เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งปากมดลูก ตอนที่ 7
- โดย รศ.ดร.นพ.บัณฑิต ชุมวรฐายี
- 25 กันยายน 2556
- Tweet
ทางเลือกต่างๆในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้าง?
มีทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกอยู่มากมาย บางอย่างจัดเป็นวิธีมาตรฐาน (วิธีที่ใช้กันอยู่แล้วในปัจจุบัน) และบางอย่างก็เป็นวิธีที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยทางคลินิก (คือกำลังนำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยจริงนั่นเอง) ก่อนเริ่มการรักษา ผู้ป่วยอาจอยากที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยทางคลินิก การศึกษาวิจัยทางคลินิกในด้านวิธีการรักษาก็คือ การศึกษาวิจัยที่มีเจตนาจะช่วยในการปรับปรุงพัฒนาวิธีการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการรักษาชนิดใหม่ที่จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง เมื่อผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกได้แสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วยวิธีใหม่ดีกว่าวิธีเก่า วิธีการรักษาใหม่นั้นก็อาจกลายเป็นวิธีการรักษามาตรฐานได้
การศึกษาวิจัยทางคลินิกต่างๆนั้น มีการดำเนินการอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก การเลือกวิธีการรักษามะเร็งที่เหมาะสมที่สุดนั้น ควรเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นมาจากการปรึกษาหารือกันของผู้ป่วยกับครอบครัวและทีมแพทย์ผู้ดูแล
วิธีการผ่าตัด
การผ่าตัดจัดเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกบางกรณี โดยอาจใช้วิธีการในการผ่าตัดต่างๆกันไป ดังต่อไปนี้
- การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยใบมีด (Conization) เป็นหัตถการในการผ่าตัดที่ตัดเอาเนื้อของปากมดลูกและรูปากมดลูกออกมาเป็นรูปกรวย พยาธิแพทย์จะตรวจดูชิ้นเนื้อนี้ด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาดูว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ในชิ้นเนื้อนี้หรือไม่ (การตรวจทางพยาธิวิทยา) การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยใบมีดนี้ อาจนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยหรือการรักษารอยโรคที่ปากมดลูกก็ได้
- การตัดมดลูกออกทั้งหมด เป็นหัตถการในการผ่าตัดที่ตัดเอาทั้งมดลูกและปากมดลูกออกไป หากการตัดเอามดลูกและปากมดลูกออกนี้ผ่านออกมาทางช่องคลอด ก็เรียกว่าการผ่าตัดมดลูกออกทางช่องคลอด แต่ถ้าเอามดลูกและปากมดลูกออกมาผ่านทางแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง ก็เรียกว่าการตัดมดลูกออกทั้งหมดทางหน้าท้อง และถ้าหากเอามดลูกและปากมดลูกออกมาผ่านทางแผลผ่าตัดเล็กๆที่หน้าท้องโดยใช้การส่องกล้องส่องดูช่องท้องช่วย ก็เรียกว่าการตัดมดลูกออกทั้งหมดผ่านกล้องส่องดูช่องท้อง
- การผ่าตัดเลาะอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เป็นหัตถการในการผ่าตัดที่ตัดเอาลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ลำไส้ตรง และกระเพาะปัสสาวะออก ในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดชนิดนี้ ทั้งปากมดลูก ช่องคลอด รังไข่ และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง จะถูกเลาะออกไปด้วยกันทั้งหมด และจะมีการสร้างรูเปิดเทียมให้แก่ทางเดินปัสสาวะและอุจจาระที่เหลืออยู่ ให้ทั้งอุจจาระและปัสสาวะได้ไหลลงไปในถุงเก็บได้โดยไม่ก่อให้เกิดการเลอะเทอะร่างกายของผู้ป่วยด้วย หากต้องการสร้างช่องคลอดเทียมขึ้นมาในภายหลัง ก็อาจทำได้โดยปรึกษาศัลยแพทย์ตกแต่ง
- การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการรักษารอยโรคที่ปากมดลูกโดยใช้เครื่องมือมาแตะเพื่อทำให้เกิดเป็นน้ำแข็งขึ้นมาที่รอยโรค ด้วยความเย็นระดับต่ำกว่าลบ 40-70 องศาเซลเซียสโดยประมาณ ผลึกน้ำแข็งที่เกิดขึ้นจะไปทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ อย่างเช่นรอยโรคก่อนมะเร็งของปากมดลูกได้
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ เป็นหัตถการในการผ่าตัดที่ใช้แสงเลเซอร์ (ลำแสงที่มีความเข้มสูงมาก) ทำหน้าที่เป็นเสมือนใบมีดในการตัดเนื้อเยื่อโดยไม่ทำให้เกิดการเสียเลือดเลย หรือเพื่อการจี้ทำลายรอยโรคที่อยู่ผิวๆ อย่างเช่นรอยโรคก่อนมะเร็งของปากมดลูกก็ได้
- การตัดปากมดลูกด้วยขดลวดไฟฟ้า เป็นหัตถการในการผ่าตัดที่ใช้กระแสไฟฟ้าผ่านเข้าไปในขดลวดไฟฟ้าเส้นเล็กๆ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเสมือนใบมีดในการตัดเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ หรือมีเซลล์มะเร็งอยู่ภายในออกมา โดยกระแสไฟฟ้าที่ผ่านออกมานั้นจะช่วยทำหน้าที่ช่วยในการห้ามเลือดไปด้วย แต่ก็ยังห้ามเลือดได้ไม่ดีเท่ากับแสงเลเซอร์ จึงต้องมีการใช้หัวจี้ไฟฟ้าชนิดกลมคล้ายลูกบอลในการตามจี้ห้ามเลือดให้สนิทอีกขั้นตอนหนึ่ง
แหล่งข้อมูล:
- ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.