร์โมนเทสทอสเทอรอล (Testosterone) กับฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone ย่อว่า DHT) ซึ่งภาวะนี้ส่งผลให้เซลล์ต่อมลูกหมากมีการเจริญเติบโตจนต่อมฯมีขนาดโตผิดปกติ ที่เรียกว่า’ภาวะ/โรคต่อมลูกหมากโต ย่อว่า โรคบีพีเอช’
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดบีพีเอช?
การศึกษาต่างๆในเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอช ให้ผลว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ อายุของผู้ป่วย คือยิ่งอายุสูงขึ้นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ก็จะสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยอื่นๆนอกจากอายุ ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ แต่บางการศึกษาให้ผลว่า ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- อาจเกิดจากเชื้อชาติได้ เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในคนผิวดำ, พบได้สูงปานกลางในคนผิวขาว, และพบได้น้อยกว่าเชื้อชาติอื่น คือ เชื้อชาติเอเซีย
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ขาดการออกกำลังกาย
- บางการศึกษาพบว่า โรคนี้พบสูงขึ้นในผู้ชายที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และ/หรือโรคเบาหวาน
- บางการศึกษาพบว่า การใช้ยากลุ่ม Beta blocker อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้
- มีภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว/นกเขาไม่ขัน
บีพีเอชมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอช เกิดจากเมื่อต่อมลูกหมากโตจนเกิดการระคายเคืองต่อท่อปัสสาวะ และเมื่อต่อมฯยิ่งโต ก็จะยิ่งกดเบียดทับ/หรือเบียดรัดรอบๆท่อปัสสาวะ จึงส่งผลให้ท่อปัสสาวะบาดเจ็บ/อักเสบและตีบแคบลงจนถึงอาจอุดตัน ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆในการปัสสาวะที่รวมเรียกว่า ‘อาการจากทางเดินปัสสาวะตอนล่าง (Lower urinary tract symptoms)’ ซึ่งทางเดินปัสสาวะตอนล่าง ได้แก่ ท่อไต, กระเพาะปัสสาวะ, และท่อปัสสาวะ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องของอวัยวะต่างๆในระบบทางเดินปัสสาวะได้จากเว็บ haamor.com เรื่อง ‘กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ’), ดังนั้นอาการของโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอช ก็คือ อาการต่างๆที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะต่างๆดังกล่าว
อาการต่างๆที่พบบ่อย: เช่น
ก. อาการในการขับถ่ายปัสสาวะ: เช่น ลำปัสสาวะไม่พุ่ง/แตก, ลำปัสสาวะไหลช้า, ปัสสาวะไหลๆหยุดๆ, ต้องเบ่งปัสสาวะถึงจะถ่ายปัสสาวะได้, ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด, รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุด, ปวดปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณแต่ละครั้งน้อย/กระปริบกระปรอย จนบ่อยครั้งปัสสาวะไม่ออกจนอาจต้องเบ่ง
ข. มีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ: เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ถ่ายปัสสาวะกลางคืนบ่อย มักมากกว่า 1 ครั้ง, ปัสสาวะจะไหลทันทีเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ/เข้าห้องน้ำไม่ทันและบังคับให้หยุดไหลไม่ได้
ค. อาการหลังการถ่ายปัสสาวะ: มักมีอาการปัสสาวะซึม หรือ ปัสสาวะหยดซึมหลังการปัสสาวะ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ควรพบแพทย์เสมอเมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่ออาการดังกล่าวกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม ซึ่งแพทย์เฉพาะทางของโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอช หรือ ของผู้มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” คือ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
แพทย์วินิจฉัยบีพีเอชได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอชได้จาก
- ประวัติอาการผู้ป่วย อายุ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจทางทวารหนักเพื่อตรวจคลำต่อมลูกหมาก
- ส่วนการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจปัสสาวะ
- ตรวจเลือดดูค่าต่างๆตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ดูค่าสารมะเร็งที่สร้างจากต่อมลูกหมาก เช่น PSA (Prostate-specific antigen) เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจปริมาณปัสสาวะที่เหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะหลังการปัสสาวะด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะ(Post void residual volume)
- อาจมีการตรวจภาพและขนาดต่อมลูกหมากด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรืออาจมีการตรวจภาพอุ้งเชิงกรานด้วยซีทีสแกน/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
- อาจมีการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ และ รวมไปถึงอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ทั้งนี้การตรวจที่ซับซ้อนต่างๆขึ้นกับ: สิ่งที่แพทย์ตรวจพบจาก การตรวจร่างกาย, การตรวจทางทวารหนัก, ผลจากการตรวจสืบค้นต่างๆ, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
รักษาบีพีเอชอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอชจะขึ้นกับ ความรุนแรง หรือผลกระทบของอาการจากการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย, สุขภาพ/โรคประจำตัว, อายุ, ดุลพินิจของแพทย์, และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย, โดยแนวทางการรักษาจะเริ่มจากการรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อยก่อน คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน, การใช้ยาต่างๆเพื่อควบคุมอาการ, และการผ่าตัด
ก. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน: โดยแพทย์จะเลือกใช้วิธีการนี้ในกรณีผู้ป่วยมีอาการจากโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอชค่อนข้างน้อย และอาการของผู้ป่วยยังไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ซึ่งการปรับพฤติกรรมฯ คือการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง เช่น
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว และไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน
- ดื่มน้ำในแต่ละวันให้พอควร อย่าให้มากเกินไป (ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการตนเองและปรับปริมาณน้ำดื่มตามอาการ)
- ไม่สูบบุหรี่, ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- ลด หรือเลิกดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคลา เครื่องดื่มชูกำลัง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่จะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง เช่น ยาขับปัสสาวะ, ยาแก้แพ้, ยาลดน้ำมูก, ยาต้านเศร้า
- ฝึกปัสสาวะให้เป็นเวลา เช่น ทุก 3 ชั่วโมง แล้วค่อยๆปรับระยะเวลาให้นานขึ้น เพื่อป้องกันการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัสสาวะครั้งละ 2 ที เพื่อไม่ให้มีน้ำปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะที่จะทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะและปัสสาวะบ่อย ได้แก่ เมื่อปัสสาวะไปแล้ว ให้รออีกประมาณ 5 นาที แล้วปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง ระหว่างรอ อาจเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืน เป็นต้น
- ระวังไม่ให้ท้องผูก
- ทำการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (ฝึกขมิบก้น/ขมิบเพื่อกลั้นปัสสาวะ วิธีฝึกเช่นเดียวกับที่ผู้หญิงฝึกขมิบช่องคลอด) ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด
- รักษาร่างกายให้อบอุ่น, อากาศที่หนาว จะทำให้อาการแย่ลง จนอาจเกิดการปัสสาวะไม่ออกได้
- เมื่อจะต้องออกจากบ้าน ควรวางแผนเรื่องการปัสสาวะ(การใช้ห้องน้ำ)ไว้ล่วงหน้าเสมอเพื่อให้เกิดความสะดวกในการปัสสาวะ ร่วมกับมีผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หรือเตรียมชุดชั้นใน กางเกง ไว้เปลี่ยน
ข. การใช้ยาต่างๆ: ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ใช้วิธีปรับพฤติกรรมฯไม่ได้ผล, หรือในผู้ป่วยที่ตั้งแต่แรกมีอาการรุนแรงระดับปานกลาง, หรือมีอาการที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิติประจำวัน, ซึ่งยารักษาโรคบีพีเอช คือยาในกลุ่ม Alpha blocker, 5 Alpha reductase inhibitor, ทาดาสฟฟิล (Tadalafil:ใช้รักษาภาวะนกเขาไม่ขันที่มีรายงานพบว่าใช้รักษาโรคนี้ได้ผลในผู้ป่วยบางราย), ซึ่งอาจใช้ยาเพียงชนิดเดียว หรือหลายชนิดร่วมกันก็ได้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ค. การผ่าตัด: แพทย์จะเลือกใช้วิธีการนี้เมื่อผู้ป่วยใช้ยาแล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นกับ อาการ, สุขภาพผู้ป่วย, ความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว, และดุลพินิจของแพทย์, เช่น การใส่ท่อเพื่อขยายท่อปัสสาวะ(Prostatic stent)เพื่อช่วยให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น, การรักษาโดยการจี้ต่อมลูกหมากด้วยไมโครเวฟ(Tranurethral microwave therapy), การจี้ต่อมลูกหมากด้วยคลื่นความถี่วิทยุ(Tranurethal needle ablation), การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์(Laser prostectomy), หรือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Resectoscope (Tranurethral resection of prostate, ย่อว่า TURP), หรือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์
ทั้งนี้การจะเลือกใช้การผ่าตัดด้วยวิธีใดขึ้นกับ ความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัวรวมถึงดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง: ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจเลือกใช้วิธีรักษาหลายๆวิธีร่วมกัน และบางครั้ง เมื่อผู้ป่วยกลับมามีอาการอีก ก็อาจใช้วิธีเหล่านั้นซ้ำอีกได้เมื่อครั้งแรกรักษาได้ผล, * ยกเว้น การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผู้ป่วยควรต้องปฏิบัติตลอดไปร่วมกับวิธีต่างๆเพื่อช่วยลดโอกาสเกิดและเพื่อช่วยป้องการการเกิดเป็นซ้ำของโรคนี้
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการแย่ลง?
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอชแย่ลง เช่น
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- เครื่องดื่มคาเฟอีน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การสูบบุหรี่
- การดื่มน้ำในแต่ละวันในปริมาณมากเกินไป
- ท้องผูก
- ยาบางชนิด เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ ยาโรคซึมเศร้า
บีพีเอชมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอช มีการพยากรณ์โรค คือ โรคนี้มักมีธรรมชาติของโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการ เป็นๆหายๆ, แต่อาการจะดีขึ้นหลังได้รับการรักษา, และยัง* ‘ไม่มี’ รายงานว่า โรคนี้เปลี่ยนไปเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก* แต่มะเร็งต่อมลูกหมากอาจเกิดขึ้นได้ในต่อมลูกหมากที่มีโรคบีพีเอช (มี 2 โรคร่วมกัน), ซึ่งอัตราการเกิดมะเร็งฯเช่นเดียวกับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากของเพศชายทั่วไป
บีพีเอชมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอช เช่น
- ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน ซึ่งเมื่อเกิดอาการนี้ ผู้ป่วยควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
- เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้บ่อย โดยเฉพาะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- อาจเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ถ้ามีการอุดกั้นท่อปัสสาวะเรื้อรังและรุนแรง อาจส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของไต, ส่งผลให้ไตทำงานลดลง, ร่วมกับมีการติดเชื้อในไตบ่อยๆ จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไตเรื้อรังที่จะนำไปสู่ ‘ภาวะไตวาย’ ได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคต่อมลูกหมากโต/บีพีเอช จะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต’
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ผู้ป่วยโรคบีพีเอชควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง
- มีผลข้างเคียงจากโรค เช่น เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันบีพีเอชอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคบีพีเอช เนื่องจากเป็นโรคยังไม่ทราบสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคืออายุที่มากขึ้น, ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ก็ยังไม่แน่ชัด, อย่างไรก็ตาม, การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิติ, แพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่า น่าช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้บ้าง ซึ่งรวมไปถึงการลดโอกาสที่โรคนี้ย้อนกลับเป็นซ้ำหลังการรักษาได้ในระดับหนึ่ง
บรรณานุกรม
- Edwards,J. Am Fam Physician 2008;77(10): 1410-1413
- Pearson;R; and Williams; P. Am Fam Physician.2014;90(11):769-774
- https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/15579883211036786 [2022,Aug 6]
- https://emedicine.medscape.com/article/437359-overview#showall [2022,Aug 6]
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/urologic-diseases/prostate-problems/prostate-enlargement-benign-prostatic-hyperplasia [2022,Aug 6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benign_prostatic_hyperplasia [2022,Aug 6]