โปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (Proton pump inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (Proton pump inhibitors ย่อว่า PPI) ซึ่งต่อไปในบทความนี้ขอเรียกว่า “ยายับยั้งการหลั่งกรดฯ” เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยออกฤทธิ์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่มนี้ ถูกนำมารักษาหลายอาการโรค เช่น

  • อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)
  • แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้/แผลเปบติค (Peptic ulcer disease)
  • โรคกรดไหลย้อน (GERD)
  • โรคกรดไหลย้อนเข้ากล่องเสียง (Laryngopharyngeal reflux)
  • รักษาสภาวะของการเปลี่ยนแปลงของหลอดอาหารส่วนล่าง เนื่องจากการอักเสบเรื้อรังจากการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร (Barrett esophagus)
  • โรคหลอดอาหารอักเสบจากเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิล (Eosinophilic esophagitis)
  • ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะด้วยภาวะเสี่ยงต่างๆเช่น ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มเอ็นเซด (Stress gastritis prevention)
  • รักษาอาการโรคเนื้องอกในตับอ่อนหรือในลำไส้เล็กส่วนต้น ด้วยผลจากการหลั่งกรดในกระ เพาะอาหารออกมากเกินไป (Gastrinoma)
  • กลุ่มอาการโรคโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome) เป็นภาวะที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแกสตริน (Gastrin) เพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุกระตุ้นกระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามาก ซึ่งอาจมีสาเหตุจากเนื้องอกบริเวณตับอ่อน

อนึ่ง สำหรับตัวอย่างยากลุ่มยับยั้งการหลั่งกรดกลุ่ม Proton pump inhibitors/PPI

เช่นยา Omeprazole, Lansoprazole, Dexlansoprazole, Esomeprazole, Pantoprazole, Rabeprazole, และ Ilaprazole

บัญชียาหลักแห่งชาติของไทยได้บรรจุยายับยั้งการหลั่งกรดฯหลายตัวที่ถูกบันทึกไว้ และในกลุ่มยาประเภท Proton pump inhibitors มี Omeprazole และ Pantoprazole ร่วมอยู่ด้วย

การเลือกใช้ยาตัวใดในการรักษาอาการโรคต่างๆดังกล่าว ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ด้วยศักยภาพของยาแต่ละตัวที่แตกต่างกันออกไป และยังมีข้อห้ามใช้ ผลข้างเคียงของยา ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย อีกทั้งระยะเวลาในการใช้ยาที่ต้องสัมพันธ์กับอาการโรค และเป็นการยากที่ผู้ป่วยจะสรุปด้วยตนเองว่าอาการโรคดีขึ้นหรือหายป่วยแล้วจากการรับประทานยาเพียงพอจริงๆหรือไม่

ยายับยั้งการหลั่งกรดมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์

ยายับยั้งการหลั่งกรดฯมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค) รวมถึงภาวะอาหารไม่ย่อย
  • รักษาภาวะกรดไหลย้อน และภาวะต่างๆที่มีกรดหลั่งออกมามากผิดปกติดังได้กล่าวในหัวข้อบทนำ
  • ใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร กรณีมีการติดเชื้อ Helicobac tor pylori (โรคติดเชื้อเอชไพโรไล)

ยายับยั้งการหลั่งกรดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยายับยั้งการหลั่งกรดฯคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Hydrogen/potassium adenosine triphosphatase (เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร) ซึ่งอยู่ภายในเซลล์กระเพาะอาหารที่มีชื่อว่า Gastric parietal cells ทำให้การแลกเปลี่ยนไฮโดรเจนไอออน กับ โปแตสเซียมไอออน เปลี่ยนแปลงจากเดิม จนทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดน้อยลงในที่สุด

ยายับยั้งการหลั่งกรดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ด้วยตัวยายับยั้งการหลั่งกรดฯมีหลายรายการ อาจสรุปรูปแบบการจัดจำหน่ายในท้องตลาดยาได้ เช่น

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 15, 20, 30, และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูล ขนาดความแรง 10, 20, 30, 40, และ 60 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 2.5, 10, 20, และ 40 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 40 มิลลิกรัม

ยายับยั้งการหลั่งกรดมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยายับยั้งการหลั่งกรดฯมีหลายรายการ จึงขอกล่าวถึงเฉพาะชนิดยาที่ใช้บ่อย ซึ่งมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. อีโซมีพราโซล (Esomeprazole): เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง 10 วัน
  • รักษาอาการ Zollinger-Ellison syndrome: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หากจำเป็นสามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 240 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
  • รักษากรดไหลย้อน: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง 4 สัปดาห์
  • รักษาแผลที่หลอดอาหาร: รับประทาน 20 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 4 - 8 สัปดาห์

ข. แลนโซพราโซล (Lansoprazole): เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร: รับประทาน 30 มิลลิกรัมวันละครั้ง 8 สัปดาห์
  • รักษาแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น: รับประทาน 15 มิลลิกรัมวันละครั้ง 4 สัปดาห์
  • รักษากรดไหลย้อน: รับประทาน 15 มิลลิกรัมวันละครั้ง 8 สัปดาห์
  • รักษาแผลที่หลอดอาหาร: รับประทาน 30 มิลลิกรัมวันละครั้ง 8 สัปดาห์

ค. โอเมพราโซล (Omeprazole): เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง 4 - 8 สัปดาห์
  • รักษาแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง 4 - 8 สัปดาห์
  • รักษากรดไหลย้อน: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง 4 สัปดาห์
  • รักษาแผลที่หลอดอาหาร: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง 4 - 8 สัปดาห์
  • สำหรับการรักษาเชิงป้องกันการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง 12 เดือน

ง. แพนโทพราโซล (Pantoprazole): เช่น

  • รักษากรดไหลย้อน: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง 8 สัปดาห์ ซึ่งอาจต้องรักษาต่ออีก 8 สัปดาห์หากอาการไม่ดีขึ้น
  • รักษาภาวะกรดหลั่งออกมามาก: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละ 2ครั้ง

จ. ราบีพราโซล (Rabeprazole): เช่น

  • รักษาแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหารเช้า 4 สัปดาห์
  • รักษากรดไหลย้อน: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง 4 - 8 สัปดาห์
  • รักษาภาวะกรดหลั่งออกมามาก: รับประทาน 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง อาจปรับขนาดรับประทานสูงสุดถึง 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือ 60 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง ตามความจำเป็น

อนึ่ง:

  • การใช้ยา/ขนาดยา ดังกล่าว เป็นตัวอย่างการใช้ยาในผู้ใหญ่
  • *การรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่มนี้ มีทั้งรับประทานก่อนอาหาร พร้อมอาหาร หรือหลังอาหาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาแต่ละตัว ก่อนใช้ยาจึงควรอ่านฉลากยาให้ถูกต้อง
  • เด็ก: การใช้ยานี้ ขนาดยานี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงกลุ่มยายับยั้งการหลั่งกรดฯ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยายับยั้งการหลั่งกรดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรดฯ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยายับยั้งการหลั่งกรดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยายับยั้งการหลั่งกรดฯ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ทำให้การย่อยอาหารกลุ่มโปรตีนน้อยลง จนอาจก่อให้เกิดการแพ้อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่รับประทานเข้าไปได้
  • สามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการแพ้ยาต่างๆได้
  • การใช้ยากลุ่มนี้กับหญิงตั้งครรภ์: อาจก่อให้เกิด
    • โรคหืดในทารกที่เกิด
    • และทำให้ร่างกายผู้ใช้ยานี้ขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี12, ธาตุแมกนีเซียม, ธาตุแคลเซียม และธาตุเหล็ก เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงในระยะสั้นอื่นๆ เช่น
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • อ่อนเพลีย
    • วิงเวียน
    • ผื่นคัน
    • ท้องอืด
    • ท้องผูก
    • วิตกกังวล
    • ซึมเศร้า
  • ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ในระยะยาว เช่น
    • ภาวะไตอักเสบเฉียบพลัน จนถึงไตอักเสบเรื้อรัง และอาจเป็นโรคไตเรื้อรังในที่สุด
    • นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้ยานี้ต่อเนื่องเกิน 1 ปีขึ้นไป อาจก่อให้เกิดภาวะ/โรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย

มีข้อควรระวังการใช้ยายับยั้งการหลั่งกรดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยายับยั้งการหลั่งกรดฯ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มยายับยั้งการหลั่งกรด
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง
  • การใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ด้วยยาในกลุ่มนี้มีทั้งตัวยาที่ไม่เหมาะสมกับสตรีตั้งครรภ์ และบางตัวอยู่ในฐานะที่ใช้ได้ในระยะสั้นๆ
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ในสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายับยั้งการหลั่งกรดประเภท Proton pump inhibitors ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยายับยั้งการหลั่งกรดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยายับยั้งการหลั่งกรดฯมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาต้านเชื้อรา เช่นยา Griseofulvin , Ketoconazole, Itraconazole จะทำให้การดูดซึมของยาต้านเชื้อราลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยากลุ่มวิตามินและเกลือแร่ เช่น วิตามินบี12 ,ยาเสริมธาตุเหล็ก, จะทำให้การดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุดังกล่าวลดลง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยากันชักยาต้านชัก เช่นยา Carbamazepine หรือยาบรรเทาอาการวิตกกังวล/ยาคลายเครียด เช่นยา Diazepam จะทำให้ระดับยาทั้ง 2 กลุ่มอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษายายับยั้งการหลั่งกรดอย่างไร?

ควรเก็บยายับยั้งการหลั่งกรดฯ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยายับยั้งการหลั่งกรดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยายับยั้งการหลั่งกรดฯ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Desec (เดเส็ก) T.O. Chemicals
Dosate (โดเสท) Pharmasant Lab
Duosolin (ดูโอโซลิน) Pond’s Chemical
Eucid (ยูซิด) Greater Pharma
Gaster (แก๊สเตอร์) Unison
Losec MUPS (โลเส็ก มัพส์) AstraZeneca
Miracid (ไมราสิด) Berlin Pharm
Mosec (โมเส็ก) P P Lab
Omeprazole GPO (โอเมพราโซล จีพีโอ) GPO
Omesec Capsule (โอเมเส็ก แคปซูล) The United Drug (1996)
Omezol (โอเมซอล) Standard Chem & Pharm
Omezole (โอเมโซล) Millimed
Opramed (โอพราเมด) Charoon Bhesaj
O-Sid (โอ-สิด) Siam Bheasach
Ulpracid (อัลพราสิด) Polipharm
Zefxon (เซฟซอน) Biolab
Zigacap (ซิกาแคป) Bangkok Lab & Cosmetic
Prevacid FDT/IV (พรีวาซิด เอฟดีที/ไอวี) Takeda
Dexilant (เด็กซิแลนท์) Takeda
Nexium (เน็กเซียม) AstraZeneca
Controloc (คอนโทรล็อก) Takeda
Pantocid (แพนโทสิด) Sun Pharma
Pantoprazol Sandoz (แพนโทพราโซล แซนดอซ) Sandoz
Pantoprol (แพนท็อปโรล) Sinensix Pharma
Stripole (สไตรโพล) Gufic Stridden
Pariet (พาริเอ็ท) Eisai

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Proton-pump_inhibitor [2020,April18]
2 http://en.wikipedia.org/wiki/Discovery_and_development_of_proton_pump_inhibitors [2020,April18]
3 http://www.medicinenet.com/proton-pump_inhibitors/article.htm#tocc [2020,April18]
4 http://www.globalrph.com/proton_pump_inhibitors.htm [2020,April18]
5 http://www.medscape.com/viewarticle/804146_2 [2020,April18]
6 http://www.medicinenet.com/proton-pump_inhibitors/article.htm [2020,April18]
7 http://www.aafp.org/afp/2002/0715/p273.html [2020,April18]
8 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=omeprazole [2020,April18]
9 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=pantoprazole [2020,April18]
10 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fprevacid%2520fdt-iv%2f%3ftype%3dbrief [2020,April18]
11 http://www.medicinenet.com/pantoprazole/article.htm [2020,April18]
12 http://www.medicinenet.com/omeprazole/article.htm [2020,April18]
13 http://www.medicinenet.com/esomeprazole/article.htm [2020,April18]