เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งปากมดลูก ตอนที่ 3

การป้องกันโรคมะเร็งเต้านม มีวิธีการใดบ้าง?

ดังที่ได้ทราบแล้วว่า โรคมะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่สามารถทราบได้ และปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เสียทั้งหมด คุณผู้หญิงจึงอาจป้องกันโรคมะเร็งเต้านมได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้ครับ

  1. การใช้ยาทามอกซิเฟน (Tamoxifen) ทามอกซิเฟน เป็นยาต้านฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มีต่อเซลล์มะเร็ง มันสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมของสตรีที่มีความเสี่ยงสูงลงได้ อย่างไรก็ตาม ทามอกซิเฟน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคหลอดเลือดสมอง และโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำและในปอด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) สตรีที่กังวลว่าตนเองอาจมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่จะใช้ยานี้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการพิจารณาถึงผลดีและผลเสียของการรับประทานยาทามอกซีเฟน ไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  2. การปรับปัจจัยทางฮอร์โมน ฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นมาจากรังไข่ดูเหมือนว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ในสตรี การได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ 1-2 ข้างออกไปจะลดความเสี่ยงนี้ลง การใช้ยาต่างๆที่ไปกดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) อาจทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลดลง การใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยทองก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้มานานเกินกว่า 5 ปี และกำลังใช้อยู่หรือเพิ่งเลิกไปได้ไม่นาน การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมขึ้นเล็กน้อย

    การเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกค่อนข้างช้าและการมีบุตรคลอดครบกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม สตรีที่มีบุตรคนแรกก่อนอายุ 20 ปีก็จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าสตรีที่มีบุตรคนแรกหลังอายุ 35 ปีหรือไม่เคยมีบุตรเลยมากทีเดียว การหมดประจำเดือนช้าก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน

  3. การได้รับรังสี การพยายามหลีกเลี่ยงรังสีโดยการลดจำนวนการถ่ายภาพรังสีเอกซ์/เอกซเรย์ของปอด โดยเฉพาะเมื่ออายุยังน้อย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม การได้รับรังสีรักษาสำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินในวัยเด็ก ก็อาจทำให้สตรีผู้นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นในช่วงชีวิตต่อมา แต่ก็มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมเพียงน้อยรายที่สามารถได้ประวัติ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปได้กับการเคยได้รับรังสีมาก่อน
  4. การรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหารกำลังได้รับการศึกษาวิจัยว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่ มีหลายการศึกษาวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มประชากรที่บริโภคอาหารที่มีไขมันสูง สตรีมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่าในกลุ่มประชากรที่บริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่าอาหารที่มีไขมันต่ำจะป้องกันโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่ แต่ก็มีหลายการศึกษาวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นว่า วิตามินบางชนิดอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง การออกกำลังกาย โดยเฉพาะในสตรีวัยสาว อาจไปช่วยลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมไปด้วย การให้นมบุตรก็อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเช่นกัน หลายการศึกษาวิจัยบ่งชี้ว่า การบริโภคแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมขึ้นเล็กน้อย การมีน้ำหนักตัวเกินหลังจากเข้าสู่วัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) โดยเฉพาะหลังจากการเข้าสู่วัยทองตามธรรมชาติหรือหลังจากอายุ ๖๐ ปี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
  5. การผ่าตัดเต้านมออกเพื่อกันไว้ก่อน หลังจากการประเมินความเสี่ยงและการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมแล้ว การผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อกันไว้ก่อนก็สามารถทำได้ มันอาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมลงได้มากในสตรีที่ได้ประวัติว่ามีบุคคลอื่นในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม
  6. การตรวจหายีน/จีน ที่มีความเสี่ยงแล้วรับประทานยาป้องกันหากพบว่ามี ยีนผิดปกติ สตรีที่ได้รับยีนจำเพาะซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมาโดยกำเนิด อาจได้รับประโยชน์จากวิธีการตรวจหายีนเหล่านี้ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยหลายงาน ยาเฟนเรติไนด์ (Fenretinide) และยาราลอกซิฟีน (Raloxifene) เป็นยาอีก 2 ชนิดที่กำลังได้รับการศึกษาวิจัยอยู่ เกี่ยวกับประโยชน์ของพวกมันในฐานะที่อาจเป็นยาป้องกันมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.