เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งปากมดลูก ตอนที่ 1
- โดย รศ.ดร.นพ.บัณฑิต ชุมวรฐายี
- 14 สิงหาคม 2556
- Tweet
ข้อมูลทั่วไป
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาก็คือ อุบัติเหตุและโรคหัวใจ สำหรับมะเร็งในสตรี มะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดคือ มะเร็งปากมดลูก จากรายงานของสำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติพบว่า ในปีพ.ศ. 2544 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละประมาณ 6,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกประมาณปีละ 3,000 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 50% ถ้าคำนวณเป็นรายวันแล้วจะมีสตรีไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกเกือบวันละ 9 ราย ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกพบได้เป็นจำนวนมากที่สุด ในภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ โดยการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติเสียตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง แล้วทำการรักษาตั้งแต่ในระยะนั้น หรือในระยะที่1 ซึ่งยังได้ผลการรักษาที่ดีมาก หายขาดเกือบ 100%
กายวิภาคศาสตร์ของปากมดลูก เป็นอย่างไร?
ปากมดลูก ก็คือส่วนที่มีลักษณะแคบลงที่อยู่ล่างสุดของตัวมดลูก ซึ่งเชื่อมต่ออยู่ระหว่างตัวมดลูกกับช่องคลอด จัดเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่มีหน้าที่ช่วยเป็นทางผ่านของประจำเดือนจากโพรงมดลูก เข้าสู่ช่องคลอด และช่วยพยุงทารกเมื่อมีการตั้งครรภ์ จึงช่วยป้องกันการเกิดแท้งบุตร
ความสำคัญของมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร?
ในต่างประเทศ มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือแพปสเมียร์ (Pap smear) กันอย่างแพร่หลาย โดยครอบคลุมประชากรหญิงอายุ 25-60 ปีได้ถึง 70-80% ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ลดจำนวนลงอย่างมากจนกระทั่งจัดเป็นโรคที่พบได้น้อย ต่างกันกับประเทศไทยที่ไม่สามารถทำการตรวจคัดกรองด้วยวิธีการนี้ให้ครอบคลุมจำนวนประชากรได้มากพอ จำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่จึงยังไม่ลดลงเลย ซ้ำร้ายยังมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของโลกอีกด้วย เคราะห์ดีที่ในขณะนี้ได้มีความพยายามจากหลายฝ่าย ในการทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ครอบคลุมจำนวนประชากรได้มากพอ ด้วยวิธีการอื่นที่เรียบง่ายกว่าวิธีเซลล์วิทยา เช่น วิธีการป้ายปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูแล้วตรวจดูด้วยตาเปล่า (VIA, Visual inspection with acetic acid) ซึ่งได้มีโครงการนำร่องในประเทศไทยไปแล้วหลายปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีโดยได้อัตราครอบคลุมในบางอำเภอได้ถึง 99% ของกลุ่มประชากรหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุระหว่าง 30-45 ปี ผลงานดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และมีการตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปทางวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก “แลนเส็ต (Lancet)” แล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ.2546 นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ให้ความสำคัญมากกับโรคนี้ โดยการจัดให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจทางเซลล์วิทยา (วิธีดั้งเดิม) ฟรีแก่สตรีไทยที่ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อายุ 3-60 ปี ทุก 5 ปี มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 คุณผู้หญิงครับ มีช่องทางให้ตรวจกันได้ขนาดนี้แล้วก็ได้โปรดไปตรวจสักครั้งเถอะครับ อย่างน้อยก็ถือว่าได้ยืดอายุให้กับตัวท่านเองได้อยู่กับคนที่ท่านรักไปนานๆ นะครับ
แหล่งข้อมูล:
- ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.