ปากคอแห้ง (Dry mouth and Dry throat)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 กันยายน 2562
- Tweet
- ปากคอแห้งคืออะไร?พบบ่อยไหม?
- ปากคอแห้งเกิดจากอะไร?
- ปากคอแห้งมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยอาการปากคอแห้งได้อย่างไร?
- รักษาปากคอแห้งได้อย่างไร?
- ปากคอแห้งรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันอาการปากคอแห้งได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กลุ่มอาการโจเกรน กลุ่มอาการเอสเอส โรคปากแห้งตาแห้ง (Sjogren’s Syndrome: SS)
- โรคหนังแข็ง (Scleroderma): มารู้จักโรคหนังแข็งกันเถอะ
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
ปากคอแห้งคือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ปากคอแห้ง(Dry mouth and Dry throat ) คืออาการที่รู้สึกว่า ปาก-คอ แห้ง น้ำลายเหนียว ขาดน้ำ ซึ่งทั่วไปเกิดจากภาวะมีน้ำลายน้อยกว่าปกติ
ปากคอแห้ง เป็นอาการ ไม่ใช่โรค เป็นอาการพบบ่อยทั้งเพศหญิง และเพศชาย ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งประมาณ 20% ของผู้สูงอายุจะมีอาการนี้
ปากคอแห้งเกิดจากอะไร?
ปากคอแห้งเกิดได้จากต่อมน้ำลายทำงานลดลง จึงสร้างน้ำลายลดลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ผลข้างเคียงจากยาหลายชนิด เช่น ยาลดน้ำมูก, ยาโรคภูมิแพ้/ ยาแก้แพ้, ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine), ยาแก้ปวดบางชนิด, ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด, ยาขับน้ำ/ ยาขับปัสสาวะ, และยาคลายเครียด /ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด, ยาเคมีบำบัด
- โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง
- โรคของต่อมน้ำลาย เช่น โรคต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง หรือ การผ่าตัดต่อมน้ำลายจากโรคต่างๆ เช่น เนื้องอกต่อมน้ำลาย
- โรคเอดส์
- โรคเบาหวาน เพราะก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อได้ทุกชนิดในร่างกายรวมทั้ง เนื้อเยื่อต่อมน้ำลาย
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ในการตั้งครรภ์ หรือในวัยหมดประจำเดือน
- โรคทางพันธุกรรมบางโรคที่ส่งผลให้เยื่อเมือกของอวัยวะต่างๆทำงานลดลง เช่น กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s syndrome)
- โรคสมอง หรือ โรคของเส้นประสาทบางชนิดที่ควบคุมการสร้างน้ำลาย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
- การรักษาโรคมะเร็งส่วนศีรษะ ลำคอด้วยการฉายรังสีรักษา ผ่านช่องปาก
- การหายใจทางปาก เช่น นอนอ้าปากหายใจ, นอนกรน, หรือ โรคหืด
- ภาวะขาดน้ำ
- ปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ ความเครียด
- อายุ เพราะพบได้สูงในผู้สูงอายุ เซลล์ต่างๆจึงเสื่อมการทำงานลง แต่บางการศึกษาค้านว่า น่าเกิดจากผลข้างเคียงของยาต่างๆที่ผู้สูงอายุบริโภคมากกว่า
ปากคอแห้งมีอาการอย่างไร?
อาการพบร่วมกับปากคอแห้งที่พบบ่อย ได้แก่
- กลืนลำบาก จากปริมาณน้ำลายที่ใช้หล่อลื่นในการกลืนลดลง
- พูดลำบาก ออกเสียงบางคำลำบาก จากเนื้อเยื่อในช่องปากแห้ง เนื้อเยื่อต่างๆที่ใช้ออกเสียงจึงทำงานติดขัด
- ลิ้นรับรสชาติอาหารผิดปกติ เพราะน้ำลายมีสารบางชนิดช่วยการรับรสชาติ
- เจ็บปาก แสบปากได้ง่าย ช่องปากเกิดแผลได้ง่าย โดยเฉพาะมุมปากสองข้าง
- มีกลิ่นปาก จากเศษอาหารหมักหมมที่เหงือกและฟันจากขาดน้ำลายช่วยกำจัด เศษอาหารจึงเกิดการบูด เน่าเสีย จึงก่อให้เกิดกลิ่น
- ฟันผุได้ง่าย จากขาดน้ำลายช่วยกำจัดเศษอาหารที่ติดเคลือบฟัน
แพทย์วินิจฉัยอาการปากคอแห้งได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยอาการปากคอแห้ง และหาสาเหตุได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติกินยาต่างๆ
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจช่องปากและฟัน
- และอาจมีการตรวจสืบค้นต่างๆเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือด ดูค่าน้ำตาล เมื่อสงสัยสาเหตุจากโรคเบาหวาน เป็นต้น
รักษาปากคอแห้งได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาอาการปากคอแห้งคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ, การรักษาสาเหตุ, และการดูแลรักษาช่องปากและฟัน
ก. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น
- แนะนำให้ผู้ป่วยเข้าใจเพื่อการดูแลตนเอง
- การช่วยให้ปากคอชุ่มชื้นขึ้น เช่น
- จิบน้ำบ่อยๆ
- การเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล
- การใช้น้ำลายเทียม (ได้ผลในผู้ป่วยบางราย)
- การกินยากระตุ้นการสร้างน้ำลาย (ให้ยาโดยแพทย์)
ข. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น
- กินยารักษาควบคุมโรคเบาหวาน เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคเบาหวาน
- หรือการปรับเปลี่ยนยา เมื่อสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
ค. การดูแลรักษาช่องปากและฟัน: เพื่อ ป้องกัน รักษา ฟันผุ และ เหงือกอักเสบ ดังจะกล่าวในหัวข้อการดูแลตนเอง
ปากคอแห้งรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ปากคอแห้ง เป็นอาการที่ไม่รุนแรง บางสาเหตุรักษาหายได้ เช่น สาเหตุจากผลข้างเคียงของยา ซึ่งอาการจะกลับปกติเมื่อเปลี่ยนยา แต่บางสาเหตุรักษาให้หายไม่ได้เช่น จากการผ่าตัดต่อมน้ำลาย หรือ จากรังสีรักษาผ่านช่องปากในการรักษาโรคมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ แต่สามารถ ดูแล บรรเทาอาการได้เสมอ
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากอาการปากคอแห้ง เช่น
- กระทบต่อคุณภาพชีวิต เพราะส่งผลต่อ การพูด การกิน การกลืน
- มีกลิ่นปาก
- เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ฟันผุได้ง่าย
- ช่องปากติดเชื้อราง่าย(อ่านรายละเอียดเพิมเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เชื้อราช่องปาก)
- ก่ออาการเจ็บช่องปากเมื่อต้องใส่ฟันปลอม
อนึ่ง: น้ำลาย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ คือ
- ช่วยหล่อลื่นช่องปาก
- ช่วยย่อยอาหารในปากเพราะมีน้ำย่อยอาหารเป็นส่วนประกอบด้วย
- ช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรียของช่องปาก จึงช่วยลดโอกาสเกิดฟันผุ และเหงือกอักเสบ เพราะในน้ำลายมีสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และช่วยกำจัดเศษอาหารไม่ให้เกาะติดฟันและเหงือก จึงช่วยลดฟันผุ และเหงือกอักเสบ ดังนั้นเมื่อน้ำลายลดลง จึงก่อผลข้างเคียงดังกล่าว
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์ เมื่อมีปากคอแห้ง ได้แก่
- เข้าใจเรื่องของอาการ และดูแลตนเองสม่ำเสมอ เคร่งครัด
- ดูแลรักษาความสะอาดช่องปากและฟัน โดย
- การแปรงฟันอย่างถูกต้องอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน,
- ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้งก่อนแปรงฟันเข้านอน
- ใช้ยาสีฟันชนิดมีฟลูออไรด์ (Fluoride) เป็นส่วนผสม
- บ้วนปากให้สะอาดด้วยน้ำประปาสะอาด หลังกินอาหาร หรือ ดื่มเครื่องดื่ม,
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปาก ชนิดมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม,
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีนมากเกินไป เพราะมีผลให้เยื่อบุช่องปากแห้ง และอักเสบได้ง่าย,
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยทุกปี หรือ ตามทันตแพทย์แนะนำ,
- รีบพบทันตแพทย์ หรือ พบก่อนนัด เมื่อมีปัญหาในช่องปาก และ/หรือ ฟัน
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- จิบน้ำบ่อยๆ
- อาหารแต่ละมื้อ ควรมีอาหารน้ำร่วมด้วยเสมอ เช่น แกงจืด เพื่อช่วยการกลืน
- ไม่กินอาหารหวาน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก เช่น น้ำหวาน และ น้ำอัดลม โดยเฉพาะที่ติดฟันง่าย เช่น ทอฟฟี่
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยว เพราะเพิ่มกรดในปาก ฟันจึงผุได้ง่ายขึ้น
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะจะขับน้ำ ส่งผลให้ปากแห้ง คอแห้งมากขึ้น เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง
- กินอาหารรสจืด เพราะอาหารรสจัด หรือ เครื่องเทศ จะเพิ่มการระคายเคืองเนื้อเยื่อช่องปาก
- เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาลเพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำลาย
- หลีกเลี่ยงการหายใจทางปาก
- สังเกตอาการจากการใช้ยาต่างๆ เมื่อมีอาการจากการใช้ยาควรพบแพทย์เพื่อขอปรับเปลี่ยนยา
- รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ ดังกล่าวแล้ว
ป้องกันอาการปากคอแห้งได้อย่างไร?
การป้องกันอาการปากคอแห้ง คือ การป้องกัน และการรักษา ควบคุมสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกัน รักษา ควบคุมได้ โดยเฉพาะการดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม รวมถึงการรักษาความสะอาดของช่องปาก เหงือก และฟัน
บรรณานุกรม
- Gonsalves, W. et al. (2008). Common oral conditions in older persons. Am Fam Physician. 78, 845-852.
- https://www.nhs.uk/conditions/dry-mouth/ [2019,Aug31]
- https://www.nidcr.nih.gov/health-info/dry-mouth[2019,Aug31]
- https://www.mouthhealthy.org/en/az-topics/d/dry-mouth[2019,Aug31]