มิโดดรีน (Midodrine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- มิโดดรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- มิโดดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- มิโดดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มิโดดรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มิโดดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้มิโดดรีนอย่างไร?
- มิโดดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษามิโดดรีนอย่างไร?
- มิโดดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอลฟา-1 อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha-1 adrenergic receptor agonists)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- ดิจิทาลิส (Digitalis)
- ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
บทนำ:คือยาอะไร?
มิโดดรีน (Midodrine) คือ ยารักษาความดันโลหิตต่ำในกลุ่มยา แอลฟา1 อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha-1 adrenergic receptor agonist), มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาชนิดรับประทาน, โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ผนังหลอดเลือดแดงและผนังหลอดเลือดดำ ทำให้หลอดเลือดเกิดแรงบีบตัวมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่ไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ (Receptor)ในบริเวณหัวใจที่มีชื่อว่า Beta-adrenergic receptors
ตัวยามิโดดรีนซึม ผ่านเข้าสมองได้น้อย จึงมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ประสาทส่วนกลางไม่มากเท่าใดนัก, หลังรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมได้เป็นอย่างดีจากระบบทางเดินอาหาร แต่ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ในการรักษาได้ จะต้องถูกร่างกายเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็น สารออกฤทธิ์ คือ สาร Desglymidodrine เสียก่อน, การกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง แล้วผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ข้อจำกัดของการใช้ยามิโดดรีนอยู่ที่ผู้ป่วยต้องไม่มี ภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดระยะรุนแรง, เป็นโรคไตวายแบบเฉียบพลัน, ภาวะปัสสาวะขัด, ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, เนื้องอกชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma), ซึ่งยามิโดดรีนอาจกระตุ้นอาการป่วยจากกลุ่มโรคดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น
ระหว่างการใช้ยามิโดดรีนอนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการ ง่วงนอน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม แพทย์จึงมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ และการทำงานกับเครื่องจักร และต้องหมั่นวัดความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ, นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาประเภทออกฤทธิ์กระตุ้นร่างกาย เช่น กลุ่มยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน, หรือยาแก้หวัด เช่นยา Pseudoephedrine
ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลของการใช้ยามิโดดรีนกับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร, จึงต้องระวังอย่างมากหากจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
ทั้งนี้ อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยในขณะที่ใช้ยานี้ เช่น มีอาการ คันทางผิวหนัง หนาวสั่น รวมถึงปัสสาวะบ่อย, ข้อดีอีกประการหนึ่งของยามิโดดรีน คือ สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้, แต่ห้ามปรับขนาดรับประทานเองโดยที่ไม่มีคำสั่งจากแพทย์เด็ดขาด การใช้ยาไปสักระยะอาการความดันโลหิตต่ำของผู้ป่วยก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ
หากพบปัญหาหลังการใช้ยาโดยที่อาการป่วยไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางรักษา
อนึ่ง: ในต่างประเทศยามิโดดรีน มีชื่อการค้า เช่น Gutron, Amatine, ProAmatine
มิโดดรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยามิโดดรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ
มิโดดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยามิโดดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารออกฤทธิ์เดสกลัยมิ Desglymidodrine ซึ่งออกฤทธิ์ในลักษณะของยาซิมพาโทมิเมติก (Sympathomimetic activity), ส่งผลให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
มิโดดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยามิโดดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
มิโดดรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยามิโดดรีนมีขนาดรับประทาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม, วันละ 3 ครั้ง/วัน, หรือให้รับประทาน 20 มิลลิกรัมครั้งเดียว/วัน, ทั้งนี้ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
*อนึ่ง:
- เด็ก: ยังขาดข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนเรื่องการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานลง
- สามารถรับประทานยานี้ได้โดยไม่ขึ้นกับมื้ออาหาร แต่ควรต้องรับประทานให้ตรงเวลา เช่น หลังตื่นนอนเช้า เที่ยง และก่อนหกโมงเย็น, และไม่ควรรับประทานยานี้หลังหกโมงเย็นไปแล้วเพราะการรับประทานยานี้ก่อนเข้านอน(การนอนราบหลังรับประทานยานี้)จะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง(ความดันโลหิตสูงมากจนมีอาการ)จากยานี้ได้สูงขึ้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยามิโดดรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิโดดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยามิโดดรีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยามิโดดรีนตรงเวลา
มิโดดรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยามิโดดรีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- ตาพร่า
- ปวดหัว
- วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
- ชีพจรเบา
- เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
- หนาวสั่น
- ขนลุก
- ปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อย
- อาจมีอาการ กระสับกระส่าย วิตกกังวล รู้สึกสับสน
- ปากคอแห้ง
- ใบหน้าแดง
- ปวดหลัง
- ง่วงนอน
- ผิวแห้ง
- ขาเป็นตะคริว
- อาการแสบร้อนกลางอก
- คลื่นไส้
- นอนไม่หลับ
- อ่อนเพลีย
มีข้อควรระวังการใช้มิโดดรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยามิโดดรีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเฉียบพลัน ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน และผู้ป่วยโรคฟีโอโครโมไซโตมา
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากมาตรฐานเดิม
- หมั่นตรวจสอบความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอขณะที่ใช้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม Digitalis ด้วยจะทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติติดตามมา
- พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามิโดดรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
มิโดดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยามิโดดรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยามิโดดรีน ร่วมกับยา Linezolid อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยามิโดดรีน ร่วมกับยา Ergotamine อาจทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงจนทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลงและเป็นอันตรายกับผู้ป่วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองกลุ่มนี้ร่วมกัน
- การใช้ยามิโดดรีน ร่วมกับยา Bisoprolol อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นช้าลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษามิโดดรีนอย่างไร?
ควรเก็บยามิโดดรีน : เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
มิโดดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยามิโดดรีน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Gutron (กูตรอน) | Nycomed Austria |