ดีลาเวอร์ดีน (Delavirdine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

 ดีลาเวอร์ดีน (Delavirdine) คือ  ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) ซึ่งหมายถึง      ยาต้านเอชไอวี (HIV) โดยยาดีลาเวอร์ดีนเป็นยาในกลุ่มที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเชื่อมต่อดีเอ็นเอ (DNA)ของรีโทรไวรัส(ไวรัสเอชไอวี/ไวรัสเอดส์) โดยทำการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม ของไวรัสจากอาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นดีเอ็นเอ (DNA) เพื่ออาศัยในโครโมโซมของเจ้าบ้าน (หมายถึงมนุษย์) ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอ ดังนั้นเมื่อยาดีลาเวอร์ดีนเข้าสู่ร่างกายจะถูกร่างกายเปลี่ยน แปลงเป็นสารที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตสได้ ส่งผลทำให้กระบวน การสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ของรีโทรไวรัสหยุดชะงักทำให้ปริมาณรีโทรไวรัสในร่างกายลดลง

ยาดีลาเวอร์ดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาดีลาเวอร์ดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี โดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก 2 ชนิด เช่น ซิโดวูดีน (Zidovudine) และลามิวูดีน (Lamivudine)

ยาดีลาเวอร์ดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาดีลาเวอร์ดีนจัดเป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) กลุ่ม Non-Nucleoside Analog Reverse Transcriptase Inhibitors (NNRTIs) โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme)โดยตรง ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยสร้างดีเอ็นเอ (DNA) จากอาร์เอ็นเอ (RNA) ของรีโทรไวรัสเพื่อให้รีโทรไวรัสมีดีเอ็นเอสำหรับเพิ่มจำนวนในเซลล์เจ้าบ้าน (มนุษย์) ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้ ดังนั้นเมื่อได้รับยาดีลาเวอร์ดีน ยาจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวสทรานสคริปเตสของรีโทรไวรัสโดยตรง ทำให้ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของรีโทรไวรัสเพื่อเพิ่มจำนวนในเซลล์เจ้าบ้านถูกยับยั้ง  รีโทรไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

ยาดีลาเวอร์ดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

   รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาดีลาเวอร์ดีน:

  • ยาเม็ด (Tablet) ขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม

ยาดีลาเวอร์ดีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ขนาดยาดีลาเวอร์ดีนสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี เช่น

  • เด็กอายุน้อยกว่า 16 ปี: ยังไม่มีรายงานประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยานี้จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้
  • เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่: 400 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งโดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นๆเช่น ยาซิโดวูดีน (Zidovudine) และยาลามิวูดีน (Lamivudine)
  • ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: ยังไม่มีการศึกษาขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่องจึงสามารถใช้ยาในขนาดยาปกติได้ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไตบกพร่อง
  • ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ยังไม่มีการศึกษาขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่องจึงสามารถใช้ยาในขนาดยาปกติได้ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของตับบกพร่อง แต่ควรให้ความระมัดระวังในการใช้ยาเนื่องจากยาดีลาเวอร์ดีนถูกขจัดออกจากร่างกายด้วยตับ
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนอาหารหรือพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

 เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาดีลาเวอร์ดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดีลาเวอร์ดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกแล้วเข้าสู่ตัวทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • แจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยานี้/ไม่ได้รับยานี้หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยานี้ห่างกันทุก 8 ชั่วโมงได้ (วันละ 3 ครั้ง) เช่น กรณีช่วงถือศีลอด หรือเป็นช่วงที่ต้องหยุดยา/งดอาหารและยาเพื่อทำหัตถการทางการแพทย์ เพื่อร่วมกันหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากยาต้านรีโทรไวรัส (รวมยาดีลาเวอร์ดีน) เป็นเป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประ ทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัด

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาดีลาเวอร์ดีนให้ตรงเวลาห่างกันทุก 8 ชั่วโมงอย่างเคร่งครัด (รับประทานยาวันละ 3 ครั้ง) สำหรับยาดีลาเวอร์ดีน อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยานี้ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยานี้ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร

กรณีลืมรับประทานยาดีลาเวอร์ดีนให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป ให้รับประทานยามื้อถัดไปเลย ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า จากนั้นรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 7.00 น., 15.00 น. และ 23.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. นึกได้ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับ ประทานยามื้อ 7.00 น. ทันที หากนึกขึ้นได้ตอนเวลา 13.00 น. (เกิน 4 ชั่วโมงซึ่งถือเป็นครึ่งทางของระยะห่างระหว่างมื้อยา) ให้รับประทานยามื้อ 15.00 น. เลยโดยไม่ต้องนำยามื้อ 7.00 น. มารับประทานด้วยในมื้อ 15.00 น. จากนั้นรับประทานยามื้อ 23.00 น. ในขนาดยาปกติ

อย่างไรก็ตามการกินยานี้ไม่สม่ำเสมอจะทำให้ระดับยานี้ในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยานี้มีขนาดต่ำก็จะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็นสาเหตุของการดื้อยานี้ในเวลาต่อมา

ยาดีลาเวอร์ดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงของยาดีลาเวอร์ดีน:

         ก: ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น

  • ปวดหัว
  • มีไข้,
  • ขึ้นผื่นบริเวณผิวหนัง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • รู้สึกกระวนกระวาย
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • หลอดลมอักเสบ
  • ผลตรวจเลือดการทำงานของตับผิดปกติโดยค่า AST ( Aspartate aminotrans ferase), ALT (Alanine aminotransferase), Alkaline phosphatase, Total bilirubin, Direct biliru bin เพิ่มสูงขึ้น

ข.  ผลข้างเคียงที่พบไม่บ่อย แต่มีความรุนแรง: เช่น ปฏิกิริยาการแพ้ทางผิวหนังแบบรุนแรงถึงชีวิตคือ

  • สตีเวนจอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome) โดยมักเกิดในช่วง 2 - 8 วันแรกหลังการเริ่มใช้ยานี้ โดยจะมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนังหรือมีตุ่มน้ำขึ้นตามผิวหนัง ร่วมกับมีไข้ มีอาการเจ็บช่องปาก เจ็บคอ เจ็บบริเวณเนื้อเยื่อเมือกในช่องปาก เจ็บบริเวณช่องคลอด, รอบทวารหนัก, อวัยวะเพศ, รอบตา, นัยน์ตาแดงอักเสบ หากเกิดอาการดังที่กล่าวมาแล้วนั้นผู้ป่วยจำเป็นหยุดยาและต้องรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • นอกจากนี้ยานี้ยังอาจเกิดปฏิกิริยาต่อตับเพราะยานี้ถูกขจัดออกทางตับอาจทำให้เกิดภาวะTransminitis ได้หมายถึง ภาวะที่เอนไซม์ตับทรานส์แอมิเนสย์ (ค่า AST, ALT) เพิ่มสูงขึ้น 5 เท่าของระดับสูงสุดของค่าปกติ
  • อีกทั้งยังพบว่ายานี้สามารถทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis: ระดับเอนไซม์ตับอ่อนในเลือดคือ อะไมเลส/Amylase และไลเปส/Lipase เพิ่มสูงขึ้น) ร่วมกับมีอาการทางคลินิก เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง
  • *หากเกิดภาวะ/อาการต่างๆดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพราะจำเป็นที่แพทย์ต้องประเมินเพื่อหยุดการใช้ยานี้

 

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีลาเวอร์ดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดีลาเวอร์ดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยาดีลาเวอร์ดีนเป็นยาเดี่ยวในรักษาการติดเชื้อเอชไอวีโดยเด็ดขาดเนื่องจากจะเพิ่ม โอกาสเกิดภาวะเชื้อไวรัสเอชไอวีดื้อยา
  • การใช้ยานี้ในช่วงตั้งครรภ์ควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • กรณีหญิงให้นมบุตรยังไม่มีการศึกษาเรื่องการขับยานี้ผ่านทางน้ำนม แต่แนะนำให้หลีก เลี่ยงการให้นมบุตรเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไวรัสเอชไอวีจากแม่สู่ลูก
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีตับบกพร่องปานกลางถึงรุนแรงและมีไตบกพร่อง
  • การใช้ยาเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดความผิดปกติในการกระจายตัวของมวลไขมัน โดยอาจมีภาวะไขมันฝ่อตัว (Lipoatrophy) มักพบไขมันฝ่อตัวบริเวณใบหน้า, แขน, ขา หรือก้น และอาจพบไขมันพอกตัวผิดปกติโดยอาจพบก้อนไขมันพอกที่คอด้านหลัง (Buffalo hump), เส้นรอบวงของคอขยายขึ้น 5 - 10 ซม., หน้าอก/เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้มีพุง ในผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดทั้งภาวะไขมันฝ่อตัวหรือไขมันพอกตัวผิด ปกติพร้อมกัน โดยมักเกิดร่วมกับภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia), ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ดังนั้นหากพบว่าเกิดภาวะไขมันกระจายตัวผิดปกติในระหว่างใช้ยาดีลาเวอร์ดีน ให้แจ้งแพทย์โดยแพทย์อาจมีการปรับเปลี่ยนแปลงสูตรยาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาจากการรักษาภาพลักษณ์ของผู้ป่วย
  • มีรายงานการเกิดภาวะ/กลุ่มอาการ Immune Reconstitution Syndrome ในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสหลายชนิดร่วมกันในช่วงต้นของการรักษาด้วยยานี้ กลุ่มอาการนี้คือเมื่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมีการตอบสนองต่อยานี้ ผู้ป่วยอาจเกิดการตอบสนองแบบมีการอักเสบต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสที่เหลืออยู่ในร่างกายเช่น การติดเชื้อวัณโรค Mycobacterium avium, การติดเชื้อ Cytomagalovirus (โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส)
  • ทุกครั้งที่มีการใช้ยาดีลาเวอร์ดีนคู่กับยาชนิดอื่นๆควรตรวจสอบอันตรกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆเพี่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาที่มีอันตรกิริยาแพทย์อาจพิจารณายาทางเลือกอื่นที่มีโอกาสในการเกิดอันตรกิริยาลดลง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดีลาเวอร์ดีน) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาดีลาเวอร์ดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดีลาเวอร์ดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาดีลาเวอร์ดีนคู่กับยาดังต่อไปนี้โดยเด็ดขาด เนื่องจากการใช้ยาคู่กันอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่รุนแรงได้ เช่นยา แอสทิมีโซล (Astemizole: ยาแก้แพ้), เทอร์ฟีนีดีน(Terfenadine: ยาแก้แพ้), ซิสซาพาย (Cisapide: ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้), Ergot derivetives (ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot ประกอบด้วย Erogatamine/เออโกตามีน: ยาไมเกรน, Ergonovine/เออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก, Methyl ergonovine/เมททิวเออร์โกโนวีน: ยาบีบมดลูก), สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ ( John's wort: สมุนไพรคลายเครียด), ไมด้าโซแลม (Midazolam: ยาสงบระงับ/ยานอนหลับ), ไตรอะโซแลม (Triazolam: ยาสงบระงับ /ยานอนหลับ), ไรแฟมปิซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาวัณโรค)
  • ยาที่อาจทำให้ระดับยาดีลาเวอร์ดีนในเลือดลดลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน เช่นยา ฟีนีทอย (Phenytoin: ยากันชัก), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine: ยากันชัก), ไรแฟมปิสิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), ดีเฟอร์ราซิล็อก (Deferasirox: ยาจับเหล็กรักษาภาวะเหล็กเกิน) สมุนไพรเซนจอห์นเวิร์ท (St John's wort), ฟอสแอมพรินาเวียร์ (Fosamprenavir: ยาต้านรีโทรไวรัส), โบเซนแทน (Bosentan: ยารักษาภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง/ Pulmonary Hypertension) ยาลดกรดชนิดน้ำ (Antacid), ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารทั้งกลุ่ม Proton pump inhibiors เช่นยา โอมีพลาโซล (Omeprazole) ฯลฯ และกลุ่มยับยั้งฮีสตามีน 2 (H2 antagonist) เช่นยา ไซมิทิดีน (Cimetidine), รานิทิดีน (Ranitidine)

ควรเก็บรักษายาดีลาเวอร์ดีนอย่างไร?

แนะนำเก็บยาดีลาเวอร์ดีน:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • ไม่เก็บยาที่อุณหภูมิสูงหรือเก็บยาในห้องที่ร้อนจัดหรือมีความชื้นมาก เช่น ในรถยนต์ หรือในห้องน้ำ
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดหรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลาทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา

ยาดีลาเวอร์ดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดีลาเวอร์ดีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Rescriptor 100, 200 mg Pfizer

 

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2015-2016.
  2. Product Information: Rescriptor, Delavirdine, Pfizer