ประจำเดือนผิดปกติ (Menstrual disorder)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ภาวะประจำเดือนผิดปกติหมายถึงอะไร?

ลักษณะ 'ประจำเดือนที่ปกติ' จะเกิดในช่วง 21 -35 วัน อย่างสม่ำเสมอ, ปริมาณเลือดที่ออกจะประมาณ 30-50 มิลลิลิตรต่อรอบเดือน,  มีเลือดประจำเดือนไหลอยู่ประมาณ 3-5 วัน  และลักษณะเลือดที่ออกมักไม่เป็นลิ่มเลือด  

ดังนั้น “ภาวะประจำเดือนผิดปกติ หรือประจำเดือนผิดปกติ หรือภาวะประจำเดือนไม่ปกติ หรือ ประจำเดือนไม่ปกติ (Menstrual disorder หรือ Menstrual problem หรือ  Menstrual irregularity หรือ Abnormal menstruation)” จึงมีความผิดปกติได้หลายแบบ  เช่น

  • ปริมาณเลือดประจำเดือน มากกว่า 80 มิลลิลิตรต่อรอบเดือน
  • มีความผิดปกติที่รอบระยะเวลาที่เป็นประจำเดือน เช่น สั้นกว่า 21 วัน หรือยาวนานกว่า  35  วัน     
  • ผิดปกติที่จำนวนวันที่มีประจำเดือน เช่น มากกว่า 7 วัน   
  • ลักษณะเลือดที่ออกเป็นแบบกะปริบกะปรอย(เลือดออกครั้งละน้อยๆ บางวันเลือดออก บางวันเลือดหยุด)
  • มีเลือดออกระหว่างรอบประจำเดือน

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ?

 

สาเหตุประจำเดือนผิดปกติ เมื่อจัดกลุ่มตามอายุผู้ป่วย สามารถแบ่งสาเหตุออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้  

ก. ประจำเดือนผิดปกติในช่วงวัยรุ่น
ข. ประจำเดือนผิดปกติในช่วงวัยเจริญพันธุ์
ค. ประจำเดือนผิดปกติในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน และในวัยหมดประจำเดือน

ก. ประจำเดือนผิดปกติในช่วงวัยรุ่น (อายุ11-19 ปี): สาเหตุ เช่น  

  • สาเหตุที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์: ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของประจำเดือนผิดปกติในวัยนี้ เช่น
    • ภาวะระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายไม่ปกติ: พบได้บ่อยมากในวัยรุ่น  เนื่องจากระบบฮอร์โมนเพศยังพัฒนาไม่เต็มที่, และสาเหตุอื่นที่พบ เช่น  
      • ภาวะไข่ไม่ตก: พบได้ในวัยรุ่นสตรีที่อ้วน หรือผอมเกินไป,  สตรีที่มีความเครียดสูง,  สตรีที่เป็นนักกีฬาที่ฝึกซ้อมอย่างหนัก, เป็นต้น ซึ่งทำให้ระบบฮอร์โมนจากสมองหลั่งฮอร์โมนชนิด Gonadotropin releasing hormone (GnRH) /ฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของรังไข่ออกมาผิดปกติ  ทำให้เกิดความไม่สมดุลต่างๆของฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์,  มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวไปเรื่อยๆ จากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน,   เมื่อไข่ไม่ตกก็จะไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ไปเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกให้หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนตามรอบปกติ  ประจำเดือนจึงจะขาดหายไปทีละ 2-3 เดือน
      • ภาวะพีซีโอเอส (Polycystic ovary syndrome /PCOS): เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอนโดรเจนสูง ทำให้ไปเกิดการไม่ตกไข่เรื้อรัง
    • การได้รับฮอร์โมนเพศจากภายนอก: เช่น การรับประทาน  ยาเม็ดคุมกำเนิด,   ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน, การใช้ ยาฉีดคุมกำเนิด,  ยาฝังคุมกำเนิด, ซึ่งฮอร์โมนที่ได้รับนี้ จะมีผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูก  ทำให้บางครั้งมีเลือดประจำเดือนผิดปกติได้
    • มีการอักเสบหรือติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์: เช่น การอักเสบที่ปากมดลูก/ปากมดลูกอักเสบ,   เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ  จึงสามารถทำเกิดให้เลือดออกทางช่องคลอด/เลือดประจำเดือนที่ผิดปกติได้,  แต่ลักษณะของเลือดที่ออกมักเป็นแบบกะปริบกะปรอย  
    • โรคเลือด: เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ,  โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ,   โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรค von Willebrand’s (โรคทางพันธุกรรมที่พบน้อย, ที่ผู้ป่วยขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้เกิดเลือดออกได้ง่ายกับทุกอวัยวะ), ซึ่งเลือดประจำเดือนที่ออกในสตรีเหล่านี้มักจะมีปริมาณมากเพราะมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์: เช่น
    • การแท้งบุตร: ผู้ป่วยจะมีการขาดหายไปของประจำเดือน อาจมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน  และต่อมามีเลือดออกทางช่องคลอด หากเป็นภาวะแท้งคุกคาม  เลือดที่ออกจะมีปริมาณไม่มาก,  แต่หากเป็นการแท้งไม่ครบ/แท้งไม่สมบูรณ์ ปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอดจะค่อนข้างมาก
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูก: ผู้ป่วยจะมีการขาดหายไปของประจำเดือน และต่อมามีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ (ออกกะปริบ กะปรอย) ร่วมกับอาการปวดท้องที่ปีกมดลูกข้างใดข้างหนึ่ง,  หากอาการรุนแรง จะปวดทั่วๆท้องได้

ข. ประจำเดือนผิดปกติในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 20-45 ปี): สาเหตุ เช่น

  • สาเหตุที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์: เช่น การแท้งบุตร, ท้องนอกมดลูกจะพบในวัยนี้ได้บ่อยกว่าในกลุ่มวัยรุ่น
  • สาเหตุจากระดับฮอร์โมนเพศไม่ปกติ: จะพบได้น้อยลงในช่วงวัยนี้ เนื่องจากระบบฮอร์โมนเพศต่างๆ จะพัฒนาเต็มที่แล้วเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมของร่างกายเพื่อการเจริญพันธุ์
  • สาเหตุจากการได้รับฮอร์โมนเพศจากภายนอก: เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดต่างๆ   ซึ่งในวัยนี้จะพบจากสาเหตุนี้ได้บ่อยกว่าในกลุ่มวัยรุ่น,  หรือจากการใช้สมุนไพรต่างๆ เช่น ยาขับประจำเดือนชนิดต่างๆ
  • มีพยาธิสภาพที่ระบบอวัยวะสืบพันธุ์: เช่น
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ : จะพบสาเหตุนี้ในวัยนี้ได้บ่อยกว่าในกลุ่มวัยรุ่น 
    • เนื้องอกมดลูก: ซึ่งเนื้องอกที่มดลูกจะไปรบกวนการหดรัดตัวของมดลูก  ทำให้มีเลือดประจำเดือนผิดปกติได้, ทั้งเป็นแบบประจำเดือนออกมาก หรือประจำเดือนออกนาน หรือมีประจำเดือนกะปริบกะปรอย
    • มีติ่งเนื้อปากมดลูก: ทำให้มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ได้
    • มะเร็งปากมดลูก: มีโอกาสพบได้มากขึ้นในช่วงอายุนี้
  • โรคเลือดต่างๆตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นของหัวข้อนี้

ค. ประจำเดือนผิดปกติในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือในวัยหมดประจำเดือน: สาเหตุ เช่น

  • สาเหตุจากภาวะระดับฮอร์โมนเพศไม่ปกติ: ที่จะกลับมาพบได้มากขึ้นในช่วงวัยนี้ เช่น ภาวะไม่ตกไข่ เนื่องจากระบบฮอร์โมนเพศต่างๆจะกลับมาเปลี่ยนแปลงจากมีความเสื่อมเกิดขึ้นตามวัย  รังไข่จะทำงานได้น้อยลง, ส่งผลการหลั่งฮอร์โมนเพศที่มีผลต่อประจำเดือนจะผิดปกติไป,   และเมื่อรังไข่ทำงานน้อยลง/ไม่ทำงาน  ประจำเดือนก็จะค่อยๆ หมดไป
  • สาเหตุจากการได้รับฮอร์โมนเพศจากภายนอก: เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดต่างๆ, การใช้ฮอร์โมนเพศเพื่อรักษาอาการผิดปกติจากการทำงานของรังไข่ที่ลดลง, หรือการใช้สมุนไพรต่างๆ
  • มะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น  มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก  ซึ่งจะพบมากขึ้นในช่วงวัยนี้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีประจำเดือนผิดปกติ?

มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะประจำเดือนผิดปกติ (โดยจะกล่าวเฉพาะสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์): เช่น  

  • วัยรุ่นที่อ้วนหรือผอมเกินไป
  • วัยรุ่นที่มีความเครียดสูง
  • สตรีที่มีการใช้ฮอร์โมนเพศต่างๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีประจำเดือนผิดปกติ?

การดูแลตนเองเมื่อมีประจำเดือนผิดปกติ: เช่น  

  • กำจัดปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนไม่ปกติ เช่น ลดความเครียด, ปรับเปลี่ยนชนิดยาเม็ดคุมกำเนิด
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนหรือผอมมากเกินไป
  • มีการออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ, ไม่หักโหม
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • รักษาสุขอนามัยและความสะอาดของร่างกาย(สุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ไม่ควรซื้อยาต่างๆมารับประทานเอง, แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด?

เมื่อมีประจำเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล: เมื่อ

  • มีเลือดประจำเดือนออกนานผิดปกติ จนร่างกาย อ่อนเพลีบ เปลือกตา/หนังตาซีด
  • มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง มีไข้ น้ำหนักตัวลด คลำได้ก้อนในท้อง ท้องอืด  ท้องโตขึ้น/ท้องมาน

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุภาวะประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุภาวะประจำเดือนผิดปกติ ได้โดย

  • สอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เช่น ประวัติเกี่ยวกับระบบประจำเดือนที่ผ่านมา ประวัติการใช้ยาต่างๆ  อาหารเสริม สมุนไพร/ยาแผนโบราณ โรคประจำตัว
  • การตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ตรวจดูเปลือกตา/หนังตาว่าซีดหรือไม่ ตรวจคลำ ร่างกายว่า  มีต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่  มีก้อนที่ท้องน้อยหรือไม่  มีภาวะท้องมานหรือน้ำในช่องท้องหรือไม่
  • การตรวจภายใน เป็นการตรวจที่สำคัญและจำเป็นเพื่อหาสาเหตุของการมีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจในสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว (แพทย์จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ตรวจภายในในสตรีที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ยกเว้นเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นในการตรวจ) ทั้งนี้เพื่อ
    • ตรวจดูว่ามีแผลที่ปากมดลูกหรือไม่
    • มีติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกที่อวัยวะเพศหรือไม่
    • มีอาการเจ็บปวดผิดปกติในอวัยวะต่างๆในช่องท้องน้อยหรือไม่
  • การสืบค้นเพิ่มเติมอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะดูความจำเป็นในผู้ป่วยแต่คน เช่น
    • ตรวจเลือด
    • ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องน้อย
    • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีอายุเกิน 40 ปี 
    • แต่หากไม่มีพยาธิสภาพให้เห็นที่ปากมดลูก แพทย์จะมีการดูดชิ้นเนื้อ/หรือมีการขูดมดลูกเพิ่มเติมเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาภาวะประจำเดือนผิดปกติอย่างไร?

แนวทางรักษาภาวะประจำเดือนผิดปกติ: ได้แก่

  1. การให้ยาฮอร์โมนเพศ หากสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยากลุ่ม Progestin เป็นต้น
  2. รักษาโดยการผ่าตัด เช่น ในกรณีเป็น เนื้องอกมดลูก, ติ่งเนื้อปากมดลูก, ติ่งเนื้อโพรงมดลูก
  3. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ถ้าสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรักษาสุขภาพจิตเพื่อลดความเครียด,  การปรับพฤติกรรมการออกกำลังกายให้เหมาะสม

ภาวะประจำเดือนผิดปกติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคเมื่อมีภาวะประจำเดือนผิดปกติจะขึ้นกับแต่ละสาเหตุที่แตกต่างกันไป  เช่น

  • ถ้าสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย: การพยากรณ์โรคจะดี มักรักษาควบคุมอาการได้เสมอ
  • แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง: การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรคมะเร็งแต่ละชนิดนั้นๆ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com ในมะเร็งแต่ละชนิด เช่น  มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก)

บรรณานุกรม

  1. https://www.bcm.edu/healthcare/specialties/obstetrics-and-gynecology/ob-gyn-conditions/menstrual-disorders [2022,Nov26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Menstrual_disorder [2022,Nov26]