เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งปากมดลูก ตอนที่ 11

แนวทางในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกในสหรัฐอเมริกา เป็นอย่างไร?

คุณผู้หญิงคงได้ทราบกันไปแล้วจากข้อความข้างต้นว่า ในประเทศไทยมีแนวนโยบายในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างไรบ้าง และสถานการณ์โดยรวมของโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยนั้นย่ำแย่เพียงใด เพื่อที่จะได้เห็นภาพว่าในประเทศที่เขาพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอัตราจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ต่ำมากนั้น เขามีแนวนโยบายอย่างไรกันบ้าง ก็ลองศึกษาดูแนวทางของเขาที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่หลังจากมีข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า การเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกนั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ ดังนี้ครับ

  1. ควรเริ่มไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เมื่อเคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกไปแล้วเป็นเวลา 3 ปีโดยประมาณ โดยไม่ควรล่าช้าไปกว่าอายุ 21 ปีบริบูรณ์
  2. ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรรอประมาณ3 ปีหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกก็เพราะ การติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกเพียงชั่วคราวนั้น พบได้บ่อยแต่ก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไร และกว่าที่จะกลายเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งขั้นสูงหรือเป็นโรคมะเร็งขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องใช้เวลาหลายปี อีกทั้งโรคมะเร็งปากมดลูกในสตรีอายุน้อยกว่า 25 ปีก็พบได้น้อยมาก
  3. สตรีควรไปรับการตรวจแพปสเมียร์ (Pap smear) อย่างน้อยทุกๆ 3 ปี
  4. สตรีที่มีอายุระหว่าง 65-70 ปี ซึ่งมีผลการตรวจแพปสเมียร์เป็นปกติอย่างน้อย ๓ ครั้งติดต่อกันแล้ว และไม่เคยมีผลการตรวจที่ผิดปกติเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจพิจารณาหยุดมารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเลยก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับการปรึกษากันกับผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ดูแลอยู่
  5. สตรีที่เคยได้รับการตัดมดลูกออกไปแล้วทั้งหมด (หมายความว่าปากมดลูกก็ออกไปด้วย) ไม่จำเป็นต้องมารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเลย หากว่าการผ่าตัดนั้นไม่ได้ทำไปเพื่อการรักษารอยโรคก่อนมะเร็งหรือโรคมะเร็งของปากมดลูก
  6. สตรีควรได้รับคำแนะนำทางการแพทย์จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับว่า เมื่อใดที่ควรเริ่มไปรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ควรไปบ่อยเพียงใด และเมื่อใดที่สามารถหยุดได้แล้ว โดยเฉพาะเมื่อสตรีรายนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เช่น ในกรณีที่มีการติดเชื้อไวรัสเอดส์ /เอชไอวี เป็นต้น

โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันและรักษาได้เป็นส่วนมาก หากสตรีได้ไปรับการตรวจภายในและตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งตอนต่อไป จะเป็นคำถามที่พบได้บ่อยและข้อมูลที่ควรทราบเกี่ยวกับการไปรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งคุณผู้หญิงควรจะได้ทราบและเตรียมตัวเตรียมใจได้อย่างถูกต้องก่อนจะไปรับการตรวจจริงนะครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.