ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาเม็ดคุมกำเนิดคืออะไร?

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive pill หรือ Birth control pill หรือ Pill) เป็นยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน/Estrogenและโปรเจสติน/Progestin) มีผลป้องกัน การตั้งครรภ์โดยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูก (เยื่อบุมดลูก) บางตัวมีสภาพไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิจึงทำให้ไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในท่อนำไข่ได้

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดทั่วโลก เนื่องจากหาได้ง่าย ใช้ได้สะดวก มีหลายราคา หลายชนิดให้เลือกใช้ มีอัตราการล้มเหลวจากการใช้ยา (การตั้งครรภ์ ขณะใช้ยา) น้อย

ยาเม็ดคุมกำเนิดมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?

ยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined pill): ประกอบด้วยตัวยาฮอร์โมนเพศหญิง ทั้งชนิด เอสโตรเจน และโปรเจสติน

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มี โปรเจสติน อย่างเดียว (Minipill)

3. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Postcoital pill)

การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีวิธีอย่างไร?

แผงยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมี 2 แบบคือ

  • ชนิด 21 เม็ด: ประกอบด้วยฮอร์โมนทั้ง 21 เม็ด และ
  • ชนิด 28 เม็ด: โดยชนิด 28 เม็ดจะประกอบด้วยเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ดและเม็ดแป้งหรือวิตามินอีก 7 เม็ด

การเริ่มรับประทานยาครั้งแรกควรเริ่มในวันที่ 1 - 5 ของการมีประจำเดือน มีผลในการคุมกำ เนิดได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย และยังลดการเกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยระ หว่างรอบเดือน

การเริ่มรับประทานยาหลัง 5 วันแรกของประจำเดือนสามารถทำได้ แต่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น ถุงยางอนามัยชายอย่างน้อย 7 วันหลังกินยาเม็ดแรก โดยรับประทานยาคุมกำเนิดวันละ 1 เม็ดในเวลาเดิมทุกๆวัน แนะนำให้รับประทานก่อนนอนเพื่อป้องกันการลืม จากนั้นรับประทานเม็ดยาไล่ตามลูกศรจนหมดแผง, ในกรณีที่เป็นแผงชนิด 28 เม็ดเมื่อหมดแผงสามารถเริ่มแผงใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนหมด, ส่วนกรณีแผงชนิด 21 เม็ดให้เว้นระยะ 7 วันจึงเริ่มแผงใหม่

ถ้าลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมควรปฏิบัติดังนี้

  • ถ้าลืมรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม 1 เม็ด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้และรับ ประทานยาเม็ดต่อไปตามปกติ
  • ถ้าลืมรับประทานยา 2 เม็ด ให้รับประทาน 1 เม็ดทันทีที่นึกได้และรับประทานก่อนนอนตาม ปกติ วันต่อมาให้รับประทานยา 1 เม็ดหลังอาหารเช้า จากนั้นรับประทานตามปกติ
  • ถ้าลืมรับประทานยา 3 เม็ด ให้ทิ้งยาแผงเดิมแล้วเริ่มรับประทานแผงใหม่ทันที ร่วมกับใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยอีก 7 วัน (ในกรณีที่รับประทานยาคุมชนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ขนาด 20 ไมโครกรัมหรือน้อยกว่า ถ้าลืมในสัปดาห์แรกให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินร่วมด้วย)
  • กรณีที่ลืมรับประทานยาเม็ดที่เป็นเม็ดแป้งหรือวิตามินในแผงยาคุม 28 เม็ด ให้ข้ามยาเม็ดนั้นแล้วเริ่มรับประทานยาเม็ดต่อไปตามปกติ

ข้อควรระวังในการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีอะไรบ้าง?

ข้อควรระวังในการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม คือ

  • หากมีอาการของโรคทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียนมาก ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยอีก 7 วันหลังกินยาเม็ดแรกเช่น การใช่ถุงยางอนามัยชาย เนื่องจากมีผลทำให้การดูดซึมยาไม่ดี
  • หากลืมรับประทานยาร่วมกับมีการขาดระดู/ประจำเดือน 1 ครั้ง ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อน เริ่มรับประทานยาแผงใหม่ หากแน่ใจว่าไม่ลืมรับประทานยาให้เริ่มรับประทานยาแผงใหม่ได้ตาม ปกติ
  • ยาบางชนิดมีผลต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น ยากันชักยาต้านชักบางชนิด ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะบางชนิด ดังนั้นหากมีโรคประจำตัวหรือต้องรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ในการเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตนเอง

อาการข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีอะไรบ้าง?

อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่อาจพบได้คือ

  • คลื่นไส้-อาเจียน: มักพบในช่วงที่เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดใหม่ๆ (โดยเฉพาะ 3 แผงแรก) เมื่อรับประทานยาคุมกำเนิดไประยะเวลาหนึ่งอาการมักลดลง หากมีอาการมากอาจเปลี่ยนชนิดของฮอร์โมนหรือลดขนาดของฮอร์โมน และการรับประทานยาก่อนนอนสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้-อาเจียนได้
  • ปวดหัว และ/หรือ วิงเวียน: หากมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะ สมต่อไป
  • ฝ้า (Melasma): สามารถพบได้ในขณะที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เมื่อหยุดใช้ยาฝ้าอาจจางลง
  • รู้สึกบวม และ/หรือ น้ำหนักตัวเพิ่ม: เป็นผลจากการที่มีน้ำและเกลือแร่คั่งในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง อาจร่วมกับความรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากขึ้น หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 กก. ควรหยุดยาเม็ดคุมกำเนิดและปรึกษาแพทย์
  • เลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด: มักเกิดใน 1 - 3 สัปดาห์แรกของการเริ่มรับ ประทานยา อาจเป็นผลจากการรับประทานยาที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำเกินไป หรือรับประทานไม่ตรงเวลา หรือลืมรับประทานยา หากมีเลือดออกมากหรือนานควรหยุดใช้ยาและรีบปรึกษาแพทย์
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง/อารมณ์แปรปรวน: อาจมีผลทำให้อารมณ์ดีขึ้นหรือซึมเศร้า หากอาการซึมเศร้าเป็นมากควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกทางเพศ: บางรายอาจรู้สึกดีขึ้นเนื่องจากหมดความกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ บางรายอาจมีความรู้สึกทางเพศลดลงเป็นผลจากระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง หากอาการเป็นมากควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล

ข้อห้ามของการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีอะไรบ้าง?

ข้อห้ามของการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เช่น

ก. ข้อห้ามใช้โดยเด็ดขาดของการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพราะยาฯจะเพิ่มโอกาสเกิดอาการต่างๆและ/หรือเพิ่มความรุนแรงของอาการคือ

  • ประวัติโรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดเช่น โรคลิ่มเลือดอุดตัน (ภาวะลิ่มเลือดในหลอด เลือดดำ)
  • ประวัติโรคหลอดเลือดผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดดำอักเสบ
  • โรคปวดศีรษะไมเกรน (โรคไมเกรน) ชนิดรุนแรง
  • โรคหัวใจบางชนิด เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจ(โรคหัวใจ)
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมโดยยาได้
  • โรคตับ เช่น โรคตับแข็ง โรคตับอักเสบ
  • โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์บางชนิด
  • เลือดออกผิดปกติจากมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์

ข. ข้อห้ามทั่วไปในการใช้เม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาฯ คือ

  • ปวดศีรษะไมเกรน (โรคไมเกรน) ชนิดมีอาการไม่มาก
  • โรคความดันโลหิตสูงทั่วไป
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวแล้วในหัวข้อแรก
  • โรคไต
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • เคยมีประวัติถุงน้ำดีอักเสบ
  • มีเส้นเลือดขอด/หลอดเลือดขอดมาก
  • มีปัญหาทางจิต (โรคจิต) เช่น โรคซึมเศร้า โรคประสาท
  • กำลังให้นมบุตร

ข้อดีของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีอะไรบ้าง

ข้อดีของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม คือ

  • ทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดปริมาณประจำเดือนมากผิดปกติได้
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  • ช่วยลดอาการในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน/พีเอ็มเอส (PMS, Premenstrual syn drome)
  • ช่วยลดสิว, ขนดก, ใบหน้ามัน และอาการในกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ/กลุ่มอาการพีซีโอเอส (PCOS: Polycystic ovarian syndrome)
  • ช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูก (โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง)
  • ช่วยลดอุบัติการณ์ตั้งท้องนอกมดลูก
  • อาจช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งบางชนิดในบางคนได้เช่น โรคมะเร็งรังไข่ และโรค มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

ควรดูแลตนเองเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดที่สำคัญ คือ

  • ควรรับประทานยาฯในเวลาเดิมทุกวัน หากลืมรับประทานให้ทำตามคำแนะนำข้างต้น
  • จดบันทึกประจำเดือนทุกครั้ง หากประจำเดือนขาด 1 ครั้งร่วมกับมีประวัติลืมรับประทานยาควรทดสอบการตั้งครรภ์ หากประจำเดือนขาด 2 ครั้งแม้จะไม่ลืมรับประทานยาก็ควรต้องทดสอบการตั้งครรภ์
  • ถ้ามีอาการทางระบบทางเดินอาหารเช่น อาเจียนมาก ถ่ายเหลว/ท้องเสีย อาจต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วันหลังกินยาเม็ดแรก
  • ควรมีการตรวจภายในร่วมกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก, โรคมะเร็งเต้านม, และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) ทุก 1 - 2 ปี
  • หากมีอาการผิดปกติเช่น มีฝ้าขึ้นที่ใบหน้า ปวดหัว มีเลือดออกทางช่องคลอดมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนชนิดยาคุมกำเนิดหรือเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด
  • หากมีอาการผิดปกติรุนแรงเช่น ปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ปวดบริเวณน่องมาก ควรหยุดใช้ยาฯทันที และรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะอาจเป็นอาการของลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดต่างๆ
  • หากต้องได้รับการผ่าตัดทุกชนิด ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล ว่ากำลังรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากยาเม็ดคุมกำเนิดมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
  • เนื่องจากยาเม็ดคุมกำเนิดมีฮอร์โมนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ดังนั้นระหว่างที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
  • ไม่ควรซื้อยาอื่นๆรับประทานเองเช่น ยาฆ่าเชื้อ/ ยาปฏิชีวนะเนื่องจากมียาบางชนิดรบกวนการออกฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง

มีโอกาสตั้งครรภ์ขณะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่? อย่างไร?

เมื่อกำลังกินยาเม็ดคุมกำเนิดพบมีอัตราการตั้งครรภ์ 8.7% ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น

  • การลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
  • การรับประทานยาไม่ตรงเวลา
  • การมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น
    • อาเจียน
    • ท้องเสีย หรือ
    • การได้รับยาอื่นๆ ซึ่งรบกวนการออกฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิด

*ทั้งนี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ในขณะรับประทานยาคุมกำเนิดได้โดย

  • รับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน
  • หากลืมรับประทานยา ควรรีบทำตามคำแนะนำข้างต้น
  • หากมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนหรือท้องเสียมาก ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยชายอย่างน้อย 7 วันหลังกินยาเม็ดแรก
  • หากมีอาการไม่สบายต่างๆซึ่งต้องรับประทานยาอื่นๆ ควรปรึกษา แพทย์ และ/หรือ เภสัชกรทุกครั้งโดยแจ้งว่าตนเองกำลังกินยาคุมกำเนิดอยู่

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

โดยทั่วไปเมื่อแพทย์แนะนำใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด แพทย์มักนัดตรวจเป็นระยะๆ ความถี่ในการนัดตรวจขึ้นกับสุขภาพโดยรวมของหญิงนั้น การเกิดผลข้างเคียงต่างๆจากการใช้ยาฯ และดุลพินิจของแพทย์

แต่ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • หากมีอาการผิดปกติหลังรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น
    • ปวดศีรษะร้ายแรง
    • คลื่นไส้-อาเจียนมาก
    • เลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก
  • มีอาการ
    • แน่นหน้าอก เจ็บหนาอก
    • ปวดบริเวณน่อง หรือ
    • ขาบวม 1 ข้าง
  • ตรวจพบว่ามีการตั้งครรภ์ขณะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
  • มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงระหว่างที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น ซึมเศร้ามาก
  • มีข้อกังวลสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

เมื่อไหร่จึงเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด? ใครเหมาะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด?

การเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดควรเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด โดยประเมินจาก

  • ความสะดวกในการเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิด
  • ระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด
  • ผลข้างเคียงต่างๆของยาฯ
  • ข้อห้ามในการใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีต่างๆ

ยาเม็ดคุมกำเนิดเหมาะใน:

  • ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดชั่วคราว ระยะเวลาไม่กี่ปี (น้อยกว่า 5 ปี)
  • มีการวางแผนต้องการบุตรเพิ่มอีกในอนาคต (การวางแผนครอบครัว)
  • ไม่มีข้อห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด และ
  • สามารถรับประทานยาได้ตามเวลาทุกวัน

ควรเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดไหน?

ในปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดมีหลายชนิด โดยชนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุดและมีประสิทธิ ภาพในการคุมกำเนิดดีคือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว ควรใช้ในสตรีที่ให้นมบุตรและสตรีที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

  • สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรใช้เฉพาะเวลาฉุกเฉิน เนื่องจากมีผลข้างเคียงมากและ อัตราการล้มเหลว (การตั้งครรภ์) สูง
  • ยี่ห้อยาเม็ดคุมกำเนิดในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างในเรื่องของชนิดฮอร์โมน ปริมาณฮอร์โมน ผลข้างเคียงที่ดีเช่น การลดการเกิดสิว ผิวมัน ขนดก ลดอาการในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ ตามกำลังการซื้อ และตามผลข้างเคียงที่ต้องการ โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือ เภสัชกรก่อนการเลือกยี่ห้อยาเม็ดคุมกำเนิด
  • การเริ่มใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดควรทดลองใช้ 1 แผงก่อน โดยทดลองรับประทานและสังเกตอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเช่น เป็นฝ้า ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการข้างเคียงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยี่ห้อยาเม็ดคุมกำเนิดที่เป็นฮอร์โมนต่างชนิดหรือเพื่อลดปริมาณฮอร์ โมนในตัวยา

แพทย์มีวิธีเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างไร?

แพทย์มีวิธีเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดโดยพิจารณาจาก

  • ความต้องการของผู้มารับบริการคุมกำเนิด
  • พิจารณาว่าไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
  • ไม่มีอาการต่างๆที่เกิดร่วมของผู้มารับบริการ เช่น
    • มีอาการในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน
    • มีสิวมาก ผิวมัน ขนดก
  • จากนั้นสังเกตดูรูปร่างของผู้มารับบริการ (รูปร่างอาจสัมพันธ์กับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากยาคุมกำเนิด) และประวัติของการมีประจำเดือน
  • สตรีที่มีประจำเดือนปริมาณมากและนาน รอบประจำเดือนสั้น ไม่มีสิวหรือขนตามตัว มักเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินสูง
  • สตรีที่มีปริมาณประจำเดือนมาน้อย รอบประจำเดือนยาว ลักษณะคล้ายเพศชาย มีสิวขนดก ผิวมัน มักเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
  • สตรีที่มีระดู/ประจำเดือนสม่ำเสมอ ปริมาณปานกลาง น้ำหนักตัวปกติ มักใช้ยาเม็ดคุม กำเนิดชนิดที่มีความสมดุลกันทั้ง 2 ฮอร์โมน

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียวคืออะไร?

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียวเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่ไม่มีฮอร์ โมนเอสโตรเจนมีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสติน วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกข้นเหนียว รวมทั้งทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน

ก.ข้อดีของยาฯ คือ สามารถใช้ในสตรีให้นมบุตรได้ โดยไม่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนม และสามารถใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

ข. ข้อเสียของยาฯ คือ มีอัตราการล้มเหลว/การตั้งครรภ์ขณะใช้ยาสูงกว่าชนิดฮอร์โมนรวม ต้องรับประทานให้ตรงเวลา การเริ่มรับประทานยาให้เริ่มรับประทานในวันแรกของการมีประจำเดือน โดยรับประทานยาวันละ 1 เม็ดในเวลาเดิมทุกวัน ควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยใน 7 วันแรกหลังกินยาเม็ดแรก เมื่อยาคุมกำเนิดหมดแผงให้เริ่มรับประทานยาแผงใหม่ต่อในวันถัดไปโดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมา

ค. การลืมรับประทานยา:

  • ถ้าลืมรับประทานยา 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ และรับประทานยาเม็ดต่อไปตาม ปกติร่วมกับใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 48 ชม.หลังกินยาเม็ดแรก
  • ถ้าลืมรับประทานยา 2 เม็ดติดต่อกัน ให้รับประทานยาวันละ 2 เม็ดเป็นเวลา 2 วัน โดยใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยอย่างน้อย 2 วันหลังกินยาเม็ดแรก
  • ถ้าลืมรับประทานยามากกว่า 2 วันติดต่อกัน ให้หยุดยาเม็ดคุมกำเนิดจากนั้นให้ใช้วิธีคุมกำ เนิดอื่น

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินคืออะไร?

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินในขนาดสูง ให้ผล

  • ป้องกันหรือเลื่อนเวลาการตกไข่
  • ป้องกันการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ
  • ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะในการฝังตัวของตัวอ่อน

***ยาฯกลุ่มนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในกรณีที่ สตรีถูกข่มขืน หรือลืมคุมกำเนิด หรือคุมกำเนิดล้มเหลว เช่น การฉีกขาดของถุงยางอนามัยชาย

***แต่เนื่องด้วยมีปริมาณของฮอร์โมนสูง ทำให้ไม่เหมาะสมในการใช้เป็นยาคุมกำเนิดทั่วไปเพราะมีผลข้างเคียงสูง เช่น

  • การมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ)
  • มีอัตราการล้มเหลว/การตั้งครรภ์สูงกว่ายาคุมกำเนิดทั่วไป

*ทั้งนี้ ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยมีชื่อทางการค้าว่า Postinor และ Madonna

วิธีที่ถูกต้องในการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน?

การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อรับประทานยาทั้งหมดรวม 2 เม็ด โดย

  • 1 เม็ดแรกรับประทานทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 72 - 120 ชม.หลังมีเพศสัมพันธ์
  • จากนั้นรับประทานยาฯอีก 1 เม็ดอีก 12 ชม.ถัดมา

ผลข้างเคียง:

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบบ่อย คือ การมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะ ปรอย

*อนึ่ง: หากประจำเดือนขาดหลังใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรทดสอบการตั้งครรภ์เนื่องจากมีอัตราการล้มเหลว/การตั้งครรภ์สูงกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดทั่วไป

บรรณานุกรม

  1. Marc A. Fritz and Leon Speroff. Oral Contraception. Clinical Gynecologic Endocrinology And Infertility. 8th edition. Philadelphia, P.A.: Lippincott Williams & Wilkins.; 2011.
  2. Cunningham FG, et al. Williams Obstetrics. 22nd ed. New York, N.Y.: McGraw-Hill Companies, Inc.; 2005:1.
  3. Stubblefield PG, et al. Family planning. In: Berek JS. Berek & Novak's Gynecology. Philadelphia, Pa.: Lippincott Williams & Wilkins; 2007:287.
  4. https://www.acog.org/womens-health/faqs/birth-control [2021,Jan16]
  5. https://www.uptodate.com/contents/combined-estrogen-progestin-contraception-side-effects-and-health-concerns [2021,Jan16]
  6. https://www.sexwise.org.uk/contraception/combined-pill-coc [2021,Jan16]
  7. https://www.fpa.org.uk/sites/default/files/emergency-contraception-your-guide.pdf [2021,Jan16]
  8. https://patient.info/sexual-health/hormone-pills-patches-and-rings/combined-oral-contraceptive-coc-pill [2021,Jan16]