ทราโซโดน (Trazodone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ทราโซโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) ใช้รักษาโรคอะไร?
- ทราโซโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทราโซโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทราโซโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ทราโซโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทราโซโดนอย่างไร?
- ทราโซโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทราโซโดนอย่างไร?
- ทราโซโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder)
- โรคซึมเศร้า (Depression): สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า
- สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า (Warning sign of depression)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
บทนำ: คือยาอะไร?
ทราโซโดน (Trazodone) คือ ยาบำบัดอาการซึมเศร้า (ยาต้านเศร้า)ของผู้ใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มยาเซโรโทนิน-แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาจะกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 65% เมื่อ ตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 89 - 95% ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
มีข้อพึงระวังบางประการของการใช้กลุ่มยาต้านเศร้าทั่วไปกับผู้ป่วยเด็ก-วัยรุ่น(นิยามคำว่าเด็ก) จะพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่กับยาทราโซโดนซึ่งมีการทดลองใช้รักษาอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยเด็ก ยังไม่พบเหตุการณ์ที่ผู้ใช้ยาอยากทำร้ายตัวเอง ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่นำมาใช้สนับสนุนกลไกการรักษาโรคซึมเศร้าของยาทราโซโดน
มีข้อห้ามใช้บางประการที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาทราโซโดนรักษาอาการป่วยกับผู้ป่วยบางกลุ่มได้ เช่น
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาทราโซโดนมาก่อน
- ผู้ป่วยอยู่ในระหว่างการใช้ยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOI) อยู่แล้ว
- ผู้ป่วยวัยรุ่นที่เคยมีความคิดฆ่าตัวตายขณะที่ใช้ยาต้านเศร้า
- ต้องเพิ่มความระวังเป็นอย่างมากหากจะใช้ยาทราโซโดนกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆอาทิเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคต้อหิน และผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด เช่น มีแผลที่เลือดออกมาก
หลังการสั่งจ่ายยานี้ของแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมถึงฤทธิ์ของยาที่อาจเกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยรวมถึงคำแนะนำวิธีการรับประทานยานี้ที่ถูกต้อง เช่น
- หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์เนิ่น/เนิ่นนานหรือออกฤทธิ์ได้ยาวนานก็ให้รับประทานเพียงวันละ1ครั้ง แต่ถ้าเป็นยาที่ออกฤทธิ์ทันทีต้องแบ่งรับประทานตามมื้อของอาหาร
- ระหว่างการใช้ยานี้อาจมีอาการ ตาพร่า วิงเวียน ง่วงนอน ปากคอแห้ง แต่อาการข้างเคียง (ผล ข้างเคียง) เหล่านี้อาจจะเกิดหรือไม่เกิดกับผู้ป่วยก็ได้
- ควรรับประทานยานี้ให้ตรงเวลา อย่าปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง หรือหยุดใช้ ยานี้ด้วยตนเองโดยทันทีเพราะอาจจะพบอาการถอนยา(ลงแดง)ติดตามมาจนส่งผลกระทบโดยตรงกับตัวผู้ป่วยเอง
ทั้งนี้ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาทราโซโดนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และถูกจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย เราจะพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาล และการใช้ยานี้กับผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มารับประทานเองโดยเด็ดขาด
ทราโซโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) ใช้รักษาโรคอะไร?
ยาทราโซโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการโรคซึมเศร้า (Depression)
ทราโซโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาทราโซโดนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ซึ่งมีชื่อว่า 5-HT2A/2C (Serotonin receptor 2A/2C หรือ 5-hydroxytryptamine 2A/2C receptor) โดยจะยับยั้งการดูดกลับของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมองบริเวณที่เรียกว่า Presynaptic neurons ส่งผลให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองจนทำให้ลดอาการซึมเศร้าและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
ทราโซโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ทราโซโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์เนิ่น/เนิ่นนาน(Extended-release tablet) ขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด
ทราโซโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาทราโซโดนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับยาชนิดที่ออกฤทธิ์ทันที: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานพร้อมอาหาร แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่ม 50 มิลลิกรัม/วันทุกๆ 3 - 4 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดของผู้ป่วยที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน และสำหรับผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลไม่เกิน 600 มิล ลิกรัม/วัน
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้ การใช้ยาในกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
ข. สำหรับยาชนิดออกฤทธิ์เนิ่น/เนิ่นนาน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 มิลลิกรัมวันละ1ครั้งพร้อมอาหาร แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับ ประทานอีก 75 มิลลิกรัม/วันทุกๆ 3 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 375 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้ การใช้ยาในกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงของกระเพาะอาหาร-ลำไส้
- การหยุดรับประทานยานี้โดยทันทีอาจก่อให้เกิดภาวะถอนยา(ลงแดง)ตามมา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาทราโซโดน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทราโซโดนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทราโซโดน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาทราโซโดนให้ตรงเวลา
ทราโซโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทราโซโดนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก. อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น ตาพร่า รู้สึกสับสน วิงเวียน เป็นลม เหงื่อออกมาก อ่อนแรง และอ่อนเพลีย
ข. อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น แสบร้อนตามผิวหนัง ขาดสมาธิ ปวดหัว ตัวสั่น หงุดหงิด หัวใจเต้นช้า ตัวบวม
ค. *กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการวิงเวียน, ง่วงนอนอย่างมาก, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (ECG) เปลี่ยนแปลงผิดปกติ, อาจมีภาวะลมชักร่วมด้วยจนถึงขั้นชักจนหยุดหายใจ, หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งการรักษาเบื้องต้น แพทย์อาจใช้วิธีล้างท้องหรือให้รับประทานยาถ่านกัมมันต์ และให้การรักษาตามอาการ
มีข้อควรระวังการใช้ทราโซโดนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทราโซโดน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria: โรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยมากที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง) และสตรีตั้งครรภ์
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามหยุดยานี้โดยทันทีด้วยตนเองเพราะจะทำให้เกิดภาวะถอนยา(ลงแดง)ติดตามมา
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรและในผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทราโซโดนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ทราโซโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทราโซโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามรับประทานยาทราโซโดน ร่วมกับยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOI) ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงติดตามมา เช่น อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง และอาจเกิดภาวะโคม่าได้
- การใช้ยาทราโซโดน ร่วมกับยา 5-Hydroxytryptophan จะทำให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน ติดตามมาโดยพบอาการคล้ายประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง บางกรณีอาจเกิดภาวะโคม่า และตายได้ในที่สุด หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาทราโซโดน ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้มีภาวะลมชักเกิดขึ้นได้ง่ายอีกทั้งทำ ให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาทราโซโดนเพิ่มขึ้นอีกด้วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาทราโซโดน ร่วมกับยา Quinidine อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะติด ตามมา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวแนะนำมิให้ใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน
ควรเก็บรักษาทราโซโดนอย่างไร?
ควรเก็บยาทราโซโดน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ทราโซโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทราโซโดน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Desirel (ดีไซเรล) | Codal Synto |
Trazo (ทราโซ) | Medifive |
Trazodone Pharmasant (ทราโซโดน ฟาร์มาซัน) | Cental Poly Trading |
Zodonrel (โซดอนเรล) | Condrugs |
Zorel (โซเรล) | Utopain |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยาทราโซโดนที่จำหน่ายในประเทศทางตะวันตก เช่น Depyrel, Desyrel, Molipaxin, Oleptro, Trazodil, Trazorel, Trialodine, Trittico
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_receptor_antagonist [2022,April2]
- https://www.drugs.com/pro/trazodone.html [2022,April2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Trazodone [2022,April2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/trazodone?mtype=generic [2022,April2]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=3000172&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,April2]
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/28164 [2022,April2]
- https://www.mims.com/India/drug/info/trazodone/?type=full&mtype=generic#Dosage [2022,April2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/trazodone-index.html?filter=3&generic_only= [2022,April2]