ลินโคมัยซิน (Lincomycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ลินโคมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ลินโคมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ลินโคมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ลินโคมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ลินโคมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ลินโคมัยซินอย่างไร?
- ลินโคมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาลินโคมัยซินอย่างไร?
- ลินโคมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ: คือยาอะไร?
ลินโคมัยซิน (Lincomycin) คือ ยาปฏิชีวนะที่ผลิตจากแบคทีเรียกลุ่ม Steptomyces lincolnensis ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาต่อต้านเชื้อแบคทีเรียประเภท Actinomycetes Mycoplasma และเชื้อปรสิตประเภท Plasmodium บางชนิด รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้มีทั้งยารับประทานและยาฉีดที่จะพบเห็นการใช้มากกว่ายารับประทาน กรณีฉีดยาลินโคมัยซิน เข้ากล้ามเนื้อตัวยาจะเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณสูงสุดในกระแสเลือดจะต้องใช้เวลาประมาณ 60 นาทีขึ้นไป มีระยะเวลาออกฤทธิ์ได้นานถึงประมาณ 17 - 20 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับออกมากับปัสสาวะ
ทางคลินิก แพทย์จะไม่เลือกใช้ยาลินโคมัยซินกับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้หรือขณะนั้นผู้ป่วยมีการใช้ยา Erythromycin อยู่ก่อนด้วยการใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันกลับจะทำให้ฤทธิ์การรักษาลดลง นอกจากนี้แพทย์จะต้องพิจารณาและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเมื่อต้องใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสียหรือมีโรคของลำไส้เล็ก (เช่น ลำไส้อักเสบ) มีภาวะตับ-ไตทำงานผิดปกติ หรือผู้ป่วยด้วยโรคหืด
นอกจากนี้แพทย์มักจะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงข้อมูลพื้นฐานก่อนการใช้ยาลินโคมัยซินทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาโรคเป็นอย่างดี เช่น
- ยาลินโคมัยซินใช้ต่อต้านและรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาโรคติดเชื้อ ไวรัสได้
- การใช้ยาลินโคมัยซิน หากอาการดีขึ้น แพทย์มีความจำเป็นต้องให้ยาต่อเนื่องจนครบมาตรฐานของการให้ยา (Full course treatment) ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้ยา หรือเกิดมีภาวะที่เรียกว่า Stevens-Johnson syndrome หากเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานก็อาจจะเกิดการติดเชื้ออื่นนอกจากแบคทีเรียได้ เช่น โรคเชื้อรา เป็นต้น
- ขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาลินโคมัยซินอาจมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง)ได้บ้าง เช่น ท้องเสีย วิงเวียน อาเจียน ปวดในบริเวณที่ถูกฉีดยา ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองหลังหยุดการใช้ยานี้ หรือผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีอาการข้างเคียงใดๆเลยก็ได้
สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ลินโคมัยซินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และอยู่ในหมวดยาอันตราย เราสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป
ลินโคมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาลินโคมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ:
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ตอบสนองต่อยานี้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)
ลินโคมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาลินโคมัยซิน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อสารพันธุกรรมในตัวแบคทีเรียที่เรียกว่า 50S ribosome subunit ส่งผลเกิดการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนในตัวแบคทีเรียทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ลินโคมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาลินโคมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาด 200 และ 300 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
ลินโคมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาลินโคมัยซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา:
ก. ยาฉีด:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600 มิลลิกรัมทุกๆ 24 ชั่วโมง หากมีการติดเชื้อรุนแรงสามารถฉีดยา 600 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุกๆ 24 ชั่วโมง หากมีการติดเชื้อรุนแรงสามารถฉีดยา 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนลงมา: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงขนาดการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข. ยารับประทาน:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัมทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานครั้งละ5 - 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง
- เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนลงมา: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงขนาดการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง: ยานี้ควรรับประทานช่วงท้องว่างคือประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือประมาณ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลินโคมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลินโคมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลินโคมัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาลินโคมัยซินให้ตรงเวลา
ลินโคมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาลินโคมัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยรวมได้ดังนี้ เช่น
- เป็นตะคริวที่ท้อง หรือมีอาการปวดท้อง
- ท้องเสียเป็นน้ำ หรือถึงขั้นมีเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด
- มีไข้
- ผู้ป่วยบางรายจะพบอาการผื่นคัน, เจ็บคอ, และ/หรือมีภาวะเลือดออกง่าย
มีข้อควรระวังการใช้ลินโคมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลินโคมัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Erythromycin
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสียอย่างรุนแรง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- การใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลินโคมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ลินโคมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลินโคมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาลินโคมัยซิน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol อาจทำให้ ฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันหรือใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยชาย
- การใช้ยาลินโคมัยซิน ร่วมกับยา Succinylcholine อาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก/ หายใจลำบากหรือระบบการหายใจเป็นอัมพาต หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาลินโคมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาลินโคมัยซิน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ลินโคมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลินโคมัยซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Linco (ลินโค) | General Drugs House |
Linco ANB (ลินโค เอเอนบี) | ANB |
Lincocin (ลินโคซิน) | Pfizer |
Lincolan (ลินโคแลน) | Olan-Kemed |
Lincono (ลินโคโน) | Milano |
Linco-P (ลินโค-พี) | PP Lab |
Lincosa (ลินโคซา) | L.B.S. |
Lingo (ลินโก) | Siam Bheasach |
Linmycin (ลินมัยซิน) | Atlantic Lab |
Unolin (ยูโนลิน) | PP Lab |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Lincomycin [2022,Jan1]
- https://www.drugs.com/pro/lincomycin-injection.html [2022,Jan1]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Linco/?type=brief [2022,Jan1]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/lincomycin?mtype=generic [2022,Jan1]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/lincomycin-index.html?filter=2&generic_only= [2022,Jan1]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lincocin/ [2022,Jan1]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/lincomycin-injection-route/proper-use/drg-20064534 [2022,Jan1]